อุดมคติในพระพุทธศาสนามหายาน(วันนี้ลองอ่านนิกายมหายานกันดูว่าต่างกับนิกายเถรวาทของพวกเรายังไง)!!!

พระพุทธศาสนามหายานแม้จะมีหลายนิกายเช่นนิกายศูนยวาทหรือมาธยมิก ผู้ก่อตั้งคือคุรุนาคารชุน นิกายวิชญานวาทหรือโยคาจาร ผู้ก่อตั้งคือท่านไมตรีนาถ นิกายจิตอมตวาท และนิกายพุทธตันตระหรือมนตรยานซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นวัชระยาน  แต่ละนิกายอาจมีความเชื่อแตกต่างกันบ้าง แต่ทุกนิกายจะมีอุดมคติร่วมกันเรียกว่าอุดมคติของมหายานซึ่งมีอยู่ 3 ประการได้แก่
            1. หลักมหาปัญญา ในหลักการข้อนี้ ฝ่ายมหายานได้อธิบายหลักอนัตตาซึ่งเป็นคุณลักษณะ พิเศษในพุทธศาสนาออกไปอย่างกว้างขวางลึกซึ้งมากพิสดารยิ่งกว่าในฝ่ายเถรวาทมหายาน เรียกว่า ศูนย์ตา แทนคำว่า อนัตตา ในส่วนปฏิบัติของบุคคลทางฝ่ายมหายาน ถือว่าบุคคลจะ พ้นทุกข์ได้ ก็ด้วยการเข้าถึงศูนยตา ซึ่งมี 2 ชั้น คือ บุคคลศูนยตาและธรรมศูนยตา บุคคล ศูนยตาได้แก่การละอัสมิมานะซึ่งทำให้บุคคลบรรลุอรหันต์ส่วนธรรมศูนยตา ได้แก่การละ ความยึดถือแม้ในพระนิพพานซึ่งเป็นภูมิของพระโพธิสัตว์ชั้นสูง หลักมหาปัญญานี้ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือนิกายศุนยวาทหรือมายมิกเช่นข้อความตอนหนึ่งในนิกายมาธยามิกะว่า “ไม่มีความเกิดขึ้น ไม่มีความดับ ไม่มีความขาดสูญ ไม่มีความเที่ยงแท้ ไม่มีอรรถแต่อย่างเดียว ไม่มีอรรถนานาประการ ไม่มีการมา ไม่มีการไป ท่านใดกล่าวไว้เป็นปฏิจจสมุปบาทธรรม ท่านผู้นั้นคือพระพุทธเจ้า”(เสถียร โพธินันทะ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ ภาคหนึ่ง,กรุงเทพฯ: ,มหามกุฏราชวิทยาลัย 2514, หน้า 124.)

      2.หลักมหากรุณา ได้แก่การ ตั้งโพธิจิตมุ่งพุทธภูมิ ไม่มุ่งเพียงอรหันต์ภูมิ ในทัศนะมหายานเห็นว่าอรหันต์ภูมิช่วยคนได้น้อย เพราะฉะนั้นจึงควรมุ่งพุทธภูมิซึ่งในขณะที่ยังมิได้บรรลุต้องสร้างบารมีเพื่อช่วยสัตว์ ดังนั้น ทางฝ่ายมหายานจึงย่อทศบารมีลงเหลือ 6 คือ
                        1. ทานปารมิตา พระโพธิสัตว์จะต้องสละทรัพย์ อวัยวะและชีวิต เพื่อสัตว์โลกได้โดยไม่อาลัย  ทานบารมีนั้นท่านแปลงเป็น 3 ชนิด คือ  วัตถุทาน อภัยทาน และธรรมทาน  ทานทั้ง 3 ชนิดนี้ ใน สมันตภัทรปณิธานจริยาวรรค (โผวยิ้มงเห่งง่วงปิ้ง) กล่าวว่าธรรมทานเป็นเลิศ  เหตุไฉนจึงว่าธรรมทานนั้นเป็นเลิศกว่าทานทุกชนิด  ทั้งนี้เพราะว่าการให้ซึ่งธรรมนี้ เป็นการให้ปัญญาแก่ตนเอง และทำให้ผู้อื่นได้ปัญญาด้วย
