พบว่า ‘สมเด็จช่วง’ ได้มีชื่อครอบครองและมีการสะสมรถหรู เป็นปัญหาคาราคาซัง เหตุเพราะไม่ยอมชี้แจงให้กระจ่าง

กระทู้คำถาม
เปิดปม ‘สมเด็จช่วง’ เหตุใดถูกค้านขึ้น ‘พระสังฆราชองค์ที่ 20’
ดูบทความทั้งหมดของ ธเนตร  ธเนตร  Jan 16, 2016
  
ช่วงนี้ประเด็นร้อนที่หลายๆ ฝ่ายเฝ้าจับตามองอยู่ คงนี้ไม่พ้นการแต่งตั้ง ‘สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20′ เนื่องจากเป็นปัญหา ‘คาราคาซัง’ ที่หลายฝ่ายมีความเห็นต่าง ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 และมีการพระราชทานเพลิงพระศพไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา มหาเถรสมาคมได้มีการเสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หรือ ‘สมเด็จช่วง‘ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากเป็นพระราชาคณะที่มีความอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุดทุกด้าน

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
จนเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่าง ‘ร้อนระอุ’ เนื่องจากมีกลุ่มพุทธศาสนิกชนหลายๆฝ่าย ได้ออกมาเรียกร้อง พร้อมทั้งมีการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านมติของมหาเถรสมาคม ในการแต่งตั้ง ‘สมเด็จช่วง’ ทำให้หลายๆ คนสงสัยว่า…. เหตุใดจึงมีการคัดค้าน และต่อต้านที่รุนแรงขนาดนี้ ….?

ต้องย้อนไปเมื่อปี 2556 ภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ พบว่ามีบริษัทนำเข้ารถหรูแบบผิดกฎหมาย และจากการตรวจสอบ  พบว่า ‘สมเด็จช่วง’ ได้มีชื่อครอบครองและมีการสะสมรถหรู รวมถึงพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม จนถูกหลายฝ่ายให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

รวมถึงคดีการฉ้อโกงเงินในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และสั่งจ่ายเพื่อบริจาคเงินกว่า 1,200 ล้านบาท ให้กับ ‘วัดพระธรรมกาย‘ จนเกิดคดีความฟ้องร้องขึ้น

ต่อมามีการตรวจสอบ ‘ธัมมชโย‘ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดยเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประชุมเพื่อพิจารณาสถานภาพของ ‘ธัมมชโย’

และเชิญผู้แทนมหาเถรสมาคมมาชี้แจง กรณีนายไชยบูลย์ สุทธิผล (ธัมมชโย) ได้อาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุมาตั้งแต่ ปี 2542 ตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกใน 2 กรณี คือ กรณีการไม่ยอมคืนที่ดินให้วัดพระธรรมกาย และการกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกมีความบกพร่องจึงเป็นเหตุให้บิดเบือนคำสอน

จนกระทั่งทางวัดพระธรรมกาย ได้ออกมาชี้แจงว่า ‘ธัมมชโย’ ได้คืนทรัพย์สินและที่ดินกว่า 900 ล้านบาท ให้กับวัดพระธรรมกายแล้ว ดังนั้นมติ มหาเถรสมาคมในขณะนั้นจึงไม่ได้ให้ปาราชิก และยังสามารถดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้ ซึ่งระบุว่าเรื่องดังกล่าวได้ยุติลงแล้วตั้งแต่ปี 2549

โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สปช. ได้ให้ความเหตุกับเรื่องกระแสการต่อต้าน ‘สมเด็จช่วง’ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ซึ่งระบุว่า “เหตุความขัดแย้งดังกล่าว จะนำไปสู่ความขัดแย้งในวงการพุทธศาสนา เพราะกลุ่มที่คัดค้านต่างมีเหตุผลและเชื่อว่า สมเด็จช่วง เป็นสัญลักษณ์ หรือตัวแทนของวัดธรรมกายที่เผยแผ่คำสอนบิดเบือนไปจากหลักพระพุทธศาสนา” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ‘สมเด็จช่วง’ เป็นพระอุปัชฌาย์ ของ ‘ธัมมชโย’ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับวัดพระธรรมกาย

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ว่าหากการคัดค้านนี้ ทำให้เกิดความไม่สงบ รัฐบาลก็จะต้องแก้ปัญหาให้สถานการณ์ดีขึ้น พร้อมทั้งจะไม่มีการนำเรื่องที่ไม่สบายใจเข้ากราบขึ้นบังคมทูลฯ

อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ลงนามในมติของมหาเถรสมาคม เสนอชื่อ ‘สมเด็จช่วง’ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แล้ว โดยส่งเรื่องถึงนายสุวพันธุ์ ตัณยุวรรธนะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการหารือเพิ่มเติมกับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

สำหรับประวัติ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เกิดเมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2468 (90 ปี) โดยบรรพชาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2482 ณ วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เมื่ออายุ 14 ปี และได้อุปสมบท เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2488 ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

ก่อนที่จะขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เมื่อปี 2508 และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เลื่อนมาจนเมื่อปี 2538 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น ‘สมเด็จพระราชาคณะ’

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ news.mthai.com

MThai News
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่