หากรู้จักเล่าปี่ว่าชอบโหน ดราม่าเจ้าน้ำตา ก้มหัวยกมือไหว้ ถ้าแค่นี้เลิกศึกษาสามก๊กได้เลย

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่า สามก๊กเป็นวรรณกรรมที่นำเสนอเกี่ยวกับการบริหาร การวางแผน และชิงไหวชิงพริบ ไม่ได้นำเสนอในเชิงดราม่าว่า ใครเป็นพระเอก ใครเป็นผู้ร้าย ดังนั้นเรื่องคุณธรรมความดี ตัดทิ้งไปได้เลยคับ ยิ่งแล้วกฎกติกามุมมองด้านศีลธรรมในสมัยนั้น ก็เป็นคนละมาตรฐานกับยุคปัจจุบัน

ทั้งวรรณกรรมสามก๊ก ผู้ประพันธ์ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้มาดูว่า ใครเป็นพระเอก นางเอก หรือใครเป็นตัวร้าย ซึ่งวัฒนธรรมแบบนั้นจะมีในงิ้วและละคร และจะเห็นได้ว่า พอมีซีรีส์สามก๊กขึ้นมาในทุกๆภาค จะต้องทำให้มีตัวดีแล้วก็ตัวร้าย ซึ่งฝ่ายผู้สร้างก็มีมักจะให้ก๊กเล่าปี่เป็นกลุ่มตัวดี และอีก 2 ก๊กเป็นตัวร้าย (ยกเว้นเวอร์ชั่นภาพยนตร์ "โจโฉแตกทัพเรือ" ที่ให้ เล่าและซุน เป็นตัวดี และโจเป็นตัวร้าย) เพราะนั่นเป็นคอนเสปต์การสร้างหนังละคร ที่ต้องให้คนอินและลุ้นตาม แต่ในวรรณกรรม เราไม่ต้องมาวิเคราะห์ว่าใครดีใครชั่ว (เอาเป็นว่านักปกครองแต่ละคนดีชั่วพอๆกันหมด ทั้งโจโฉ เล่าปี่ ซุนกวน ตามเนื้อเรื่องก็คือดูแลราษฎรอย่างดี ราษฎรของตนต่างรักใคร่และภักดี) ส่วนที่ผมจะนำเสนอในตรงนี้ อยากให้มาทำความรู้จักกับเล่าปี่ในเป้าหมายที่วรรณกรรมต้องการนำเสนอ  ให้เราศึกษาที่ว่า แต่ละคนมีความสามารถ ใช้ไหวพริบและใช้เทคนิคแบบไหน

"ล่อกวนตง" ผู้ประพันธ์มีชีวิตอยู่ในยุคเปลี่ยนราชวงศ์ คือสิ้นยุคราชวงศ์หยวน เป็นราชวงศ์หมิง เขาไม่ได้ต้องการอวยก๊กใดก๊กหนึ่ง แต่เขาต้องการให้แง่คิดมุมมองมากมายจากบทประพันธ์ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นเรื่องโจโฉมีบทบาทเด่นมาก เป็นตัวหลักมาตลอด

แน่นอนว่า โจโฉตัวจริง กับเล่าปี่ตัวจริง ตามประวัติศาสตร์ ก็แตกต่างไปจากในวรรณกรรมอยู่แล้ว  ซึ่ง 2 คนนี้ถือเป็นยอดนักปกครองแห่งประวัติศาสตร์โลก ที่ทำให้นักเขียนวรรณกรรมอดไม่ได้ที่จะต้องนำมาเป็นบทประพันธ์เชิงพัฒนาปัญญา

บางคนศึกษาสามก๊ก กลับเก็บเกี่ยวจากเล่าปี่ได้แค่ว่า เสแสรง หลอกลวง จอมดราม่าเจ้าน้ำตา เอาแต่โหนเจ้า เที่ยวเกาะอาศัยกับคนนู้นคนนี้ จนได้คนเก่งๆมาช่วยดันให้ตัวเองมีอำนาจ  แบบนี้ไม่ใช่เป้าหมายที่ผู้ประพันธ์นำมาเป็นตัวละครตัวหลักหรือให้เป็นคู่ต่อกรกับโจโฉ

