"สุคิริน" เมืองเล็กๆ ที่งดงามในความทรงจำและเต็มไปด้วยไออุ่นด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ช่วงเชงเม้งเราได้ไปสุไหงโกลกบ้านพ่อ เพื่อไหว้อาก๋ง และอาม่า ช่วงนั้นจังหวะดีมีเวลา เลยขอพี่ห้องแมวผู้ห่างไกล ไปบ้านพี่ที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส

เมื่อพูดถึงอำเภอสุคิรินซึ่งห่างไกล เชื่อแน่ว่าใครๆ ก็ต้องกลัว และไม่กล้าไป เราเองในฐานะคนพื้นที่ แค่มีรถไปก็พอ สบายมาก ถือว่าเป็นโชคของเราที่พี่สาวคนเลี้ยงแมวเข้าไปรับแม่ในตัวอำเภอสุไหงโกลกพอดี เราเลยไม่ต้องนั่งรถโดยสารไป

เราไปถึงสุคิรินเกือบบ่ายสอง ระหว่างทางร่มรื่น สงบดี พี่เล่าว่าสุคิรินกว้าง แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วนใหญ่ คือพื้นที่ของชุมชนมุสลิม และพื้นที่คนพุทธที่พี่อยู่ พื้นที่ตรงนี้อยู่กันมานาน เมื่อเข้ามาถึงในพื้นที่ๆ ของบ้านพี่ สิ่งที่สัมผัสได้อย่างแรกคือ อากาศดี สงบ ชอบ หลังจากนั้นเราก็เอาของเก็บนั่งเล่นกับแมว พักสักพักใหญ่ๆ พี่ก็เริ่มพาไปเที่ยวใกล้ๆ บ้าน จุดแรกที่พี่ตั้งใจพาไปคือน้ำตกไอกาเปาะ เมื่อถึงทางเข้าสิ่งที่ทำให้เราตื้นตันจนน้ำตาเอ่อคือ ป้าย"โครงการตามพระราชดำริ"

ความอุ่นใจ ก่อตัวขึ้นอย่างประหลาด ขนาดเราเป็นคนนอกยังรู้สึกแบบนี้ แล้วคนในพื้นที่ละ เค้าคงรู้สึกไม่ต่างจากเราแน่ๆ

จึงเป็นที่มาของการตั้งกระทู้ในครั้งนี้






ประวัติความเป็นมา

อำเภอสุคิริน เดิมเคยเป็นกิ่งอำเภอหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้นก่อนปี ๒๔๗๔ ชื่อ " กิ่งอำเภอปาโจ " ขึ้นกับอำเภอโต๊ะโม๊ะ ( อำเภอแว้งในปัจจุบัน )
ชาวฝรั่งเศสได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำที่บริเวณภูเขาลีซอ (ภูเขาโต๊ะโม๊ะปัจจุบัน) ซึ่งในขณะนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลโต๊ะโม๊ะ ( ตำบลภูเขาทองในปัจจุบัน ) ราษฎรจึงได้อพยพเข้ามาทำงาน ที่เหมืองแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก ทางราชการจึงได้จัดตั้งกิ่งอำเภอปาโจ ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๔ สมัยหม่อมทวีวงศ์ ถวัลศักดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ขึ้นการปกครองกับอำเภอโต๊ะโม๊ะ (อำเภอแว้งปัจจุบัน) โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๒ ตำบล คือ ตำบลโต๊ะโม๊ะ และตำบลมาโมง มีประชากร ๒,๐๐๐ คน เศษ ตั้งที่ว่าการอำเภอปาโจที่ตำบลโต๊ะโม๊ะ เพื่อสะดวกต่อการปกครอง การให้บริการแก่ประชาชน และดูแลผลประโยชน์ของทางราชการในการจัดเก็บภาษีอากร


ภายหลังสงความอินโดจีน เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาวฝรั่งเศส ได้หลบหนีภัยสงคราม ละทิ้งงานเหมืองแร่ทองคำ รัฐบาลไทยโดยกองโลหะกิจ กรมที่ดินและโลหะกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้คุณพระอุดมธรณีศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำแทน ประมาณ ๑ ปีเศษ ได้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ปล้นสะดมทองคำและเกิดเหตุการณ์ไม่สงบทั่วไปในบริเวณเหมืองแร่ทองคำ แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ปราบปรามผู้ก่อการไม่สงบได้ทางราชการจึงได้ล้มเลิกกิจการการทำเหมืองแร่ทองคำ และมอบหมายให้ นายสนาม เลิศวาโช (น้องชายคุณพระอุดม) เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินเครื่องจักรกล ราษฎรจึงได้พยายามกลับภูมิลำเนาเดิม กิ่งอำเภอปาโจจึงถูกยุบเลิกไป ประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๔


เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๐๖ คณะรัฐมนตรีได้มีมติโดยให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดตั้งนิคมพัฒนาตนเองภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เพื่ออพยพราษฎรที่มีฐานะยากจน และไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองจากท้องที่ต่าง ๆ เข้ามาประกอบอาชีพ เขตนิคมคลุมพื้นที่ ๒ อำเภอ คือ อำเภอสุคิรินและอำเภอจะแนะ เนื้อที่ประมาณ ๕๑๐,๐๐๐ ไร่ และได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง พัฒนาภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยมีประชากรที่อพยพมาจากที่ต่าง ๆ ได้แก่ อพยพมาจาก ภาคกลางและภาคอีสาน คือ จังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และ พระนครศรีอยุธยา รัฐกลันตัน ,เขาศูนย์, เป็นสมาชิกโครงการพระราชดำริ,เป็นราษฎรเดิมในพื้นที่ และมาจากภาคใต้ทั่วไป


คำว่า “ สุคิริน ” เป็นนามพระตำหนักที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานเมื่อครั้งเสด็จประทับแรมในพื้นที่นี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งมีความหมายว่า “ พันธุ์ไม้อันเขียวชอุ่ม ” ซึ่งสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขา ป่าไม้ และพืชพันธ์ไม้นานาชนิด








แต่ก่อนที่เราจะไปเริ่มทริปอย่างเป็นทางการ ขออนุญาตนำเรื่องราวสุดประทับใจของคนไทยทั้งชาติมาเล่าในทริป สุคิรินนี้นะคะ เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ตามคำบอกเล่าของ ล่ามประจำพระองค์ "ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ"


"รูปรถยนต์พระที่นั่งที่พระองค์ทรงขับรถพระที่นั่งลงไปอยู่กลางน้ำ"





ครูดิลก เล่าว่า หากถามความประทับใจในการถวายงานตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่มีวันไหนที่ไม่ประทับใจ แต่สิ่งที่จดจำได้ชาตินี้จะไม่มีวันลืมคือเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในช่วงหน้าฝน..เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินจะไปเปิดงานที่วัดโต๊ะโม๊ะ ต.ภูเขาทอง อ.สุคีริน จ.นราธิวาสแต่ระหว่างเส้นทางสะพานเชื่อมหมู่บ้านถูกน้ำป่าซัดจากเหตุฝนตกหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้สะพานเหล็กถูกน้ำพัดพาขวางอยู่บนถนน ขณะที่เส้นทางเลี่ยงอีกแห่งมีสะพานไม้ก็ถูกน้ำซัดพังทั้งหมดทั้งรถและคนไม่สามารถสัญจรผ่านได้เหตุการณ์ในยามคับขันเจ้าหน้าที่พร้อมคณะได้กราบทูลฯให้เสด็จกลับเพราะไร้หนทาง แต่พระองค์ท่านปฎิเสธและให้วิทยุ (ว.)ถามผู้ปกครองหมู่บ้านในพื้นที่เพื่อสอบถามว่ามีชาวบ้านมารอรับเสด็จหรือไม่ คำตอบที่ได้ชาวบ้านมานั่งรอตั้งแต่ ๖ -๗ โมงเช้านับพันคนคำตอบนั้นทำให้พระองค์ท่านทรงคิดหนัก จนทำให้คณะข้าราชบริพารเครียดไปตามๆกัน


“พระองค์ท่านทรงคิดหนัก จากนั้นกลับเข้าไปนั่งที่รถยนต์พระที่นั่งในฝั่งคนขับไม่นานมีเสียงวิทยุดังขึ้นแจ้งให้รถทุกคันลุยฝ่าสายน้ำของแม่น้ำสายบุรีที่ไหลเชี่ยวด้วยความระมัดระวังเมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯยืนยันทรงเสด็จคณะเจ้าหน้าที่จึงต้องปฎิบัติแม้จะกลัวจนตัวสั่นก็ตาม ดั่งปรากฎเป็นภาพที่พสกนิกรทั่วหล้าได้เห็นตีพิมพ์รถพระที่นั่งขับฝ่าสายน้ำเชี่ยว” ครูดิลก กล่าวย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและการไม่ทอดทิ้งประชาชนที่ครูดิลกได้เห็นกับตาและได้ยินกับหูตัวเอง ตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปีของการทำหน้าที่ล่ามแปล







ส่วนอีกรูปที่เกี่ยวของกับที่นี่ คือ "ลายพระหัตถ์ในหลวง" ที่หาชมได้ยาก เมื่อครั้งเสด็จช่วยเหลือราษฎรในนิคมสุคิริน จังหวัดนราธิวาส





