ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงที่หนีเข้าพม่า ถ้าพม่าไม่ส่งตัวคืนอู๋ซานกุ้ยจะตีพม่าแตกไหม

ตามรายละเอียดข้างบนเลยครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 6
การเมืองในราชสำนักอังวะตอนนั้นนับว่าไม่ค่อยมั่นคงครับ สาเหตุหนึ่งมาจากการดึงอำนาจรวมศูนย์ในสมัยพระเจ้าสาลุน (သာလွန်မင်း Thalun Min) ที่ทำให้ราชสำนักส่วนกลางมีมากขึ้นโดยการลดอำนาจเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ลง อำนาจถูกถ่ายเทมาที่สภาลุตดอ (လွှတ်တော် Hluttaw) ซึ่งเป็นสภาบริหารราชแผ่นดินของพม่ามากขึ้น ทำให้หัวเมืองใหญ่ซึ่งเคยมีกษัตริย์ปกครองและมีกำลังทหารในบังคับบัญชาของตนเองมีอำนาจน้อยลง ผิดจากสมัยราชวงศ์ตองอูยุคต้นอย่างในสมัยพระเจ้าบุเรงนองที่สามารถระดมกำลังทหารจากหัวเมืองได้จำนวนมาก

หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าสาลุนแล้ว สภาลุตดอยิ่งมีอำนาจสูงขึ้น หลายครั้งปรากฏว่ามีบทบาทในการปกครองสูงกว่าพระเจ้าแผ่นดินด้วยซ้ำ หลายครั้งสภาลุตดอมีอำนาจมากพอที่จะถอดพระเจ้าแผ่นดินลงจากราชสมบัติได้ด้วย

พระเจ้าอังวะสิรินันทสุธรรมราชาหรือพระเจ้าปิงดะแล (ပင်းတလဲမင်း) ก็ไม่ได้มีความสามารถนัก เหตุหนึ่งคือปล่อยให้จูโหยวหลางเข้ามาก่อความวุ่นวายในพม่าตอนบนได้โดยง่าย

การเกณฑ์ไพร่พลเพื่อรับมือจีนก็ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก พิจารณาจากหมายรับสั่งของพม่าในช่วงรับศึกจากจูโหยวหลางเมื่อ พ.ศ.๒๒๐๓ สามารถเกณฑ์ไพร่พลจากเมืองใหญ่ที่มีพระอนุชาปกครองคือเมืองตองอูและเมืองแปรมาป้องกันราชธานีอังวะได้เพียงเมืองละ ๑,๐๐๐ คนเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมาก

นอกจากนี้ยังมีเหตุอื่นคือช่วงที่รบกับจีนทำให้ข้าวของต่างๆ อัตคัด พระองค์กลับปล่อยให้พวกนางสนมซื้อข้าวของแล้วนำออกขายราษฎรโดยโก่งราคาเพื่อหากำไรทำให้ราษฎรโกรธแค้น เป็นเหตุให้ให้เกิดกบฏโค่นล้มพระเจ้าปิงดะแล แล้วอัญเชิญพระเจ้าแปรมังรายกฺยอของ (မင်းရဲကျော်ခေါင် Minye Kyaw Gaung) ผู้เป็นอนุชาขึ้นเป็นพระเจ้าอังวะ ทรงพระนามว่า "มหาปวรธรรมราชาโลกาธิบดี" ใน พ.ศ.๒๒๐๔ ทรงปราบปรามกองทัพของจูโหยวหลางอย่างเด็ดขาด จนกระทั่งอู๋ซานกุ้ยยกทัพเข้ามา ก็ยอมส่งตัวจูโหยวหลางให้ตามที่ต้าชิงร้องขอ

สภาพการเมืองในตอนนั้นเพิ่งผลัดแผ่นดินจึงมีความไม่มั่นคง และนอกจากต้องรับศึกอู๋ซานกุ้ยแล้ว ก็ยังมีสงครามใกล้เคียงกันคืออยุทธยาได้ยกทัพไปตีเชียงใหม่ซึ่งเป็นประเทศราชของอังวะด้วย (เพราะในช่วงที่จีนยกทัพมาตีเมืองอังวะครั้งแรกนั้น เชียงใหม่ไม่มีที่พึ่งเลยมาขอพึ่งอยุทธยา แต่พอจีนถอยไปแล้ว เชียงใหม่จึงไปเข้ากับพม่าตามเดิม ทำให้อยุทธยายกไปตี) การรับศึกทั้งสองด้านจึงไม่ใช่การกระทำที่ฉลาดเลย

สภาพของราชสำนักอังวะตอนนั้นไม่น่าจะสามารถต้านทางกองทัพของอู๋ซานกุ้ยได้ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่อังวะจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือกับจูโหยวหลางที่เป็นตัวชักศึกเข้าบ้านและแทบไม่มีประโยชน์ใดสำหรับราชสำนักอังวะ การส่งตัวจูโหยวหลางให้อู๋ซานกุ้ยจึงน่าจะเป็นการกระทำที่เป็นผลดีที่สุดครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่