Nepal In Dream ใครจะคิดว่าผมนะได้ไป



จุดเริ่มต้นจากคำท้าทายในการสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนรุ่นพี่ที่สนิทสนมกันเพราะการถ่ายรูปและการเดินทาง อยู่ๆ ก็มีประโยคดังเข้าสองรูหูว่า “ใครจะไปเนปาลบ้าง ไป Tracking EBC ด้วยกัน ไม่ไปด้วยกันรอบนี้ ชาตินี้ไม่รู้พวกเอ็งจะได้ไปอีกเมื่อไหร่นะ”



เท่านั้นแหละ… ต่อมอยากเดินทางก็กระตุกขึ้นในวินาทีแรก จนเอ่ยปากรับคำไม่ต้องคิดเลย โดยที่…ไม่รู้จักประเทศนี้เลยซักนิด และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเมื่อเหยียบแผ่นดินนี้จะรู้สึกหนักหนาสาหัสขนาดนี้… ขนาดไหน..เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง…
ทุกภาพงาม ทุกความรู้สึก ทุกการก้าวเดิน กับเส้นทางสู่ EBC ( Everest Base Camp )  ยังคงติดตรึงอยู่ในใจไม่จางหาย และนี่…ยังเป็นการเดินทางที่ภูมิใจที่สุดของตัวผมเอง นี่คือ…ทริปแห่งความฝัน จึงตกลงใจกันตั้งชื่อนี้ให้เรียกกันเป็นเสียงเดียวว่า “Nepal in Dream”



เริ่มต้นที่ “การเตรียมตัว” เตรียมทั้งสภาพร่างกายและเตรียมจิตใจ อุปกรณ์การเดินทางถือว่าสำคัญมาก เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยชีวิตเราในทุกสภาพอากาศ สภาพอากาศช่วงกลางวันแดดแรงเพราะอยู่ใกล้กันกับดวงอาทิตย์ แต่ก็ไม่รู้สึกร้อน เพราะความสูงของเทือกเขา ทำให้รู้สึกหนาวเหน็บ การเตรียมตัวก่อนนอนจึงต้องรัดกุมและอบอุ่นมากที่สุด ถุงนอน ถุงเท้า ถุงมือ หมวก เสื้อกันหนาว กางเกงหนาๆ คือสิ่งสำคัญที่สุด ไม่อย่างนั้น…คุณอาจจะต้องสะดุ้งตื่นเพราะความหนาวเหน็บในทุกๆ ชั่วโมงแน่นอน
ตลอดการเดินเท้าสู่ EBC ภาพที่ได้เห็นคือภูเขาหิมะ และวิถีชีวิตที่แสนจะเรียบง่าย ภาพสวนผัก สวนผลไม้ที่ปลูกเพื่อการค้าขายและดำรงชีวิต บ้านที่สร้างจากหินถูกจัดวางอย่างลงตัวอยู่ด้านหน้าของภูเขาหิมะ ที่แยกกันแทบไม่ออกว่าแต่ละยอดแตกต่างกันยังไง มองดู..ก็เหมือนๆกันทุกยอด แต่ละยอดก็มีชื่อเสียงเรียงนามของตัวเอง ยากที่จะจดจำ..แต่มันก็เหมือนเป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินขึ้นมานับยอดเขาเหล่านี้…



การเดินเท้าไต่ระดับความสูงในทริป Nepal In Dream นี้ หนึ่งอาการที่ได้สัมผัสเป็นครั้งแรกในชีวิต นั่นก็อาการ AMS (Acute Mountain Sickness) หรือ อาการแพ้ความสูง โดยจะเริ่มต้นจากการปวดศีรษะตุบๆที่จะเริ่มมาก่อกวนเมื่ออยู่ที่สูงประมาณ 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และก็เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆตามระดับความสูงที่มากขึ้น สิ่งเดียวที่จะทำได้เมื่อเกิดอาการ นั่นก็คือ ตั้งสติและสร้างสมดุลให้กับร่างกาย กำหนดการเดินให้ช้าลง จิบน้ำอุ่นเรื่อยๆ และพักผ่อนให้เต็มที่ อาการต่างๆก็จะลดลง แต่ไม่ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้จะทำคุณหายจากอาการแพ้ความสูงและทำให้คุณเดินจบทริปไปพร้อมกับเพื่อนๆ ของคุณได้…