สถานที่เที่ยวแห่งแรกที่สร้างความประทับใจให้เราในวันนี้  "น้ำตกไอกาเปาะ" ป้ายทางเข้าเรียกน้ำตา  "โครงการตามพระราชดำริ"  ที่นี่นอกจากจะเป็นน้ำตกเล็กๆ แล้วยังเป็นที่ตั้งของ "โรงไฟฟ้าพลังน้ำไอกะเปาะ" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริอีกด้วย







"เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนสมาชิกนิคมพัฒนาภาคใต้ ณ สำนักสงฆ์โต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส หลังจากทอดพระเนตรนาขั้นบันได นาข้าวไร่ บริเวณหมู่บ้านภูเขาทอง และการทดลองปลูกข้าวที่โครงการฝายทดน้ำโต๊ะโมะแล้ว พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำเกี่ยวกับการชลประทานและงานต่าง ๆ ทรงแนะให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างฝายเก็บน้ำไอกะเปาะพร้อมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อนำไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องสีข้าวขนาด ๒๕ กิโลวัตต์ ที่ราษฎรน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสำหรับติดตั้งบริเวณสำนักสงฆ์ต่อไป นอกจากนั้น กำลังไฟฟ้าส่วนที่เหลือสามารถนำไปใช้ในหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง อันได้แก่ หมู่บ้านไอกะเปาะ หมู่บ้านโต๊ะโมะ และหมู่บ้านลำธารทองได้อีกด้วย

หลังจากศึกษาความเป็นไปได้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (สำนักงานพลังงานแห่งชาติในเวลานั้น) จึงเริ่มก่อสร้างฝายเก็บน้ำไอกะเปาะและโรงไฟฟ้าพลังน้ำตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๒๖ และแล้วเสร็จในเดือน กันยายน พ.ศ.๒๕๒๗"

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน







วันนั้นไปถึงเย็นมากแล้ว เลยไม่ได้ขึ้นไปถึงด้านบนน้ำตก ถ่ายรูปด้านล่าง




ทางขึ้นด้านบน ไม่รู้เค้ากำลังทำอะไร



มาถึงส่วนของน้ำตกเล็กๆ บ้าง




มีคนเล่นประปราย เวลามีน้อย เลยไปต่อ





จุดต่อไปที่แนะนำวันนี้ ขอข้ามมาอีกวัน เพราะอยากให้เก็บความประทับใจไปด้วยกันนั่นคือ "โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านโต๊ะโม๊ะ"


จริงๆ แล้วไกด์ไม่ได้แนะนำที่นี่ แต่ด้วยความที่เราทำเรื่องผ้าที่ตรังมาอยู่แล้ว เลยสนใจเรื่องผ้าเป็นพิเศษ จังหวะที่เห็นกี่ทอผ้า เลยถามพี่และขอพี่พาไป กำหนดจะกลับเช้าอีกวันเลยเลื่อนไป เพื่อไปที่กลุ่มทอผ้าที่วัดโต๊ะโม๊ะ



"โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านโต๊ะโม๊ะ" เกิดขึ้นจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้จัดตั้ง กลุ่มศิลปาชีพบ้านโต๊ะโมะขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๗ เพื่ออบรมงานด้านศิลปาชีพ ได้แก่ การทอผ้า แกะสลักไม้ จักสานย่านลิเพา ปักผ้า วาดภาพ และถักโคเชท์

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก สำนักงาน กปร.







ผ้ายาวมากๆ




วันนี้มีคนทอผ้าอยู่สามคน




มีลายต่างกัน




คนที่สามใช้กี่อีกแบบ




ทีนี้เรามาดูความต่างค่ะ กี่ของคุณป้าจะเป็นกี่โบราณ ดูจากขา




ของคุณป้าอีกคน




ส่วนกี่ทอผ้าหลังนี้ เท้าจะมีหลายไม้ เรียกว่ากี่กระตุกค่ะ




ทีนี้เรามาดูลายผ้ากันค่ะ



ลายตาราง




ที่นี่มีกี่หลายด้วย ทั้งหมดเป็นของศูนย์ศิลปาชีพ คุณป้าเล่าว่า คนทอผ้าทุกคนจะได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ในศูนย์ศิลปาชีพพระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส รวบทั้งอุปกรณ์ เส้นไหม แถมยังมีแหล่งจำหน่ายให้ด้วย


ฟังแล้วตื้นตันน่าประทับใจมากจริงๆ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้จริงๆ บางครั้งก็แอบอิจฉาคนในพื้นที่ทุรกันดารเหมือนกันนะคะ







จริงๆ แล้วในสุคิรินยังมีโครงอันเนื่องจากพระราชดำริอื่นๆ อีก ไว้โอกาสหน้าจะไปแน่นอน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่