[พี่พีทเล่าเรื่อง]: OPT สะพานทองของนักเรียนต่างชาติสู่การได้งานในอเมริกา

สวัสดีครับ หลังจากที่ผมเขียนกระทู้ “[บันทึกชีวิต]” ไป ก็มีเพื่อนๆหลังไมค์เข้ามากันหลายคนเลยทีเดียว มีทั้งมาขอบคุณบ้าง ถามคำถามบ้าง (ใครยังไม่ได้อ่าน สนใจก็ตามไปอ่านได้นะครับ หลายๆคนบอกว่าสนุก 555 http://ppantip.com/topic/35669585 ) ผมจึงรู้สึกว่า “เอ่อ จริงๆแล้วประสบการณ์หลายๆอย่างของเราก็มีประโยชน์ต่อคนอื่นนะ” เพราะหลายๆอย่างก็เป็นข้อมูลแบบ inside ที่อาจจะหาอ่านไม่ได้ในอินเตอร์เนตหรือหนังสือทั่วๆไป นอกจากว่าจะมีใครมาเล่าให้ฟัง ผมก็เลยคิดว่าจะเอาข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์มาเขียนให้เพื่อนๆอ่าน (ผมเพิ่งรู้ว่า ผมสนุกกับการเขียนนะ ถึงแม้เหนื่อยมากก็ตาม 555) ก็คงจะเขียนเป็นตอนสั้นๆ แบบจบในตอนนะครับ


วันนี้จะขอเล่าเรื่องของ OPT และโอกาสในการหางานของคนที่เรียนในสาขา STEM
แล้วอะไรคือ OPT  อะไรคือ STEM  ม่ะเรามาเริ่มกันเลยดีกว่า


ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของการมาเรียนที่อเมริกาในสาขา STEM ก็คือ คุณสามารถทำงาน (หรือบางคนจะเรียกฝึกงานอ่ะนะครับ) ได้ถึง 3 ปี!!! หลังจากเรียนจบ และ 1 ปีสำหรับ Non-STEM (สำหรับ Non-STEM นี่ผมไม่ชัวร์นะ ผิดยังไงใครรู้ช่วยทักท้วงด้วยนะครับ) เพื่อนบางคนก็อาจจะรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว แต่สำหรับเพื่อนๆที่เพิ่งหาข้อมูลเรื่องการเรียนต่อ อาจจะยังไม่ทราบ และตรงนี้ถือเป็นประเด็นที่สำคัญมากนะครับ เพราะมันคือโอกาสทองครับ


แล้วสาขา STEM คืออะไร???


STEM ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering, Math ผู้ใดก็ตามที่สาขาที่ท่านเรียนอยู่ตกอยู่ใน 1 ใน 4 ประเภทนี้ ท่านมีสิทธิ์ที่จะทำงานในอเมริกาหลังจากเรียนจบได้สูงสุดถึง 3 ปีด้วยวีซ่านักเรียน F1 บางสาขานั้นชัดเจนนะครับว่าเป็น 1 ใน 4 ประเภทนี้ เช่น พวกวิศวะทั้งหลาย พวก Physics, Biology, Com Science etc. แต่ในบางสาขาอาจจะไม่ชัดเจนเพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบกับทางมหาลัยว่าหลักสูตรนั้นๆที่เราสนใจ ถือว่าอยู่ใน STEM รึเปล่านะครับ


ลิงค์นี้เป็นรายชื่อสาขาที่อยู่ใน STEM นะครับ ลองดูให้พอรู้คร่าวๆ ถ้าไม่แน่ใจ ก็ควรตรวจสอบกับทางมหาลัยอีกครั้งเพื่อความแน่นอน
https://www.ice.gov/sites/default/files/documents/Document/2016/stem-list.pdf


แล้ว OPT คืออะไร???

OPT ย่อมาจาก Optional Practical Training ก็คือชื่อเรียกเจ้าโปรแกรมฝึกงาน 3 ปีนี่ล่ะครับ และเป็นประเภทหนึ่งของใบอนุญาติทำงาน (Employment Authorization Document) ซึ่งในใบอนุญาติทำงานก็จะระบุว่าเป็นแบบ OPT บนวีซ่า F1 (คือใบอนุญาติทำงานก็มีหลายประเภท ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามวีซ่าที่ท่านถืออยู่)

