[CR] มอง พม่า ผ่านหนังสือโปรด


ฉันอาจจะเหมือน คนไทยหลายๆคนที่เติบโตขึ้นมาพร้อมชุดความคิดที่ว่า พม่า หรือ ปัจจุบันคือ เมียนมาร์  คือ อริราชศัตรู ยิ่งในฐานะแฟนหนังไทยอย่างตำนานสมเด็จพระนเรศวรแล้ว ยิ่งทำให้ใจเชื่อไปเช่นนั้นมากขึ้น และถ้าใครพอจะจำได้อยู่บ้าง ตอนเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เท่าที่เราได้เรียนรู้ ชะตากรรมของประเทศพม่าหลังจาก สิ้นราชวงศ์สุดท้าย ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของประเทศอังกฤษและต่อมาคือรัฐบาลเผด็จการทหาร นำโดยนายพล เนวิน
จากนั้น เราก็ไ่ม่ได้รู้จักพม่าในเชิงลึกอะไรอีกเลย
นอกจากการได้สัมผัสจากปัญหารอบตัวเป็นระลอกเช่น ข่าวแรงงานพม่าในประเทศไทย พากันประท้วงขอขึ้นค่าแรง ข่าวลูกจ้างพม่าฆ่าปาดคอนายจ้าง หรือ แม้แต่ ท่าทียะโสโอหังของพม่าเจ้าของร้านอาหารตามสั่งหลังออฟฟิศฉัน ก็ยังทำให้รู้สึก ชัง มากกว่า ชอบ
อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมพม่า จึงกลายมาเป็นดังเช่นที่เป็นในปัจจุบันนี้ ทำไมประเทศที่เคยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ถึงดูแลคนในชาติไม่ได้ กลายเป็นปัญหาที่ทำให้นานาชาติและเพื่อนบ้าน กล้ำกลืนฝืนทนไปด้วย คงไม่เจอคำตอบในวิกิพีเดีย ฉันเลยเริ่มโครงการ ตามหารากเหง้าของพม่าจากหนังสือ เพื่อที่เราจะได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น

แล้วฉันก็ได้เจอหนังสือดีๆ ที่เขียนเกี่ยวกับ พม่า หลายเล่ม ส่วนใหญ่ เป็นผลงานของนักเขียนต่างชาติ โดยส่วนตัวยังไม่เคยเจอหนังสือพม่า ที่ชาวพม่าเขียนเองและออกเผยแพร่ในระดับนานาชาติ อาจจะเพราะ ข้อจำกัดทางการเมือง  
ข้อที่เห็นได้ชัดจากการอ่านหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับพม่า ด้วยมุมมองของคนต่างชาติ คือการที่ผู้เขียนเหล่านี้กล้ามองเข้าไปถึงก้นบึ้งของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าแบบที่ คนนอก มองเห็น แต่คนใน มองไม่ออก หลายๆเล่มจึงมีลักษณะของการ พูดความจริง ตีแผ่ หรือ เสาะแสวงหาแหล่งข้อมูลมาสนับสนุนอย่างเหลือล้น จนทำให้เราเชื่อว่าเรื่องที่เขียนเหล่านั้น คงจะจริง (กระมัง)
มีอยู่ 4 เล่มที่อ่านแล้วทำให้ฉัน “มองพม่าอย่างต่างไปจากเดิม” คือ ราชินีศุภยลัต,ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง, สิ้นแสงฉาน และ จิบพม่า ตามหาจอร์จออร์เวลล์

เล่มแรกสุดที่อ่านแล้วกัดกินความรู้สึกอย่างช้าๆ คือเรื่อง The King In Exile หรือ
ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง หนังสือสารคดีชีวประวัติและชะตากรรมของ “ครอบครัวกษัตริย์” อันหมายถึงพระเจ้าธีบอ กับ พระนางศุภยาลัตผู้เป็นพระมเหสี รวมทั้งลูกสาวทั้ง  4 คน ซึ่งถูกเนรเทศออกจากประเทศพม่า ภายหลังจากที่ประเทศอังกฤษ เข้ายึดครองพม่าอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1885 หรือ พ.ศ. 2428 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ของไทย เรื่องราวทั้งหมดถูกถ่ายทอดโดยนักเขียนชาวอินเดียชื่อ สุดาห์ ชาร์ ที่หลงใหลเรื่องราวของพม่า อาจจะด้วยในส่วนลึกของเธอ ที่เป็นชาวอินเดียผู้ซึ่งเคยลิ้มรสประสบการณ์ของการเป็นประเทศ บริทิชราช ทำให้เธอมีความสนใจและเห็นใจในเรื่องที่เกิดกับพม่าเป็นพิเศษ  สุดาห์ ใช้เวลาเขียนเล่มนี้นานถึง 7 ปี รวบรวมหลักฐาน รวมทั้งเดินทางไปยังสถานที่จริงที่อ้างถึงในบันทึกประวัติศาสตร์ทั้งหลาย รวมทั้งเมืองรัตนคีรีของอินเดีย (ที่ประทับลี้ภัยของครอบครัวกษัตริย์)    

