ทรูมูฟแพ้ 2 คดี ศาล ปค.ยัน กสทช.มีอำนาจห้ามกำหนดเวลาใช้พรี-เพด สั่งปรับวันละแสนได้

กระทู้ข่าว
ทรูมูฟแพ้ 2 คดีรวด ศาลปกครองกลางพิพากษายืนยัน กสทช.มีอำนาจออกประกาศห้ามพรี-เพดบังคับผู้ใช้มือถือต้องใช้บริการภายในเวลาที่กำหนดแล้วยึดเงินที่เหลือ -มีอำนาจกำหนดค่าปรับวันละ 1 แสนบาทฐานฝ่าฝืนคำสั่ง

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาคดีระหว่าง บริษัท ทรู มูฟ จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ-กสทช. และ กรรมการ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) จำนวน 2 คดี ปรากฏว่า ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดี

คดีแรก หมายเลขดำที่ 55/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 2168/2559 ระหว่าง บริษัท ทรู มูฟ จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ เลขาธิการ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งกำหนดค่าปรับทาง

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 8 กันยายน 2549 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 โดยในข้อ 11 ของประกาศดังกล่าว กำหนดให้การให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเป็นการล่วงหน้าจะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า... หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามข้อ 11 ของประกาศดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

ต่อมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. พิจารณาอุทธรณ์แล้วมีมติให้ยืนตามคำสั่งเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2555แจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติตามคำสั่งให้ถูกต้อง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ และหากผู้ฟ้องคดียังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีจะใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละไม่ต่ำกว่าสองหมื่นบาท

หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555กำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป จนกว่าผู้ฟ้องคดีจะปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 19 มิถุนายน 2555 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมา กทค..ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีมติเห็นชอบยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี จึงยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดี

คดีดังกล่าวศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า กทช. มีอำนาจตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และมาตรา 51 วรรคหนึ่ง (10) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543ออกประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีได้กำหนดรายการส่งเสริมการขายในลักษณะที่เป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กทค. เป็นการล่วงหน้า จึงเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ กทช. กำหนดขึ้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีอำนาจตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สั่งให้ผู้ฟ้องคดีระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนและปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อผู้ฟ้องคดียังคงเพิกเฉยและไม่ปฏิบัติตาม ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ กทค. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีจะใช้อำนาจ กำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละไม่ต่ำกว่าสองหมื่นบาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีก็ยังคงไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ กทช. กำหนดขึ้น

ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีอำนาจในการกำหนดค่าปรับทางทางปกครอง ตามมาตรา 66แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ สำหรับการกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจพิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เฉพาะในส่วนที่เป็นวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะเท่านั้น แต่ในกรณีที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้เป็นการเฉพาะ

นอกจากนั้น การประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่มีผลประโยชน์ในอัตราที่สูง การที่มาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะกำหนดอัตราค่าปรับทางปกครองไว้ว่า ต้องไม่ต่ำกว่าสองหมื่นบาทต่อวัน จึงถือเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง อันมีลักษณะที่จะเกิดผลหรือมีประสิทธิภาพมากกว่ามาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 58(2) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่กำหนดอัตราค่าปรับทางปกครองไว้เพียงไม่เกินสองหมื่นบาทต่อวัน และเมื่อมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องกำหนดค่าปรับทางปกครองอย่างไร

จึงเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีในการพิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองตามความเหมาะสม โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดค่าปรับทางปกครองโดยมีหลักเกณฑ์การคำนวณที่ใช้กับผู้ประกอบการทุกราย ประกอบกับการกำหนดเงื่อนไขในรายการส่งเสริมการขายให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับประโยชน์จากมูลค่าของเงินคงเหลือที่ผู้ให้บริการได้รับเมื่อล่วงเลยเวลาที่กำหนด

เมื่อจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะที่เรียกเก็บเงินล่วงหน้าในเครือข่ายผู้ฟ้องคดีมีประมาณ 17 ล้านเลขหมาย โดยหากตั้งสมมติฐานว่าผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะเรียกเก็บเงินล่วงหน้าที่หมดอายุเฉลี่ยต่อเดือน 1-1.5 ล้านเลขหมาย หรือเฉลี่ยเท่ากับ 1.25 ล้านเลขหมาย โดนหักเงินเลขหมายละ 2 บาท ผู้ฟ้องคดีจะมีรายได้จากการหักเงินจำนวน 2.5 ล้านบาท ต่อเดือน หรือวันละ 83,333 บาท

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนค่าปรับทางปกครองกับประมาณการรายได้ของผู้ฟ้องคดีที่ได้รับจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเป็นมาตรการที่ไม่กระทบต่อผู้ฟ้องคดีจนเกินไป การกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับทางปกครองวันละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทช ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนแต่อย่างใด


คดีที่สอง หมายเลขดำที่ 706/2555 คดีหมายเลขแดงที่ 2167/2559 ระหว่าง บริษัท ทรู มูฟ จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ เลขาธิการ กสทช. ที่ 1 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ ๒ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ลงวันที่ 25 เมษายน 2554เรื่อง การห้ามผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้ากำหนดรายการส่งเสริมการขายในลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กทช.) ได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549ลงวันที่ 8 กันยายน 2549 โดยข้อ 11 ของประกาศดังกล่าวกำหนดว่า การให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเป็นการล่วงหน้าจะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการ

ภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า... และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่ง ห้ามผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้ากำหนดรายการส่งเสริม

การขายในลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีระงับการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
เป็นการล่วงหน้า

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กำหนดแนวทางที่ก่อภาระเกินสมควรแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้ใช้บริการ และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นคำสั่งที่ออกนอกเหนือหรือเกินอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฯ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฯ และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม ฯ มิได้บัญญัติให้อำนาจ กทช. ในการออกประกาศห้ามกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบชำระเงินล่วงหน้า (Pre – paid) การออกประกาศดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น การกระทำดังกล่าวของ กทช. จึงขัดต่อกฎหมาย

คดีดังกล่าวศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ตามมาตรา 51 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯให้อำนาจ กทช. ในการออกประกาศกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของสัญญาและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคมในการออกประกาศดังกล่าวย่อมสามารถทำให้ผู้ให้บริการไม่อาจกำหนดข้อสัญญาให้บริการอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องเร่งรีบใช้บริการภายในกำหนดเวลาอันอาจทำให้ต้องใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เกินความจำเป็น ซี่งเป็นมาตรการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมที่เป็น

อำนาจหน้าที่หนึ่งของ กทช. ประกอบกับเจตนารมณ์ให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่จะต้องมีการกำกับดูแลโดยองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ จึงเป็นการออกประกาศโดยชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ให้ผู้ฟ้องคดีระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนและปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อ 11 ของประกาศ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ที่มา http://www.isranews.org/isra-news/item/51150-true-67312.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่