                        2. ศีลปารมิตา พระโพธิสัตว์ต้องรักษาศีลอันประกอบ ด้วยอินทรีย์สังวรศีล กุศลสังคหศีล ข้อ นี้ได้แก่การทำความดีสงเคราะห์สัตว์ทุกกรณี สัตวสังคหศีลคือการช่วยให้พ้นทุกข์ ศีลบารมีนั้น มี ศีล 5  ศีล 8  ศีล 10 และศีล 227  แต่ว่าทางฝ่ายมหายานพิเศษออกไปอีก คือสิกขาบทมี 250 และมีศีลพระโพธิสัตว์อีก 58 ข้อ  แบ่งเป็นครุ 10 และลหุ 48  ผู้ใดล่วงศีลพระโพธิสัตว์ครุ 10 ข้อถือว่าปาราชิก  ส่วนลหุ 48 ข้อนั้น  มีอยู่ข้อหนึ่งถือว่า พระโพธิสัตว์ผู้ถือศีลนั้น เมื่อออกจากสถานที่อยู่ หรือว่าเดินไปตามถนนหนทาง ถ้าพบปะสิ่งมีชีวิตจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม พระโพธิสัตว์ต้องแผ่เมตตาตั้งปรารถนาขอให้สัตว์นั้น ๆ ถึงซึ่งความสุข และบรรลุถึงพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถ้าพระโพธิสัตว์องค์ใดไม่ตั้งความปรารถนาอย่างนี้ถือว่าผิดศีล
                        3. กษานติปารมิตาหรือขันติบารมี  พระโพธิสัตว์ต้องสามารถอดทนต่อสิ่งกดดันเพื่อโปรดสัตว์ได้  ขันติบารมีคือความอดทน  พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญให้เกิดมี เป็นธรรมดาที่ผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนามักจะต้องผจญกับอุปสรรค ที่อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม หรือเกิดจากกิเลสในตัวเราเองได้  เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติขาดขันติธรรมแล้ว ก็ไม่อาจก้าวหน้าบรรลุถึงธรรมเบื้องสูงได้  ขันติมีอธิบายหลายนัย เช่น ความอดทนต่อความหนาวร้อน ความอดทนต่อโรคภัยไข้เจ็บ และความอดทนต่อกิเลส  พระโพธิสัตว์จะต้องมีความอดทนบริบูรณ์ทั้ง 3 ชนิด จึงจะสามารถผจญต่อสู้กับอุปสรรคเครื่องกีดขวางต่อการบรรลุธรรมได้
                        4. วิริยปารมิตา พระโพธิสัตว์ไม่ย่อท้อต่อพุทธภูมิ ไม่รู้สึกเหนื่อย หน่ายระอาในการช่วยสัตว์ วิริยบารมีนั้น ถ้าพระโพธิสัตว์ใดขาดวิริยะ กล่าวคือความเพียร พระโพธิสัตว์นั้นก็ไม่สามารถจะก้าวไปสู่คุณธรรมเบื้องสูงได้ อันคุณธรรมความดีนั้น เราไม่ควรจะหยุดยั้งพอใจในชั้นใดชั้นหนึ่ง เราควรประกอบกิจให้ก้าวล่วงขึ้นไปสู่ภูมิธรรมขั้นสูงยิ่ง ๆ ขึ้น จนในที่สุดให้เข้าถึงความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย อันเป็นขั้นสูงสุด

      อนึ่งความอดทนและความเพียรจะต้องสัมพันธ์กันดังที่โพธิสัตว์จรรยาวตารสูตรเขียนไว้ว่า “เมื่อมีความอดทนแล้ว ข้าฯพึงพัฒนาความกระตือรือร้น เพราะความรู้แจ้งย่อมมีอยู่ในผู้ที่มีความเพียรพยายามเท่านั้น เปรียบได้กับหากไม่มีลมก็ไม่มีการเลื่อนไหว บุญกุศลย่อมไม่เกิดถ้าขาดความเพียร (ศานติเทวะ(ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ แปล),โพธิสัตว์จรรยาวตาร,พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: ศูนย์ไทย-ธิเบต 2543,หน้า 94.)
