ความรู้สึก และจุดผิดพลาด เมื่อมีรายได้ 300,000

อมยิ้ม04อมยิ้ม02อมยิ้ม16

สวัสดีครับ ช่วงนี้มีกระทู้รายได้หลักแสนค่อนข้างเยอะใน pantip ผมจึงขอร่วมกระทู้หลักแสนอีกคน โดยจะตัดแบ่งเป็นตอนๆ เป็น Timeline เส้นเวลา เพื่อให้น้องๆ ที่สนใจ เลือกอ่านในช่วงที่ต้องการศึกษาได้ครับ

Timeline ที่ร่างไว้จะมีดังนี้ (จะหาเวลาโพสต่อไป)
- ตอนแรกเริ่ม (ประวัติก่อนมีรายได้)
- ตอนชีวิตมนุษย์เงินเดือน (รายได้ 8,000 - 30,000)
- ตอนตกงาน (รายได้ไม่แน่นอน)
- ตอนต่อสู้ (รายได้ 15,000 - 150,000)
- ตอนเปลี่ยนผ่าน (รายได้ 300,000)
- ตอนขึ้นลงคือวัฏจักรชีวิต


สำหรับกระทู้นี้ จะเล่าถึง Timeline ในตอนเปลี่ยนผ่าน (รายได้ 300,000) ชีวิตจะมีจุดผิดพลาดหลายอย่าง คิดว่าเป็นตอนที่หลายคนอยากอ่าน บางคนกำลังเพิ่งมาถึงจุดนี้ จะได้เรียนรู้ร่วมกัน เพราะผมเองก็เรียนรู้ผ่านกระทู้ของท่านอื่นๆ มาก่อน

1) 300,000 ไม่ได้มากอย่างที่คิดไว้

ในเดือนแรกที่รายได้มาถึง 300,000 ความรู้สึกแรกคือ เราสบายแล้ว ทั้งนี้ต้องย้อนไปดูประวัติของผม (ซึ่งผมยังไม่ได้เล่า) ว่าลำบากมาตั้งแต่วัยเด็ก และตกงานต้องขายรถ จำนองที่อยู่อาศัย มาหลายปี ตลอดจนเป็นหนี้บัตรต่างๆ มายาวนานเหลือเกิน  ไม่ได้มีมรดกหรือทรัพย์สินใดๆ หาเงินเองตั้งแต่อยู่มัธยม ความลำบากของผมอาจจะไม่เหมือนกันกับท่านที่อยู่ในช่วงลำบาก แต่ความเจ็บปวดผมว่าเราก็คงไม่ต่างกัน ทำให้รายได้ 300,000 มีความหมายมากสำหรับผม

แต่จริงๆ แล้ว รายได้ 300,000 ไม่ได้มากอย่างที่คิด
เพราะขาดปัจจัยสำคัญ  ที่ผมเองก็หลงลืมไป นั่นคือ เวลาและความถี่

ลองนึกดูนะครับ
รายได้สามแสน 1 เดือน มีค่า 3 แสน  
รายได้สามแสน 1 ปี มีค่า 3.6 ล้าน
รายได้สามแสน 10 ปี มีค่า 36 ล้าน

ดังนั้น คนที่รายได้แตะสามแสนเดือนแรกๆ จึงไม่ได้มากมายอะไรเลย ถ้ายืนระยะไม่ได้
เหมือนคำที่ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน
แต่ผมเองก็ทำผิดพลาด เพราะคิดไม่ได้เหมือนกัน ในช่วงแรกนี้

2) ความผิดพลาดในการลงทุน

ไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปซะทุกเรื่อง
เมื่อเราแลกเวลาเกือบทั้งหมดของเราให้กับงาน
ทำให้เราหลงลืมที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน

จำเรื่องเวลาและความถี่ได้ใช่ไหมครับ

ช่วงแรก ผมเองก็หลงลืมไป กลับเปลี่ยนระดับการใช้จ่ายทันที

- แต่ก่อนรายจ่ายต่อเดือน (ส่วนตัวและครอบครัว) ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ จะอยู่ที่ 4-5 หมื่น พอมีรายได้สามแสน รายจ่ายต่อเดือน สูงเกิน 1 แสนทันที โดยเป็นการบริโภคล้วนๆ ทำให้เงินออมเพิ่มน้อยมาก

