เมืองโบราณเกาชาง บนทางสายไหม


เกาชาง (Gaochang) ตั้งอยู่ในมณฑลซินเจียง (Xinjiang) ของประเทศจีน ริมขอบทางด้านเหนือของทะเลทรายทาคลามากัน (Taklamakan) มีชื่อในภาษาอุยกูร์ (Uyghur) ว่า คาราโคจา (Kharakhoja) ซึ่งแปลว่า เมืองแห่งกษัตริย์

สันนิษฐานว่าเกาชางเริ่มก่อตั้งในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ช่วงที่ราชวงศ์ฮั่นขยายอำนาจเข้ามาในดินแดนนี้ เมืองเกาชางจึงเริ่มจากเป็นค่ายทหาร ต่อมาในยุคราชวงศ์ถัง เกาชางเติบโตขึ้นจากการค้าขายบนเส้นทางสายไหม นอกจากชาวจีนแล้ว มีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ด้วย



เมืองโบราณเกาชางอยู่ในเขตทะเลทรายและร้อนมาก จากทางเข้า หลายคนเลือกที่จะนั่งลาเทียมเกวียนเข้าไป ซึ่งนับว่าคุ้มค่ามากสำหรับราคาไปกลับ 10 หยวนต่อคน ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุ แต่ก็มีหน่วยกล้าตายบางคน เดินฝ่าเปลวแดดในระยะทางกว่ากิโลเมตรเข้าไปยังซากเมือง


เมืองเกาชางสร้างจากดินอัดแน่น แบ่งออกเป็น เมืองชั้นนอก ชั้นใน และเขตพระราชวัง กำแพงเมืองชั้นนอกนั้นสูงและหนาประมาณ 12 เมตร ความยาวโดยรอบ 5.4 กิโลเมตร มีคูน้ำล้อมกำแพงไว้อีกชั้น ประตูเมืองของกำแพงชั้นนอกมี 9 แห่ง ทิศละ 2 แต่ทางใต้มี 3 แห่ง ประตูทางฝั่งตะวันตกมีความสมบูรณ์กว่าด้านอื่น


ทางด้านใต้ของเมืองชั้นนอกมีซากวัด เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่า กษัตริย์และประชาชนในเมืองเกาชางเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ในศตวรรษที่ 6 ซึ่งอยู่ในยุคราชวงศ์ถังของจีน กษัตริย์แห่งเมืองเกาชางได้นิมนต์พระเสวียนจั้ง (หรือพระถังซำจั๋งในวรรณกรรมไซอิ๋ว) ระหว่างเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากอินเดีย ให้แวะแสดงธรรมอยู่ที่เกาชาง 1 เดือน และสร้างศาลาแสดงธรรมไว้โดยเฉพาะ ศาลาแสดงธรรมยังคงเหลือส่วนฐานให้เห็น และมีฐานสถูปเจดีย์ฐานเป็นวงกลม ที่บูรณะขึ้นโดยใช้ดินเหนียวอยู่ไม่ไกลกัน ภายในวัดยังมีผนังเจาะเป็นช่อง แต่เดิมใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปด้วย แถวซากวัดเป็นบริเวณที่มีความสมบูรณ์มากกว่าส่วนอื่น ๆ



กำแพงชั้นในไม่เหลือร่องรอยของประตูเมืองแล้ว มีแต่กำแพงบางด้านที่ยังคงอยู่ ส่วนเขตพระราชวังจะอยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นในและชั้นนอกทางด้านเหนือ ยังคงเห็นเสาของอาคารที่เคยใช้เป็นที่พักอาศัยของชาววัง



ราวศตวรรษที่ 9 เกาชางถูกครอบครองโดยอาณาจักรอุยกูร์ และคงความเป็นเมืองมาจนถึงศตวรรษที่ 14 ก่อนจะถูกภัยสงครามทำให้เสียหายและกลายเป็นเมืองร้าง ผ่านมาหลายร้อยปี ซากเมืองถูกทุบทำลายเอาดินไปก่อสร้างหรือเพาะปลูก ทำให้ร่องรอยของอดีตถูกทำลายเสียหายมากขึ้น ตั้งแต่ปี 1961 เป็นต้นมา จึงเริ่มมีการศึกษาและอนุรักษ์อย่างจริงจัง เพื่อให้เมืองเกาชาง เมืองโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จากอดีตกาล คงอยู่ต่อไป

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่