เธอลงทุนเสาะแสวงหา ทายาทที่เหลือ อยู่ของกษัตริย์ธีบอ ที่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสะเทือนใจ ในหลายๆเหตุการณ์ โดยเฉพาะ ชะตากรรมของ พระราชาและพระราชินี แห่ง บัลลังก์นกยูงทอง ที่ใครเลยจะคาดคิดว่าในบั้นปลายของทั้งสองพระองค์จะต้องไปจบชีวิต ณ ต่างบ้านเมือง ซึ่งแม้แต่เถ้ากระดูกที่เป็นผุยผง ก็ยังยากแสนยากที่จะนำกลับมายังแผ่นดินพม่า เพราะถือว่านั่นคือสัญลักษณ์ของ อำนาจเหนือบัลลังก์

หรือแม้แต่วิบากกกรรมของของเจ้าหญิงทั้ง 4 คน ที่ถูกเลี้ยงดูแบบไ่ม่มีภูมิคุ้มกัน จนทำให้ตกระกำลำบากกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะเจ้าหญิงใหญ่ ที่ทรงปักใจใคร่รักกับทหารยามชาวอินเดีย ที่มีเมียแล้ว ซ้ำร้าย  เมื่อทรงพระครรภ์เจ้าหญิงน้อย นามว่า ตูตู ที่แม้จะมีศักดิ์ศรีเป็นถึงหลานพระเจ้าตาอดีตกษัตริย์แห่งราชวงศ์คองบอง แต่สำหรับสังคมอินเดียแล้ว เธอเป็นได้เพียง จัณฑาล ในประเทศที่เธอต้องอยู่ไปตลอดชีวิตเพราะเธอไม่รู้จะไปจากตรงนั้นได้อย่างไร
ในวันที่พระเจ้าธีบอ ต้องยอมศิโรราบกับกองทัพอังกฤษ เรือรบขนาดใหญ่ล่องแม่น้ำอิระวดี  มาปิดอ่าวหน้าพระราชวังมัณฑะเลย์อันโอ่อ่า พระองค์ต้องออกมาเผชิญหน้ากับ ข้าหลวงจากอังกฤษและนายพลที่นำทัพในครั้งนั้น การสนทนาในวันนั้น อังกฤษ พาสื่อมลชนหลายเจ้าเข้าร่วมบันทึกเหตุการณ์สำคัญนี้ด้วย หนึ่งในนั้นคือ The Times London ซึ่งต่อมาได้ลงข่าวและคำกล่าวของกษัตริย์ธีบอไว้มากมาย คำกล่าวหนึ่งที่สะท้อนพระอุปนิสัยไม่ฝักใฝ่สงครามของพระองค์ได้มากที่สุดคือ

“เราปราถนาที่จะอยู่อย่างสงบ และได้มอบทุกสิ่งทุกอย่างให้กับชาวอังกฤษแล้ว.....

หลังจากนั้นครอบครัวกษัตริย์ก็ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ พร้อมสมบัติติดตัวน้อยชิ้น คำสัญญาของรัฐบาลอังกฤษผ่านคณะปกครอง มีแต่คำลวง ลวงว่าจะคืนสมบัติบางส่วนให้ครอบครัวของพระองค์เพื่อให้ได้อยู่อย่างไม่ลำบากจนเกินไป ลวงว่าจะขึ้นเงินค่าครองชีพให้ครอบครัวกษัตริย์ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ทั้งพระราชินี และ กษัตริย์ ธีบอ ต้องเฝ้าคอยเขียนจดหมาย ทวงเงินเดือนอันน้อยนิด

เงินเดือนที่จ่ายโดยอังกฤษ ด้วยสกุลเงินอินเดีย เพื่อแลกกับการทอดทิ้งประเทศและหัวโขน กษัติรย์แห่งพุกาม

เมื่อปิดหน้าสุดท้ายของหนังสือลง ร่องรอยของอารมณ์ที่ปรากฏชัดคือความ สลดหดหู่ ความเห็นใจต่อชะตากรรมของตัวละครทั้งหมดในเรื่องพุ่งพวยจนยากจะดับ แต่พอทอดถอดใจจบก็สำนึกขึ้นมาได้ว่า ที่ประเทศไทยเรารอดพ้นจากการถูกกลืนกินเป็นอาณานิคมฝรั่งมาได้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ พร้อมสำนึกใส่เกล้าใส่เกศ ว่าเพราะ วิสัยทัศน์ และ พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มองเห็นว่าฝรั่งจะเป็นทั้งมิตร และ ภัย ในอนาคต
จึงทรงเตรียมพร้อม รัชกาลที่ 5 ให้รู้เท่าทันฝรั่ง นี่คือพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง

เพราะกษัตริย์ธีบอ และพระราชินีศุภยาลัต ไม่ได้เตรียมพระองค์เลย เมื่อโลกเปลี่ยนไป
การที่ทรงถูกยกยอให้ลืมโลกแห่งความเป็นจริงทำให้ท้ายที่สุด ต้องสูญเสีย ชาติทั้งชาติ
แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราว่าส่วนหนึ่งก็เป็น เพราะ “ความไม่รู้เท่าทัน”ของคนพม่า ทั้งชาติ ณ วันนั้น ที่ทำให้ชะตากรรมของประเทศชาติต้องเป็นไปดังนั้น
ชื่อสินค้า:   หนังสือ The King In Exile ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่