๘๒ ปี "วราห์ วรเวช" คุณหมอนักเขียน - นักแต่งเพลง

จาก มติชนรายวัน
วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 39 ฉบับที่ 14000 หน้า 13
http://matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01fun03100759&sectionid=0140&day=2016-07-10
..............................

งานเพลงหมอวราห์
คอลัมน์ แท็งก์ความคิด
โดย นฤตย์ เสกธีระ maxlui2810@gmail.com

มีโอกาสได้พบหมอวราห์ วรเวช ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยฯ แนะนำให้รู้จัก พร้อมกระตุ้นความจำสั้นๆ
คุณหมอเป็นคนประพันธ์เพลง "เทพธิดาดอย"!

เท่านั้นแหละ เนื้อเพลงอันไพเราะก็ผุดออกมาจากห้วงความทรงจำ
"มวลเถาวัลย์ป่าใบเขียว ลดคดเลี้ยวพันเกี่ยวคบไม้ใหญ่
ฝูงมัจฉาว่ายแหวกน้ำใส เวียนวนไปภายในสายวารี"

ครานั้นจำได้ว่าดีใจ เพราะไม่เคยนึกว่าจะได้พบตัวจริงเสียงจริงนักประพันธ์เพลง
เมื่อมีโอกาสได้พูดคุย สิ่งที่ประทับใจหมอวราห์คือความเมตตา
สมกับประกอบวิชาชีพแพทย์ เหมาะกับการประกอบวิชาชีพครู

หมอวราห์ วรเวช เป็นนามปากกาในการแต่งเพลง
ชื่อจริงของหมอวราห์ คือ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์

หมอวราห์เป็นแพทย์ทางสูติศาสตร์และนารีเวช จบปริญญาโทจากเมืองนอก
เข้าทำงานครั้งแรกที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กระทั่งปี พ.ศ.2511 ย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
หมอวราห์สนใจด้านการแพทย์ศึกษา ดังนั้น แม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็ยังคงทำงานด้านนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน

ปีนี้คุณหมออายุ 82 ปี (เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2477)
แต่หากนับผลงานด้านประพันธ์เพลง ถือว่าเป็นปีที่ 51 จากงานเพลงชิ้นแรก

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดคอนเสิร์ต 51 ปี งานเพลงหมอวราห์ อิ่มบุญอิ่มใจ ขึ้น
เป็นคอนเสิร์ตที่รวมเพลงของหมอวราห์ และยังเชิญชวนให้บริจาคเงินสมทบมูลนิธิรามาธิบดี
เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ป่วยยากจน!

ผู้ดำเนินรายการในวันนั้นคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล บิ๊กเนมไม่แพ้กัน
บรรดานักร้องที่มาร่วมก็ล้วนโด่งดัง
มีทั้ง วิชา วัชรเทพ, รังษิยา บรรณกร, ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล, ดาวใจ ไพจิตร
รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, โฉมฉาย อรุณฉาน, จิตติมา เจือใจ, อุมาพร บัวพึ่ง
สุดา ชื่นบาน, ฉันทนา กิตติยพันธ์, ศรวณี โพธิเทศ ฯลฯ
และที่ขาดไม่ได้คือแพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์
แหม แค่ชื่อนักร้องก็ยากแล้วที่จะมารวมตัวกันร้องเพลงได้มากเช่นนี้
แต่ทุกคนก็มากัน

นอกจากนี้ ยังมีน้องๆ จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงฝีมือด้วย
อย่าง ถิรพร ทรงดอน, อมรภัทร เสริมทรัพย์, ธนพล ศรีรัตน์, ทัศนัย กิตติรุ่งสุวรรณ
กัลป์ธีรา ทรงประโคน, ณัฐชยา ราชวงษ์
แต่ละคน แต่ละนาม ล้วนเสียงดีมีอนาคตทั้งนั้น
และยังมีวงคอรัสขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นศิษย์ของดุริยางคศิลป์ มหิดล
ได้เข้ามาประสานสร้างอารมณ์เพลงได้ดี

บทเพลงแต่ละเพลงของหมอวราห์ มีที่มาที่ไปในการประพันธ์หลากหลาย
โชคดีที่สูจิบัตรงานคอนเสิร์ตทำออกมาเจ๋ง ข้อมูลชัดแจ้ง
เมื่อผนวกรวมกับการดำเนินรายการของคุณหมอพูนพิศ
ทำให้คอนเสิร์ตมีรสชาติและสอดแทรกความรู้ให้ด้วย

