ออมเงินเท่าไหร่ดี มีใช้ยามเกษียณแบบพึ่งตนเอง

บทความนี้ผมเขียนเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของ การออม ว่ามีผลต่ออนาคตการ ใช้ชีวิตหลังเกษียณ พูดง่ายๆว่าหมดแรงทำงานก็ยังมีกินมีใช้โดยไม่ต้องหวังพึ่งคนอื่น เราสามารถเก็บออมเงินในช่วงวัยทำงานมาใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณได้ครับ


สถิติจากธนาคารโลก คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเกือบจะ 75 ปีเข้าไปแล้ว และแนวโน้มอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่กลับต้องเจอปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ คนที่มีลูกหลานให้พึ่งก็โชคดีไป คนที่ไม่มีลูกหลานให้พึ่งก็ต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะไม่ไหวและมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน คนที่อยู่ในวัยทำงานควรหันมาแข่งกันออมเงินดีกว่าแข่งกันใช้เงินให้หมดไป


ในความคิดของผม การออมเงินในอัตรา 10% ของเงินเดือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่ตัวเลขนี้ไม่พอใช้สำหรับชีวิตหลังเกษียณแบบพึ่งตนเอง เนื่องจากเงินออมมีน้อยเกินไปไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในอนาคต สมมุติเงินเดือน 30,000 บาท ในแต่ละเดือนใช้ไป 27,000 บาท เหลือออม 3,000 บาท ดังนั้น 1 ปีเก็บออมได้ 36,000 บาท ดูผิวเผินเหมือนจะออมเงินได้เยอะแต่ลองเทียบกับค่าใช้จ่ายเดือนละ 27,000 บาทจะพบว่าอยู่ได้ไม่ถึง 1.5 เดือนเลยครับ ซึ่งโดยปกติอายุการทำงานคนเราน่าจะอยู่ที่ 40 ปี ก็เท่ากับว่าเก็บออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณได้แค่ 53 เดือนหรือไม่ถึง 5 ปีเท่านั้นเอง ยังไม่นับรวมเงินเฟ้อที่ทำให้ของกินของใช้แพงขึ้น ค่าเงินในกระเป๋าสตางค์เล็กลง   


คราวนี้มาดูตัวเลขจริงกัน ผมอ้างอิงข้อมูลล่าสุดมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 26,915 บาทต่อเดือน มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน 21,157 บาทต่อเดือน และมีอัตราการออมเฉลี่ยย้อนหลังประมาณ 23% คุณคิดว่าออมพอมั้ย? หากใช้วิธีคิดแบบด้านบนเพื่อดูว่าเพียงพอหรือไม่ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องเงินเฟ้อ รายได้และค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะได้สูตรคำนวณอย่างง่ายว่า


" อัตราการออมเฉลี่ย x จำนวนปีที่ทำงาน >= อัตราการบริโภคเฉลี่ย x จำนวนปีหลังเกษียณ "


คนเราทำงานอายุช่วง 20 – 60 ปี เป็นเวลา 40 ปี และมีอายุขัยเฉลี่ย 75 ปี ทำให้มีอายุหลังเกษียณเป็นเวลา 15 ปี คำนวณได้ว่าอัตราออม 23% x อายุทำงาน 40 ปี น้อยกว่า อัตราการบริโภค 77% x อายุหลังเกษียณ 15 ปี ดังนั้นคนส่วนใหญ่ยังเก็บเงินไม่เพียงพอครับ บางคนอาจแย้งว่าอายุมากขึ้นรายได้เพิ่มขึ้นแล้วเงินออมเพิ่มขึ้นเอง ความเป็นจริงคนเรายิ่งอายุมากขึ้นจะมีภาระเพิ่มขึ้นเงินดังนั้นออมแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย สรุปว่าการออมเป็นเรื่องของวินัยและความอดทนยับยั้งชั่งใจ ใช้เงินอย่างรู้คุณค่าท่ามกลางสังคมวัตถุนิยม กลับกันบางคนไม่ยอมใช้เงินเลยก็อาจไม่ค่อยมีความสุข เพราะทำเกินพอดีคิดเงินทุกเม็ดเพื่อนรอบข้างก็อาจไม่คบหาได้


จากสูตรด้านบน สรุปได้ว่าอัตราการออมขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 30% ครับถึงจะเกษียณแบบพึ่งตนเองได้ แต่จะให้ดีอัตราการออมควรอยู่ในระดับ 40% – 60% เพราะเราต้องเตรียมเผื่อไว้สำหรับเงินเฟ้อและภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันในอนาคต อาทิเช่น แต่งงาน ซื้อรถ ซื้อบ้าน คลอดลูก ค่าเทอม และค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น


ออมให้เป็น ถือเป็นหัวใจหลักของการประสบความสำเร็จในชีวิตด้านการเงิน แต่ต้องอย่างลืมครับว่ามีอย่างอื่นด้วย เช่น รายได้เพิ่ม ลดรายจ่าย ฉลาดลงทุน ผมไม่อยากขู่ให้กลัวแต่ปัจจุบันโลกเราพิมพ์เงินออกมากันว่าเล่นอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป มหาอำนาจทั้งนั้นเลย โดยการพิมพ์เงินยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด อนาคตอาจต้องเผชิญกับเงินเฟ้อรุนแรง (Hyper Inflation) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเกิดเหตุการณ์ข้าวของแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเงินก็ซื้ออะไรไม่ค่อยได้ ดังนั้น “ออมให้เป็น ผมหมายถึงการจัดทัพเงินออมให้เหมาะสมและอย่าลืมนำเงินออมบางส่วนเพิ่มพูนความรู้ซึ่งถือเป็นทรัพย์ทางปัญญา เป็นนำเงินออมไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”  ซึ่งความรู้ด้านหนึ่งที่คนไทยขาดกัน ผมพูดอยู่บ่อยๆคือความรู้เรื่องการเงินส่วนบุคคลนี้ละครับ ลองไปศึกษากันดูนะครับ


http://www.aommoney.com/maibat/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่