วิธีการ หลอมและตีกระบี่จีน โดยสังเขป ซึ่งมีส่วนจริงอิงจากในหนังและละครจีน

การผลิตกระบี่จีน นับสืบเนื่องจากยุคหิน สำริด และเหล็ก
มีกระบวนการขั้นตอนการผลิต ที่พัฒนาสืบเนื่องกันมาไม่ได้เกิดโดยเอกเทศแต่อย่างใด

ปัจจุบันมีชาวจีน ผลิตกระบี่ตามขั้นตอนโบราณอยู่ โดยคล้ายคลึงกับการผลิตดาบเกาหลี ญี่ปุ่นตีมือในปัจจุบัน
ทุกขั้นตอนการผลิต เชื่อว่าญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากยุคถัง ช่างจีนเดินทางไปตีดาบที่เกาหลี ญี่ปุ่น
และถ่ายทอดความรู้มาตลอดนับพันปี

การบรรยายถึงขั้นตอนการผลิต เริ่มจากยุคหินเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจพัฒนาการ ตามเส้นเวลา
มีความสืบเนื่องไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว อาวุธสองคมรูปทรงเรียวยาว เกิดมานานมากแล้ว

ยุคหินใหม่
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
การผลิตขวานหิน โดยใช้หินลับคม และตกแต่งรูปใบขวาน

การใช้หิน เพื่อลับคม ตกแต่งรูปใบอาวุธชนิดต่างๆ มีมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์
และพัฒนาการต่อมาในการเลือกชนิด เนื้อหิน จากหยาบไปละเอียด
เพื่อให้คุณภาพชิ้นงานดีตามต้องการ

ใบมีดหยก ราชวงศ์เซี่ย 1,800-1,600 ปีก่อนคริสต์กาล

ยุคสำริด แม่แบบกระบี่จีนในปัจจุบัน
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
การหล่อใบขวานสำริด อย่างง่าย

สมัยโบราณก่อนที่โลกจะปรากฏอารยธรรมขนาดใหญ่ มนุษย์รุ่นแรกๆ ในหลายภูมิภาคของโลก
ต่างเสาะหาวัสดุธรรมชาติที่แข็งแรงและทนทาน นำมาแปรรูปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้
หรืออาวุธ เพื่อปกป้องตนจากสัตว์ร้าย ด้วยไม้ กระดูกสัตว์ และหิน

หินนั้นขาดความยืดหยุ่น แตกหักง่าย และมีความแข็งน้อยกว่าโลหะ
จึงเริ่มคิดค้นหาสิ่งใหม่มาใช้แทนหิน โลหะชนิดแรกที่มนุษย์ค้นพบและนำมาใช้งาน คือ

ทองแดง
ทองคำ


เพราะสามารถตีแผ่เป็นแผ่นโดยไม่ใช้ความร้อน ก่อนใช้ความร้อนถลุง และหลอมโลหะในเวลาต่อมา

หลักฐานการใช้โลหะเก่าแก่ที่สุดพบที่ตะวันออกกลางเมื่อประมาณ 10,000-12,000 ปีมาแล้ว
โดยนำทองแดง มาตีแผ่เป็นแผ่นเรียกว่า การตีเย็น เพื่อทำเป็นเครื่องมือต่างๆ
ต่อมาใช้ความร้อนหลอมทองแดงกับดีบุก เพื่อให้ทองแดงแข็งตัวกลายเป็นสำริดในยุคต่อมา

หกพันปีก่อน กลุ่มบรรพชนเปอร์เซียในภูมิภาคซูซา(Susa) และลูริสถาน(Luristan)
บริเวณรอบทะเลสาบแคสเปี้ยน อิหร่าน
และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกรีส ยูเฟตรีส อิรัก

จัดเป็นกลุ่มชนแรกๆ ที่พบหลักฐานทางโบราณคดี การหล่อสำริด โดยมีส่วนผสมของทองแดงและดีบุก
ด้วยความร้อนสูงราว 1,200 องศาเซลเซียส เพื่อหลอมแร่ทั้งสองชนิดเข้าด้วยกัน

