สตง.ยัน "ประวิตร" และคณะบินร่วมประชุมฮาวายไม่พบทุจริต

กระทู้ข่าว
ผู้ว่า สตง. ยันกรณี "ประวิตร" และคณะบินร่วมประชุมฮาวาย ยังไม่พบการทุจริตเป็นไปตามสูตรคำนวณของการบินไทยกับหน่วยงานของรัฐ ระบุรายชื่อหลุดโซเชียลไม่ตรง ย้ำไม่สามารถเผยรายชื่อผู้ร่วมเดินทางได้ยอมโดนตำหนิดีกว่ากระทบความมั่นคง

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. แถลงข่าว ถึงกรณีตรวจสอบการเดินทางไปประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน-รมว.กลาโหมสหรัฐอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN-US Defense Informal Meeting) ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-1 ตุลาคม 2559 ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา  ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและคณะ ว่า ได้ตรวจสอบรายชื่อแล้วพบว่า เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงทั้งสิ้น รวมถึงผู้สื่อข่าวก็เกี่ยวข้องทางด้านทหารที่ยืนยันว่าไม่ได้เดินทางไปด้วย แต่ไม่ขอเปิดเผยรายชื่อเนื่องจากจะกระทบกับความมั่นคง ซึ่งการจะตรวจสอบว่าคนๆหนึ่งไม่ได้เดินทางไปจะทำให้ส่งผลกระทบมากกว่า  ตนยอมถูกตำหนิว่าปกปิดข้อมูลดีกว่าให้เกิดประเด็นทางสังคมเพียงเพราะความสะใจ ขออย่าไปสนใจกับคนที่ไม่ได้ร่วมเดินทางและ สตง. จะไม่เข้าไปตรวจสอบคนที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่จะให้หน่วยงานอื่นตรวจสอบแทน

นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบไปยังการบินไทย ถึงค่าใช้จ่ายพบว่า ราคาเช่าเหมาลำเป็นไปตามสูตรทั่วไปที่การบินไทยคิดกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัน เวลา จำนวนคน ในการเดินทาง ขนาดของเครื่องบิน และน้ำมันที่ต้องใช้ เนื่องจากเครื่องบินจะต้องบินข้ามทวีปและน่านน้ำโดยไม่ต้องหยุดพัก และต้องลดระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งมีความจำเป็นต้องเสิร์ฟ อาหารตามรอบเวลา จำนวน 4 มื้อ ที่พบว่าสายการบินชั้นนำทั่วไป จะแข่งขันในเรื่องของการบริการในชั้นเฟิร์สคลาส ที่ในเที่ยวบินนี้พบว่า มีเพียง 9 ที่นั่งเท่านั้น ส่วนผู้โดยสารที่เหลือเป็นชั้นปกติ และราคา 600,000 บาท ที่ระบุมายังไม่ใช่ราคาสุดท้าย รวมถึงสายการบินไม่ใช่ร้านอาหารที่เราจะเลือกสรรอาหารได้ แต่ต้องรักษามาตรฐานด้วย และส่วนตัวเชื่อว่าบุคคลระดับนั้นจะไม่จุกจิกด้านอาหาร

ส่วนใบค่าใช้จ่ายที่เผยแพร่นั้น ผู้ว่าฯ สตง. ระบุว่า  เป็นใบสั่งจ้าง ที่จะเรียกเก็บไม่เกินจำนวนเงินดังกล่าว เพราะถือเป็นข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เดินทางไปยังต่างประเทศจะต้องซื้อตั๋วหรือเดินทางโดยการบินไทย หรือหากไม่มีเที่ยวบิน การบินไทยจะต้องเป็นผู้จัดหาให้ แต่ในเที่ยวบินดังกล่าว มีความจำเป็นในเรื่องของเวลาจึงต้องจัดเช่าเหมาลำจะคุ้มค่ากว่า เพราะหากบุคคลในระดับวีไอพีต่อเครื่องอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 5-6 แสนบาทต่อราย ที่จะต้องใช้เวลา 16-33 ชั่วโมง ในการเดินทางทั้งไปเช่นเดียวกับการเดินทางกลับ และขอให้พิจารณาด้วยว่า บุคคลในระดับนั้นหากจะเดินทางไป 10 ชั่วโมงกว่า เพื่อไปชะโงกแล้วกลับจะไปทำไม สิ่งที่เห็นก็พบว่าไม่ได้ประวิงเวลา

ทั้งนี้ สตง.จะเสนอรายงานดังกล่าวไปยังคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. พิจารณาในวันที่ 10 ต.ค. นี้ เพื่อความสบายใจ  พร้อมยืนยันว่าในเรื่องดังกล่าวสามารถตัดเรื่องการทุจริตออกไปได้ เชื่อว่าเงินจะไม่รั่วไหล เพราะ สตง. สามารถติดตามเรื่องดังกล่าวได้ และจากการตรวจสอบยังไม่มีข้อสังเกตใดที่เป็นประเด็น นอกจากนี้ยังต้องรอสรุปค่าใช้จ่ายจากการบินไทยในส่วนของต่างประเทศซึ่งได้เร่งรัดให้เร็วที่สุดเพราะสังคมต้องการรับรู้  แต่เชื่อว่าค่าใช้จ่ายที่ออกมาจะไม่เกินความเหมาะสม บุคคลที่ไปก็อยู่ในแนวหน้าของฝ่ายความมั่นคง นอกจากนี้ยังย้ำว่า รายชื่อที่หลุดออกมานั้นไม่ตรงกับรายชื่อที่มีการตรวจสอบแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงานเข้าเหมาลำได้จะมีเพียงนายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่เดินทางในนามของประเทศไทย ที่เดินทางไป ซึ่งมีเพียง การเดินทางไปยัง มิลาน และเซ็นปีเตอร์เบิร์ก เท่านั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่