การพัฒนาฟุตบอลไทยให้ไปสู่ระดับเอเชีย (ตอนที่ 2)

กระทู้สนทนา
ช่วงนี้กระแสเรื่องการจัดตัวผู้เล่นทีมชาติไทยมาแรง ผมขอแทรกเรื่องอื่นจะได้เกิดความหลากหลายบ้างนะครับ

จากตอนที่แล้วผมได้เสนอการเพิ่ม “ผู้ฝีกสอน” ที่มีมาตรฐานให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนทั่วประเทศในระยะเวลา 1 ปี
ผู้ฝึกสอนที่ผ่านการอบรมคอร์สจาก AFC ก็จะมีทั้ง “ศิลป์” และ “ศาสตร์” ในการฝึกสอน ซึ่งต่อไปนี้ผมจะแบ่งปันเรื่อง “ศาสตร์” ของฟุตบอลเพื่อเอาไปคิดกันต่อ ก่อนเข้าสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนในแต่ละช่วงอายุนะครับ

ศาสตร์ที่ผู้ฝึกสอนจำเป็นต้องมีและเข้าใจคือต้องรู้ว่าองค์ประกอบของนักกีฬา (โดยเฉพาะฟุตบอล) ที่เก่งมีอะไรบ้าง
1)    พันธุกรรมหรือสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด (พัฒนาไม่ได้ต้องใช้เวลาหลายช่วงอายุคน)
2)    เทคนิค (พัฒนาได้)
3)    แทคติก (พัฒนาได้)
4)    สมรรถภาพทางกาย (พัฒนาได้)
5)    สมรรภาพทางใจ (พัฒนาได้)

ผมเพิ่มรายละเอียดใน 5 องค์ประกอบให้อีกนิด
1)    พันธุกรรม อันนี้ไทยก็คือไทยครับ โครงสร้างเล็ก บาง ไม่สูง
2)    เทคนิค คือ ความสามารถเฉพาะตัว เรากับลูกบอล เลี้ยง ส่ง โหม่งยิง จับบอล การล่อหลอก
3)    แทคติก คือ กลยุทธ์ครับ เอาความสามารถเฉพาะตัวมาใส่ความคิดเข้าไป เช่นควรเลี้ยงตอนไหน ท่าไหน เมื่อไหร่ อย่างไร กลยุทธ์ มีตั้งแต่ รายบุคคล เพิ่มเป็น รายกลุ่ม (2 คน ขึ้นไป) จนถึง กลยุทธ์ แบบทีม
4)    สมรรถภาพทางกาย ประกอบไปด้วย ความแข็งแรง ความฟิต ความเร็ว ความคล่อง ความยืดหยุ่น
5)    สมรรถภาพทางใจ การรับแรงกดดัน การสู้ ไม่ท้อถอย

ฟุตบอลจะดีได้ต้องมี 5 อย่างนี้ครับ ที่พัฒนากันได้และต้องทำก็ตั้งแต่ข้อ 2 ถึง ข้อ 5 โดยจะพัฒนาแต่ละอย่างตามช่วงอายุที่ไม่เหมือนกัน

ผู้ฝึกสอนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศตามที่ผมเสนอไปนั้น ทั้งในระดับโรงเรียน หรือ อะคาเดมี่ เอกชน(ที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้น) ต้องเข้าใจในการพัฒนาด้วย
โดยหลักๆจะแบ่งการพัฒนาเป็น 4 ช่วงอายุ
1)    อายุ 6-8 ปี
2)    อายุ 9-12 ปี
3)    อายุ 13-15 ปี
4)    อายุ 16-19 ปี
เกิน 19 ปีก็จะเข้าสู่ระบบอาชีพแล้ว

