M-CHAIมีข่าวครับ

กระทู้สนทนา
แนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลยังมีศักยภาพขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยโรคภัยต่างๆซับซ้อนมากขึ้น จำนวนประชากรและการย้ายถิ่นขยายตัว

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโรงพยาบาลมหาชัย จะเป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งแรกในไทย ที่เริ่มเปิดตัวโครงการใหม่ให้บริการโดยแพทย์เฉพาะทางในช่วงวันหยุด ผ่านโครงการ“ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเสาร์-อาทิตย์ โรงพยาบาลมหาชัย” (Weekend Hospital) ในเดือน มิ.ย.นี้เป็นต้นไป

ภายใต้แนวคิด“เพราะความใส่ใจไม่มีวันหยุด” เนื่องจากเห็นความสำคัญเรื่องการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของแพทย์และตระหนักถึงการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ทันการณ์ ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไข้เข้าถึงแพทย์เฉพาะทางได้โดยไม่จำกัดเฉพาะวันธรรมดาเท่านั้น โดยไม่ต้องทำเรื่องลางานเพื่อเดินทางมารักษาเฉพาะวันทำการแบบเดิม



ขยายบริการรพ.ในเครือ

การออกแบบบริการ“ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเสาร์-อาทิตย์" ได้วางคอนเซปต์และทดลองให้บริการมากว่า 1 ปี ก่อนเริ่มให้บริการได้เจรจาและเปลี่ยนหลักคิด (Mindset) ร่วมกับทีมแพทย์เฉพาะทางในเครือเพื่อให้บริการช่วงวันหยุด โดยมองการบริการผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของผู้ป่วย

“เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยได้ประโยชน์ หมอสามารถรักษาชีวิตไว้ได้ ทีมแพทย์จะรู้สึกว่าอาชีพนี้สร้างคุณค่าต่อชีวิตอื่นๆ เพิ่มขึ้น ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีของทั้ง 2 ฝ่าย”

สำหรับทีมแพทย์เฉพาะทางที่ให้บริการวันหยุด มีจำนวนเท่ากับวันธรรมดา ซึ่งจะช่วยรับประกันความสบายใจของผู้ป่วยได้ว่าประสิทธิภาพการบริการและการรักษาจะไม่แตกต่างกัน และค่าใช้จ่ายการรักษาคิดในอัตราเดียวกับวันธรรมดา ไม่มีคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม หลังจากเริ่มทดลองให้บริการช่วงวันหยุด พบว่ามีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการ โรงพยาบาลมหาชัยค่อนข้างมาก สัปดาห์ละ 500 ราย

“หากโมเดลการให้บริการช่วงวันหยุดดังกล่าวประสบความสำเร็จ มีแผนจะนำไปปรับใช้กับ โรงพยาบาลอื่นๆในเครือเพิ่มเติม”



เสริมศักยภาพดูแลผู้ป่วย

          จากการนำเสนองานวิจัยทางการแพทย์ในต่างประเทศ พบว่าคนไข้ที่ไม่ได้รับการรักษาภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว อาจเกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น ปัจจุบันในไทยยังไม่มีผลการศึกษาหรือวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก

ทั้งนี้ การขยายบริการแพทย์เฉพาะทางวันหยุด ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสรรบุคลากรแพทย์ให้บริการอย่างเหมาะสม เพื่อผลักดันให้เกิดบริการพบแพทย์เฉพาะทางช่วงวันหยุดเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนและช่วยเหลือผู้คนได้มาก

“เราต้องเปลี่ยนความคิดการบริการทางการแพทย์ใหม่ เพราะทุกๆชั่วโมงในทุกวัน คือช่วงเวลาสำคัญของการรักษาคนไข้”

