(ขุดกระทู้เก่ามาเล่า) โหมโรงย้อนรอยทีมชาติไทยญี่ปุ่นชนะทีมชาติญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเมื่อปี 1997

เนื้อหาบางส่วน ผมขุดมาจากกระทู้นี้ครับ เขียนไว้นานมากแล้ว

http://topicstock.ppantip.com/supachalasai/topicstock/2012/11/S12941877/S12941877.html

เกมการแข่งขันดังกล่าวมีขึ้ในวันที่ 15 มีนาคม 1997 เป็นการรีแม็ตช์หลังจบศึกคิงส์คัพ 1997 (ซึ่งเกมดังกล่าวไทยสามารถตามตีเสมอญี่ปุ่นได้ 1-1) นับได้ว่าเป็นการตอกย้ำความโหลยโท่ยของทีมชาติญี่ปุ่นยุค “คาโมะ จาปัน” ด้วยการเอาชนะญี่ปุ่นได้ 3-1 คงดูกันออกนะครับใครยิงบ้าง...

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ชู คาโมะ โค้ชที่สร้างชื่อตัวเองมาจากการคุมทีมนิสสัน (โยโกฮาม่า มารินอส) ยุคดั้งเดิม และทีมโยโกฮาม่า ฟลูเกลส์ ในยุคก่อตั้งเจลีก เคยกล่าวไว้ในวันรับตำแหน่งว่า จะทำทีมชาติญ่ปุ่นแบบเน้นโซนเพรส ซึ่งจากคลิปก็คงจะเห็นว่าไทยเป็นฝ่ายโซนเพรสญี่ปุ่น ถือว่าไม่บ่อยครั้งนักที่ทีมชาติไทยต่อบอลล้อมกรอบทีมชาติญี่ปุ่นให้ถอยร่นลงไปในกรอบเขตโทษ ซึ่งหลังจากนั้น คาโมะได้คุมทีมสู่ศึกรอบแบ่งกลุ่มรอบแรกไปจนถึงเดือน ต.ค.97 ก็ถูกไล่ออกจากตำแหน่งหลังจากทำผลงานไม่ดี ไม่ชนะคู่ต่อสู้เป็นเกมที่ 3 ติดต่อกันในรอบ 10 ทีมสุดท้าย (นัดที่ 2-4 จากจำนวนทั้งสิ้น 8 นัด) แกถูกปลดออกหลังจากทำได้แค่เสมอกับคาซัคสถาน และได้ทาเคชิ โอคาดะ คุมทีมแทนจนได้ไปฟุตบอลโลก...อย่าไปเข้าใจผิดคิดว่า JFA ไล่คาโมะออกหลังจากแพ้ทีมชาติไทยนะครับ

แม้จะมีแฟนบอลไทยบางคนเข้าใจว่ามันเป็นเพียงอุบัติเหตุ หรือนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นชุดนั้นเป็นเพียงชุดรองเหมือนที่มาเตะคิงส์คัพยุคดรีมทีม แต่ทีมชาติไทยชุดนั้น คือ ทีมชาติชุดที่ได้อันดับฟีฟ่าดีที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีมา เคยเอาชนะยอดทีมอย่างทีมชาติอุซเบกิสถานและทีมชาติคูเวตยุครุ่งเรืองได้ในบ้าน ซึ่งรายชื่อผู้เล่นญี่ปุ่นที่ลงเล่นในระบบ 4-4-2 แผงหลังยืนเรียงกันเป็นหน้ากระดาน ส่วนกองกลางจะแบ่งเป็นกลางรุกและกลางรับอย่างละ 2 ตัว ประกอบด้วย

----------11.คาซู ------ 18.โจ ----------

-----8.มาเอโซโนะ -- 15.โมริชิม่า ----
-----10.นานามิ ------ 6.ยามางูจิ ------

3.โซมะ 4.อิฮาระ 5.โอมูระ 19.นาคามูระ

--------------- 20.คาวางูจิ ---------------

จาก 11 ผู้เล่นตัวจริงของทีมชุดนี้ มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ไม่ได้ไปฝรั่งเศส ได้แก่
1) ทาดาชิ นาคามุระ แบ็คขวาจากแวร์ดี้ คาวาซากิ (เสียตำแหน่งให้อากิระ นาราฮาชิ แบ็คขวาของคาชิม่า แอนท์เลอร์ส และแบ็คขวาสำรองอย่างเออิ์สุเกะ นาคานิชิของเจฟ  ยูไนเต็ด อิจิฮาร่า)
2) มาซากิโยะ มาเอโซโนะ ซูเปอร์สตาร์สองล้านเหรียญที่แวร์ดี้เพิ่งทุบกระปุกถอยจากฟลูเกลส์มาหมาดๆ (เสียตำแหน่งให้ฮิเดโตชิ นาคาตะ เพราะฟอร์มตกจากชีวิตเพลย์บอยในแวร์ดี้และการดื่มหนัก)
3) คาซู (ดาวยิงสูงสุดในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกตลอดกาลของญี่ปุ่น แต่กลับหลุดโผไปอย่างไม่น่าเชื่อ)