ไปฟังคอนเสิร์ตครั้งนี้มีความสุข แถมยังซึมซับอะไรต่อมิอะไรในหลายมิติ
มิติใหม่-เก่า สัมผัสได้จากผู้ขับร้องที่มีทั้งรุ่นเดอะ และรุ่นเยาว์
วาทยกร ทั้ง ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ และ พ.ท.ประทีป สุพรรณโรจน์ ก็อยู่ในแนวหน้ารุ่นใหม่และรุ่นกลาง
รวมทั้งการเรียบเรียงผสมทำนอง และการบรรเลงของวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา ทำให้มีความหวัง
เป็นความหวังว่าวงการเพลงไทยจะก้าวหน้าไปอีกไกลจากบุคลากรเหล่านี้

นอกจากนี้ ยังมีมิติความสนุก-ดีใจ-เศร้าโศก
มิติสอนใจ-ล้อสังคม มิติความงาม มิติความดี

แต่มิติที่สร้างความประทับใจสุดสุดคือ ความผูกพันระหว่างผู้ประพันธ์เพลงกับผู้ขับร้อง
ช่วงหนึ่งในการแสดง คุณหมอพูนพิศบรรยายว่า แพทย์หญิงพันทิวาเป็นหมอตา ชอบวาดการ์ตูนและร้องเพลงไปพร้อมกัน
คุณหมอพูนพิศได้ฟัง จึงชวนไปร้องเพลงออกทีวี
ต่อมาครูเอื้อ สุนทรสนาน จะมาชวนไปร้องเพลงแต่ไม่พบ
หมอวราห์มาเจอะจึงดึงตัวไปขับร้อง กระทั่งโด่งดัง

วันที่แพทย์หญิงพันทิวาโด่งดัง ได้นำดอกไม้ช่อโตมาวางไว้บนโต๊ะพร้อมโน้ตขอบคุณ
ปลื้ม!
วันนั้นแพทย์หญิงพันทิวาก็มา และขับร้องเพลงหลายเพลงในคอนเสิร์ตของหมอวราห์

อีกตอนหนึ่ง ในช่วงท้ายคอนเสิร์ต ศรวณี โพธิเทศ ได้ขับร้อง 3 เพลงรวด
พลังเสียงเธอทำให้ผู้ฟังผู้ชมชอบใจ ปรบมือกันดังลั่นหอประชุม
ศรวณีกล่าวขอบคุณ และถือโอกาสบอกผู้ฟังว่า ความสำเร็จของเธอมาจากหมอวราห์
หมอวราห์ให้บทเพลง ศรวณีก็นำบทเพลงไปขับร้องเลี้ยงชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน
บทเพลงแบบนี้จึงมีลักษณะพิเศษ
เป็นบทเพลงที่มีมากกว่าคำสัมผัสสวยๆ
เป็นบทเพลงที่ให้แง่คิด เป็นบทเพลงที่ให้ชีวิต
เป็นบทเพลงที่เมื่อใดมีผู้ขับร้อง เมื่อนั้นก็มีผู้ฟังตลอดเวลา
เป็นบทเพลงอมตะ

วันนั้นจึงมีโอกาสได้ฟังบทเพลงเช่นนี้อย่างเต็มอิ่ม
ฟังแล้วรู้สึกขอบคุณในความเมตตาของหมอวราห์ที่ส่งบัตรมาเชิญให้ไปฟัง
ฟังบทเพลงอมตะ
บทเพลงของหมอวราห์ วรเวช...ฟังแล้วมีความสุขใจ
.......................................................................
    หมายเหตุ
1. คอนเสิร์ต " 51 ปี งานเพลงหมอวราห์ คอนเสิร์ตอิ่มบุญอิ่มใจ"
จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2559 ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม

2. นอกจากจะมีอาชีพเป็นคุณหมอ
ยังมีงานอดิเรกเป็นนักแต่งเพลงและเป็นนักเขียน
ผลงานเขียนส่วนใหญ่เป็นสารคดีท่องเที่ยว (ต่างประเทศ)
ซึ่งลงพิมพ์เป็นเรื่องชุดหลายตอนจบในนิตยสารสกุลไทย  
และยังไม่ค่อยได้รวมเล่ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่