ประวัติหลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดชมภูนิมิตร อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล

กระทู้ข่าว
ประวัติความเป็นมาหลวงพ่อแก่นจันทน์ (พระลากห้ามฝน) หลวงพ่อแก่นจันทน์เป็น พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรพระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน ส้นพระบาททั้งสองชิดติดกัน พระหัตถ์ทั้งสองข้างชิดกัน ในท่าประคอง มีบาตรอยู่ฝ่าพระหัตถ์ ศิลปะทรงเครื่องสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำจากไม้จันทร์เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวทุ่งหว้ามาเป็นเวลาช้านานประวัติที่ได้รับการยืนยันแน่ชัดจากคำบอกเล่าของบุคคลที่น่าเชื่อถือได้มีดังนี้ (1) พ.อ (พิเศษ) ดร. สมพรรณ เย็นสุข เป็นชาวทุ่งหว้าได้เล่าให้ฟังว่าอาจารย์ชุบ สิริพร( อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนทุ่งหว้า) ปูชนียาจารย์ ลุงเปี่ยม ศรีเพชรปราชญ์ชาวบ้าน คุณลุงสุพัตร เย็นสุข ทั้งสามท่าน เคยเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์มีความศักดิ์สิทธิ์มากๆ สร้างจากไม้จันทร์ได้ลอยทวนน้ำ เข้ามาตามลำคลองที่ท่าน้ำหลังวัดชมภูนิมิตรหรือ"" ท่าวัด"" (1พ.ย2558) (2) เรืออากาศตรี เสวก สุขเกษม เป็นชาวทุ่งหว้าก็ได้เล่าให้ฟังว่า ลุงเปี่ยม ศรีเพชร ปราชญ์ชาวบ้าน ก็ได้เล่าให้ท่านฟังเหมือนกันว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์มีความศักดิ์สิทธิ์มากเช่นกัน สร้างจากไม้จันทร์ได้ลอยทวนน้ำเข้าตามลำคลองหลังวัดชมภูนิมิตรหรือ""ท่าวัด""ร้องไห้ 7พ .ย 2558) ประมาณปี2530 ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ ผมได้ไปเยี่ยมลุงเปี่ยม ศรีเพชร ตามปกติเสมอๆ ลุงเปี่ยมฯมีพระเครื่องต่างๆพอสมควรเพราะชอบพระเครื่องผมจึงชอบไปขอดูขอชมอยู่บ่อยๆ จากการพูดคุยเรื่องพระเครื่องต่างๆ ท่านก็เล่าให้ผมฟัง ถึงที่มาของหลวงพ่อแก่นจันทน์ว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์สร้างด้วยไม้แก่นจันทร์แกะสลักแบบ (ทรงเครื่อง มีศิลปะที่งดงามมาก ที่สำคัญมีความศักดิ์สิทธิ์มากจริงๆ ที่เดียว ก่อนที่จะพบเจอหลวงพ่อแก่นจันทน์ที่ท่าน้ำหลังวัดนั้น ลุงเปี่ยม ศรีเพชร เล่าให้ผมฟังว่า ที่ท่าน้ำหลังวัด เกิดมีดวงไฟสีเหลืองกลมใหญ่ ลอยวนอยู่ที่ท่าวัดหลายคืนแล้ว ชาวบ้านลือกันว่าที่ท่าน้ำหลังวัดมีผีหลอก จึงไม่มีใครกล้าออกไปหาปลา เรื่องผีหลอกที่ท่าน้ำหลังวัดนี้ รู้ถึงนายมนัส ดาราฉาย (สูหรา) สมัยนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรอำเภอละงู ลูกเลี้ยงของลุงเปี่ยม