โลหกรรมสำริด คือ การนำแร่ทองแดงที่ถลุงแล้ว
มาหลอมรวมกับดีบุก ตะกั่ว แร่พลวง สังกะสี หรือสารหนู เพื่อให้สำริดแข็งตัว
สามารถนำไปเทหล่อในแม่พิมพ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ อาวุธและงานศิลปะ ในสมัยโบราณ

ด้วยสำริด มีสีทองแวววาว สมัยโบราณ
คำว่า ทอง หมายถึง ทองสำริด
คำว่า คำ หมายถึง ทองคำ นิยมใช้แถบล้านนา เช่น หอคำ

เตาถลุงแร่แบบหอสูง ลักษณะนี้นิยมใช้ตั้งแต่ยุคชุนชิว จนถึงต้าฮั่น
ใช้แรงงานคน สัตว์ในการขนส่งวัตถุดิบ ถ่านไม้ ถ่านหิน ใกล้แหล่งน้ำสะอาด

การหลอมสำริดปริมาณมาก ใช้หลายเตาร่วมลำราง ก่อนเข้าบ่อพัก

ภาพวาดจาก สารานุกรมเทียนกงไควู่(天工開物) เฉียนหลง ต้าชิง คศ.1637

จีนทำเหมืองถ่านหินมากว่าสามพันปี เช่น เหมืองฝูซาน ภาคอีสาน

โดยทั่วไป ส่วนคม และสันกระบี่สำริด ใช้ดีบุกเป็นส่วนผสม 20% และ 10% กับทองแดง
เพื่อสร้างส่วนคมที่แข็งแกร่งคมกริบ ใช้ฟันแทง และมีสันกระบี่เหนียวป้องกันใบกระบี่หัก

กระบี่สำริดจีน มีการชุบโครเมี่ยมทำให้ปลอดสนิม และเหนียว แม้ถูกดัดโค้งในสุสานนับพันปี
กลับสามารถตั้งตรงได้เมื่อขุดพบ ในเวลาไม่นานนัก และยังคมกล้า ตัดกระดาษได้ราวมีดโกน

ระหว่างพ.ศ.2517-2527 สุสานฉินซีหวงตี้ ซีอาน
ขุดพบหุ่นทหารและม้าจำนวน 1,087 หุ่น ในหลุมที่ 1 นอกจากนั้นค้นพบกระบี่เคลือบกันสนิม
ทั้งที่สหรัฐฯเพิ่งจะค้นพบวิทยาการเคลือบลักษณะนี้เมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา
ทำให้นักโบราณคดีสงสัยกันว่า การเคลือบกระบี่ให้ไร้สนิมในสมัยนั้นมีวิธีการอย่างไร
และที่น่าประหลาดใจ คือ กระบี่ดังกล่าวถูกหุ่นทหารล้มทับ จนโค้งงอมาเป็นเวลานับพันปี
แต่ครั้นเมื่อยกหุ่นดินปั้นขึ้น กระบี่กลับค่อยๆ ดีดตัวขึ้นมาในสันฐานตรงตามเดิม


กระบี่จีนสำริด ที่มีชื่อเสียง ได้แก่

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
กระบี่อ๋องโกวเจี้ยน แคว้นเย่ว ชุนชิว

คำว่า หลอมกระบี่ นั้นมาจากยุคสำริด อาจใช้เป็นคำติดปากจนถึงยุคเหล็ก

ยุคเหล็ก
ประมาณ ๓,๖๐๐ ปีก่อน มนุษย์รู้จักการถลุงเหล็ก
โดยสกัดเอาเนื้อเหล็กออกจากแร่ดิบแบบทางตรง(Direct Process)
ด้วยการนำแร่เหล็กไปเผาในกองไฟในลักษณะที่เป็นก้อนแข็งอยู่(Bloomery Process)
บันทึกของชาวตะวันตกกล่าวว่า

มีกลุ่มชาติพันธ์ชาวกุย ใกล้เทือกเขาพนมเด็คในกัมพูชา ได้นำแร่เหล็กที่มีอยู่ใกล้หมู่บ้านมาถลุง

