ความจริง 20 ข้อ เกี่ยวกับละครญี่ปุ่น


เรื่องโดย : ChaMaNow www.marumura.com

วันนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับละครญี่ปุ่นแบบฉบับรวดเร็วฉับไว ด้วยความจริง 20 ข้อ เกี่ยวกับละครญี่ปุ่นค่ะ ละครญี่ปุ่นในภาพกว้างๆ จะเป็นอย่างไรนั้น ตามมาอ่านกันเลยดีกว่า

1. จริงๆ แล้วละครญี่ปุ่นไม่ได้เรียกว่า “ซีรีส์” แต่เรียกว่า “ละคร” เนี่ยแหละ คนญี่ปุ่นจะเรียกว่า “dorama” มาจากคำว่า “ดราม่า” ที่แปลว่า “ละคร” นั่นเอง

2. ญี่ปุ่นมีละครแนวสืบสวนสอบสวนกับละครแนวอาชีพเยอะมาก ถ้าเทียบให้เห็นภาพ ก็อารมณ์เดียวกับละครไทยที่เต็มไปด้วยละครรักนั่นแหละค่ะ

3. ละครญี่ปุ่นแบ่งเป็นฤดู หรือ Season ในปีหนึ่งก็จะมีทั้งหมด 4 Season และละครในแต่ละช่วง ก็จะมีการแต่งตัวตามฤดูกาลนั้นด้วย เช่น ละครที่ฉายในฤดูหนาว บรรยากาศทั้งหมดก็จะเป็นบรรยากาศของฤดูหนาว นักแสดงทุกคนก็จะแต่งตัวด้วยเสื้อกันหนาว เสื้อโค้ท ให้สมกับอากาศหนาวจริงๆ และแต่ละ Season มีละครทั้งหมดราวๆ เกือบ 30 เรื่อง ถ้าให้รวมทั้งปีก็เท่ากับว่ามีละครให้ดูเกือบเป็นร้อยเรื่องเลยทีเดียว!

  
4. ก่อนที่ละครแต่ละเรื่องจะฉาย จะมีงานแถลงข่าวเปิดตัวละครอย่างจริงจังอยู่เสมอ

5. หากติดตามละครญี่ปุ่น จะต้องเจอกับ 2 คำนี้แน่นวลลล Renzoku กับ Tenpatsu นี่เป็นคำที่แบ่งประเภทการดำเนินเรื่องของละครญี่ปุ่นค่ะ Renzoku คือ ละครต่อเนื่อง หรือละครปกติทั่วไปที่ฉายเป็นตอนๆ ที่ต้องดูไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนที่ 1 จนถึงตอนสุดท้าย ถึงจะเข้าใจทั้งเรื่อง ส่วน Tenpatsu คือ ละครภาคพิเศษ หรือภาค Special ละครพวกนี้จะมีแค่ตอนหรือสองตอนก็จบแล้ว

6. ละครญี่ปุ่นปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่ในแนว Trendy Drama ซึ่งก็คือ ละครที่เน้นเล่าถึงชีวิตที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง พร้อมกับสอดแทรกข้อคิด แรงบันดาลใจเข้าไปในละคร เลยทำให้ละครญี่ปุ่นเป็นทั้งสื่อบันเทิงที่มอบความสนุกสนาน เพลิดเพลิน อีกทั้งยังมอบความรู้ แง่คิด พร้อมทางออกในการดำเนินชีวิตด้วย

7. จากข้อที่ 6. ก็เลยทำให้ละครญี่ปุ่นดูเครียด แต่พอดูจนจบมันจะหายเครียดไปเอง…


8. แต่ความจริงอีกข้อก็คือ จริงๆ ละครญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีแต่แนวเครียดอย่างเดียวหรอก แต่มันก็มีบางเรื่องที่ฮาๆ บ้าๆ บวมๆ แบบภาพข้างบนข้อนี้…

9. มาที่ประเด็น “เขาว่าพระเอกญี่ปุ่นไม่หล่อ” จริงๆ แล้ว พระเอกละครญี่ปุ่นใช่ว่าไม่หล่อเสมอไป คนหล่อๆ ที่โดนใจสาวไทยก็มีเช่นกัน แต่ของดีอย่างนี้ ต้องเข้ามาสอดส่องในละครญี่ปุ่นแบบลึกๆ กันสักหน่อยถึงจะเจอ!


10. ระวังจะตกหลุมรักพระเอกที่ไม่หล่อด้วยการแสดงของพวกเขาไปอย่างไม่รู้ตัว อย่าหาว่าพี่ไม่เตือนนะ!

11. ละครญี่ปุ่นบางเรื่องไม่มีพระเอกหรือนางเอก มีเพียงแค่ตัวละครเอกที่มีบทบาทเด่นๆ ต่อเรื่องเท่านั้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า ละครญี่ปุ่นบางเรื่องก็ไม่ได้เป็นละครแนวความรัก แต่จะเป็นพวกละครแนวอาชีพ สืบสวน ดราม่าจากชีวิตจริง ซึ่งตัวละครเอกในเรื่องเนี่ยแหละจะมาโชว์ความเก่ง ความสามารถ พร้อมเรื่องราวอันน่าประทับใจ


12. ทาคุยะ คิมูระ คือ สุดยอดพระเอกแห่งวงการละครญี่ปุ่น เป็นพระเอกที่เป็นเจ้าของละครที่ได้เรตติ้งสูงที่สุด และได้รับการยกย่องว่าแสดงละครเก่ง เล่นดี แต่มีอีกหนึ่งความจริงที่หลายคนไม่รู้ หรือลืมสังเกตไปก็คือ ทาคุยะเป็นไอดอล สมาชิกบอยแบนด์ชื่อดังวง SMAP!

