เกร็ดประวัติศาสตร์ ผ่านวรรณกรรม "พิษสวาท" ว่าด้วยเรื่อง ประเพณีลอยกระทง

เคดิต Ju Nkt
เกร็ดประวัติศาสตร์ ผ่านวรรณกรรม "พิษสวาท" ว่าด้วยเรื่อง ประเพณีลอยกระทง
“ครั้นเมื่อเพ็ญเดือนสิบเอ็ดออกพรรษา พระองค์เสด็จทรงประทีปเสด็จอยู่บนเรือนขนาน
แล้วถวายธูปเทียนดอกไม้และกระทงกระดาษตามเทียนและเรือต่างๆ เป็นอันมาก....”
เป็นข้อความหนึ่งจาก “บันทึกคำให้การขุนหลวงหาวัด”
การลอยกระทงไม่ได้มีแค่ ประเทศไทยประเทศเดียว มีทั้งอินเดีย พม่า เขมร ลาว ซึ่งรูปแบบก็คล้ายๆ กัน คือบูชาไฟให้ไหลไปตามน้ำ
ลาวก็จะเรียกไหลเรือไฟ ส่วนเขมรนอกจากจะมีวันที่กำหนดให้บูชาพระแม่คงคา ก็จะมีวันที่ลอยกระทงเพื่อส่งให้เปรต ให้ผีไม่มีญาติด้วย

เมื่อหลายประเทศ ยังคงสืบต่อประเพณีนี้ไว้ ทำให้การลอยประทีปหรือลอยกระทง มีความเชื่อเยอะมาก ว่าลอยเพื่ออะไร ฝั่งพราหมณ์
ลอยกระทง เพื่อขอขมาพระแม่คงคา เพื่อบูชาพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ฝั่งพุทธ ก็มีความเชื่อว่า ลอยกระทงเพื่อต้อนรับพุทธเจ้า
ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อตอนไปโปรดพระมารดา หรือบูชาพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่หาดทราย แม่น้ำ นัมมทา มหานที
เมื่อคราวไปแสดงธรรมที่นาคใต้บาดาล หรือบูชาพระอุปคุต ที่นั่งสมาธิอยู่ใต้สะดือทะเล และความเชื่อที่ว่า ลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์ก็เยอะมาก
มีตัดเล็บ ตัดผม ใส่ลงไปด้วย (พม่า ไทย เขมร)
เคยมีการโจมตี ประเพณีลอยกระทงว่า “ไม่มีลอยกระทง ไม่มีนางนพมาศที่สุโขทัย” เล่นเอาเดือดกันไปทั้งจังหวัด
เพราะนั่นเป็นการสั่นสะเทือนการท่องเที่ยวของสุโขทัย ไม่แพ้เรื่อง “ดวงไฟพญานาคริมแม่น้ำโขงไม่มีจริง”
จุไม่รู้ว่าชื่อ “นางนพมาศ” มีจริงไหม? แต่เชื่อว่า นางในวงของสุโขทัยมาลอยกระทงจริง หลักฐานการลอยกระทงที่สุโขทัย
จะใช้ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ไม่ได้ เพราะเชื่อว่ามันถูกเขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ถึงแม้ว่าจะมีคนค้านว่า
เขียนในสมัยรัตนโกสินทร์จริง แต่เรียบเรียงมาจากของเก่า คนเชื่อก็ยังเชื่อ คนไม่เชื่อก็ยังไม่เชื่ออยู่ดี
แต่คนเชื่อก็งัดเอาหลักฐานใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ภาพสลักที่ปราสาทบายน เมืองยโสธรปุระ สมัยขอมพระนคร
เมื่อสมัยเกือบพันปีก่อน
แล้วภาพสลักลอยกระทง ที่ปราสาทบายน มันเกี่ยวข้องอะไรกับสุโขทัย? ก็เพราะว่า สุโขทัย ไม่ได้ตั้งขึ้นมาโดดๆ
ว่า กษัตริย์พระองค์แรก คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เพราะก่อนหน้านั้น สุโขทัย ถูกขุนนางขอมยึดอำนาจ
ชื่อขอมสมาดโขลนลำพง พ่อขุนบางกลางท่าวกับพ่อขุนผาเมือง จึงช่วยกันขับไล่ พ่อขุนผาเมืองนั้นเป็นพระโอรสของกษัตริย์สุโขทัย
พ่อขุนบางกลางหาวเป็นลูกเขย เพราะแต่งงานกับนางเสือง น้องสาวของพ่อขุนผาเมือง พอขับไล่ขุนนางขอมได้
พ่อขุนผาเมืองก็ยกเมืองสุโขทัยให้ปกครอง พร้อมยกพระนาม “ศรีอินทรทิตย์” ให้ด้วย เป็นพระนามที่กษัตริย์ขอมประทานให้กับพ่อขุนผาเมือง
ลูกเขย (กษัตริย์ขอมสันนิษฐานว่า คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และลูกสาวคือ พระนางสิงขรเทวี)
เล่าไปถึงสุโขทัยเลย ^_^ สรุปว่า ความเชื่อและความศรัทธาในเรื่องศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี มันส่งผ่านมากับผู้คน
ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์ ภิกษุ หรือผู้นำ ประเพณีลอยกระทงก็เช่นกัน ถ้าสุโขทัย มีความเชื่อมโยงกับขอม ประเพณีลอยกระทง
ย่อมมีปรากฏขึ้นได้ แม้ในเวลานี้จะยังหา บันทึกมายืนยันไม่ได้ก็ตาม
เมื่อมีงานลอยพระประทีป มันก็เหมือนงานเทศกาลในปัจจุบัน นอกจากประชาชนจะมาลอยกระทงกันแล้ว ก็จะมีการละเล่นต่างๆ ด้วย
ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน สำนักพิมพ์ปัณณ์ปุระ พานักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ ไปเที่ยวอยุธยา
ก็ได้ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์อยุธยา ชื่อ “พี่แหลม” มาเป็นไกค์นำทัวร์ ตอนนั้นพี่แหลม
ทำงานอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมนครศรีธรรมราช พี่แหลมมาถึง ตอนเที่ยงคืน จุกับเพื่อน พาไปทานข้าว
แล้วพี่แหลมก็ให้ขับรถวนเมืองเก่า ช่วงหนึ่งที่ผ่านคลองท่อ
“คลองท่อในสมัยอยุธยา เป็นเหมือนเส้นทางมหรสพ มีเพลงเรือเล่นกันทุกอาทิตย์ พวกขุนนางก็นั่งดูที่ศาลาบ้าง
นั่งเรือดูบ้าง เพราะในสมัยนั้นไม่มีโรงหนัง ไม่มีผับให้ดู พอไปสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เอาแบบคลองท่อนี่ละ ไปทำที่คลองหลอด”
“พี่แหลม...อันนี้พี่เอามาจากสัญญาเดิมระลึกได้ หรือว่ามาจากตำราเล่มไหน” จุก็แซวๆ พี่เขาไป เขาก็หัวเราะ แล้วก็บอกว่า
คนไทยเจ้าบทเจ้ากลอน พวกผู้ดีกรุงศรีฯ ทั้งเห่เรือ ขับเสภา ขับลำนำ สักวา ดอกสร้อย เยอะแยะ
จนจุไปเจอ หนังสืออิเล็กโทรนิกส์เล่มหนึ่ง ของห้องสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เป็นหนังสือรวบรวมบทดอกสร้อย
ซึ่งเขียนแนะนำ ก่อนเปิดอ่านว่า
“ดอกสร้อยเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งมีมาแต่สมัยโบราณเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก หรือเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า
ผู้มีบรรดาศักดิ์มักพาบริวารพร้อมโทนทับกรรับฉิ่ง พร้อมสำรับ ลงเรือไปเที่ยว เมื่อไปพบปะกับเรือลำอื่นก็ร้องลำนำโต้ตอบกันไปมา
เป็นการละเล่นที่เรียกว่า ดอกสร้อย ซึ่งผิดกับการเล่นสักวาตรงที่ ดอกสร้อยเล่นแค่ 2 วง ชายหนึ่งวง หญิงหนึ่งวง
มีบทร้องยากกว่าสักวา ส่วนสักวาจะเล่นกี่วงก็ได้และมีบทร้องง่ายกว่าดอกสร้อย”
ด้วยเหตุนี้...จึงเข้าใจ บทประพันธ์ “พิศวาส” ที่พระอรรคแต่งกลอนให้อุบล ... เพราะการเขียนกลอนเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในสมัยนั้น

