[CR] Tokina 14-20 mm. f/2.0 Pro DX สำหรับกล้อง APS-C

สวัสดีครับพี่น้อง  เข้ามาดู

วันนี้ขออนุญาติแชร์ข้อมูลการใช้งานเลนส์ Tokina 14-20 mm. f/2.0 ตลอดช่วง ซึ่งน่าจะเป็นเลนส์ถ่ายภาพสำหรับกล้องตัวคูณที่หลายๆ ท่านกำลังให้ความสนใจอยู่ เนื่องจากทาง Tokina เพิ่งเปิดตัวเลนส์ตัวนี้ไปเมื่อประมาณต้นปี และผมเองได้ลองหาข้อมูล Review ของเลนส์ตัวนี้ใน Internet แต่ก็ไม่ค่อบพบข้อมูลจริงจากการใช้งานสักเท่าไหร่นัก  และจุดเริ่มต้นบทความรีวิวบ้านๆ ฉบับนี้ คงต้องกราบขอบคุณพี่สาวของผม ที่ฝากให้ช่วยจัดหาเลนส์มุมกว้างดีๆ เพื่อไปประกบกับน้องใหม่ Nikon D500 (กล้องตัวคูณ) โดยมีโจทย์ที่ว่า

"... ให้หาเลนส์มุมกว้างที่ไม่ต้อง Upgrade บ่อยๆ เอาไปถ่ายรูปท่องเที่ยว ถ่ายดาว ถ่ายทางช้างเผือก ถ่ายหลานสาว และอยากไว้ใช้เป็นเลนส์ติดกล้อง ฯลฯ ..."

ผมคิดในใจ "จะมีไหมเนี่ยเจ๊!" ... และหลังจากดูสักพัก ผมก็พบว่า มีตัวเลือกเลนส์ที่น่าเข้าข่ายประมาณนี้:

     Nikon 14-24 mm. f/2.8G ED,
     Nikon AF-S DX 10-24 mm. f/3.5-4.5G ED,
     Nikon AF-S DX 12-24 mm. f/4G,
     Tokina AT-X Pro 11-16 mm. f/2.8
     Sigma 10-20 mm. f/3.5 EX DC HSM,
     Tamron SP AF 10-24 mm. f/3.5-4.5 Di II LD

บอกตรงๆ นอกจากเลนส์ Nikon 14-24 mm. f/2.8G ED ที่ผมค่อนข้างคุ้นเคยเพราะเป็นเลนส์สำหรับกล้อง FF เลนส์ตัวอื่นๆ ที่ดูมา แทบไม่มีข้อมูลเลย ถ้าไม่ติดว่าเป็นใบสั่งจากพี่สาวให้ช่วยหาเลนส์ดีๆ ให้สักตัว คงไม่มีโอกาสดูข้อมูลเลนส์สำหรับกล้อง DX แบบนี้ ด้วยงบ 3 หมื่นที่ให้มา  ผมแทบจะบอกพี่สาวให้เพิ่มงบแล้วจัด Nikon 14-24 mm. เลยดีไหม แต่หยุดความคิดลงเพราะเสมือนจะเอากิเลสตนเองประเคนให้พี่สาวซะงั้น ผมเลยดูตัวอื่นเป็นทางเลือก ไล่เรียงดูจากเลนส์ทางเลือกข้างต้น ผมถูกใจ Tokina AT-X Pro 11-16 mm. f/2.8 (หรือเทียบเท่า 16.5 - 24 mm. บน FF) ไม่ก็ Sigma 10-20 mm. f/3.5 (หรือเทียบเท่า 15-30 mm. บน FF)

