งานวิจัย "สติ" ในการเชื่อการแชรข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์

ทุกวันนี้สื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริโภคข้อมูลข่าวสารของคนในหลายๆประเทศทั่วโลก จะเห็นได้ว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่เลือกที่จะรับข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก แทนที่จะเข้าหาสื่อแบบดั้งเดิมเช่นวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะมีประโยชน์ในการช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายดายและรวดเร็ว ปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นจากการพึ่งพาสื่อสังคมออนไลน์ในการบริโภคข้อมูลข่าวสารมากจนเกินไปก็คือ การที่คนปักใจเชื่อข้อมูลที่ถูกนำมาเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่คำนึงว่าข้อมูลนั้นมีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางคนยังแชร์ข้อมูลที่ได้อ่านบนสื่อสังคมออนไลน์ต่อโดยไม่คิดถึงผลเสียที่จะตามมา

พฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการรับและเผยแพร่ข่าวสารโดยขาดวิจารณญาณนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สมควรจะมองข้าม เพราะข่าวลือข่าวลวงที่แพร่กระจายในโลกสังคมออนไลน์นั้นถือเป็นเรื่องปกติที่มีให้เห็นอยู่เสมอในหลายๆประเทศ ข่าวลือบางอย่างอาจจะเป็นแค่เรื่องขำๆซึ่งอาจไม่ได้มีผลกระทบอะไรที่รุนแรง เช่นข่าวลวงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของดาราคนดัง แต่อย่างไรก็ดีข้อมูลบิดเบือนบางอย่างที่ผู้ไม่หวังดีจงใจเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์นั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมได้หากผู้ที่รับข่าวสารนั้นขาดวิจารณญาณในการเชื่อและแชร์ต่อโดยไม่ตระหนักถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้น เช่นข่าวลวงเกี่ยวกับมหันตภัยร้ายแรงต่างๆที่สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้คนในวงกว้าง หรือข่าวโคมลอยที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้คน ตลอดจนข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับการเมือง ความปลอดภัย และความมั่นคงของชาติที่ผู้ไม่หวังดีจงใจเผยแพร่เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคม ซึ่งจากการแชร์ข้อมูลในลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงทั้งต่อผู้ที่แชร์เองและต่อสังคมโดยรวมหากไม่ได้รับการควบคุม

และด้วยผลกระทบที่อาจเกิดจากการขาดวิจารณญาณในการเชื่อและการแชร์ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์นี้เอง งานวิจัยนี้จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของ “การมีสติ” ซึ่งถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการกำกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการบริโภคและการแชร์ข้อมูลข่าวสารบนสื่อสังคมออนไลน์ การมีสติในที่นี้ถ้าจะว่ากันตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาก็คือการพยายามตามรู้ความคิด อารมณ์ และการกระทำของตนเองอยู่ตลอดเวลา เช่นเวลาเรากำลังทำอะไรสักอย่างเราก็รู้ตัวว่าเรากำลังทำสิ่งนั้นอยู่ เวลาเรารู้สึกสุขหรือทุกข์เราก็รู้ว่าเรากำลังอยู่ในอารมณ์นั้นๆ เวลาเราคิดอะไรเราก็รู้ทันความคิดตัวเองว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ ในทางตรงกันข้าม การขาดสติก็คือการที่เราลืมตัวปล่อยให้เผลอทำอะไรไปโดยไม่ทันได้คิด

การมีสติในด้านการรับข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เราได้รู้ทันความคิดของตัวเองในขณะที่กำลังรับข้อมูลข่าวสารนั้นๆอยู่ สิ่งนี้จะทำให้เราได้หยุดคิดพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นๆก่อนที่เราจะปักใจเชื่อ การมีสตินี้เองยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยควบคุมพฤติกรรมการแชร์ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ด้วยเช่นกัน เพราะคนที่มีสติจะไม่ทำอะไรรวดเร็วตามใจโดยไม่ยั้งคิด แต่จะรู้ตัวในทุกๆการกระทำของตน และมีความตระหนักรู้ก่อนจะทำอะไรเสมอ ซึ่งการมีสตินี้เองช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจก่อนที่จะตัดสินใจแชร์ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่ทันได้พิจารณาถึงผลที่จะตามมาหากข้อมูลนั้นไม่มีความถูกต้อง

ผลการวิจัยจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาและคนทำงานในกรุงเทพมหานครให้การสนับสนุนว่า ตัวชี้วัดเกี่ยวกับการมีสติมีความสอดคล้องกับแนวโน้มที่ลดลงของการปักใจเชื่อข้อมูลข่าวสารบนสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูลนั้นๆ ตลอดจนแนวโน้มที่ลดลงของการแชร์ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่อาจจะตามมา นอกจากนี้ผลจากงานวิจัยยังพบอีกว่าอุปนิสัยสำคัญอย่างหนึ่งคนที่มีสภาวะการมีสติอยู่ในระดับที่สูงก็คือการไม่ค่อยปักใจเชื่อในเรื่องอะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้พิสูจน์ความเป็นจริง (Skepticism) ซึ่งอุปนิสัยนี้เองเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับแนวโน้มที่ลดลงในการเชื่อและแชร์ข้อมูลข่าวสารบนสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่ไตร่ตรองนั่นเอง

สุดท้ายนี้ทางผู้วิจัยขอทิ้งท้ายไว้ว่า ในยุคดิจิตอลที่ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายและเข้าถึงได้ง่ายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ การกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับก่อนที่จะปักใจเชื่อหรือแชร์ต่อนั้นมีถือว่าความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่ประสงค์ดีในการแพร่กระจายข้อมูลที่อาจจะเป็นภัยต่อผู้คนหมู่มากในสังคม การมีสติในการบริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถคิดพิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อและแชร์ข้อมูลต่อทางสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่ทันคิด


หมายเหตุ
งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน Journal of Technology and Human Interaction
อ้างอิง: Charoensukmongkol, P. (2016). Contribution of Mindfulness to Individuals' Tendency to Believe and Share Social Media Content, Journal of Technology and Human Interaction. 12(3), 46-63

ผู้สนใจสามารถติดต่อทางผู้วิจัยโดยตรงทาง email ที่ peerayuth.c@nida.ac.th



4 ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่