การเดินทางแต่ละครั้ง จะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ บางที..แค่ความตั้งใจอาจไม่พอทำให้เราไปถึงได้ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ “เพื่อนร่วมทาง” ที่จะพากันฝ่าฟันไปให้ถึงจุดหมาย 11 ชีวิตที่จับมือออกเดินทางไปด้วยกัน กินอยู่ด้วยกัน 20 วันเต็มที่เนปาล ในทริป Nepal in Dream เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ EBC (Everest Base Camp)  การที่สองเท้าของเราทุกคนจะก้าวขึ้นไปนั้นต้องผ่านการเรียนรู้อะไรมากมาย ด้วยหัวใจที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ความรู้สึกในตอนนั้น..ถึงตอนนี้ก็ยังจำได้ดี ใคร..รู้สึกอย่างไรกันบ้าง

————————————

ความฝันอย่างเดียวกันของคนที่มีเคมีคล้ายๆกัน ดึงผมให้หลับตาพริ้มโผเข้าสู่ “อ้อมกอดหิมาลัย” มันน่าจะอบอวลจากทั้งไออุ่นและไอรัก แต่ผมเจออย่างที่คิดไม่ทั้งหมด บางครั้งหนาวเหน็บจากแรงลม หมอกฝน หิมะและลูกเห็บ บางครั้งเหนื่อยท้อจนอยากเก็บกระเป๋าแล้วเดินกลับหลัง ไม่น้อยครั้งที่มองอาหารตรงหน้าเหมือนยาขมที่ต้องฝืนกินให้มีชีวิตอยู่ เราเรียนรู้ที่จะชนะใจตัวเองและใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนร่วมทางที่นั่น หลังจบการเดินทาง มากไปกว่านั้น ผมยังค้นพบความทรงจำดีๆ ยิ่งใหญ่กว่าภูเขาลูกโตๆ จนไม่รู้ต้องใช้คนจำนวนมากเท่าไหร่ถึงจะโอบรอบ สุดท้ายผมคงจำอ้อมกอดหิมาลัยไปจนตาย..

:: ชาญชัย หาสสุด ::

--------------------------------

การเดินทางที่แสนไกลและยาวนาน ใช้เวลาพิสูจน์ทั้งร่างกายและจิตใจของนักผจญภัย ผ่านธรรมชาติกับสภาพอากาศที่เลวร้ายสุดๆ รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บที่รุกรานวินาทีต่อวินาที อีกทั้งอุปสรรคต่างๆ ที่ยังไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนในชีวิต ระยะเวลาที่อยู่ร่วมกัน ทำให้ตระหนักถึงคำว่า “เพื่อนร่วมทาง” ซึ่งผมคิดว่ามันมีค่ามากกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง สำหรับผมจุดหมายปลายทางไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่าเรื่องราวระหว่างทางและเพื่อนร่วมทาง…ที่สำคัญยิ่งกว่า

:: ณรงค์ชัย รุ่งพิบูลโสภิษฐ์ ::

————————————



…ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องได้เห็นภูเขาที่สูงที่สุดในโลกด้วยตา เห็นถึงแม้จะไม่มีโอกาสขึ้นไปบนจุดสูงสุดก็ตาม ทั้งที่รู้ในใจของผมเองว่าผมมีโรคหัวใจติดตัวอยู่แล้ว มันเป็นการพาหัวจิตหัวใจของผมว่ามันยังไหวอยู่ และผมก็รู้ว่าการเดินทางเรามีจุดหมายเดียวกัน สิ่งสำคัญและประทับใจที่สุดกลับไม่ใช่ยอดสูงสุดแต่กลับเป็นมิตรภาพระหว่างการเดินทาง เพื่อนที่ไม่เคยได้รู้จักกันมาก่อน มาใช้ชีวิตที่สุดจะลำบากด้วยกัน กินข้าวจานเดียวกัน นอนห้องเดียวกัน นั่งคุย แบ่งปันขนม ทุกข์สุข หัวเราะ ยิ้ม ร้องไห้ ทุกๆสิ่งทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างกัน บอกได้คำเดียวครับ มันสุดยอดมากๆครับ หวังว่าจะมีเรื่องราวดีๆระหว่างเราเกิดขึ้นอีกต่อไป ผมซึ่งอยู่ทางนี้ ตัวแทนชุมชนแม่ฮ่องสอน(แม่ลาน้อย) ขอเป็นกำลังให้ทุกท่านที่คิดจะไปเที่ยวแบบผมหรือแบบไหนก็ตาม และอย่าลืม รัก “เขา” แล้ว “เขา” ก็จะรักเรา…
:: ถิรมนัส วงศ์คีรี ::