จนช่วงปลายเดือนพฤษภาคม มีโอกาสไปเดินงาน World Camera ที่ลาดพร้าว บังเอิญไปเจอเลนส์ Tokina ตัวใหม่ล่าสุด 14-20 mm., f/2.0 ตลอดช่วง ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี ได้จับ สัมผัสตัวจริง ... โอว...ดีงามที่ f/2.0 นี่หล่ะ ดูระยะเทียบเท่าบนกล้อง FF ของ Nikon แล้วอยู่ที่ 21 - 30 mm. รู้สึกว่าแคบไปนิด ถ้าได้สัก 18 - 35 mm. คงแจ่มแมวมากๆ  ... ซึ่งหากจะนับเลนส์ที่มีค่า f กว้างๆ  อีกตัวที่มักนึกถึงกัน คงเป็นเลนส์ Sigma 18-35 mm. ที่ให้รูรับแสงที่สว่างมากถึง f/1.8  ติดแค่ระยะ Focus ที่แคบไป  นั่นคือ 27 - 53 mm. บน FF ซึ่งเมื่อใช้กับการถ่ายภาพแนว Landscape ก็จะรู้สึกอึดอัดเกินไปครับ  ... เดินเตร่ไปมา ทนไม่ไหว กิเลสตัวเองล้วนๆ (ไว้ไปอธิบายให้พี่สาวฟังอีกทีหล่ะกัน) สุดท้ายจัดมา 33,900 บาท ตัวเบากลับบ้านเลย ... หลังจากซื้อก็ลองหาบทความ Review เจ้าเลนส์ตัวนี้จากเว็บต่างๆ ก็พบว่า แทบไม่มีให้อ่านเลย Y_Y เลยเกิดความคิดอยาก Review เลนส์ตัวนี้ จึงถือโอกาสขอยืมเลนส์ติดตัวไปเที่ยว Iceland ซะเลย ... บอกพี่สาวว่า หูฟังดีๆ ยังต้อง Burn กันก่อน เลนส์เมพๆ ก็เช่นกันนะแจ๊ะ ... สุดท้ายได้ทั้งกล้องและเลนส์ใหม่ไปเที่ยวคราวเดียวกัน สบายแฮ...

[ภาพที่ 1: Nikon D500 + Tokina 14-20 mm. รวมร่างแล้ว หล่อใช้ได้ น้ำหนักเลนส์ 7 ขีด รวมกล้องเข้าไปด้วยโลนิดๆ ครับ]


หลังจากมีโอกาสใช้เลนส์ Tokina 14-20 mm. ประมาณ 10 วันที่ Iceland  มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเลนส์ตัวนี้ ดังนี้ครับ:



:การออกแบบ/คุณภาพการผลิต:

     - การจับถือ พื้นผิวลายของเลนส์ และการออกแบบสมฐานะเลนส์เกรด Pro ของค่าย Tokina
     - น้ำหนักมากพอสมควร ประมาณ 7 ขีด หนักสุดแล้วในบรรดาเลนส์ที่ดูไว้ข้างต้น เช่น Nikon AF-S DX 10-24 mm., 12-24 mm., และ Sigma 10-20 mm. หนักประมาณ 5 ขีดเท่าๆ กัน
     - รูรับแสง f/2.0 ทุกช่วงซูม ปรับได้สูงสุด f/22.0
     - Focus ได้ใกล้สุดประมาณ 1 ฟุต เมื่อใช้ร่วมกับ f/2.0 จะได้ภาพถ่ายใกล้ที่มีฉากหลังละลายเล็กน้อย
     - ใช้ Filter หน้า 82 mm. ทำให้ใส่ชุด Filter ของ Nikon ที่ผมมีอยู่ไม่ได้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน้า 77 mm.) แต่ก็ใช้ชุด Filter Holder ของ Nisi ได้เลย ไม่ต้องใช้ Adapter ... แต่หากใช้ชุด Lee Filter แนะนำให้ซื้อ Adapter แบบ Wide Angle (WA) หน้า 82 นะครับ เวลาถ่ายภาพจะได้ไม่ติดขอบมืด
     - ระบบ Focus แบบ IF ชิ้นเลนส์ไม่ยื่นออกมา การหมุนเลนส์เพื่อเปลี่ยนระยะ Focus เกิดขึ้นภายในกระบอกเลนส์  และไม่ไม่หมุนตามการ Focus ทำให้ใช้ CPL Filter ได้อย่างสบายใจ ... สรุปว่าหน้าตาหล่อในทุกช่วงซูม
     - การปรับจาก Auto focus ไป Manual focus ทำได้โดยการชักวงแหวนครอบเลนส์ขึ้นลง (Push/pull focus ring) ซึ่งส่วนตัวพบว่าไม่สะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องประคองเลนส์ถ่ายภาพด้วยมือ บางครั้งทำให้การหมุน Focus ค้าง ต้องชักกลับไปแล้วปรับระยะ Focus ใหม่ (...ชอบแบบ Switch เปิดปิด Auto/Manual focus มากกว่า)
     - เมาท์เลนส์เป็นโลหะ ดูแข็งแรง และหุ้มด้วยยางปกป้องวัสดุภายในจากฝุ่นและละอองน้ำ
     - ตัวอักษรระบุระยะซูม 14 - 20 mm. เป็นแบบ Screen บนกระบอกเลนส์ กลัวหลุดร่อนง่าย ชอบแบบสลักฝังลงในกระบอกเลนส์มากกว่า
     - เลนส์ที่ซื้อมาไม่พบ Back/Front focus