ศรีเพชร เพราะความอยากรู้และเป็นคนไม่กลัวไม่เชื่อเรื่องผีมีจริง ค่ำคืนหนึ่งจึงเดินไปที่ท่าน้ำหลังวัดพร้อมกับกระบอกไฟฉาย ก็ไปเจอดวงไฟประหลาดคล้ายดวงจันทน์ดวงใหญ่ลอยวนไปมาอยู่ที่ท่าน้ำหลังวัดจริงดังคำเล่าลือ ด้วยความกล้าจึงเดินเข้าไปดูใกล้ๆว่าเป็นดวงอะไรกันแน่ ดวงไฟที่ลอยวนเวียนไปมาอยู่นั้นก็ค่อยๆเล็กลงๆและตกลงตรงที่ท่าน้ำนั้นในที่สุด นายมนัส ดาราฉาย จึงเดินเข้าไปดูใกล้ๆที่ดวงไฟตกลงนั้น ดูว่าเป็นอะไรก็หาไม่เจอเพราะความมืด จึงปักไม้ทำเป็นเครื่องหมายเอาไว้ ในบริเวณที่เห็นดวงไปตก แล้วกลับบ้านไป จนถึงรุ่งเช้า จึงได้เดินกลับมาสำรวจดูในบริเวณที่ท่าน้ำหลังวัด ตรงที่ตนเองได้ปักไม้หมายไว้ไม่ไกลจากที่ได้ปีกไม้มากนัก ก็ไปเจอต่อไม้แกะสลักสวยงามโผล่ขึ้นมาจากโคลนดินเล็กน้อย จึงใช้ไม่เขี้ยโคลนดินข้างๆดู ปรากฏว่าเป็นเศียรพระพุทธรูป จึงขุดลึกลงไปก็เจอพระพุทธรูปทั้งองค์ เมื่อทำการขุดองค์พระขึ้นมาจากโคลนดินได้หมดแล้ว จึงได้ไปแจ้งแกพระสงฆ์และลุงเปี่ยม ศรีเพชร ทั้งหมดจึงได้ร่วมกันทำพิธีอันเชิญ พระพุทธรูปที่แกะสลักสวยงามองค์นั้นมายังที่พักสงฆ์ วัดชมภูนิมิตร ตั้งแต่นั้นมา หลังจากอัญเชิญพระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้จันทร์ฯมาประดิษฐานเป็นพระประธานไว้ที่วัดชมภูนิมิตรแล้ว ก็มีผู้คนที่ได้ยิน ข่าวการพบพระพุทธรูปว่าลอยทวนน้ำเข้ามาที่ท่าน้ำหลังวัด ก็หลั่งไหลกันมาขอชมบารมี กราบไหว้ขอพร กันอยางเนื่องแน่น ประกอบกับองค์พระพุทธรูป มีใบหน้าที่ชดช้อย ยิ้มแย้มสวยงาม อิ่มเอิบเบิกบานและมีศิลปะประณีต ที่ช่างธรรมดาไม่สามารถจะทำได้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจมากๆก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ต่างก็มาขอพร และบนบานให้ได้สมปรารถนา กันมิได้ขาด เมื่อได้ตามที่ขอแล้ว ก็จะนิยมแก้บนด้วยขนมโค เมื่อถึงวันออกพรรษา ก็จะมีประเพณี ลากพระ โดยทางเรือ ด้วยยังไม่รู้ว่าเป็น พระอะไร จึงเรียกว่า “พระลาก” เพราะนิยมนำพระมาลาก ในวันออกพรรษา ต่อมาเมื่อถึงวันสงกรานต์ ก็จะอัญเชิญ พระพุทธ รูปดังกล่าวมาสรงน้ำ ปิดทอง และประแป้งตามองค์พระ ปรากกฎว่าปุ่มนูนของขมวดผมบนเศียรพระพุทธรูปหรือเม็ดพระศก เกิดบิ่นหักหลุดลงมา ชาว บ้านจึงนำเอาชิ้นส่วนที่หักลงมาดูกัน ปรากฏว่ามีผู้ที่มีความรู้ทางช่างไม้บอกว่าปุ่มนูนของขมวดผมบนเศียรที่หักลงมานั้นทำจากไม้จันทร์ ดังนั้น จึงเรียกพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมานั้นว่า “หลวงพ่อแก่นจันทน์ตั้งแต่นั้นมา ต่อมาอำเภอทุ่งหว้า ถูกลดฐานะจากอำเภอลงมาเป็นกิ่งเภอและให้ ขี้นตรงต่ออำเภอละงู ทางผู้มีอำนาจของอำเภอละงูในสมัยนั้นจึงได้อัญเชิญหลวงพ่อแก่นจันทน์ ไปประดิษฐ์ฐานประจำไว้ที่วัดอาทรรังสฤษฎิ์ อำเภอละงู อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาอำเภอทุ่งหว้า ได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอดังเดิม ชาวบ้านและผู้ที่มีอำนาจของอำเภอทุ่งหว้า จึงได้ขออัญเชิญหลวงพ่อแก่นจันทน์กลับคืนมา ประดิษฐ์ฐานไว้ที่ วัดชมพูนิมิตดังเดิม ถึงตอนนี้ ลุงเปี่ยม ศรีเพชร ได้เล่าด้วยสีหน้าที่ตื้นเต็นและเสียงดังฟังชัดว่า ขณะอุ้มพระหลวงพ่อแก่นจันทน์เดินเท้ากลับมายังอำเภอทุ่งหว้านั้น ระหว่างทาง เกิดพายุฝนตกหนัก ปรากฏว่า คนอุ้มพระหลวงพ่อแก่นจันทน์ ไม่เปียกฝน ทำให้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้นเกิดความ ศรัทธาเลื่ยมใสในอิทธิฤทธิ์ ปาฎิหาริย์ในองค์หลวงพ่อแก่นจันทน์เป็นอย่างมาก ต่างพากันเล่าลือไปทั่ว ทำให้มีผู้คนทั้งใกล้และไกลพากันมากราบไหว้ขอพร มิได้ขาดจวบจนมาถึงปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ พระสมุห์ จำแลง อดีตเจ้าอาวาสชมภูนิมิตร และคณะกรรมการวัดชมพูนิมิต ได้จัดสร้างเหรียญหลวงพ่อแก่นจันทน์ ปางอุ้มบาตร เนื้อฝาบาตรรมดำ ขึ้นเพื่อนำปัจจัยที่ได้ไปบูรณะซ่อมแซมกุฎิ อาคารสถานต่างๆ ฯลฯ ภายในวัด ร้อยโท ประยงค์ รณรงค์ไพรี ผู้อยู่ในเหตุการณ์ปรำพิธีได้เล่าให้ผมฟังว่า ทางวัดได้นิมนต์เกจิร่วมสมัยมาปลุกเสก จากหลายจังหวัดเช่นเกจิจากจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรังนั้นมี พ่อท่านเอียด วัดทุ่งหินผูด สงขลา พ่อท่านสีแก้ว วัดไทรใหญ่ ส่วนพัทลุงนั้นท่านเจ้าสำนักเขาอ้อและอาจารย์นำวัดดอนศาลา มาร่วมปลุกเสกและเป็นประธานในพิธีด้วย ทำการปลุกเสก ตลอด 1 คืน ในขณะทำพิธีปลุกเสกอยู่นั้นได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ต้นอ้อยที่นำมาผูกติดไว้กับเครื่องไหว้อื่นๆ ลมกระหน่ำพัดอย่างรุ่นแรงจนปลายอ้อยลู่ชนเข้าหากัน หลังจากนั้น ฟ้าก็ได้ผ่าลงมากลางปรำพิธี หลังจากนั้นไม่นานทุกอย่างก็เงียบสงบลงราวปฎิหาร การสร้างเหรียญหลวงพ่อแก่นจันทน์นั้นครั้งแรกสร้างปี 2516 จำนวนการสร้างประมาณ 1 บาตรพระ แต่มีข้อสังเกตว่า น่าจะไม่น้อยกว่า 3000 เหรียญ เนื่องจากเวลามีงานทอดกฐิน ฯลฯจะมีการจัดงาน เหมือนงานวัดทั่วๆไป หากทำน้อยไปอาจจะไม่พอแจกจ่ายสำหรับผู้ที่มาร่วมทำบุญ เมื่อมีญาติโยมชาวบ้านทั้งใกล้และไกลมาทำบุญจะเอาเหรียญหลวงพ่อแก่นจันทร์ บรรจุในซองคล้ายๆซองกฐินให้แก่ผู้มาร่วมทำบุญ เมื่อปี 2527 นาย เฉลียว เชียงทอง ได้นำเหรียญหลวงพ่อแก่นจันทน์รุ่นแรกปี 2516 ไปประกวดในงานอนุรักษ์ พระบูชา พระเครื่อง และเหรียญคณาจารย์ ณ หอประชุมกองบังคับการตำรวจภูธร ๑๑ จังหวัดนครศรีธรรมราชในวันเสาร์ที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๗ และได้รับรางวัลที่ ๑ ประเภทเหรียญภาคใต้ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติหลวงพ่อแก่นจันทน์นี้ กระผมได้ยินได้ฟังมาจากลุงเปี่ยม ศรีเพชร คุณลุงสุพัตร เย็นสุข ตั้งแต่ประมาณปี 2530 ตอนนั้นเรียนอยู่ชั้นมัธยมศีกษาปีที่ 3 โรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล แต่ก็ยังไม่กล้าเผยแพร่ เพราะยังไม่มีพยานที่จะมายืนยัน ก็พยายามหาข้อมูล มาโดยตลอด จนได้พบเจอพูดคุยกับ พ.อ (พิเศษ) ดร. สมพรรณ เย็นสุข เป็นชาวทุ่งหว้า และ เรืออากาศตรี เสวก สุขเกษม เป็นชาวทุ่งหว้า ประวัติและที่มาของหลวงพ่อแก่นจันทน์ ดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นข้อมูล ที่ผมได้ติดตาม สอบถาม ค้นหามาโดยตลอดจากชาวทุ่งหว้าหลายๆท่าน และคิดว่าเป็นข้อมูลที่ชัดเจนน่าเชื่อถือที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา อิทธิฤทธิ์ ปฎิหาร ต่างๆฯลฯ ของหลวงพ่อแก่นจันทน์กรุณาแจ้งมานะครับ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาของคนรุ่นต่อๆอย่างมากครับ หากข้อมูลนี้ พอจะมีกุศลผลบุญความดีและมีประโยชน์อยู่บ้าง ขอยกกุศลผลบุญความดีและมีประโยชน์อันดีทั้งหลายเหล่านี้ ให้แก่ นายตั้งกุ้ย แซ่เล้าและ นางเชื่อศรี สิริพร (พ่อแม่ของข้าพเจ้า ) คุณตาอาจารย์ชุบ สิริพร ( อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนทุ่งหว้า) คุณลุงเปี่ยม ศรีเพชร (ปราชญ์ชาวบ้าน ) คุณลุงสุพัตร เย็นสุข คุณป้าประภา เย็นสุข(แม่ดีเด่นของจังหวัดสตูล) คุณป้าเฉลิม จารุปาณฑุ พันเอก(พิเศษ)ดร. สมพรรณ เย็นสุข เรืออากาศตรี เสวก สุขเกษม ร.ต ประยงค์ รณรงค์ไพรี คุณน้าวิสุทธิ์ จั่วเส้ง คุณมนัส ดาราฉาย ผ.อ จรูญ เหล่าวทัญญู (ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดชมภูนิมิตร) และญาติพี่น้องทั้งหลายของข้าพเจ้าตลอดจนชาวอำเภอทุ่งหว้าและอำเภอใกล้เคียงและผู้อ่านทุกๆท่านครับ ขอบคุณครับ ที่มาข้อมูล พันเอก(พิเศษ)ดร. สมพรรณ เย็นสุข 2558 ที่มาข้อมูล เรืออากาศตรี เสวก สุขเกษม 2557 ที่มาข้อมูล ร้อยโท ประยงค์ รณรงค์ไพรี 2557 ที่มาข้อมูล คุณ ตาเปี่ยม ศรีเพชร 2531 ที่มาข้อมูล คุณลุง สุพัตร เย็นสุข 2531 ที่มาข้อมูล คุณน้าวิสุทธิ์ จั่วเส้ง 2557 ที่มาข้อมูล ผ.อ จรูญ เหล่าวทัญญู 2557 ผู้สัมภาษณ์ โพ้ง ทุ่งหว้า 9 พ.ย 2558 ฉบับแก้ไขล่าสุด
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่