ความละเมียดละไมในการทำละครญี่ปุ่น


บทความโดย : คุณ ChaMaNow www.marumura.com

วันนี้จะพามาดูกันค่ะว่า กว่าจะออกมาเป็นละครสักหนึ่งเรื่อง มีอะไรบ้างที่คนทำละครญี่ปุ่นได้ใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
   
เชื่อไหมคะว่า “ละครญี่ปุ่น” เพียงหนึ่งตอน มีค่าใช้จ่ายในการสร้างกว่า 6-10 ล้านบาท รวมทั้งค่าจ้างนักแสดงและค่าถ่ายทำ ค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปได้ให้กับการเฟ้นหาสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อละครหนึ่งเรื่อง ทุกรายละเอียด ทุกองค์ประกอบในละครได้ผ่านการใส่ความละเมียดละไมในทุกๆ ขั้นตอน เพื่อจะได้ละครที่สร้างออกมาตรงกับความรู้สึกของคนดูให้มากที่สุด รวมทั้งทำหน้าที่เป็นสื่อบันเทิงที่ไม่ได้แค่ให้ความสนุกเพลิดเพลิน แต่ยังให้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ วันนี้จะพามาดูกันค่ะว่า กว่าจะออกมาเป็นละครสักหนึ่งเรื่อง มีอะไรบ้างที่คนทำละครญี่ปุ่นได้ใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

1. บทดี พล็อตเยี่ยม ข้อมูลแน่น

ละครที่ดีก็ต้องเริ่มมาจากพล็อตและเนื้อเรื่องที่ดี แม้ว่าละครญี่ปุ่นจะมีแนวที่ตรงกับกระแสหลักของคนต่างประเทศน้อยมาก แต่ละครแต่ละเรื่องก็ถือว่าได้ว่ามีความละเมียดละไม ใส่ใจถึงข้อมูล และสร้างแนวละครที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่ว่า ต้องเป็นแค่ละครรัก หรือแนวเรตติ้งดีงาม ความละเมียดละไมของบทละครก็เริ่มจากพล็อต ส่วนใหญ่แล้วมักเน้นสร้างละครที่มีความแปลกใหม่ พล็อตชวนให้ติดตาม รวมถึงมีความกระชับ จบให้ได้ภายใน 10 ตอน เลยทำให้รู้สึกคนดูรู้สึกว่า เรื่องไม่ยืดเกินไป และที่ใส่ใจสุดๆ เห็นทีจะเป็นเรื่องข้อมูลที่นำมาใช้เขียนบทนี่แหละค่ะ เราจะเห็นว่า ละครญี่ปุ่นมีละครแนวอาชีพเยอะมากๆ และละครพวกนี้ก็ให้ความรู้ รายละเอียดของงานได้อย่างถูกต้อง ไม่มีประเด็นโต้แย้งในสังคมเลยว่า เฮ้ย! มันไม่จริง มันไม่เนียน ละครบางเรื่องก็ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้นโดยตรง อย่างเรื่อง Attention Please ที่ร่วมมือกับสายการบิน JAL หรือจะเป็นเรื่อง Hanzawa Naoki เรื่องราวชีวิตของนายธนาคารคนหนึ่ง ก็ได้ผู้แต่งที่มีประสบการณ์ตรงทำงานในธนาคารมากว่า 7 ปี

2. คัดเลือกนักแสดงจนกว่าจะเจอคนที่ใช่


หลายคนเวลาดูละครญี่ปุ่นจะรู้สึกว่า ไม่ค่อยจะเจอปัญหานักแสดงเล่นได้ไม่อินกับบท ตีบทไม่แตก หรือเล่นแข็งไปขอนไม้สักเท่าไหร่ เหตุผลก็คือ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการคัดเลือกนักแสดงญี่ปุ่นมากค่ะ เห็นได้จากละครตอนเช้าของญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่า Asadora ที่ฉายประจำทางช่อง NHK ขอบอกว่า นักแสดงนำหญิงแต่ละคนที่ไม่เล่นนี่ไม่ธรรมดานะคะ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ หรือไม่ก็เคยมีผลงานมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ค่อยโด่งดังเท่าไหร่ แต่ถึงแม้ยังไม่ค่อยลงสนามการแสดงมาอย่างโชกโชน แต่พวกเธอต่างผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้น โดยต้องแข่งกับนักแสดงหญิงคนอื่นๆ มาพันกว่าคน! รวมถึงสาว “เรนะ โนเนน” นักแสดงนำหญิงจากเรื่อง Amachan ก็เป็นหนึ่งนักแสดงที่สตรองสุดๆ ฝ่าฟันการออดิชันที่เข้มข้นที่มีผู้สมัครถึงเกือบ 2 พันคน จนได้รับตำแหน่งนักแสดงนำไปครอง แถมจากการแสดงในเรื่องนี้ก็ไม่ทำให้แฟนละครผิดหวัง ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในญี่ปุ่นค่ะ