                        5. ธยานปารมิตาหรือฌานบารมี พระโพธิสัตว์จะต้องสำเร็จในฌานสมาบัติทุกชั้น มีจิตไม่คลอนแคลน เพราะเหตุอารมณ์ ฌานบารมีเป็นข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง ที่พระโพธิสัตว์จะต้องมี สำหรับสงบระงับความหวั่นไหวของจิตต่อโลกธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาถ้าขาดฌานหรือสมาธิแล้ว ก็ง่ายต่อการถูกโลกธรรมชักจูงให้ผันแปรไป เช่น พระธรรมกถึกที่สามารถในเทศนาจนเป็นที่ไพเราะจับใจของผู้ฟัง ท่านย่อมได้รับความยกย่องนับถือและสรรเสริญ ตลอดจนลาภสักการะจากประชุมชน ถ้าพระธรรมกถึกรูปนั้นไร้ความเข้มแข็งแห่งจิตแล้ว ก็เกิดความยินดีติดในลาภสักการะนั้น ลาภสักการะก็กลายเป็นอาวุธประทุษร้ายท่านทันที ตรงกันข้ามกับผู้ที่ผ่านการอบรมจิตมาพอ  ย่อมไม่หวั่นไหวไปกับลาภสักการะเลย สามารถเอาชนะความใคร่ ความอยากที่จะมีชื่อเสียงเกียรติยศได้ และผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ชนะโลกธรรมด้วย
                        6. ปรัชญาปารมิตาหรือปัญญาบารมี พระโพธิสัตว์จะต้องทำให้แจ้งในปุคคลศูนยตาและ ธรรมศูนยตา  ปัญญาบารมีก็คือการสร้างความเห็นที่ถูกให้เกิดมีขึ้น ความเห็นที่ถูกคือสัมมาทิฏฐิ อันตรงกันข้ามกับมิจฉาทิฏฐิ อันนี้สำคัญมาก ความตรัสรู้รอดพ้นจากปวงทุกข์ ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิจึงเกิดมีขึ้นได้ และสัมมาทิฏฐินี้เป็นแม่บทแห่งคุณธรรมทั้งหลายด้วย  พระโพธิสัตว์องค์ใดบำเพ็ญบารมีทั้ง 6 อย่างนี้บริบูรณ์เต็มที่แล้วเมื่อใด  เมื่อนั้นก็ย่อมบรรลุแก่พระปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณได้  

              บารมีในฝ่ายเถรวาทถือว่ามี 10 ส่วนมหายานย่อลงเป็น ในยุคต่อมาในคัมภีร์อวตังสกสูตรได้เพิ่มบารมีเข้าไปอีก 4 อย่างคือ อุปาย ปณาน พละ และญาณ  (สุลักษณ์ ศิวรักษ์,ความเข้าใจในเรื่องมหายาน,กรุงเทพฯ: ส่องศยาม 2545, หน้า 65.)                    
              นอกจากบารมี 6 ประการนี้แล้ว พระโพธิสัตว์ยังจะต้องมีอัปปมัญญาภาวนาอีก 4 คือ  เมตตา กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขา  เรียกอีกนัยหนึ่งว่า "อัปปมาณหฤทัย"  ซึ่งในพระพุทธธรรมฝ่ายเถรวาทก็มีเหมือนกัน   มีคำอธิบายว่า "เมตตา" พระโพธิสัตว์ต้องให้ความสุขแก่สรรพสัตว์  "กรุณา" พระโพธิสัตว์ต้องปลดเปลื้องความทุกข์ของสรรพสัตว์  "มุทิตา" พระโพธิสัตว์ต้องยินดีอนุโมทนา  เมื่อสัตว์พ้นทุกข์และได้สุข  ส่วน "อุเบกขา" ตามรูปศัพท์ภาษาจีนแปลว่า  "ละ" คือ พระโพธิสัตว์จะต้องไม่ยึดถือในความดี ว่าตนได้บำเพ็ญไปให้ผู้ใดผู้หนึ่ง และไม่ยึดถือในการปรารถนาตอบแทนด้วย  



            พระโพธิสัตว์จะต้องรำลึกเสมอว่า คุณความดีที่ท่านได้บำเพ็ญนั้น ต้องมีความรู้สึกว่า ท่านมิได้บำเพ็ญ ต้องไม่รู้สึกยึดถือว่าท่านบำเพ็ญความดี ตราบใดที่มีความรู้สึกว่าตัวเราเข้าไปแทรกในการทำอย่างนี้อยู่  ตราบนั้นก็ยังไม่นับว่าทำถูกตามจุดประสงค์ ยกตัวอย่างด้วยการให้ทาน  พระโพธิสัตว์จะต้องรู้สึกว่าไม่มีผู้ให้และไม่มีวัตถุที่จะให้  ตลอดจนไม่มีผู้ที่จะรับทานด้วย  พระโพธิสัตว์องค์ใดถ้ายังมีความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้ ก็ยังจัดเข้าเป็นการทำทานอย่างโลกิยะไป ต้องทำลายความยึดถือว่า เรากำลังทำความดี ทำลายความยึดถือว่า ผู้นั้นผู้นี้กำลังรับทานจากเราเสียก่อน จึงจะเป็นลักษณะของการให้ทานอย่างพระโพธิสัตว์อย่างแท้จริง
            ในมหายานนิยมใช้คำว่าปรัชญาแทนคำว่าปัญญา ในวัชรปรัชญาปารมิตตาสูตรได้ให้ความหมายไว้ว่า “ปรัชญา” หมายถึงปัญญาซึ่งเป็นเครื่องรอบรู้ ความรู้โดยรอบซึ่งเป็นความรู้ซึ่งประกอบด้วยเหตุและผล ความรู้ซึ่งมีที่มาที่ไป มิใช่เป็นความรู้ที่มีซึ่งที่มาที่ไปมิใช่เป็นสิ่งที่หาที่มาที่ไปมิได้ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนั้นจึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นจึงเกิด เพราะไม่มีสิ่งนี้ สิ่งนั้นจึงหามีไม่เป็นต้น (วิชชา พนาจารย์ แปล,วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร,กรุงเทพฯ: มาดีพลับลิชชิ่ง 2543,หน้า 2.)

