เคาะกะลา

กระทู้ข่าว
การปราบปรามการทุจริตเป็นอีกนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้พยายามจะจัดการอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเก่าที่คาราคาซังมาก่อน แต่กระนั้นก็มีการร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชั่นอยู่เป็นระยะ

อย่างกรณีที่ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ออกมาปูดเรื่องการเจรจาพันธมิตรธุรกิจระหว่าง "ทีโอที" กับ "เอไอเอส"

เป็นการเจรจาเพื่อร่วมบริหารจัดการทรัพย์สิน โดยเฉพาะเสาโทรคมนาคมที่ "ทีโอที" ได้รับมอบมาจากคู่สัญญาสัมปทานมูลค่านับแสนล้านบาท "ชาญชัย" ตั้งข้อสังเกตว่าการเจรจาดังกล่าวมีเงื่อนงำ ด้วยเพราะอดีตที่ผ่านมา "เอไอเอส" ทำสัญญากับ "ทีโอที" มายาวนาน ตั้งแต่ยุคสัมปทานคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์

แต่กระนั้นการออกมาปูดเรื่องความไม่ชอบมาพากล กรณีระหว่าง "ทีโอที" และ "เอไอเอส" ก็มีข้อน่าสังเกตว่าแล้วเหตุไฉนไม่ตรวจสอบกรณีที่ "กสท." ดำเนินการอยู่กับ "ทรู คอร์ปอเรชั่น" ในการให้บริการ 3จี บนเครือข่ายเดิม เพราะเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน จึงมีคำถามว่าเลือกปฏิบัติ หรือเลือกตรวจสอบเพื่ออะไรหรือไม่ ยิ่งเมื่อย้อนภูมิหลังของ "ชาญชัย" ก็ยิ่งให้ตะขิดตะขวงใจ เพราะเจ้าตัวเคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้ "สิ้นสุดสมาชิกภาพ" การเป็น ส.ส.

จากกรณีที่ สุทิน ใจจิต ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครนายก ทำหนังสือคัดค้านคุณสมบัติของ "ชาญชัย" ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ว่าการสำเร็จปริญญาตรีของ "ชาญชัย" น่าจะเป็นโมฆะ เพราะนำเอาวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) ชุดที่ 1554 เลขที่ สชก 012430 จากโรงเรียนเทคนิคมารดานุเคราะห์บริหารธุรกิจ เป็นหลักฐานที่มีปัญหา นำมาเทียบโอนหน่วยกิตและเรียนต่อในมหาวิทยาลัยศรีปทุมจนสำเร็จปริญญาตรี

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน องค์การค้าของคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจสอบวุฒิการศึกษา ปวท. ของ "ชาญชัย" ผลการตรวจสอบปรากฏว่าโรงเรียนเทคนิคมารดานุเคราะห์บริหารธุรกิจเลิกกิจการไปตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2537 และไม่ปรากฏชื่อ "ชาญชัย" ในหลักฐานของโรงเรียนเทคนิคมารดานุเคราะห์บริหารธุรกิจ ทั้งปีการศึกษา 2533 และปีการศึกษา 2534

ขณะที่องค์การค้าของคุรุสภาตรวจสอบการจัดขายใบระเบียนแสดงผลการเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ เทคนิค (รบ.ปวท.) เลขที่ สชก 012430 ชุดที่ 1554 ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่องค์การค้าของคุรุสภาขายให้กับโรงเรียนเกษมโปลีเทคนิค ไม่ใช่โรงเรียนเทคนิคมารดานุเคราะห์บริหารธุรกิจ

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงแจ้งผลการตรวจสอบต่อทบวงมหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) ว่า รบ.ปวท. ชุดที่ 1554 เลขที่ สชก 012430 ที่ "ชาญชัย" นำไปสมัครขอเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม น่าจะเป็นเอกสารปลอม การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของ "ชาญชัย" ไม่น่าจะกระทำได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยชี้ขาดให้ "ชาญชัย" สิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.

ดังนั้น การออกมาปูดเรื่องไม่ชอบมาพากลอะไร ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ควรจะต้องดูให้รอบด้าน เพราะการทุจริตไม่ใช่จะมีแค่ 2 ฝ่าย แต่จะมีฝ่ายที่ 3 หรือฝ่ายที่ 4 ฝ่ายที่ 5 ด้วย ฝ่ายที่ 3-4 ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องฉาวโฉ่ต่างๆ ก็มีช่องทางที่จะทุจริตคอร์รัปชั่นเช่นกัน ด้วยการอาศัยอำนาจหน้าที่หาประเด็นข่มขู่เพื่อประโยชน์อะไรบางอย่าง แม้จะไม่พบความผิดปกติอะไร

ดังนั้น การออกมาปูดเรื่องไม่ชอบมาพากลเรื่องอะไรต่างๆ รัฐบาลจะต้องดูและวิเคราะห์ให้รอบด้าน ทั้งประเด็นร้องเรียน ความเป็นไปได้ที่จะมีการทุจริต โดยเฉพาะคนที่ออกมาแฉนั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะตกเป็นเครื่องมือของคนที่ชอบ "เคาะกะลา"

ที่มา : นสพ.มติชน คอลัมน์ เดินหน้าชน โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่