ฉาวไม่เลิก.. ‘เครื่องสูบน้ำสเปคจีน’ กทม.ซื้อ 200 เครื่อง จ่ายแพงกว่าทำไม?!!

กระทู้คำถาม
เปิดสเปค "เครื่องสูบน้ำจีน" ชนิดลากจูง 200 เครื่อง 186 ล้าน กังขา! กทม.จ่ายแพงทำไม.. เช็กแบรนด์ยุโรปแค่ 4-5 แสน ส่วนของจีนเครื่องละ 934,000 ฉงน! ส่วนต่างอีกกว่า 4 แสน บวกเป็นค่าประกอบ “ฝาครอบตัวถัง” แถมหนักถึง 4 ตัน ย้ำไม่เหมาะกับสภาพใช้งานจริง “วิลาศ” แฉกลิ่นตุๆ “ริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่งฯ” ปีเดียวฟันงบซื้อเครื่องจักร 3.8 พันล้าน สางปมตั้งงบโครงการ “รองผู้ว่าฯ” สั่งหัวหน้าฝ่ายในสำนักงบฯ ถ่ายเทเงินรวม “งบกลาง” เลี่ยงผ่าน ส.ก. ส่อเค้าลางทุจริตหรือไม่?!!

..........................................

ฉาวแล้วฉาวอีก…สำหรับการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใต้ปีก “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” หลังจากเรื่องอื้อฉาวปรับปรุงห้องทำงานผู้ว่าฯ กทม. 16.5 ล้านบาท ที่กำลังโดนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รุกไล่อย่างหนัก รวมไปถึงปมทุจริตซุ้มไฟ LED ที่ยังค้างเติ่งอยู่ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งติ (ป.ป.ช.) แถมคิวล่าสุดยังมีรายการส่อโกงสะบัดช่อ อย่างการ “จัดซื้อเครื่องสูบน้ำสเปคจีน” ที่ซื้อแพงกว่าของยุโรปกว่าหนึ่งเท่าตัว

ตอเริ่มผุดเมื่อ “จอมแฉจากค่ายสะตอ” อย่าง “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดโปง กรณีความไม่ชอบมาพากล ในการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องสูบน้ำชนิดลากจูง ลักษณะต่อเป็นตัวถังรถครอบเครื่องสูบน้ำ ที่ต้องใช้ยานพาหนะลากจูงในการขนย้าย โดยสนนราคาอยู่ที่เครื่องละ 934,000 บาท รวม 200 เครื่อง ใช้งบไปกว่า 186 ล้านบาท

แต่เมื่อนำใช้งานจริง กลับปรากฏว่า ใช้รถปิกอัพลากไม่ได้เพราะรถสูบน้ำมีน้ำหนักมาก ต้องใช้รถหกล้อลาก และเกิดปัญหา คือ ท้ายของรถสูบน้ำลากจูงห้อยติดพื้นถนน จึงต้องใช้วิธีขนย้ายโดยยกขึ้นรถสิบล้อ ซึ่งยิ่งเพิ่มภาระและไม่ตรงวัตถุประสงค์ ทั้งที่เครื่องสูบน้ำธรรมดาในสเปคเดียวกัน มีราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง แสดงถึง “ความอ่อนด้อย” และขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ อีกทั้งไม่มีการสำรวจสภาพความเป็นจริงของการใช้งาน และที่สำคัญคือ “ส่อทุจริต” เพราะซื้อในราคาแพงและเกินความจำเป็น

ทั้งนี้ จากข้อมูลระบุว่า ได้มีการเพิ่มสเปคจากเดิมคันละ 4 แสนบาท แต่มีการหุ้มเกราะ บุฟองน้ำ ทำให้ขยับราคาเพิ่มเป็น 934,000 บาท แต่การใช้งานกลับไม่คุ้มค่า

โดยเครื่องสูบน้ำดังกล่าวใช้เครื่องยนต์ดีเซลนำเข้าจากจีน แล้วมาประกอบตัวถังในไทย แต่มีน้ำหนักมากถึง 4 ตัน ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนย้ายไปติดตั้งในจุดที่มีน้ำท่วม เพราะการจัดซื้อล็อตนี้ 200 เครื่อง เป็นการซื้อเครื่องสูบน้ำขนาดกลาง เพื่อให้สามารถเข้าถึงในตรอกซอย ชุมชน รวมถึงหมู่บ้านต่างๆ ที่ประสบภาวะ “น้ำรอการระบาย” ได้อย่างทันท่วงที แต่เมื่อเครื่องสูบน้ำมีน้ำหนักค่อนข้างมากทำให้รถเล็กไม่สามารถขนย้ายได้ จำเป็นต้องใช้รถ 6 ล้อ หรือรถเครนในการยกไปติดตั้ง