- ขาดทุนแฝงหลายหน
เนื่องจากรายได้ของผม ก้าวขึ้นเร็ว จึงปรับตัวไม่ทัน  คือไม่รู้ว่าจะมีได้ เพราะผมตัดสินใจใช้จ่ายด้วยหลักเหตุผล มองแค่ที่มี ไม่มองอนาคต  ดังนั้น ตอนรายได้ 5 หมื่น ก็ออกรถ ECO CAR มาใช้  พอปีถัดมา รายได้ 1.5 แสน ก็พบว่างานเราออกต่างจังหวัดบ่อย การมีรถที่ใหญ่และดีขึ้น ทำให้ทำงานได้ดี ก็ขาย ECO CAR แบบขาดทุน มาออก C-segment (ประมาณ Civic, Altis, Slphy) พออีก 2 ปี รายได้ 3 แสน ก็มีกลุ่มเพื่อนอีกระดับ ได้ลองนั่งรถ D-segment (Accord, Camry, Teana) และแบบ SUV (รถอเนกประสงค์) ก็พบว่าทำให้ออกต่างจังหวัดไม่เหนื่อยมาก เพราะสมรรถนะรถดี จึงบอกขายคันเดิมให้ญาติแบบขาดทุนเงินดาวน์ (อีกแล้ว) แล้วเตรียมออกคันใหม่ที่ใหญ่ขึ้น  ซึ่งน่าจะทำให้ทำงานได้ดีขึ้นจริงๆ เพราะผมออกต่างจังหวัดไกลๆ ทุกสัปดาห์ แต่ในภาพทางการเงินถือว่าติดลบ

- ลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้ และไม่เหมาะกับตัวเรา
พอมีรายได้ 3 แสน เงินออมจะเพิ่มเร็ว
เนื่องจาก 1 แสนแรก  จะมีส่วนค่าใช้จ่ายซะเยอะ  แทบไม่เหลือเก็บ
พอมา 3 แสน ส่วนที่เพิ่มมาสองแสนก็คือเราไม่ได้ใช้  เพิ่มมาเท่าไร ก็นำไปออมได้เท่านั้น
เมื่อเงินออมเพิ่มเร็ว พลังของผลตอบแทนการลงทุนก็เริ่มมีความหมาย

ดังนี้ครับ
เงิน 1 ล้าน ผลตอบแทน 5% ต่อปี คือ 5 หมื่น หารเป็นเดือนคือประมาณ 4 พัน/เดือน
ไม่น่าสนใจจริงไหมครับ เพราะผลตอบแทนไม่มากพอที่จะอยู่ได้

เงิน 10 ล้าน ผลตอบแทน 5% ต่อปี คือ 5 แสน หารเป็นเดือนคือประมาณ 4 หมื่น/เดือน
ถ้าระดับนี้ ผมถือว่ามาก ดังนั้นช่วงนี้ การลงทุนในแบบต่างๆ จึงเริ่มเข้ามาในเส้นทาง

เริ่มต้น คือผมมองหาจะซื้อคอนโด/ทาวน์เฮ้าส์ ปล่อยเช่า มีแถวรถไฟฟ้าที่น่าสนใจ และแถวเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา หัวหิน ที่ซื้อปล่อยให้ชาวต่างชาติเช่า ก็น่าสนใจ สรุปลองซื้อที่ใจกลางเมือง ติดถนนใหญ่ แล้วปล่อยเช่า จนถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้สึกว่ากำไร และยุ่งยากในการติดตามดูแล

เพราะผมหลงลืม เรื่องปริมาณ ไป

การซื้อห้องปล่อยเช่า ถ้ามี 1 ห้อง กับมี 5-10 ห้อง
การบริหารจัดการ ก็คล้ายๆ กัน ดังนั้น ถ้าจะมีก็ควรมีหลายๆ ห้องไปเลย
แต่ผมทำในลักษณะทดลอง  มีห้องเดียว จึงไม่ประหยัดต่อขนาด
ค่าเสียเวลาของเรา  น่าจะมากกว่ารายได้ที่ได้รับ  ผลระยะสั้น ผมสรุปว่าติดลบ

