วธ.ยกย่อง “ก่องแก้ว - นิรุตติ์” ใช้ภาษาไทยดีเด่น ๒๕๕๙

กระทู้ข่าว
วธ. ประกาศยกย่องบุคคลด้านภาษาไทย ปี 2559 “ก่องแก้ว - นิรุตติ์” ปูชนียบุคคล - ผู้ใช้ภาษาดีเด่น “ว.วชิรเมธี - แกงส้ม - กุ้ง สุธิราช” คว้ากลุ่มรางวัล “เพชรในเพลง” จัดกิจกรรมใช้ภาษาไทยถูกต้อง 29 ก.ค. นี้
       
       วันนี้ (25 ก.ค.) ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) แถลงข่าว การจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2559 ว่า ตามที่รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 ก.ค. ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ วธ. จึงจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 29 ก.ค. นี้ ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ จะทำอย่างไรให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ส่วนการใช้ภาษาใหม่ ๆ เช่น ภาษาในแชตไลน์นั้น ไม่รู้สึกกังวล จะเป็นคำสั้น ๆ เพราะภาษาในแชตไลน์จะอยู่ไม่นานจะหายไปเอง
       
       นายวีระ กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ประกาศรางวัลด้านการใช้ภาษาไทย ประจำปี 2559 จำนวน 25 รางวัล ประกอบด้วย

1. รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย
ได้แก่ น.ส.ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ ผศ.ดุษฎีพร ชำนิโรคศานต์

2. ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น แบ่งเป็นชาวไทย
ได้แก่ รศ.ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา นายนิรุตติ์ ศิริจรรยา และ นางพอใจ กิจถาวรรัตน์

ส่วนชาวต่างประเทศ ได้แก่
นายเฉิน เจียง และ นางตูซาร์ นวย

3. ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น
ได้แก่ นางกรุงศรี เหมพลชม นายครวญ แสงแก้ว และ พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ประพัฒน์ ฐานวุฑฺโฒ)

4. ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประเภทบุคคล
ได้แก่ น.ส.พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ และ ผศ.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล

ประเภทองค์กร
ได้แก่ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
กองทุนพระมหาชนก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
และ มูลนิธิหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช
       
       ส่วนกรมศิลปากร ประกาศรางวัล “เพชรในเพลง” ยกย่องบุคคลในวงการเพลง จำนวน 24 รางวัล ได้แก่
1. รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษผู้ประพันธ์เพลงส่งเสริมพระพุทธศาสนาและมีคุณูปการต่อวงการเพลง ได้แก่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี นายไพบูลย์ ศุภวารี นางจารุลินทร์ มุสิกะพงษ์ และ นายดุษฎี เค้ามูลคดี

2. รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีตประเภทเพลงไทยสากล ได้แก่ ท่านผู้หญิง พึงจิตต์ ศุภมิตร จากเพลงชายชาญทหารไทย ประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา จากเพลงสาละวันรำวง

3. รางวัลประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ประเภทประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ชนะเลิศ ได้แก่ นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา จากเพลงธรรมะอยู่ไม่ไกล ประเภทประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ชนะเลิศ ได้แก่ นายสิปปภาส รักวงค์ (ปาล ประกาศิต) จากเพลงสายฝนกับคนไกลบ้าน

4. รางวัลขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย
ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ชนะเลิศ ได้แก่ นายธนทัต ชัยอรรถ (แกงส้ม เดอะสตาร์) เพลงเส้นขนาน
ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ชนะเลิศ ได้แก่ น.ส.ปราชญา ศิริพงษ์สุนทร จากเพลงลมหายใจแห่งความสุข
ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ชนะเลิศ ได้แก่ นายสุธิราช อุสุภะ (กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ อาร์สยาม) เพลงทาสมนต์คนดี
ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ชนะเลิศ น.ส.มาลิสา ชุบขุนทด (นัท มาลิสา ไมค์ทองคำ) เพลงนางฟ้าตาน้ำผึ้ง

นอกจากนี้ วธ. จะมีการจัดแสดงนิทรรศการประวัติและผลงานผู้ได้รับรางวัล การประกวดท่องแล้วเท่ บทอาขยาน ร้อยกรอง และวรรณคดีในโครงการ “เติมเต็มรักในความเป็นไทย” และฟังบรรยาย “ภาษาไทย ภาษาธรรม” โดยแม่ชีศันสนีย์ กิจกรรมเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ 2559 หัวข้อ “เอกสารโบราณตำรายา : สารัตถะ และ ภูมิปัญญาในการรักษา” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

นอกจากนี้ ยังมีการจัดพิมพ์หนังสือเก่าหายาก เรื่อง“นารีเรืองนาม” จำนวน 1,000 เล่ม และหนังสือ “วันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2559” จำนวน 1,000 เล่ม ด้วย
       
       นายประทีป สุขโสภา ศิลปินพื้นบ้าน จ.สุโขทัย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น กล่าวว่า ในหลวงทรงห่วงใยภาษาของคนไทย มีพระราชดำริหลายครั้ง ถึงการใช้ภาษาไทย ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน และต้องหวงแหน ตนสืบสานพระราชดำริผ่านการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่เรียกว่า “เพลงขอทาน” มีการออกเสียงสูงและต่ำให้ถูกอักขระ เว้นวรรคถูกต้อง ปัจจุบันมีความเป็นห่วงครูสอนภาษาไทย โดยเฉพาะการสอนการอ่านทำนองเสนาะ ครูไม่สามารถสอนวิธีการอ่านออกเสียงอย่างไพเราะ และชัดเจน เพราะไม่ได้ฝึกอ่านกลอน เมื่อครูสอนผิด เด็กซึ่งอยู่ในวัยเรียนรู้จดจำก็อ่านทำนองเสนาะผิด ๆ ตาม อีกทั้งยังไม่มีคำควบกล้ำ จึงอยากเสนอให้อยู่ในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนภาษาไทย กระตุ้นให้นักเรียนได้รู้จักการอ่านกลอนอย่างถูกต้อง จะเป็นประโยชน์มาก
       
       น.ส.ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ ผู้ได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย กล่าวว่า ดีใจที่ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาโบราณ ที่นับวันจะถูกลืมจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันคนที่รู้จักและใช้ภาษาโบราณมีน้อยมาก เพราะเป็นภาษาที่มีศัพท์เฉพาะอยู่ในสาขาวิชา และตำราเรียนโบราณเท่านั้น เช่น ตำรายาโบราณ ตำราดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ตำราเวชศาสตร์ รวมถึงตำราคชศาสตร์ และ แม้คำเหล่านี้จะยังไม่ได้เลิกใช้ แต่ก็ถูกลืมและไม่เป็นที่รู้จักอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนพยายามที่จะสอนให้ลูกหลาน และผู้สนใจได้ศึกษาการใช้ภาษาโบราณ เพราะห่วงว่าอนาคตจะไม่มีผู้สืบทอดภาษาที่เป็นศัพท์เฉพาะทางนี้ให้คงอยู่ต่อไป

จาก http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9590000073762
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่