ส่วนสเปคที่จัดซื้อ ทางบริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่งฯ ผู้ชนะการประมูล ระบุในการยื่นซองด้านเทคนิคว่า เป็นเครื่องสูบน้ำ Centrifugal pump หรือ “ปั๊มหอยโข่ง” แบบ Single Stage Radial Flow ที่มีระบบ Self-Priming โดยเป็นเครื่องสูบน้ำชนิดขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลติดตั้งบนเทรลเลอร์ลากจูงพร้อมอุปกรณ์ ที่สามารถบริหารจัดการกับน้ำที่สกปรก หรือสารแขวนลอยในแม่น้ำลำคลองได้เป็นอย่างดี ซึ่งประสิทธิภาพในการใช้งาน กอปรไปด้วย

1. มีระบบ Self – Priming ท่อดูดและท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 200 มิลลิเมตร จึงสามารถทำให้มีการหมุนเวียนและส่งกำลังได้เป็นอย่างดี , 2. มีประสิทธิภาพในการสูบน้ำได้มากถึง 8,000 ลิตร/นาที และมีระยะสูบน้ำไม่น้อยกว่า 13.5 เมตร และความเร็วรอบในการสูบได้ไม่น้อยกว่า 1,450 รอบ/นาที , 3. มีกำลังการสูบน้ำได้มากกว่า 10,000 ลิตร/นาที

ซึ่งตามทีโออาร์และร่างเอกสารการประกวดราคา ระบุเป็นการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์ดีเซลแบบเทรลเลอร์ลากจูง ที่สามารถสูบน้ำได้ไม่น้อยกว่า 8,000 ลิตร/นาที ที่ระยะสูบส่ง (HEAD)ไม่น้อยกว่า 13.5 เมตร ที่ความเร็วรอบไม่น้อยกว่า 1,450 รอบ/นาที พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 200 เครื่อง โดยกำหนดราคากลาง 188 ล้านบาท เพื่อให้สำนักงานเขตต่างๆ ใช้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องตามนโยบายผู้บริหาร และตามแผนปฏิบัติงานจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม ให้สามารถระบายน้ำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องจัดซื้อเครื่องสูบน้ำดังกล่าวให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ 1Morenews ได้ทำการสำรวจราคาเครื่องสูบน้ำที่มีสเปคใกล้เคียงกันซึ่งมีจำหน่ายในประเทศไทย พบว่าราคาขายปลีก(1 เครื่อง) ของเครื่องสูบน้ำชนิดลากจูง ยี่ห้อ U-powerขนาดท่อดูด 8 นิ้ว และท่อส่ง 10 นิ้ว มีกำลังเครื่องยนต์ 80 แรงม้า ที่ 1,500 รอบต่อนาที ปริมาตรน้ำสูงสุด 800 คิว/ชั่วโมง หรือ 13,333 ลิตร/นาที สนนราคาเบ็ดเสร็จพร้อมอุปกรณ์ครบเซ็ต 440,000 บาท

ส่วนเครื่องสูบน้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ Cummins 4BT5.9-G2Engine 4 สูบ เทรลเลอร์ 8 นิ้ว อัตราการไหลน้ำต่อชั่วโมง 13,333 ลิตร/นาที (800 คิว/ชั่วโมง) เคาะราคาขายที่ 533,000 บาท

แพงขึ้นมาหน่อย ก็เป็นเครื่องสูบน้ำ “ดีเซล 6 สูบ” Cummins 6BT5.9-G1Engine ชนิดปั๊มน้ำ Self-priming vortex pumpเทรลเลอร์ 8 นิ้ว อัตราการไหลน้ำต่อชั่วโมง 600 คิว หรือ 10,000 ลิตร/นาที โดยมีอัตราความเร็วรอบของเครื่องยนต์สูงสุด 1,450 รอบต่อนาที น้ำหนักอยู่ที่ 1.95 ตัน สนนราคาขายในประเทศไทยอยู่ประมาณ 610,000 บาท

ส่วนแบรนด์ OSNA เครื่องสูบน้ำยี่ห้อดังจากเยอรมัน ปริมาตรน้ำสูบได้สูงสุด 9,500 ลิตร/นาที แรงม้าสูงสุด 58 แรงม้า ที่ 1,800รอบต่อนาที ติดเทรลเลอร์ลากจูง 2 ล้อ น้ำหนัก 400 กิโลกรัม ราคาทั้งชุดพร้อมอุปกรณ์ 550,000 บาท

ขณะที่กรมชลประทานเคาะราคากลางในการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำชนิดหอยโข่ง ขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซล อัตราการสูบน้ำ 8,300 ลิตร/นาที ระยะยกน้ำ 13.5 เมตร ซึ่งเป็นสเปคที่ดีกว่าของกรุงเทพมหานคร แต่กำหนดราคาไว้ที่ 600,000 บาท/เครื่อง