ว่ากันว่า นอกจากพงศาวดารแล้ว การจะดูว่า คนกรุงศรี พูดจากันแบบไหน ให้ดูที่บทกลอนต่างๆ ที่มีในสมัยกรุงศรีฯ
ตย.บทดอกสร้อย
บทหญิง
๏ หมึกเอยหมึกมอ พอที่ดีแล้วน่าใคร่หัว
ใครใช้ให้กาไม่เจียมตัว ไปกลั้วกับร้ายจัณฑาล
ท่านว่าจะทำคุณใคร เร่งให้พินิจคิดอ่าน
ไม่ทำตามคำบุราณ ที่ท่านเปรียบไว้ให้เร่งดู
อันคนทำคุณจรเข้ เล่ห์กลอย่างนี้ก็มีอยู่
กาดำสิทำนอกครู เจ้าดูเยี่ยงกานี้ว่าไรฯ
ตอนจุอ่านก็ว่า สาวๆ กรุงศรีฯ นี่ช่างประชดประชัน เปรียบเปรย พอมาอ่าน บทประพันธ์ “พิษสวาท” มีคำคมในบทประพันธ์เยอะ
ยังแปลกใจว่า ป้าทมยันตี ถอดแบบคนกรุงศรีฯ ให้กับคุณอุบล ได้อย่างน่าทึ่ง
ทีมเขียนบทก็ดำเนินรอยตามและเสริมแต่งไปบ้างตามครรลอง.... “เยี่ยงนั้นแล”
ปล. ถ้าอยากอ่านเอกสารเก่าเก็บ รวมทั้งบทดอกสร้อย หาอ่านได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ http://www.finearts.go.th/…/cate…/2-2013-01-26-21-11-08.html

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่