รีวิว Seoul Station : สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน






หลังจากส่ง Train to Busan หนังซอมบี้เลือดโสมเข้าฉายที่ประเทศไทยและสามารถสร้างกระแสที่คนแห่กันมาดูอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พร้อมกระแสปากต่อปากถึงคุณภาพของหนัง ทำให้มีคนแห่กันไปดูจนกลายเป็นหนังเกาหลีที่สามารถทำรายได้สูงที่สุดในประเทศไทยได้สำเร็จ แน่นอนว่าเมื่อมีกระแสมาเยอะขนาดนี้ ทางค่ายหนังจึงไม่รอช้าและส่ง Seoul Station หนังแอนิเมชั่นที่เล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกัน เป็นสถานการณ์ที่เกิดก่อน Train to Busan ที่ก็เป็นผลงานจากผู้กำกับคนเดียวกัน เข้าฉายในเวลาต่อเนื่องทันที ซึ่งจริง ๆก็อาจมองได้ว่าเกาะกระแสของ Train to Busan ที่กำลังฮิตติดลมบน แต่แน่นอนว่าด้วยกระแสของหนัง ก็ทำให้แฟนหนังชาวไทยจำนวนไม่น้อยเรียกร้องให้ค่ายหนังนำแอนิเมชั่นที่เป็นเหมือนส่วนขยายเรื่องราวมาฉายต่อเนื่องทันที
Seoul Station เป็นเรื่องราวของ ซุกคิว ชายที่พยายามตามหาลูกสาวของเขา ฮเยซอน ที่หนีออกจากบ้าน ก่อนจะพบว่าเธอทำงานเป็นหญิงขายบริการอยู่ในกรุงโซล ซุกคิวจึงพยายามที่จะปลอมตัวเป็นลูกค้าเพื่อให้ได้พบกับหน้าลูกสาวอีกครั้ง แต่ในระหว่างนั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นที่สถานีรถไฟโซล สาเหตุก็มาจากชายเร่ร่อนคนหนึ่งที่ได้ฟื้นขึ้นจากความตายกลายเป็นซอมบี้ และเริ่มแพร่เชื้อโจมตีผู้คนมากมายอย่างไม่เลือก ภารกิจเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์อันตรายนี้จึงดำเนินไปพร้อมกับการตามหาลูกสาว


ในทางของหนังแอนิเมชั่นรูปแบบของหนังซอมบี้
เมื่อเป็นหนังของผู้กำกับคนเดียวกันกับ Train to Busan แน่นอนว่าผู้ชมที่เข้าไปชม จะคาดหวังไม่มากก็น้อยว่าจะได้รับอรรถรสในรูปแบบเดียวกับที่เคยได้จาก Train to Busan ที่ถือเป็นหนังซอมบี้ที่ครบเครื่องและสมบูรณ์แบบอีกเรื่องหนึ่ง แต่หากหวังแบบนั้น ก็คงผิดหวังไม่น้อย เมื่อ Seoul Station นั้นมีจุดมุ่งหมายในการเล่าเรื่องและสื่อประเด็นที่แตกต่างจาก Train to Busan โดยสิ้นเชิง
Seoul Station เป็นหนังที่มุ่งไปในการตีแผ่ความมืดของสันดานมนุษย์และสังคม และความสมจริงของเหตุการณ์ มากกว่าที่จะเน้นความบันเทิงในรูปแบบ สนุก ลุ้น ตื่นเต้นจนลืมหายใจแบบ Train to Busan ทั้งประเด็นของหนัง ที่มีหลายตัวละครที่เป็นตัวสื่อในรูปแบบภาพลักษณ์อย่างชัดเจน จากการที่ตัวละครนำเป็น โสเภณี, แมงดาที่เกาะผู้หญิง และเหล่าคนไร้บ้านเร่ร่อนที่อาศัยสถานีรถไฟเป็นที่นอน เป็นต้น จากการที่หนังใช้ตัวละครเหล่านี้มันชัดเจนว่าผู้กำกับต้องการจะเล่า “ชีวิต” ของคนเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นคนชั้นล่างของสังคม มากกว่าจะเน้นสร้างซีนแอ็คชั่นเอาตัวรอดที่ลุ้นระทึกและการกระจายตัวละครที่หลากหลายมากกว่าอย่างใน Train to Busan และเท่าที่ผู้เขียนทราบข้อมูลมา ผู้กำกับสร้างแอนิเมชั่นเรื่องนี้ก่อนที่จะสร้าง Train to Busan เสียอีก ดังนั้นเรื่องนี้เหมือนเป็นจุดตั้งต้น ที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อขายหรือเอนเตอร์เทนคนดูมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว


เมื่อ “คน” ต้องการเอาชีวิตรอด
ในแง่ของประเด็นเรื่องความซีเรียจจริงจังของหนัง Seoul Station นั้นมีความซีเรียจมากกว่า Train to Busan เนื่องจากการเล่าเรื่องผ่านตัวละครนำที่มีภาพลักษณ์สื่อความหมายอย่างที่บอกไปแล้ว และที่สังเกตได้อีกประเด็นคือ หนังจะเน้นในเรื่อง “คนไร้บ้าน” หรือ “คนเร่ร่อน” ในปริมาณที่เทียบเท่ากับเรื่องของตัวละครหลักเลยทีเดียว จากสถานการณ์ในหนังที่ คนพบคนที่ติดเชื้อ ก็คือคนไร้บ้าน คนที่ช่วยตัวละครหลักหนี ก็คือคนไร้บ้าน กลุ่มคนประเภทแรกที่ต้องตายจากเหตุการณ์นี้ ก็คือ คนไร้บ้านเช่นกัน และยังมีซีนที่ให้เห็นถึงความแบ่งแยกชนชั้นด้วยภาพลักษณ์ ที่ทำให้คนเหล่านี้เป็นคนที่ไม่น่าไว้ใจตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงซีนที่ทำให้ความรู้สึกที่น่าสงสารเวทนาของคนไร้บ้านอีกมากมาย ถามว่าทำไมผู้กำกับถึงจำเป็นต้องเล่าเรื่องของคนกลุ่มนี้มากที่สุด ทั้งที่มีคนอีกหลายกลุ่มหลายประเภทที่สามารถเล่าได้ คำตอบคือคนกลุ่มนี้สามารถนำมาเล่นประเด็นความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ชัดเจนที่สุด นั้นอาจจะเป็นจุดมุ่งหมายในการตั้งคำถามของคุณค่าความเป็นมนุษย์ว่าสามารถวัดได้จากอะไร เพียงแค่เพราะเขาไม่มีบ้านอยู่และเป็นคนเร่ร่อนเพียงแค่นั้นหรือ?

ส่วนตัวละครหลักอย่าง ฮเยซอน นั้นออกไปในทางตัวละครที่ค่อนข้างจะเป็นแบบพิมพ์ หรือมีความ stereotype ตามแบบฉบับหนังดราม่าเกาหลีที่เคยได้เห็นกันมาอยู่พอสมควร เส้นเรื่องชีวิตของมาจะมาน่าสนใจอีกทีก็ตรงจุดหักมุมในช่วงท้าย ดังนั้นประเด็นของตัวละครหลักจึงไม่น่าสนใจเทียบเท่าประเด็นรองอย่างประเด็นคนไร้บ้าน ในแง่ของการติดตามตัวละครในฐานะคนดูจึงได้เพียงเอาใจช่วยตัวละครนี้ให้รอด มากกว่าที่จะมากกว่าเห็นใจเรื่องราวของเธอ จริง ๆแล้วหนังมีประเด็นที่น่าพูดถึงมากกว่านี้อีกหลายประเด็น รวมถึงประเด็นในเรื่องของการจัดการวิกฤตินี้ของภาครัฐอีกที่มีความน่าสนใจ ในแง่ของการปิดโอกาสทางรอดของคนหนีตายด้วยการสร้างพื้นที่กักกัน เพียงเพราะ”ความกลัว” แต่ในโลกความจริงนั้น หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ในเวลาที่เราไว้ใจใครไม่ได้ ในเวลาที่เพียงแค่คนคนเดียวที่ติดเชื้อนั้นสามารถเข้าในพื้นที่กักกันมาได้ ทุกอย่างก็จะพังพินาศ การกระทำแบบนี้ก็อาจเป็นการกระทำที่ไม่มีใครเลี่ยงได้


ประเด็นหลักแข็งแรง แต่วิธีการนำเสนออ่อนเกินไป
ในเวลานี้ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นพัฒนามากโดยเฉพาะเทคโนโลยีการสร้างภาพที่สามารถทำได้สวยงามจนเราเห็นเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่นี่กลับเป็นจุดด้อยอยู่พอสมควรสำหรับหนังเรื่องนี้ เมื่อเอกลักษณ์ทางด้านภาพแอนิเมชั่นนั้นดูธรรมดาเกินไป และแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของภาพที่ไม่ราบลื่นในแบบที่ควรจะเป็น ซึ่งด้วยศักยภาพของวงการหนังเกาหลีนั้นสามารถทำได้ดีกว่านี้ หรืออาจเป็นจุดหมายของผู้กำกับหรือเปล่า แต่ความเห็นส่วนตัวนั้น รู้สึกว่าตัวเรื่องที่แข็งแรงและโดดเด่นกว่าภาพที่เล่าเรื่องจนอย่างชัดเจนไปหน่อย หากทำแอนิเมชั่นให้ดูดีและมีรายละเอียดกว่านี้ ก็น่าจะส่งให้หนังดูดีกว่าที่เห็น

สำหรับคนที่หวังไปดูเพื่อเติมเต็มเรื่องราวที่ได้รับจาก Train to Busan ก็จะได้อรรถรสในอีกรูปแบบหนึ่ง รวมถึงเห็นภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากขึ้นพร้อมกับได้ขบคิดถึงประเด็นสังคมจากหนัง เติมจิ๊กซอว์ให้สมบูรณ์มากขึ้นจากเรื่องหลักได้
แต่หากหวังได้รับความบันเทิงแบบตื่นเต้นและดูสนุก น่าติดตามทุกวินาทีแบบ Train to Busan ก็คงต้องพิจารณาใหม่สักหน่อยล่ะครับ

ขอบคุณภาพจาก Mongkol Cinema

หากอ่านแล้วชอบ ติดตามบทความได้ที่เพจ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft/ นะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่