เมื่อเทียบจากราคาข้างต้นเท่ากับว่า กทม.จ่ายเพิ่มเป็นค่าประกอบ “ฝาครอบตัวถัง” ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 แสนบาท/เครื่อง เลยทีเดียว

ทั้งยังน่าสนใจว่า ราคาดังกล่าวเป็นการจัดซื้อในราคาต่อ 1 เครื่อง ซึ่งหากภาครัฐจัดซื้อโดยผ่านการประกวดราคา ก็น่าจะใช้งบประมาณที่น้อยกว่านี้เป็นอันมาก สำหรับการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำล็อตใหญ่ถึง 200 เครื่อง จึงเป็นประเด็นที่น่ากังขา ทั้งที่ซื้อเยอะกว่า สเปคต่ำกว่า แถมจัดซื้อโดยหน่วยงานรัฐผ่าน “อี-ออคชั่น” เหตุใดถึงแพงเกินจริง อีกทั้งด้วยน้ำหนักที่มากถึง 4 ตัน ของเครื่องสูบน้ำรวมลากจูง มันเหมาะสมแล้วหรือไม่กับสภาพการใช้งานจริง และเครื่องสูบน้ำดังกล่าวยังมีระยะทางดูด ในระดับความลึกไม่เกิน 3-5 เมตร ซึ่งเหมาะสำหรับตั้งอยู่กับที่ หากใช้งานนอกสถานที่ ที่มีระยะทางดูดมากกว่า 5 เมตรขึ้นไป จะไม่สามารถใช้ระบบ Self Priming ได้ จึงไม่เป็นที่นิยมมากเท่าไหร่ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้

ซึ่งก็เป็นไปตามที่ “วิลาศ” ย้ำหัวตะปูมาโดยตลอด ขณะที่ในส่วนของฝ่ายปฏิบัติการ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่คุ้มค่า!!ทั้งนี้จากข้อมูลระบุว่า เขตที่ได้รับโควตาจัดซื้อเครื่องสูบน้ำมากที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา จำนวน 10 เครื่อง ส่วนเขตบางกอกใหญ่น้อยสุด 1 เครื่อง

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดซื้อเครื่องจักรกลของ กทม. ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ส่วนใหญ่จัดซื้อจากบริษัท ริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่งฯ ซึ่ง “วิลาศ” ให้ข้อมูลว่า เจ้าของบริษัทฯ ได้ใช้วิธีสร้างความสัมพันธ์ ด้วยการเข้าร่วมเรียนในหลักสูตรพิเศษขององค์กรต่างๆ หลายหลักสูตร หลายสถาบัน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เฉพาะปีงบประมาณ 2558 กทม.จัดซื้อเครื่องจักรกลผ่านบริษัทเดียวกันนี้ ปีเดียวมีมูลค่ากว่า 3.8 พันล้านบาท เลยทีเดียว

สำหรับการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำชนิดลากจูงดังกล่าว เป็นการจัดซื้อผ่านกองทะเบียนทรัพย์สินและพัสดุ สำนักการคลัง กทม. โดยมีการถ่ายเทงบประมาณมารวมกองเอาไว้

นอกจากนี้ ยังได้รับการร้องเรียนว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการสั่งการของรองผู้ว่าฯ กทม.คนหนึ่ง ซึ่งจากถ้อยแถลงของ “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” อ้างว่าได้มีการเรียกเจ้าหน้าที่ระดับ “หัวหน้าฝ่าย” ในสำนักงบประมาณ กทม. ให้เข้ามาพบ โดยสั่งให้ตัดงบประมาณของสำนักต่างๆ ตามข้อบัญญัติงบประมาณปี 2560 เป็นเงิน 3,400 ล้านบาท มาไว้ในงบกลางแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการพิจารณางบประมาณของสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งพฤติกรรมนี้ส่อว่าเป็นการกระทำเพื่อเตรียมใช้งบประมาณดังกล่าว เพื่อการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องจักรกลที่ไม่จำเป็นและมีราคาสูงกว่าปกติ ใช่หรือไม่?!!

โดยขณะนี้ “มือปราบโกง” จากค่ายประชาธิปัตย์ ได้รวบรวมรายละเอียด หลักฐาน และเอกสาร ในเงื่อนประเด็นดังกล่าว ยื่นเรื่องไปยัง สตง. และ ป.ป.ช. เพื่อให้สอบสวนขยายผล “คุ้ยปมทุจริต” ต่อไป
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
http://www.1morenews.com/5961.html
ชวนเพื่อนนกหวีดที่เคยเป่าเกลียดโกง...ตรวจสอบด่วนครัซ
เข้ามาดู
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่