ที่นี่เรามาดูรายละเอียดของ OPT กันอีกหน่อยนะครับ


OPT คือ option เสริมบนวีซ่านักเรียน F1 เพราะฉะนั้นตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่คุณถือ OPT คุณถือวีซ่านักเรียนอยู่นะครับไม่ใช่วีซ่าทำงานและต้องค่อยอัพเดพข้อมูลกับทางมหาลัยตลอด สมมติว่ามีการย้ายบริษัทย้ายที่อยู่ก็ต้องแจ้งให้มหาลัยทราบ จริงๆแล้วระยะเวลา 3 ปีนี้แบ่งเป็น 2 ขยัก คือ การสมัคร OPT รอบแรกคุณสามารถทำงานได้ 1 ปี สมมติว่าคุณเรียนจบแล้ว อยากจะหางานทำต่อ คุณต้องส่งใบสมัคร OPT ไปที่องค์กรหนึ่งที่มีหน้าที่ดูแล สถานะการเข้าเมืองของชาวต่างชาติในอเมริกา โดยเสียเงิน $380 ใช้เวลาราวๆ 3 เดือนจึงอนุมัติ ในระหว่างนี้คุณก็สามารถหางานรอไปได้แต่ไม่สามารถเริ่มงานได้


เมื่อครบ 1 ปี คุณมีสิทธ์ต่อใบอนุญาตไปอีก 2 (จ่ายอีก $380)  รวมแล้วก็เป็น 3 ปี ในระหว่างที่คุณทำงานโดยถือ OPT แทบจะไม่มีความแตกต่างอะไรกับพนักงานบริษัทโดยทั่วๆไปที่ถือ H1B (จริงๆก็มีนิดหน่อย ซึ่งผมคิดว่าไม่สำคัญ เพราะทำงานได้เงินเหมือนกัน 555) คุณต้องซื้อประกันสุขภาพ จ่ายภาษี มี 401K (คล้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) เหมือนกับคนอื่นๆนี่ล่ะ ผมถึงเรียกว่ามันก็คือการทำงานเป็นพนักงานประจำแบบ Full-time นี่แหละ


แล้ว OPT ดียังไง เคยได้ยินเรื่อง H1B วีซ่าทำงาน ต่างกันมั้ย???


ข้อดีของ OPT คือ มันเพิ่มโอกาสการหางานของคุณได้มากขึ้นหลายเท่าตัว เพราะอะไรเหรอครับ ก็เพราะว่า ด้วย OPT เนี๊ยบริษัทสามารถรับคนๆนั้นเข้าทำงานได้เลย (โดยมีเงื่อนไขว่าคุณได้รับใบอนุญาติทำงานมาอยู่ในมือคุณแล้วนะครับ) โดยไม่มีปัญหาเรื่องต้องสปอนเซอร์วีซ่า H1B ซึ่งจะเปิดรับตั้งแต่ 1 เมษายนและโควต้าก็จะเต็มภายในไม่กี่วัน และกฏหมายกำหนดว่าบริษัทต้องเป็นคนจ่ายค่าวีซ่า H1B  ซึ่งเป็นเงินประมาณ $5,000  ฉะนั้นการมี OPT ก็เป็นคล้ายๆเป็นรอยต่อก่อนจะมาถึงการสปอนเซอร์ H1B และก็ช่วยให้นายจ้างดูผลการทำงานของคนๆนั้นได้ ถ้าไม่โอเคก็ไม่ต้องสปอนเซอร์วีซ่าให้ในภายหลัง


แต่เดี๋ยวก่อน!!!


ไม่ใช่ว่าคุณมี OPT แล้วจะได้ทำงานโดยอัตโนมัตินะครับ ถ้าคุณไม่สามารถหางานได้ภายใน 90 นับจากวันที่คุณมีสิทธ์เริ่มทำงานตามที่ใบอนุญาตระบุไว้ วันคุณก็ต้องออกนอกประเทศทันที


มีเพื่อนผมที่เป็นนักเรียนต่างชาติหลายคนก็ได้งานกันด้วยการเริ่มสมัครงานโดยใช้ OPT จะเล่าให้ฟังบางส่วนนะครับ


คนที่ 1 เป็นคนไทยรุ่นน้องผมที่ UIUC เป็นผู้หญิง จบ ตรีและโท Civil ด้าน Structural คุณครับ ผู้หญิงจบโยธา แถมได้งานเมืองนอก เก่งมากๆครับน้องคนนี้ (สมัคร 200 กว่าที่ ใจมั้ยอ่ะ) ตอนนี้อยู่ Detroit, Michigan บริษัทสปอนเซอร์ H1B ให้แล้ว


คนที่ 2 คนไทยรุ่นน้องที่ UIUC เหมือนกัน ผู้ชายจบ ตรี Civil ได้งานที่บอสตัน


คนที่ 3 คนไทยรุ่นน้องที่ UIUC จบตรี ด้าน Com Science ได้งานที่ New York ซึ่งด้านนี้การแข่งขันสูงมากๆนะครับ เพราะต้องฝ่าด้านเทพอินเดีย กะเทพจีน พวกอินเดียนี่แทบจะครองด้าน IT เลย


คนที่ 4 เป็นชาวสเปน ผมไม่ค่อยสนิท จบโท Railway Engineering ก่อนหน้าผม 1 เทอม ได้งานที่บริษัท Arup (ใหญ่มากครับ มีออฟฟิศทั่วโลก) ตอนนี้อยู่ ซานฟาน ย้ายจาก New York ไป