ส่วนที่เหลืออย่างคาวางูจิ โซมะ อิฮาระ นานามิ ยามางูจิ และโจ ถือเป็นตัวหลักของทีมชาติญี่ปุ่นในการสู้ศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียและฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศส ส่วนโอมูระกับโมริชิม่า สลับเป็นตัวจริงบ้างสำรองบ้างตามโอกาส แต่ก็ถือว่าได้เป็นฝรั่งเศสทั้งหมดอยู่ดี จึงสรุปได้ว่าทีมชาติญี่ปุ่นชุดที่แพ้ไทย 1-3 เป็นทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ และสาเหตุที่ผลการแข่งขันออกมาในรูปแบบนั้น เพราะแทคติคของชู คาโมะครับ

--------------------------------------------------------------------------------

หลังจากเกมนัดดังกล่าว ทั้งไทยและญี่ปุ่นก็กลับไปทำหน้าที่ของตัวเองในการทำศึกฟุตบอลโลก 1998 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย โดยไทยอยู่กลุ่มเดียวกับฮ่องกงและเกาหลีใต้ เท่าที่ผมจำได้ไทยเอาชนะฮ่องกงในบ้าน 2-0 ก่อนที่จะปราชัยต่อเกาหลีใต้คาบ้าน 1-3 ซึ่งคนยิงตีไข่แตกก็ไม่ใช่ใคร ปิยงพงษ์ ผิวอ่อนนั่นเอง ก่อนที่ไทยจะไปพลาดท่าแพ้ฮ่องกง (ผมจำไม่ได้ว่า 1-2 หรือ 2-3) และปิดท้ายที่การบุกไปเสมอกับเกาหลีใต้แบบน่าชม 0-0 ปล่อยให้เกาหลีใต้เข้าไปอยู่กลุ่มเดียวกับญี่ปุ่นในรอบคัดเลือกรอบที่สอง หรือรอบ 10 ทีมสุดท้ายต่อไป

ขณะที่ทีมชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีกำหนดแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบแบ่งกลุ่ม รอบแรก ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 28 มิถุนายน 1997 ในกลุ่มที่ 4 มีโอมาน เนปาล และมาเก๊าเป็นเพื่อนร่วมสาย ซึ่งผลจับสลากแบ่งกลุ่มเสร็จสิ้น หนทางของญี่ปุ่นสู่รอบ 10 ทีมสุดท้ายนั้น สดใส และไม่ยาก แต่เอาเข้าจริงในนัดสุดท้ายกับโอมาน ญี่ปุ่นหายใจแทบไม่ทั่วท้อง เพราะเล่นในบ้านตัวเอง แต่กลับเสมอโอมานไปแบบไม่ประทับใจผู้ชม 1-1 (แต่ลูกได้เสียญี่ปุ่นดีกว่าเยอะ ญี่ปุ่นบวก 30 โอมานบวก 12...ยังไงก็เข้ารอบ งานนี้ต้องขอบคุณสมันน้อยอย่างเนปาลกับมาเก๊า และ โนริโอะ โอมุระที่สอดขึ้นมาชิงประตูชัยเหนือโอมานได้ในนัดแรก ญี่ปุ่นกรุยทางเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่มรอบที่สองหรือรอบ 10 ทีมสุดท้ายไปแบบสบายๆ

-----------------------------------------------------------------------------------