13. ละครที่เขาว่ากันว่า เป็นช่วงเวลาไพร์ทไทม์ และได้รับความนิยมจากคนดูก็คือ ละคร Getsu9 ละครทางช่อง Fuji TV ที่ฉายทุกวันจันทร์ เวลา 3 ทุ่ม และละครในเวลานี้มักจะเป็นละครแนวความรัก (แต่บางทีก็เป็นแนวอื่นๆ ก็มีนะ) ส่วนเวลาทองของช่อง TBS เรียกว่า Nichiyo Gekijo เป็นละครที่ฉายวันอาทิตย์ เวลาสามทุ่ม หนึ่งในละครที่ได้ฉายเวลานี้ก็คือ Hanzawa Naoki นั่นเอง


14. และแน่นอนว่า ถ้าหากคุณที่ไม่เคยดูละครญี่ปุ่นเลย และอยากจะดูละครญี่ปุ่นที่เจ๋งๆ สักเรื่อง เราขอแนะนำ Hanzawa Naoki เพราะเป็นละครที่มันและดังสุดๆ ในญี่ปุ่นยุคนี้ เป็นละครที่มีเรตติ้งตอนสุดท้ายสูงที่สุดด้วยเรตติ้ง 42%

15. แต่ละครที่มีเรตติ้งเฉลี่ยรวมสูงที่สุดไม่ใช่ Hanzawa Naoki หรอกนะ แต่มันคือเรื่อง HERO ที่นำแสดงโดย ทาคุยะ คิมูระ นั่นเอง

16. ส่วนใหญ่แล้วละครญี่ปุ่นจะมีความยาวประมาณ 10-12 ตอน ตอนละประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ละครญี่ปุ่นทุกเรื่องจะสั้นหรอก เพราะละครตอนเช้า หรือ “Asadora” กับละครแนวประวัติศาสตร์ประจำปี หรือ “ละครไทกะ” จะมีความยาวมากกกก ฉายตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นปีเลยทีเดียว


17. ละครญี่ปุ่นมีละครประวัติศาสตร์ที่ฉายเป็นธรรมเนียมทุกปีด้วยนะ นั่นก็คือละครไทกะ ทางช่อง NHK ที่จะฉายตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นปี นักแสดงนำของละครแนวนี้มักจะเป็นนักแสดงมากฝีมือ มีคุณภาพ ใครที่ได้ขึ้นมาเล่น การันตีถึงฝีมือได้เลย และแต่ละปีจะมีพิธีส่งมอบตำแหน่งนักแสดงนำอย่างเป็นทางการด้วย สำหรับปี 2016 นี้ ละครไทกะคือเรื่อง Sanada Maru นำเสนอโดย ซากาอิ มาซาโตะ ที่ประสบความสำเร็จมาอย่างล้นหลามจากละครเรื่อง Hanzawa Naoki นั่นเอง

18. ละครเรตติ้งดีๆ ในญี่ปุ่น มักเป็นละครแนวอาชีพ หรือไม่ก็แนวสืบสวนไปเลย พูดอีกอย่างก็คือ ละครเครียดๆ ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี

19. ในละครหลายๆ เรื่อง “ความรัก” เป็นแค่องค์ประกอบย่อยเท่านั้น อย่างเช่น ละครที่เป็นแนวเครียดๆ แนวรักชาติ แนวถ่ายทอดแรงบันดาลใจอาชีพต่างๆ เขาจะให้ความสำคัญจะอยู่ที่เรื่องราวชีวิตการงานของตัวละคร ความยากลำบาก อุปสรรคในชีวิต ความฝันในชีวิต และข้อคิดในมุมอื่นๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องความรักเพียงอย่างเดียว

20. ละครญี่ปุ่นชอบจบงงๆ ที่มันเป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ละครญี่ปุ่นชอบทำภาคต่อหลายภาค แต่ละครญี่ปุ่นไม่นิยมทำละครรีเมค
และสุดท้าย อยากจะบอกว่า เสน่ห์ของละครญี่ปุ่นที่ทำให้ใครหลายคนหลงรักก็คือ มันเป็นละครที่ไม่ใช่แค่สนุก ไม่ใช่แค่สะท้อนสังคม แต่ยังเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ที่ชี้แนะสังคมให้เป็นไปในทางที่ควร ดูทีไร ก็ได้ข้อคิดกลับไปคิดทบทวน และได้แรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นสู่ต่อไปในท่ามกลางชีวิตที่เหนื่อยยาก ถ้าหากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับญี่ปุ่น “ละคร” ก็เป็นเรื่องราวหนึ่ง ที่น่าศึกษา และเข้าไปรับชมเช่นกันค่ะ

ขอบคุณบทความโดย : ChaMaNow www.marumura.com
http://www.marumura.com/japan-drama-20-facts/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่