[ภาพที่ 2: Tokina 14-20 mm. Pro DX ตัวนี้ ให้ความเปรียบต่าง คมชัด และสีสันที่อิ่มตัวดีมาก การจับถือค่อนข้างถนัดมือ แม้จะมีน้ำหนักมากไปนิดเมื่อเทียบกับเลนส์ช่วงเดียวกันของค่ายอื่นก็ตาม (หนักกว่าประมาณ 2 ขีด)]


[ภาพที่ 3: แสดงระยะของเลนส์ เปรียบเทียบระหว่าง 14 mm. และ 20 mm. (หรือเทียบเท่า 21 และ 30 mm. บนกล้อง FF ตามลำดับ)]




:คุณภาพของภาพที่ได้จากเลนส์:

ในการเช็คคุณภาพของภาพที่นั้นผมพิจารณาจากภาพ RAW ที่ถ่ายมาโดยไม่ผ่านการปรับแต่ง และขยายภาพ 100% ในจุดที่ต้องการดูรายละเอียด (ใช้โปรแกรม Adobe Camera Raw เพื่อดูภาพ) มีรายละเอียดที่ขอสรุปสั้นๆ ตามนี้:
     - ความบิดโค้ง (Distortion) ในภาพที่เกิดจากเลนส์มีพอสมควรที่ 14mm. โดยเฉพาะการวางเส้นขอบฟ้าไว้ใกล้ๆ ขอบภาพ อาจะทำให้เส้นขอบฟ้าโค้งงอบ้าง จำเป็นต้องปรับแก้ไขแบบ Maunal ใน Post processing
     - แฉกของเลนส์ (Lens-burst effect) เมื่อถ่ายย้อนแสง โดยใช้รูรับแสงแคบๆ เช่น f/11.0 ขึ้นไป พบว่า แฉก 18 แฉกที่ได้จากเลนส์ตัวนี้ ไม่ค่อยคม ทรงไม่สวยนักโดยปรกติ ผมชื่นชอบเลนส์ที่ให้แฉกคมๆ แหลมเฟี้ยว เช่น Canon 16-36 mm. หรือ Nikon 80-200 mm. ซึ่งมักหาไม่ได้ในเลนส์สำหรับกล้องตัวคูณ [ภาพประกอบที่ 4]
     - ความเปรียบต่างและความคมชัด (Contrast & Sharpness) ช่วงกลางภาพ ทำได้ค่อนข้างดี สีสันอิ่มตัว ตั้งแต่ f/2.0 โดยเฉพาะที่ระยะ 14 mm. (หรือ 21mm. บน FF) เมื่อหมุนเลนส์ให้มีระยะเพิ่มขึ้นที่ 20 mm. (หรือ 30 mm. บน FF) ความเปรียบต่างและความคมที่ f/2.0 จะลดลงเล็กน้อย เมื่อปรับรูรับแสงเพิ่มขึ้น ผมรู้สึกว่าช่วงกลางภาพจะมีคุณภาพสูงสุดราวๆ f/4.0 - 8.0 ครับ (แยกกันไม่ค่อยออก ด้วยตาเปล่า)  ส่วนในช่วงขอบภาพนั้นที่ f/2.0 - f/4.0 ภาพจะเบลอเล็กน้อย ไม่คมมากนัก และจะดีที่สุดเมื่อใช้ค่า f ระหว่าง f/8.0 - 11.0 ครับ โดยส่วนตัวจึงเห็นว่า ค่ารูรับแสง f/8.0 