จีนพัฒนาการถลุงเหล็ก จากสำริด โดยใช้เตาถลุง การเติมเชื้อเพลิง สินแร่คล้ายคลึงกัน
แต่วิธีการตีเหล็กนั้นต่างจากสำริดหล่อ เนื่องจากเหล็กเหนียวกว่า แตกหักยากกว่าสำริด
ทำให้พัฒนาเป็นเหล็กกล้าในเวลาต่อมา

การถลุงและผสมเหล็ก สูตร ซ่งยิ่งซิง(宋应星) ยอดนักวิทย์จีน ต้าหมิง
โจเซพ นีดแฮม ยกย่องว่าเป็น เดอนี ดีเดอโร(นักปรัชญา และนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส)ของจีน


กรรมวิธีเริ่มจากขวาไปซ้าย คือ

เตาถลุงพลังถ่านหิน ใช้สูบลมสองทางโหมไฟสุมสินแร่เหล็ก ที่เตรียมไว้เพื่อไล่ขี้แร่
น้ำเหล็กที่ถลุงได้จะไหลเข้าสู่บ่อเหล็กดิบ และผสมทองแดงทำให้เป็นเหล็กกล้า
จากนั้นปล่อยน้ำเหล็กกล้า ไหลมาลงแม่พิมพ์ รอให้แห้งจะได้เหล็กคาร์บอนต่ำ นำไปผลิตอาวุธ

ภาพวาดจาก สารานุกรมเทียนกงไควู่(天工開物) เฉียนหลง ต้าชิง คศ.1637

สมัยหมิง จีนได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นมาผลิต ตานเตา ดาบยาวเรียวแบบดาบไดคาตานะ ของญี่ปุ่น
เพื่อให้คล่องตัวในการต่อสู้บนเรือ จากการปราบปรามกลุ่มโจรสลัดญี่ปุ่น ในเขตทะเลจีนตะวันออก
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
วิธีตีดาบ ตานเตา(單刀 dān dāo)หรือ ฉางเตา(長刀)

ฝรั่งที่ตีได้ก่อเตาถลุงเหล็ก โดยเติมถ่านไม้ และฝุ่นผงเหล็ก โหมไฟตลอดจนไล่ขี้แร่ออกไป
แล้วเปิดเตาให้เหล็กที่ถลุงแล้วไหลออกมา

จากนั้นจะคัดแยกเหล็กที่ได้ โดยดูจากสีและเนื้อของเหล็ก นำไปตีเป็นก้อนเป็นแผ่น
จากนั้นใช้ค้อนเคาะให้เหล็กแตก เพื่อตรวจเนื้อในกว่าปริมาณคาร์บอนมากหรือน้อย

แล้วแยกเหล็กที่ค่าคาร์บอนต่างกัน นำไปตีรวมเป็นก้อน เพื่อใช้ตีประสานใบดาบให้มีคุณสมบัติตามต้องการ
หลังจากได้ก้อนเหล็กที่แยกชนิดแล้ว จะเริ่มตีเหล็กโดยตีพับเพื่อสร้างความเหนียว แกร่งแก่เหล็ก

เริ่มแรกนำก้อนเหล็กที่เป็นแกนใบดาบมาตีรวมกันเป็นแผ่นแบน แล้วเชื่อมกับด้ามจับเพื่อสะดวกในการทำงาน
จากนั้นจัดเรียงก้อนเหล็กเล็กให้ได้ขนาดก้อนที่ต้องการ
แล้วห่อกระดาษชุ่มน้ำ(อาจเขียนข้อความสิริมงคลลงไป)
เทน้ำโคลน โรยด้วยฟางข้าว เศษหญ้า ขี้เถ้า เพื่อไล่อากาศทำให้เหล็กเกาะตัวง่ายเมื่อสุมไฟ

เมื่อเหล็กร้อนได้ที่แล้วนำมาตี ให้รวมตัวกัน อาจใช้เครื่องจักรเพื่อความสะดวก
เมื่อเหล็กรวมตัวกันดีแล้ว จะเริ่มตีพับ โดยมากนิยมทบเดียว แต่บางที่ทำสองทบ หรือม้วน แล้วแต่สูตร
โดยเหล็กชนิดอื่น ต้องตีด้วยเงื่อนไขเดียวกัน ใช้เวลาหลายวันกว่าเหล็กแต่ละก้อนจะตีทบได้จำนวนชั้นที่ต้องการ
บางครั้งอาจกินเวลาเป็นเดือน หรือปี ขึ้นอยู่กันวิธีตี และปรับปรุงเนื้อเหล็กของช่าง