ในความเป็นจริงใครก็ตามที่ทำได้แค่ ก้มหัวไหว้ เรียกร้องความสงสาร เกาะคนอื่นไปเรื่อยๆ ถ้ามีความสามารถแค่นี้ คือเป็นได้แค่ลูกน้องล่ะคับ เกาะเลียเจ้านายให้มีอยู่มีกินเป็นพอ แต่สำหรับเล่าปี่ไม่ใช่ เขาเป็นคนมีปัญญาเหนือคนอื่น จึงไม่อยากจะอยู่ภายใต้อำนาจใคร เลยทำให้อยู่ภายใต้ลิโป้ก็ไม่ได้ อยู่ภายใต้โจโฉก็ไม่ได้ จะอยู่ภายใต้อ้วนเสี้ยว เล่าเปียว และซุนกวนก็ไม่ได้ เป็นคนมีนิสัยเป็นผู้นำ ไม่ชอบเป็นผู้ตาม คิดการใหญ่และต้องการมีอำนาจของตัวเอง  หรือถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ต้องการอยู่ในตำแหน่งที่โจโฉเป็นนั่นแหละ คือมีอำนาจสูงสุดในราชสำนักและครองแผ่นดิน

ฉะนั้นก็เลยทำให้เล่าปี่ต้องหนีจากบุคคลต่างๆ และจำต้องทรยศ เพราะทั้งลิโป้ ทั้งโจโฉ อ้วนเสี้ยว และคนอื่นๆ ต่างก็รู้ว่า เล่าปี่มักใหญ่ใฝ่สูง จึงไม่ไว้ใจ  และตัวเล่าปี่เองก็หาจังหวะจัดการหรือหนีจากภัยเหล่านั้นมาได้ถูกทุกจังหวะ

บางคนอินกับวุยก๊ก เลยแอนตี้เล่าปี่จนถึงขั้นว่า เขาแอบอ้างเชื้อสายเจ้า หรือไปเข้าใจว่าสมัยก่อนคนแอบอ้างกันได้ง่ายเพราะไม่มีตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งความเข้าใจแบบนี้ถือว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างมาก ที่จริงแล้วมันตรงข้ามกันเลย คนสมัยก่อนจะให้ความสำคัญกับสายตระกูล และมีการจดบันทึกอย่างละเอียด โดยเฉพาะเชื้อพระวงศ์ ไม่สามารถมีใครแอบอ้างได้ง่ายๆ



เล่าปี่ จากคนทอเสื่อขาย เริ่มเข้าสู่การเมืองกับการปราบโจร จนสุดท้ายได้ไต่เต้าเป็นจักรพรรดิเจียงบู๊เต้  หากไม่เก่งจริงทำไม่ได้ ตามประวัติจริงเล่าปี่เก่งด้านบู๊และบุ๋นระดับพอประมาณ เหตุการณ์เผาทัพแฮหัวตุ้น เล่าปี่ก็วางแผนเอง แต่ตามเนื้อเรื่อง เป็นขงเบ้งที่วางแผน ส่วนเล่าปี่ไม่รู้ด้านกลศึกเท่าไหร่นัก จะมีการก็ได้โชว์ตอนแรกๆที่ปราบโจรผ้าเหลือง เป็นเจ้าของกลศึก "อย่าไล่สุนัขให้จนตรอก"  

เล่าปี่คัดเลือกบุคลากรเก่งๆไว้กับตัว ถึงหากเทียบแล้วอาจจะสู้ทัพหลวงไม่ได้ แต่ก็สามารถต่อกรและคานอำนาจจนแบ่งแผ่นดินเป็น 3 อาณาจักรได้ในที่สุด  
กองทัพหลวงนั้น มีขุนนางบุ๋นบู๊มากมาย เป็นแหล่งรวมแม่ทัพฝีมือชั้นนำ มียอดกุนซือหลายคน  แต่ด้วยกับการรู้จักดึงคนและพิชิตใจคนของเล่าปี่ จึงทำให้ได้ตัว 2 ยอดนักปราชญ์แห่งยุคมาไว้ และได้ยอดนักรบแห่งยุคมาไว้หลายคน นี่คือกุญแจที่ทำให้เล่าปี่เติบโตได้ โดยที่ตัวเขาเพียงทำหน้าที่บริหารคน อ่านเกม อ่านคน ดูจังหวะบ้านเมือง    