เป็นค่าที่ดีที่สุดทุกช่วงซูม ** ปล. ผมลองหาข้อมูลเพิ่มเติมใน Internet ถึงการทดสอบประสิทธิภาพเลนส์ตัวนี้ ก็พบบทความของ lenstip.com ที่ทดสอบความคมชัดและได้ระบุว่า f/5.6 เป็นค่ารูรับแสงที่ดีที่สุด (ซึ่งแตกต่างจากประสบการณ์ที่ผมได้รับจากเลนส์ตัวนี้) สามารถอ่านบทความดังกล่าว (ภาษาอังกฤษ) ได้จาก: http://www.lenstip.com/470.4-Lens_review-Tokina_AT-X_PRO_SD_14-20_mm_f_2_(IF)_DX_Image_resolution.html [ภาพประกอบที่ 5-7]
     - ความคลาดสี หรือขอบม่วง (Chromatic Aberrations : CA) มีให้เห็นบ้างแต่เพียงเล็กน้อยเมื่อเปิด f กว้างสุด  คือจะบอกว่าไม่มีเลยคงไม่ได้ แต่ถือว่าน้อยมาก และแก้ไขได้ง่ายมากใน Post processing [ภาพประกอบที่ 9]
     - การ Focus มีเสียงดังเล็กน้อย สามารถ Focus ได้เร็วและแม่นยำ ยิ่งใช้ร่วมกับกล้อง Nikon D500 ที่มีจอ Touchscreen ยิ่งสะดวกมากขึ้น พบอาการวืดวาดบ้างเล็กน้อยเมื่อ Focus ในพื้นที่ที่ค่อนข้างมืด หรือมีความเปรียบต่างไม่สูงนัก
     - แฟร์ของเลนส์ (Lens flares) ถือเป็นปัญหาของเลนส์ Tokina เกือบทุกรุ่น คือ ไม่ค่อยสู้แสง แม้แต่เลนส์ตัวนี้ ที่ Tokina แจ้งว่ามีการเคลือบผิวเลนส์แบบ Anti-Reflection Multi Layer Coating  ก็ยังคงพบปัญหาแสงแฟร์ของเลนส์เช่นกัน  ... ดังนั้น เมื่อถ่ายภาพย้อนแสงมักมีแฟร์มาให้เห็นตรงมุมภาพ  ที่ f กว้างสุดมีให้เห็นบ้างเล็กน้อย และจะมีแฟร์มากขึ้น เมื่อปรับค่า f แคบลง [ภาพประกอบที่ 14]
     - มีอาการ Coma ของเลนส์เล็กน้อย (หรือลักษณะที่เกิดขึ้นเมื่อเปิด f กว้างๆ แล้วถ่ายจุดแสงเล็กๆ เช่น ดวงดาว แล้วพบแสงดาวไม่เป็นจุดทรงกลม แต่แสงจะแตกออกเป็นเส้น เหมือนดาวมีหาง) ในหัวข้อนี้ ผมไม่ได้ทดสอบด้วยตนเองนะครับ เพราะไป Iceland หน้าร้อน ไม่มีดาวให้ถ่าย แต่เท่าที่ลองอ่าน Review ทาง Interenet พบว่าเกิดอาการ Coma ที่ f/2.0 เล็กน้อย และจะลดลงจนเกือบหมดเมื่อใช้ค่า f/2.8