คนที่ 5 เพื่อนชาวสเปน คนนี้เป็น รองประธานชมรม AREMA Student Chapter ที่ UIUC จบโท Railway Engineering ได้งานที่บริษัท Arup (น่าจะเป็นเพราะคนที่ 3 แนะนำเข้าไป) ตอนนี้อยู่ New York


คนที่ 6 เพื่อนชาวไต้หวัน คนนี้เป็น เลขาของชมรม AREMA Student Chapter จบโท Railway Engineering ได้งานที่บริษัท Arup เหมือนกัน เพราะไอ้คนที่ 5 แนะนำเข้าไป ตอนนี้อยู่ New York ไอ้ 4 กับ 5 เป็นรูมเมทกันด้วยตอนนี้ 555


คนที่ 7 เป็นเพื่อนชาวเอกวาดอว์ คนนี้เป็น เลขาของชมรม AREMA Student Chapter คนก่อนหน้าคนที่  6  (คือคนที่ 6 มารับตำแหน่งต่อจากคนที่ 7 ผมพูดเองงงเอง)  ได้งานที่ Seattle, Washington


คนที่ 8 เป็นคนไต้หวัน ได้งานที่บริษัท HDR Inc. ซึ่งเป็นบริษัท Top 10 ด้าน Engineering  ในอเมริกา ใหญ่และดังมากๆ


คนที่ 9 คนนี้เป็นผู้หญิงคนจีน จบโท Transportation Engineering  ได้งานที่  Iowa


จริงๆแล้วมันมีขั้นตอนกระบวนการในรายละเอียดมากกว่านี้นะครับแต่ผมขอละเอาไว้ เพราะจะทำให้งงและสับสนจนเกินไปเนื่องจาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย และกฎหมายของอเมริกาค่อนข้างเยอะและยุ่งยาก แต่ในภาพรวมและไอเดียหลักๆก็น่าจะเล่าไปหมดแล้ว


อีกอย่างที่ผมอยากจะบอกก็คือ แม้อเมริกาจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่า เป็นดินแดนแห่งโอกาสสำหรับคนที่มีความสามารถ แต่เรื่องของ Networking ก็สำคัญนะครับ Networking ของที่นี่ก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการเส้นหรือเล่นพักพวกนะครับ แต่เหมือนกับว่าเป็นการแนะนำคนที่เรารู้อยู่แล้วว่าเค้าทำงานดีมีความสามารถให้กับบริษัทหรือ HR ไปพิจารณาอีกทีนึง ฉะนั้นการทำกิจกรรมต่างๆที่มหาลัยเพื่อสร้าง Networking นั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้นะครับ


ใครที่อยากจะลองหาประสบการณ์ทำงานที่อเมริกาก็น่าจะพอได้ไอเดียหรือช่องทางว่า เอ่อมันมีทางนะ แล้วก็เป็นไปได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ง่าย แต่มันก็มีคนทำได้ไม่น้อย จริงๆแล้วเนี๊ยต้องวางแผนตั้งแต่ก่อนมาเลยนะครับ โดยเฉพาะเรื่องภาษานี่ต้องเอาให้เป๊ะที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะมาถึงที่นี่คุณก็จะงงอีกครั้ง ปรับกันอีกพอสมควร มันเหมือนขยับขึ้นไปชกรุ่นใหญ่ขึ้น ผมขอลิสปัจจัยที่สำคัญๆดังนี้


1. ภาษาต้องสื่อสารได้ดี
2. เกรดดี
3. มีประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำงานหรืออะไรที่เป็นการปฎิบัติจริงๆ เช่น โปรเจคหรือร่วมทำงานวิจัยอะไรก็ได้ (แทรกตัวเข้าไปให้ได้)
4. ร่วมกิจกรรมโดยทำงานที่มีตำแหน่ง ไม่ใช่แค่เป็นสมาชิก
5. สร้างเครือข่ายคนรู้จักให้กว้างขวางด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น
6. สะสมเฟอร์นิเจอร์พวก license, award, ทุน


สุดท้ายขอฝากประโยคนึงที่ผมชอบมากๆ เลยนะครับเอามานิทานเเรื่อง “เศรษฐีไม้เท่าทองคำ” อ่านมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เค้าบอกว่า


“ผู้ชนะมักพูดว่าถึงมันจะยากแต่มันก็เป็นไปได้ ส่วนผู้แพ้มักพูดว่าถึงมันจะเป็นไปได้แต่มันก็ยาก”


ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จครับ

พี่พีท


***เกิดมาเพิ่งเคยเห็นต้นไม้สีเหลือง อมยิ้ม15 (ภาพไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในกระทู้)***
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่