อายุ 6-8 ปี จะเน้นเรื่องเทคนิคเลยครับ และจุดมุ่งหมายการฝึกจะเป็นเรื่องของ “ความสนุก” (train for fun)
จะไม่เน้นเรื่องการแข่งขัน ไม่เน้นเรื่องสมรรถภาพทางร่างกาย จะเป็นเรื่อง สัมผัสบอลล้วนๆ จะใช้วิธี เด็ก 1 คนต่อบอล 1 ลูก ให้เด็กมีความคุ้นเคยกับบอลให้มากที่สุด โดยอาจจะเพิ่มการรับรู้ และ ความสัมพันธ์ของร่างกายให้ถูกต้อง เด็กในระดับนี้อาจจะฝึกให้สนุกในเวลา 3-4 ชม.ต่อสัปดาห์ ดังนั้นเล่นที่บ้าน เล่นที่โรงเรียน หรือ เล่นที่ไหนก็ได้ครับ

อายุ 9-12 ปีจะคงยังเน้นเรื่อง “ความสนุก” (train for fun)  และมุ่งเน้นความสามารถเฉพาะตัวอยู่ครับ แต่จะเน้นมากขึ้น คล่องขึ้น ทำจนเป็นธรรมชาติ และเริ่มใส่ “ความคิด” หรือ แทคติกเข้าไป ว่าต้องทำอย่างไร ที่ไหน เมื่อไหร่ การฝึกเน้น “เกมส์” มากขึ้น แต่คงเป็นเกมส์เล็กๆ 1 ต่อ 1,  2 ต่อ 2, 3 ต่อ 3 ไม่เกิน 5 ต่อ 5 ที่สำคัญมากๆคือ ผู้ฝึกสอนต้องปล่อยให้เด็กเล่นครับ อย่า “พากย์บอล”  การกำกับว่าต้องเลี้ยงต้องยิงต้องส่งจะไปปิดกั้นจินตนาการและความคิดของเด็ก เราต้องปล่อยให้เด็กใช้จินตนาการ หรือ ความคิด+เทคนิคเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในสนามเอง

เด็กในวัยนี้ จะต้องเข้าใจและทำได้ดีในการทำเกมส์รุก และ เกมส์รับในระดับบุคคล (individual attack and defend) เพื่อนำไปสู่การทำเกมส์รุก กลุ่ม และ ทีมต่อไป

หัวใจสำคัญของอายุ 6-12 ปี ตามความคิดผม ควรสนับสนุนและสอนให้เด็กเลี้ยงบอลแบบเอาชนะเลยครับ เราต้องเลิกทัศนะคติเรื่อง “ขี้เลี้ยง” ไปครับ สร้างทัศนะคติเด็กไทยต่อไป ว่าสถานการณ์ 1 ต่อ 1 ต้องเลี้ยงเอาชนะ หรือ เลี้ยงกินตัวให้ได้ อย่าไปกลัวเรื่องขี้เลี้ยงครับ ระดับโลกที่เก่งๆขี้เลี้ยงทุกคน โรนัลโด้ เมสซี่ หรือล่าสุดทีมญี่ปุ่นที่มาเจอไทย จังหวะริมเส้น 1 ต่อ 1 พวกนี้จ้องจะเอาชนะตลอด เพราะถ้ากินตัวได้จะได้เปรียบเรื่อง "จำนวนผู้เล่น" ทันที แต่ความต่างคือเค้ารู้ว่าเมื่อไหร่ควรเอาชนะด้วยการเลี้ยง เมื่อไหร่ควรส่ง

ซึ่งอายุ 12-13 ปีขึ้นไปเราจะสอนเยาวชนให้มากขึ้นเรื่องนี้ เรื่อง “แทคติก” หรือ การใส่ความฉลาด และ ความคิดเข้าไป ว่าทำเมื่อไหร่ ทำอย่างไร ทำที่ไหน    
เห็นต่างได้นะครับ ลองมาแลกเปลี่ยนกัน

ครั้งหน้าผมจะมาคุยเรื่องเยาวชนตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป และ อาจจบเรื่องปลายปิระมิด เลยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่