    หลักแห่งความรู้ชั้นสูงเพื่อให้เกิดปัญญานั้นแยกออกได้เป็น 2 ทาง คือสมมุติสัจจ์หรือปัญญาทางโลกและปรมัตถสัจจ์หรือปัญญาทางธรรม สมมุติสัจจ์คือความจริง ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ของอายตนะเป็นความจริงจากการเปรียบเทียบ ปัญญาทางโลก นั้นนำพา ความสุข ทางกาย ใจ ในระยะสั้นชั่วครั้งชั่วคราวทำให้มนุษย์ หลงไหลในโลกียะสุข
            ส่วนปรมัตถสัจจ์คือความจริงแท้ดั้งเดิม ซึ่งลึกลงไป เป็นธรรมชาติแท้ นั่นคือความว่างเปล่า หรือ ศูนยตา ปัญญาในทางธรรมนั้น เป็นความสุขทางจิต เพื่อได้ความสุขนิรันดร ปัญญาของ มนุษย์ เป็นปัญญาที่ยึดติดอยู่ในความโลภ โกรธ หลง ปัญญาของพระพุทธเจ้าเป็นปัญญาแห่งอิสระ เห็นแจ้งสุญญตาตาเพื่อความสุขอันนิรันดร  ดังที่ปรากฏในโพธิสัตว์จรรยาวตารตอนหนึ่งว่า “เมื่อบุคคลเข้าใจสุญญตา ความเมตตาย่อมเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่ประสบความทุกข์อันเป็นผลจากความสับสนในเรื่องสุญญตา ดังนั้นในขณะที่ยังวนเวียนอยู่ในวัฏจักร สร้างสมประโยชน์อันมหาศาลสำหรับผู้อื่นโดยการช่วยทำให้เขาเป็นอิสระจากความปรารถนาสุดขั้วสองสายคือความปรารถนาในความสุขจากวัฏฏจักรและความกลัวทุกข์อันเป็นผลของการทำสมาธิในสุญญตา (ศานติเทวะ,ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ แปล,โพธิสัตว์จรรยาวตาร,พิมพ์ครั้งที่ 2,กรุงเทพฯ: ศูนย์ไทย-ธิเบต 2543, หน้า 160.)
            ตามความหมายแห่งพระสูตรนี้ มหายานมีอุดมคติที่เป็นไปเพื่อให้เกิดปัญญาแห่งพระพุทธเจ้า เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้เป็นเช่นพระพุทธเจ้า "ปารามิตา" แปลว่า ข้ามไป ฝั่งโน้น ในทางพุทธศาสนาได้แบ่งโลกออกเป็น 2 ฝั่ง โลกฝั่งนี้คือโลกียะโลก โลกแห่งความ หลงติด ยึดมั่น ขาดอิสระ โลกอีกฝั่งคือโลกุตระโลก คือโลกที่ประทับแห่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย โลกแห่งความเห็นแจ้ง อิสระ ศูนยตา(ว่างเปล่า )"หฤทัย" ความหมาย ทางโลกียะ คือ ใจอัน เป็นแหล่งเก็บปัญญา เพื่อแย่งชิงความสุขทางโลก โดยยึดติด อยู่กับ ความโลภ โกรธ หลง ส่วนหฤทัยตามความหมายแห่งโลกุตระนั้น คือ จิตแหล่งเก็บ ปัญญา เพื่อไปสู่พระนิพพาน อันจะทำให้เราได้เป็นเช่นพระพุทธเจ้าในที่สุด วัชรปรัชญาปารามิตาหฤทัยสูตร คือ คำสอนหัวใจแห่งปัญญานำพาข้ามฝากฝั่งแห่งพระนิพพาน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่