3. ความละมุนละไมผ่านฉากละคร

การหาโลเคชั่นในการถ่ายทำละคร ญี่ปุ่นเองก็มีความละเมียดละไปในการค้นหาฉาก หรือมุมถ่ายทำเอามากๆ รวมถึงสิ่งพิเศษอย่างหนึ่งในละครญี่ปุ่นก็คือ ฉากแต่ละฉากจะมีโทนสีด้วยค่ะ คือว่าถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าสีในฉากมันจะไม่เหมือนกับแสง สีแบบธรรมชาติเสียทีเดียว แต่จะมีการย้อมสีให้ออกแนวสีเปียหน่อยๆ หรือมีแสงสีฟ้าเยอะหน่อย ให้เข้ากับอารมณ์ความรู้สึกในเรื่องนั้นๆ


อย่างเรื่อง Hana’s Miso Soup เวอร์ชั่นละคร ฉากก็มีความละเมียดละไมเช่นกันค่ะ อย่างฉากนี้ด้วยแสงของฉาก ทำให้สัมผัสได้ถึงความอบอวลของความอบอุ่น และความรักในครอบครัวนี้

4. เน้นแต่งตัวและแต่งหน้าที่สมจริง


หากดูละครญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ เราจะไม่ค่อยเห็นเมคอัพแบบจัดเต็ม จัดหนักเท่าไหร่ค่ะ ถ้าดูฉากเข้านอน ตัวละครก็จะดูหน้าใสกิ๊ง เหมือนคนล้างหน้ามาแล้วจริงๆ หรือแม้ว่าตอนที่ป่วย หน้าก็ดูป่วยหนักเอาการขนตา อายไลเนอร์นี่ไม่มีให้เห็นค่ะ ส่วนการแต่งตัว แม้ญี่ปุ่นจะเป็นเมืองแห่งแฟชั่น แต่ในละครเขากลับไม่ได้แฟชั่นจ้าสักเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่ละครญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากๆ เลยก็คือ แต่งตัวให้เหมาะสมกับคาแร็กเตอร์ตัวละคร สถานการณ์ในเรื่อง เป็นเสื้อผ้าที่เห็นแล้วเป็นชุดที่คนทั่วไปสามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ ไม่ใช่ว่าแค่อยู่ในบ้าน ก็แต่งตัวสวยราวกับไปงานแต่ง รวมถึงสิ่งที่โดดเด่นเลยก็คือ ตัวละครมักจะแต่งตัวให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในละครด้วยค่ะ ถ้าสมมติว่าเป็นละครฤดูหนาว ตัวละครในเรื่องก็จะแต่งตัวสไตล์ Winter ใส่เสื้อกันหนาว มีผ้าพันคอ ถุงมือ ให้สมกับเป็นอากาศหนาวจริง ถ้าเป็นฤดูร้อน ก็ใส่เสื้อผ้าสบายๆ ให้สมกับเป็นฤดูร้อนหน่อย หรือถ้าเป็นละครแนวอาชีพ ก็จะใส่ยูนิฟอร์ม หรือแต่งตัวให้เรียบร้อยให้สมกับเป็นซาลารี่แมน และสาว OL ที่แท้จริง!

5. เพลงประกอบละคร

บทพร้อม นักแสดงพร้อม ฉากพร้อม แต่งหน้า แต่งตัวพร้อมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยในละครญี่ปุ่นก็คือ เพลงประกอบละครนั่นเองค่ะ ซึ่งในละครญี่ปุ่นจะมีเพลงประกอบ 2 แบบคือ เพลงประกอบช่วงเปิดและปิดท้ายละคร กับเพลงซาวด์แทร็กที่เอาไว้ประกอบฉาก บรรยากาศ และการแสดงของนักแสดง ที่มีส่วนทำให้ละครมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น ที่ไม่ใช่การเอาเพลงประกอบละครมาถอดเสียงคนร้องออกแน่นอน แต่เป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ มีแต่เสียงดนตรีอย่างเดียว เลยทำให้ละครญี่ปุ่นบางเรื่องมีเพลงประกอบละครเป็นสิบๆ เพลง อย่างเรื่อง Liar Game ที่ได้ Yasutaka Nakata หรือโปรดิวเซอร์มากฝีมือของ Krary Pamyu Pamyu กับ PERFUME มาแต่งเพลงประกอบละครให้ทุกภาค หรือบางเรื่องก็มีถึง 200 เพลงก็มีมาแล้ว อย่างเรื่อง Amachan ค่ะ เป็นอะไรที่อลังการงานสร้างมาก! ถึงกับนั่งแต่งเพลงประกอบละครมากถึงขนาดนี้เลยทีเดียว

