คุณคิดว่า.....วัดที่ดีควรเป็นอย่างไร?



          เราไม่ควรติดที่เปลือก มองแค่วัดใหญ่ วัดเล็ก แต่ให้มองลึกไปถึงประโยชน์ใช้สอย ช่วยกันบำรุงรักษาวัด เต็มกำลังความสามารถของตน แล้วตามไปใช้ประโยชน์โดยหมั่นเข้าวัด ถือศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิ
          วัดมี  2 แบบ ดีทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการสร้างวัด
     1.  ถ้าเป็นวัดที่สร้างเพื่อที่พักอาศัยปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์เป็นหลัก อยู่ในป่าก็สงบดี ปลอดจากเรื่องวุ่นวายทางโลก
     2.ถ้าเป็นวัดที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่ธรรมะ อบรมสั่งสอนประชาชนให้เป็นคนดีด้วย ก็ควรอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเกินไป
          ขนาดของสิ่งปลูกสร้างของวัดก็อยู่ที่การใช้งาน
   ถ้าเป็นวัดในหมู่บ้าน-ตำบล ศาลาจุคนได้สัก 100 – 200 คน ก็เพียงพอ ถ้าเป็นวัดหลักของอำเภอ-จังหวัด ศาลาก็ควรจุคนได้สัก 300 – 1,000 คน เพียงพอในการอบรมธรรมะแก่ข้าราชการ นักเรียน พ่อค้าประชาชนในจังหวัดนั้นๆถ้าเป็นวัดศูนย์กลางของภูมิภาคหรือประเทศ ก็อาจมีศาลาและอาคารสถานที่รองรับญาติโยมได้เรือนพันหรือเรือนหมื่น
   โดยสรุปคือ วัดที่ดีไม่ได้อยู่ที่ขนาดว่าเป็นวัดเล็กหรือวัดใหญ่  แต่อยู่ที่ประโยชน์การใช้งาน  ถ้าอาคารสถานที่สร้างแล้วมีการใช้ประโยชน์คุ้มค่า ก็เป็นวัดดี
  เปรียบเทียบสถานศึกษา
ถ้าถามว่าสถานศึกษาที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร
- บางคนบอกว่า ต้องมีลักษณะเหมือนโรงเรียนประชาบาล อยู่ในชุมชนมีนักเรียน 50- 100 คน มีอาคารเรียน ห้องพักครู หลังเดียวพอ  สงบดี
-บางคนยิ่งกว่านั้น บอกว่าควรเป็นเหมือนศานตินิเกตันในอินเดียที่ไม่ต้องมีอาคารเรียน เรียนหนังสือใต้ต้นไม้ อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ
- แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยหลักของประเทศ อย่าง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์  มหิดล เกษตรศาสตร์ รามคำแหง ใช้งบประมาณสร้างแห่งละร่วมแสนล้านบาท
เอางบนี้ไปสร้างโรงเรียนเล็กๆ ได้เป็นพันๆ แห่ง ถามว่า ทำไมทำอะไรใหญ่โต  ติดวัตถุ มีอาคารสถานที่มากไป เวอร์หรือเปล่า ก็ไม่ใช่  เพราะเป็นความจำเป็นในการพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้แก่ประชาชนในชาติ
สถานศึกษาที่ดีจึงไม่ได้อยู่ที่ขนาดใหญ่หรือเล็ก แต่อยู่ที่วัตถุประสงค์การสร้าง   สร้างแล้วใช้ประโยชน์คุ้มก็ถือว่าดี
           ตัวอย่างครั้งพุทธกาล
     อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างเชตวันมหาวิหารใช้เงินไป 540 ล้านกหาปณะ(หน่วยเงินโบราณมีค่าสูงมาก) คิดเป็นค่าเงินปัจจุบันหลายหมื่นล้านบาท สามารถรองรับพระภิกษุหลายพันรูป สาธุชนเรือนหมื่นเรือนแสนคน พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุโมทนาอย่างยิ่ง เสด็จประทับอยู่จำพรรษาที่เชตวันมหาวิหารถึง 19 พรรษา และวัดนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาล เป็นประโยชน์อย่างมากมาย  วัดบุพพารามที่นางวิสาขามหาอุบาสิกาบริจาคทรัพย์ 270 ล้านกหาปณะ สร้างเป็นโลหะปราสาท ผ้าม่านแต่ละผืนมีมูลค่านับแสน  พระพุทธเจ้ายังทรงอนุญาตให้พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างตามที่นางวิสาขาทูลขอ และเสด็จอยู่จำพรรษาที่วัดบุพพารามนี้ ถึง 6 พรรษา

     องค์ประกอบของวัดดี
1.  เสนาสนะที่สร้างมีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
2.  ดูแลสถานที่ดี สะอาด เป็นระเบียบ ร่มรื่น
3.  พระภิกษุตั้งใจศึกษาธรรมะปฏิบัติธรรม มีศีลาจารวัตรงดงาม
4.  มีการเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชนอย่างจริงจัง สร้างคนดีให้สังคมมากๆ

ดังนั้น เราไม่ควรติดที่เปลือก มองแค่วัดใหญ่ วัดเล็ก แต่ให้มองลึกไปถึงประโยชน์ใช้สอย ช่วยกันบำรุงรักษาวัด  เต็มกำลังความสามารถของตน แล้วตามไปใช้ประโยชน์โดยหมั่นเข้าวัด ถือศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิ และชวนคนเข้าวัดให้มากๆด้วย เราก็จะมีแต่ความสุขความเจริญทั้งชาตินี้ชาติหน้า สังคมก็สงบร่มเย็น พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง

      ขอบคุณข้อมูลจาก http://dbuddhist.com/miscellaneous_blog002.html
                                      http://winne.ws/n8425
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่