ต่อมาคือการออมในหุ้น
ผมเป็นคนไม่มีความรู้เรื่องนี้ และยิ่งศึกษาก็ยิ่งไม่เข้าใจ แต่เพื่อนๆ ในช่วงหลังมีแต่คนที่ออมในหุ้น จึงทนกระแสไม่ไหว ได้ทดลองเช่นกัน มีกำไรที่ยังไม่ได้รับรู้เกิดขึ้นหลักแสน แต่ก็ผันผวนมาเป็นขาดทุนที่ยังไม่ได้รับรู้ (ยังไม่ได้ขาย) หลักแสน สลับไป สลับมา ในระยะยาวมากๆ อาจจะดี  แต่ในระยะ 1-3 ปี บางตัวกลับมาเท่าทุน บางตัวกำไร บางตัวขาดทุน  สรุปโดยรวมประมาณว่าคงตัว

ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผม  การเสียเวลาศึกษา ติดตาม เป็นปีๆ กินเวลาทำงานหลักของผมมาก แต่ผลออกมา (ณ ปัจจุบัน) คือไม่มีผลตอบรับที่น่าพอใจ  หากคิดว่าเสียเวลา นี่เป็นเรื่องที่ติดลบมากที่สุดในชีวิตของผม เพราะผมเสียเวลาติดตามผลนานมากๆ  ถ้าเอาเวลาเหล่านั้นไปทำงาน น่าจะทำเสร็จไปหลาย Project งาน ถ้าไปเรียนต่อก็คงจบระดับปริญญาเอกเลยทีเดียว

เวลาของชีวิตที่หายไป มันไม่คุ้มเลย เพราะมันหมายถึงชีวิต การงาน และชีวิตของครอบครัวเราด้วย
เหมือนเราสร้างปราสาททราย  พอคลื่นซัดมา มันหายไปทั้งปราสาท ไม่เหลืออะไรเลย
ต่างจากการใช้เวลามาสร้างงาน สร้างกิจการ เราจะได้แบรนด์ ได้เครือข่ายการค้า มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้

แต่ปัญหาคือ เพื่อนก็ยังคุยเรื่องเหล่านี้ทุกวัน น้ำหยดลงหินทุกวัน หินมันยังกร่อน  ผมฟังทุกวัน ใจผมก็สับสน ว่าเราพลาดของดีไปหรือเปล่า  จนวันหนึ่ง ผมก็ได้อาศัยกระทู้ใน pantip ช่วยปรับสภาพจิตของผมให้กลับมามั่นคงเหมือนเดิม

มีกระทู้หนึ่ง มี comment กล่าวไว้ว่า
คนเราไม่ต้องลงทุนทุกวัน เพราะการลงทุนไม่ใช่อาหารที่ต้องทานทุกวัน
คนเราไม่ต้องลงทุนบ่อยๆ  ลงทุนแล้วชนะแค่ 1 - 2 ครั้ง ก็เพียงพอแล้วที่จะใช้จ่ายได้ตลอดชีวิต

ผมนำมาคิด พิจารณา ถึงสิ่งที่ว่า
การลงทุนทำงานหลักของผม สร้างรายได้ที่ดี สำหรับผมและครอบครัว
ก็เปรียบเสมือนเราลงทุนแล้วเราก็ได้ผลตอบแทนที่ดีแล้ว
และการชนะในงานหลัก ก็ทำให้ผมและครอบครัวอยู่ได้

ดังนั้น
เราไม่จำเป็นต้องลงทุนในอีกหลายๆ อย่าง เพราะเราก็อาจจะแพ้
ยกเว้นว่า เราจะมีความได้เปรียบ หรือทักษะที่ดี ในการชนะการลงทุนนั้นๆ
(ซึ่งแน่นอนครับว่า ผมไม่มีความได้เปรียบอะไรเลยในเรื่องตลาดเงิน ตลาดทุน)
จึงตัดสินใจเลิกลงทุนในตลาดนี้ และแน่นอนครับ เวลาของผมได้กลับคืนมามากขึ้น
ทำให้การงานและครอบครัว ได้รับอานิสงส์ มีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่