————————————————-


ก่อนเดินทางเราวาดฝันเส้นทางไว้อย่างสวยหรู แต่ความจริงไม่แย่ไปกว่าความฝัน เพียงแค่บททดสอบระหว่างทางนั้นมากมายเหลือเกิน อากาศที่หนาวเหน็บ ฝนตกพร้อมลูกเห็บลูกใหญ่ๆระหว่างทาง และยิ่งเดินสูงขึ้นไป อากาศเริ่มเบาบางลง ความอ่อนแอของร่างกายเริ่มแฝงเข้ามาในแต่ละคน แต่ใครจะรู้ว่าเราไม่สามารถจะตัดสินความอ่อนแอของตัวเราได้ดีกว่าเราเองและภูเขาเรื่องราวต่างๆจะไม่เป็นเรื่องจดจำถ้าไม่ได้เพื่อนร่วมทางที่ดี ขอบคุณเพื่อนสมาชิกทั้ง 10 คนที่ทำให้การเดินทางนี้เป็นอีกหนึ่งการเดินทางที่สวยงามที่สุด

:: อดิศร ชุติคุณากร ::

----------------------------------------



…ผมมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “คนเรากลัว ในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ” แน่นอนครับ…ผมเองก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง มีความลังเล มีความกลัวหลายอย่างในชีวิต และจากคำกล่าวข้างต้น ทำให้ผมรู้สึกเห็นด้วยลึกๆว่า เราสามารถเอาชนะความกลัว ด้วยการกล้าออกไปเผชิญ ความกลัวครั้งหนึ่งในชีวิตของผม คือการเดินทางไปเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล หนึ่งในดินแดนที่มีเสน่ห์มากที่สุดของโลก สิ่งที่ได้ยินมาเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้คือความเหนื่อย ความยากลำบาก ความหนาวเหน็บ แต่ก็นั้นแหละครับ ถ้าผมยังคงกลัว ไม่กล้าที่จะเอาชนะความกลัวของตัวเอง ผมก็คงไม่มีวันได้เข้าใจและไม่มีทางได้เรียนรู้ว่าเทือกเขาหิมาลัยนั้นสวยแค่ไหน มิตรภาพบนความสูง 5,300 เมตรจากระดับน้ำทะเลมันเป็นยังไง และการมีเรื่องราวดีๆเก็บไว้ในความทรงจำมีค่าแค่ไหน ในวันนี้ เมื่อมองย้อนกลับไป ผมว่ามันคุ้มค่าและคงจะเสียใจ ถ้าปฏิเสธโอกาสในวันนั้นไป ขอบคุณทุกๆสิ่งที่ทำให้ผมได้มีความทรงจำดีๆและเรื่องราวที่พิเศษแบบนี้ครับ

:: ทิวัตถ์ พึ่งแรง ::

-------------------------------------------------

ขอบคุณ ภาพ/เรื่อง จากเพื่อนร่วมทาง :: ปฐวี แก้วหนู, ทิวัตถ์ พึ่งแรง, วีรวัฒน์ งามเรียบ, ถิรมนัส วงศ์คีรี, ชาญชัย หาสสุด, ณรงค์ชัย รุ่งพิบูลโสภิษฐ์, เศกสิทธิ์ โสดรักษา, วรวิทย์ วัฒนะโชติ, อดิศร ชุติคุณากร, บุษกร อิ๋วสกุล, วิทยา รองสุวรรณ

ฝากติดตามผลงาน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่