เมื่อเหล็กแกนตีได้ที่แล้ว จะเริ่มประสานเนื้อเหล็กชนิดอื่นขณะร้อนจัด เพื่อความแข็งแรงของใบดาบ
โดยใช้ผงบอแร็ก น้ำประสาทอง หรือสูตรเฉพาะของช่าง โดยโรยไปขณะตีพับ ตีประสาน อาจใช้แปรง
ปัดผงบอแร็กให้ทั่วก้อนเหล็กก่อนตีประสาน

โดยค้อน ทั่ง ด้ามจับต้องคอยเทน้ำเย็น ไหล้ด้วยเสื่อเปียกเพื่อกันสะเก็ดไฟเข้าตา บางที่จะเข้าเครื่องรีดเหล็กร้อน
เพื่อให้เนื้อเหล็กประสานตัวแน่นหนา ถ้าเป็นวิธีโบราณ การใช้ค้อนตีให้เข้ารูปจะกินเวลานานกว่ามาก
ในแต่ละขั้นตอน ใช้แรงงานจำนวนมาก

หลังจากตีก้อนเหล็กที่ประสานเนื้อแต่ละชนิดเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มตียืดออกเป็นใบดาบ
เมื่อตีเสร็จจะขัดแต่งใบดาบจนเสร็จ จากนั้นจะเขียนลวดลายที่คมดาบ ด้วยโคลน นำไปเผา และชุบแข็ง
นิยมชุบแข็งในถังทรงกระบอก มากกว่าอ่างแนวนอนแบบญี่ปุ่น บางที่ใช้น้ำมันเครื่องแทนน้ำดี คุมอุณหภูมิ
แล้ว คืนไฟ ให้เหล็กคลายตัว

ขั้นตอนการตีกระบี่จีนไม่ต่างจากตีดาบตานเตามากนัก และกั่นกระบี่ ดาบจีนจะเรียวเล็ก ด้ามเล็กเน้นจับมือเดียว
ต่างจากดาบญี่ปุ่น ที่กั่นดาบจะแบนกว้าง ด้ามจะหนากว่า เน้นจับสองมือ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
วิธีการผลิต กระบี่จีนโบราณ(劍 เจี้ยน jian) เป่ยจิง
เอกลักษณ์กระบี่จีน เรียว ยาว คม เบา สมดุลเยี่ยม ปลายกระบี่ตวัดได้
กระบวนท่าเพลงกระบี่นั้นซับซ้อน ผู้ใช้ต้องเปี่ยมทักษะ จึงสำแดงอานุภาพกระบี่ได้

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
วิธีผลิตดาบคาตาน่าโบราณ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
วิธีผลิตดาบญี่ปุ่น แบบร่วมสมัย

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
การผลิตดาบคาตาน่า โดย ซาดะโตชิ กัสซัน

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
การถลุงเหล็ก ทามาฮากาเน่ โดยใช้เตาทาทาระ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
วิธีผลิต กระบี่ฟ้าบันดาล(ชิงหมิงเจี้ยน Green Destiny จากภาพยนตร์ Crouching Tiger Hidden Dragon)
การแก้ปัญหาใบกระบี่หนา โดยตีบั้งไว้แล้วไสเนื้อเหล็กออกจนบางลง ทำให้รูปร่างต่างจากกระบี่จีน
การเซาะ ไส ใบกระบี่ ดาบ ก่อนชุบแข็ง จึงเป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน หาไม่แล้วจะมีรูปร่างแปลกประหลาด

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ช่างตีกระบี่ คนสุดท้ายของไต้หวัน
ช่างคนนี้เป็นผู้ตีกระบี่ฟ้าบันดาล ในหนังCrouching Tiger Hidden Dragon
และยังบูชาเทพเตาไฟ โดยมีกระดูกผู้หญิงที่สังเวยแก่เตาอยู่ด้วย

ท้ายนี้ผิดพลาดประการใด รบกวนผู้รู้ชี้แนะด้วย ขอบคุณครับ

อ้างอิง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่