ที่ผ่านมามีงานวิจัยพบว่าหมอวิชาชีพส่วนใหญ่ มีเกณฑ์กำหนดระยะเวลาการรอตรวจโรค คือ “โกลเด้น พีเรียด” หมายถึงการที่คนไข้ยังไม่จำเป็นต้องพบหมอ หรือหมออาจยังไม่จำเป็นต้องรักษาคนไข้ภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมง เพราะเชื่อว่าโรคนั้นๆสามารถรอหรือรักษาโรคได้ทันท่วงที โดยอาการของโรคนั้นๆจะไม่เปลี่ยนแปลง หรือรุนแรงไปมากนัก แต่ในความเป็นจริงหากโรคภัยนั้นๆเกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว หรือคนใกล้ตัว ความรู้สึกของผู้ป่วยและคนใกล้ชิดอาจแตกต่างกัน ทั้งความวิตกกังวล กลัวว่าอาการของโรคภัยจะรุนแรงขึ้น หรือไม่สามารถทนรอระยะเวลาที่แพทย์เฉพาะทางสะดวกให้รักษาเฉพาะช่วงวันธรรมดาได้

ดังนั้นการให้บริการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางช่วงวันหยุดจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ซึ่งไม่ได้มีผลต่อความรู้สึกผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อผลการรักษาผู้ป่วยอีกด้วย ในหลายกรณีหากสามารถให้แพทย์เฉพาะทางวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว ก็จะทำให้อาการของผู้ป่วยไม่รุนแรงหนักไปมากนักและบางครั้งช่วยชีวิตคนไข้ได้ทันการณ์

เปิดแฟลกชิพ‘กรุงเทพฯ’

          เมื่อมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ หากโรงพยาบาลในไทยนำแนวคิดการให้บริการโดยแพทย์เฉพาะทางในช่วงวันหยุดเหล่านี้ไปปรับใช้ และสามารถจัดสรรทรัพยากรบุคคลให้บริการในวันหยุดได้เหมือนวันธรรมดาจะเกิดประโยชน์ในหลายด้าน เช่น ทำให้โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องสร้างตึกจำนวนมาก ทั้งยังสามารถลดจำนวนห้องตรวจผู้ป่วยนอกได้ ไม่ต้องรองรับเฉพาะผู้ป่วยที่จะเข้ามาในช่วงวันธรรมดา เพราะผู้ป่วยจะปรับตัวมารับการบริการช่วงวันหยุดเพิ่มขึ้น

“ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า หากเราสามารถจัดสรรบุคลากร เครื่องมือแพทย์และการบริการในช่วงวันหยุด โดยเปลี่ยนงบประมาณที่ใช้ไปกับการก่อสร้างตึกอาคาร มาใช้กับการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรต่างๆเพิ่มขึ้น”

          ด้านแผนลงทุนและการขยายของโรงพยาบาลในปีนี้ จะใช้งบลงทุนก่อสร้างอาคารและจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อการสร้างเพิ่มอีก 1 อาคารที่โรงพยาบาลพร้อมแพทย์ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มาใช้บริการมากขึ้น คาดว่าจะสร้างเสร็จในช่วงต้นปี 2560 และมีแผนก่อสร้างขยายอาคารใหม่ที่โรงพยาบาลมหาชัย2

ในอนาคตก็มีแผนจะจัดตั้งโรงพยาบาลมหาชัย ในกรุงเทพฯเพิ่มเติมเพื่อเป็นโรงพยาบาลแฟลกชิพในเมือง ที่ให้บริการผู้ป่วยใน เพราะมองว่าโรงพยาบาลในกรุงเทพฯสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากความต้องการและจำนวนคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันเตียงผู้ป่วยรวมกว่า 800 เตียง จากโรงพยาบาลในเครือมหาชัย ประกอบด้วย มหาชัย,มหาชัย2,มหาชัย3,มหาชัยแม่กลอง,มหาชัยเพชรรัชต์ และพร้อมแพทย์ จ.ราชบุรี นอกจากนี้ยังมีจำนวนอีกกว่า 200 เตียงจากโรงพยาบาลอื่นๆที่เข้าไปถือหุ้นและช่วยบริหาร คือโรงพยาบาลเจ้าพระยา ปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลซานเปาโล หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ที่มา:http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/702914
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่