จากเนื้อหาวรรณกรรมบ่งชี้ว่า เล่าปี่เป็นนักการเมืองที่หาเสียงเก่ง เพียงแต่สมัยนั้นยังไม่มีประชาธิปไตย จึงถือได้แค่ว่าเล่าปี่สร้างประชานิยมเก่ง และขึ้นปกครองโดยเป็นที่ยอมรับพอใจของประชาชนในเมืองนั้น ทั้งซีจิ๋ว เกงจิ๋ว และเสฉวน ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าบีบบังคับอย่างเดียวเหมือนเผด็จการ

โจโฉดูคนออกว่า เล่าปี่จะได้เป็นใหญ่ ขณะที่นั่งสนทนากัน โจโฉบอกว่า แผ่นดินมีเพียง 2 วีรบุรุษก็คือ เล่าปี่ และตัวโจโฉเอง โดยเปรียบเทียบได้กับมังกร ที่ยามเล็กก็เร้นกาย พอยามใหญ่ก็ผงาดบนฟ้า ซึ่งนี่ก็เป็นลักษณะของโจโฉสมัยที่รับราชการในวัง จนมาทำงานภายใต้ตั๋งโต๊ะ หลบไปเข้าร่วมกับอ้วนเสี้ยว ก็ยอมเป็นคนเล็กไปก่อน แต่เมื่อมีโอกาสปึ๊บ ผงาดขึ้นครองอำนาจทันที  ซึ่งโจโฉก็มองว่าเล่าปี่ก็เป็นมังกรเหมือนกัน แต่แล้วเล่าปี่ก็ตบตาโจโฉได้ โดยแกล้งกลัวเสียงฟ้าผ่า  นี่ก็คือการเร้นกายของมังกรนี่เอง   ผู้อ่านหลายๆคนวิจารณ์ว่า เล่าปี่เป็นจอมเสแสร้ง อำพรางความทะเยอทะยาน  แต่ในมุมของโจโฉกลับมองว่าคนแบบนี้คือมังกร และจะได้เป็นใหญ่   นี่คือสิ่งที่ผู้ประพันธ์วรรณกรรมต้องการบอกเรา



ตำแหน่งจริงของโจโฉและเล่าปี่ ตรงกับตำแหน่งในละคร ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งคู่  โจโฉเป็นวุยอ๋องขณะมีชีวิต และได้รับตำแหน่งฮ่องเต้ย้อนหลังเมื่อเสียชีวิต ส่วนเล่าปี่ได้เป็นอ๋องและฮ่องเต้ในขณะที่มีชีวิต    ส่วนการรวมแผ่นดินไม่สำเร็จนั่นไม่ถือว่าล้มเหลวในยุคนั้น เพราะการที่แผ่นดินอันกว้างใหญ่จะถูกปกครองโดยจักรพรรดิคนเดียวได้ นั่นคือผู้นำต้องไม่ธรรมดา มีกองทัพที่แข็งแกร่งใหญ่โตมาก ในขณะที่ไม่มีอำนาจกลุ่มก้อนก๊กใดมาคานอำนาจต่อกรได้  แต่ในยุคของโจโฉและเล่าปี่ มีแต่คนเก่ง มีคนความเอาเรื่องเอาราวจำนวนมาก แต่ละฝ่ายแต่ละก๊ก มียอดขุนพล มียอดกุนซือ ไม่ยอมสวามิภักดิ์ให้กันและกัน มีผู้นำที่ต่างมีสมองไม่ยอมเป็นรองใคร อย่างเล่าปี่ และซุนกวน ผลสุดท้ายคือ ต้องแยกอาณาจักรกันปกครอง ต่างคนต่างเป็นเจ้า  ซึ่งโจโฉก็ได้เคยฝันขณะออกไปตั้งทัพรบกับซุนกวน ว่ามีดวงอาทิตย์ตกลงมาหน้าค่าย โจโฉก็รู้ทันทีว่าซุนกวนจะได้เป็นเจ้าอีกอาณาจักรแน่นอน (ดวงอาทิตย์ในความฝันมีความหมายคือฮ่องเต้  เหมือนกับหองจูเหียบ หองจูเปียน ก็ถูกชาวบ้านฝันเห็นดวงอาทิตย์สองดวงตกใกล้บ้านเหมือนกัน)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่