ไม่ว่าผลการแข่งขันในวันอังคารจะเป็นอย่างไร ชนะแบบเมื่อ 19 ปีที่แล้ว เสมอแบบสูสี หรือแพ้แบบน่าชม ก็ขอให้แฟนบอลไทยเชียร์ไทยจนถึงนัดที่ 10
เพราะจากการดูฟุตบอลไทยมาตลอดทั้งชีวิต นี่น่าจะเป็นทีมชาติไทยชุดที่ลงตัวที่สุดแล้ว
ผลการแข่งขันของทีมชุดนี้ต้องออกมาดีกว่าทีมชาติชุดปี 2002 ที่ลงแข่งรอบ 10 ทีมสุดท้ายไป 8 นัด ไม่ชนะใครเลย เสมอ 4 แพ้ 4 มีแค่ 4 คะแนน จมบ๊วยของกลุ่มอย่างแน่นอน (ซึ่งไทยเกือบเอาชนะบาห์เรนในบ้านเกมที่เราโดนตีเสมอนาทีสุดท้าย และกับอิหร่านได้ในบ้าน...ถ้าลูกที่พี่โก้กับพี่แบนหลุดไปสองคนลูกนั้น มีการส่งกัน ไม่ฝืนยิง) ผมเชื่อมั่นว่าทีมไทยชุดนี้ สามารถต่อกรกับคู่แข่งได้ครบ 90 นาที ในขณะที่ทีมชุดนั้น มักโดนยิงท้ายเกม (เกมในบ้านกับซาอุครั้งนั้น เสกสรรค์ยิงนำ รูปเกมไม่เป็นรอง แต่มักแผ่วปลายและเป็นทีมที่เสียประตูในกรอบเขตโทษมากที่สุด  
ทีมชาติญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเก็บชัยชนะให้ได้ โดยเฉพาะกับทีมไทย ซึ่งจากหน้าเว็บข่าวญ่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่ประมาทไทย ลงข่าว วิเคราะห์ และทำการศึกษาจุดแข็ง-จุดอ่อนเพื่อกำหนดเป็นแทคติคในวันอังคาร เพราะถ้าเก็บชัยชนะไม่ได้ เก้าอี้ของวาฮิด ฮาลิลฮอดซิซ มีปัญหาแน่

ส่วนตัวผม มองว่าญี่ปุ่นชุดนี้เล่นได้ไม่ดี ไม่น่าประทับใจ ผมอาจจะติดภาพของพวกรุ่นพี่ๆในทีมชาติญ่ปุ่นไปแล้วก็ได้ ความรู้สึกนี้หายไปหลังจากญี่ปุ่นเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายที่แอฟริกาได้เมื่อปี 2010 และได้แชมป์เอเชียนคัพเมื่อ 2011 หลังจากนั้น เสน่ห์ทีมชาติญี่ปุ่นที่ผมเคยหลงไหลหายไปไหนไม่รู้
เพราะทีมชาติก็เสียตำแหน่งเจ้าเอเชีย ไปฟุตบอลโลกก็ลงแข่งรอบแบ่งกลุ่มเพียงสามนัด ระดับสโมสร สโมสรจากเจลีกที่คว้าแชมป์ ACL ได้เป็นทีมสุดท้าย...มันก็นานมาแล้ว (สาเหตุอาจเป็นเพราะคู่แข่งพัฒนาติดตามกันมา) จะดีหน่อยก็ตรงมีนักเตะไปเล่นลีกยุโรปเพิ่มมากขึ้น
จริงๆแล้วถ้าเทียบกับรุ่นก่อนๆ ทีมชาติญ่ปุ่นชุดของ "เปเล่ขาว" ซิโก้แห่งบราซิล ที่เอาชนะไทยเมื่อปี 2004 กับชุดของโอคาดะที่เอาชนะไทยเมื่อปี 2010 คิดว่าทีมของซิโก้ขอนแก่น น่าจะสู้กับญี่ปุ่นได้สูสีกว่าสองชุดนั้นที่ผ่านมา
อยากให้แฟนฟุตบอลไทยมีความหวัง แต่ก็อย่าคาดหวังสูงมากนักว่าจะต้องชนะแบบวอลเลย์บอล...เพราะไทยเพิ่งกลับสู่จุดนี้นับตั้งแต่ปี 2002 ครับ เราหายไปนานมาก ต่อให้จบเกมนี้แล้ว ซิโก้และลูกทีมมีหน้าที่อีก 8 นัดที่เหลือในการสานฝันของแฟนบอลไทยให้ใกล้เคียงกับการไปฟุตบอลโลกให้ได้มากที่สุด

เพราะผมอยากมีความรู้สึกแบบในคลิปนี้...การได้เป็นแฟนบอลเชียร์ทีมชาติของตนเองไปฟุตบอลโลกครั้งแรก แบบญี่ปุ่นในฟุตบอลโลก 1998 ต่อให้เชียร์หน้าขอบจอ คงเป็นอะไรที่ฟินน์สุดๆ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่