6. ละครญี่ปุ่นใส่ใจสังคม


ไม่ว่าใครก็คงอยากทำละครที่มีคนดูเยอะๆ และได้เรตติ้งดีๆ ทั้งนั้น แต่ถ้าคนสร้างละครทุกคนคิดแบบนี้เหมือนกันหมด ก็อาจทำให้ละครบางแนวหายสาบสูญไปในสังคม ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่เน้นสร้างละครที่หลากหลายมาก ไม่ได้เทไปที่กระแสหลักอย่างเดียว และจะเห็นว่า ในแต่ละช่วงเวลาของละครญี่ปุ่นมีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกันค่ะ เช่น ละครช่วงเช้า เน้นเนื้อเรื่องสร้างแรงบันดาลใจ ถ่ายทอดชีวิตนักสู้ของผู้หญิง ดูแล้วได้แรงฮึดออกไปใช้ชีวิตต่อค่ะ ส่วนละครกลางวัน ละครช่วงนี้ก็จะแนว Soap Opera เลยค่ะ แนวรักๆ ใคร่ๆ สร้างมาเพื่อแม่บ้านโดยเฉพาะ เพราะเป็นเวลาที่คนดูทีวีส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน และต่างก็ทำงานบ้านเสร็จแล้ว พอมาช่วงค่ำๆ ประมาณ 2 ทุ่ม – 4 ทุ่ม ก็จะเป็นละครแนว Trendy Drama ที่เน้นเล่าเรื่องราวใกล้เคียงกับชีวิตจริง ให้ข้อคิด แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ละครช่วงนี้ก็จะมีเนื้อหาที่เข้มข้นมากค่ะ ทั้งสนุกและได้สาระแบบจัดเต็ม เหมาะกับการเปิดดูพร้อมกันทั้งครอบครัว ส่วนละครที่ดึกมาหน่อย อันนี้ก็จะออกแนวละครสำหรับคนโตนิดๆ บางเรื่องก็มีความหวาบหวิว หรือมีเนื้อหาที่เฉพาะกลุ่มนิดนึงค่ะ (แต่ไม่ใช่ละครติดเรทนะคะ)

นอกจากนี้ ก็ยังมีละครที่สร้างขึ้นทุกปีเป็นธรรมเนียม อย่างละครแนวไทกะ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ค่ะ จากตรงนี้ก็ทำให้เห็นว่า ละครญี่ปุ่นเลือกที่จะสร้างละครที่หลากหลายแนว แต่ละช่วงเวลามีความหมาย มีทั้งละครแนวแมส และแนวที่ให้ความรู้ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เน้นให้ประโยชน์ และแง่คิดอะไรบางอย่างกับสังคมไปด้วย ไม่ใช่ว่าทุกช่วงเวลาจะเน้นทำละครแบบเดียวกันหมด

จะเห็นว่ากว่าจะออกมาเป็นละครญี่ปุ่นนี่ไม่ง่ายเลย ด้วยเหตุนี้ เลยทำให้คนดูไม่ค่อยรู้สึกผิดหวัง ดูแล้วก็ยิ่งอิน ยิ่งประทับใจ อะไรที่ตั้งใจทำจริง เพื่อส่วนรวม สักวันหนึ่งก็ต้องมีใครสักคนมองเห็นอย่างแน่นอน เหมือนกับความสำเร็จของละครญี่ปุ่นหลายๆ เรื่อง ที่มีสาเหตุสำคัญมาจากความละเมียดละไมในการทำละคร จากความใส่ใจด้วยใจจริงของผู้สร้างละคร เลยทำให้ไม่ว่าจะดูกี่ครั้ง ก็ยังสัมผัสถึงความความตั้งใจจริง และรักของคนทำละครที่ส่งตรงมาถึงใจของคนดู

ขอบคุณบทความโดย : คุณ ChaMaNow www.marumura.com
http://www.marumura.com/japan-series-3/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่