[ภาพที่ 4: แฉกของเลนส์ และแฟร์ ที่เกิดขึ้นจากการยิงภาพย้อนแสง ในภาพปรับ f/11.0 ได้แฉกที่ไม่คมนัก แต่การเก็บรายละเอียดในส่วน Highlight / Shadow ทำได้ดี รายละเอียดมีความเปรียบต่างและคมชัดตลอดทั้งภาพ]


[ภาพที่ 5: การถ่ายทอดสีสัน และรายละเอียดทำออกมาได้ประทับใจ ในภาพทดสอบการยิงที่ f/5.6 ซึ่งการทดสอบใน Website ตปท. ได้ชูว่าเป็นค่ารูรับแสงที่ดีที่สุดในทุกช่วงซูม]


[ภาพที่ 6-7: แสดงรายละเอียดในด้านความเปรียบต่าง และความคมชัด โดยการขยายพื้นที่ส่วนกลางภาพ / ขอบภาพ ที่ 100% จากต้นฉบับไฟล์ RAW ที่มีขนาด 5568 x 3712 Pixels จากกล้อง Nikon D500 ในภาพนี้ผม Focus ไปที่ราวๆ พื้นที่ 1/3 ของภาพ ใช้มือประคอง ยิงภาพมา 5 ใบ เลือกใบที่ชัดที่สุดมานำเสนอ  .... โดยในขั้นตอน Post processing ไม่มีการใส่ Sharpen และ Clarity เพิ่มเติมแต่อย่างใด  **ปล. อีกหนึ่งสาเหตุที่พื้นที่ด้านหน้าและหลังไม่ชัด อาจเกิดจากปัญหา Hyperfocal ก็เป็นได้ครับ]





:สรุป:

โดยรวม ถือว่าประทับใจกับเลนส์เกรด Pro ของค่าย Tokina ตัวนี้ครับ และคิดว่าพี่สาวคงถูกใจเลนส์ตัวนี้เช่นกัน  ด้วยรูรับแสงที่กว้างมากถึง f/2.0 ทำให้การถ่ายภาพภายใต้แสงสว่างน้อยๆ เป็นไปโดยง่าย เช่น ภาพดวงดาว ทางช้างเผือก และแสงเหนือ (เสียดายที่คราวนี้ ผมไป Iceland ช่วงหน้าร้อน เจอช่วงพระอาทิตย์เที่ยงคืน สว่างตลอดเวลา ไม่มีกลางคืนให้ถ่ายภาพดาว เลยอดทดสอบประสิทธิภาพการถ่ายดาวในช่วงกลางคืนมาให้ชมกันครับ)  นอกจากนี้ ยังเหมาะกับการพกพาเป็นเลนส์หลักสำหรับการถ่ายภาพในร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนการถ่ายภาพบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ  และเหมาะกับการถ่ายภาพ Landscape & Cityscape, การถ่ายภาพ Event, และ Street Photography โดยจะได้ระยะ 21-30 mm. ที่มีความสว่างของเลนส์มากที่สุดเมื่อเทียบกับเลนส์จากค่ายอื่นๆ ในช่วงเดียวกัน  

ปิดท้าย ... เลนส์ Tokina 14-20 mm. ตัวนี้ ถือว่ามีความโดดเด่น แม้จะมีข้อเสียปลีกย่อย เล็กน้อยอยู่บ้าง รวมถึงราคาอาจจะสูงไปนิด แต่ผมถือเป็นตัวเลือกที่ดีมากหากใครกำลังมองหาเลนส์ซูมเกรด Pro สำหรับกล้องตัวคูณครับ  และหากมีโอกาสได้นำเลนส์ตัวนี้ไปใช้ในทริปต่อไป จะพยายามเก็บภาพ และข้อมูลเพิ่มเติมมาฝากกันใหม่ ขอบคุณที่ติดตาม สวัสดีครับ
ชื่อสินค้า:   Tokina 14-20 mm. f/2.0 Pro DX
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่