เสรีไทยสายพายัพ ๑๕ มิ.ย.๕๙

เรื่องเล่าจากอดีต

เสรีไทยสายพายัพ

พ.สมานคุรุกรรม

ในต่วยตูนนิตยสารที่มีระดับนี้ ได้มีเรื่องราวของเสรีไทย ในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลายด้านหลายแง่หลายมุมมาแล้ว คราวนี้เป็นพฤติกรรมของทหารในกองทัพพายัพ ของกองทัพบกไทยเอง ซึ่งจะเรียกว่าเป็นเสรีไทยได้หรือไม่นั้น น่าจะให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณา ด้วยวิจารณญาณของของท่านเอง

เมื่อสงครามได้ลุกลามมาถึงประเทศไทย โดยกองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และปัตตานี ซึ่งต่อมาได้ตกลงเป็นมหามิตรกันนั้น ตัวผมเองยังมีอายุประมาณสิบขวบ และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้ยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไขนั้น ผมก็มีอายุเพียงสิบสี่ปี มีโอกาสเพียงได้เห็นการเดินสวนสนามของเหล่าเสรีไทย ผ่านถนนราชดำเนิน และได้เห็นครูของผมคนหนึ่งเดินอยู่ในแถวนั้นด้วย ท่านคือ ครูแปลง คำเมือง แห่งโรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส

ในคราวนั้นได้มีทหารของกองทัพไทย เข้าร่วมเดินสวนสนาม ด้วยเครื่องแบบอันเก่าแก่ และอาวุธปืนเล็กยาว แบบ ๖๖ ที่ล้าสมัย กว่าอาวุธประจำกายของสมาชิกเสรีไทยเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่าทหารไทยนั้นยังมีเกียรติ ในฐานะเป็นทหารของชาติอยู่เช่นเดิม

อาจจะเป็นด้วยการแสดงออก ของกองทัพไทยที่จำเป็นต้องร่วมเป็นมหามิตร กับกองทัพญี่ปุ่นด้วยความจำเป็นบังคับ และได้พยายามที่จะปลดแอกอันนั้น อย่างเต็มความสามารถ ก็เป็นได้

เมื่อเหตุการณ์ได้ล่วงเลยมาหลายสิบปี จึงมีผู้เปิดเผยถึงการดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น จากขบวนการต่าง ๆ ทั้งนอกประเทศและในประเทศ เป็นลำดับมา ซึ่งเรื่องที่จะนำมาเล่านี้ จึงไม่ใช่พฤติกรรมของผมเอง แต่เป็นวีรกรรมของนายทหารไทยท่านหนึ่ง ที่ได้บันทึกไว้ด้วยตนเอง ท่านผู้นั้นคือ พลเอก หลวงหาญสงคราม (พิชัย สุวรรณไศละ)

ในสงครามอินโดจีนท่านมียศเป็นพันโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลพายัพ สังกัดกองทัพบูรพา ซึ่งมี พันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นแม่ทัพ และเพื่อนสนิทของท่านคือ พันโท หลวงบูรณสงคราม เป็นเสนาธิการกองทัพ ได้เข้าร่วมรบทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถยึดแคว้นหลวงพระบางได้ทั้งหมด เมื่อกรณีพิพาทยุติลง ประเทศไทยได้รับดินแดนส่วนนี้คืนมา จึงได้ตั้งเป็นจังหวัดล้านช้าง โดยแบ่งออกเป็น ๒ อำเภอ คือ อำเภออดุลเดชจรัส และ อำเภอหาญสงคราม เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านด้วย

ในสงครามมหาเอเซียบูรพา ขณะที่ท่านดำรงยศเป็น พันเอก ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ สังกัดกองทัพพายัพ ซึ่งมี พลโท หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) เป็นแม่ทัพ และ พันเอก จอน บูรณสงคราม เป็นรองเสนาธิการกองทัพ ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปในสหรัฐไทยใหญ่ หรือรัฐฉานเมื่อ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๕ สามารถยึดเมืองเชียงตุงได้เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๕ และคืบหน้าไปจนถึงแม่น้ำหลวย

ท่านได้เลื่อนยศเป็นพลตรี เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๕ และได้เป็นผู้บัญชาการ กองพลที่ ๓ ส่วนสหรัฐไทยใหญ่นั้น ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็น สหรัฐไทยเดิม เมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๘๖

ประมาณปลายเดือน มกราคม ๒๔๘๗ พลโท จิระ วิชิตสงคราม แม่ทัพพายัพ คนใหม่ ได้สั่งให้ท่านกับ พันเอกหลวงเกรียงเดชพิชัย ผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ ไปพบที่เมืองพยาค และสั่งการให้ส่งเชลยทหารจีนไปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ของจีน ซึ่งตั้งประจันหน้ากันอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ เพื่อความสัมพันธไมตรี ยุติการรบโดยไม่เป็นศัตรูกันต่อไป เพราะจีนกับไทยมิได้มีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกัน การที่ประเทศไทยจะต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็เนื่องด้วยสถาณการณ์บังคับ เราจะส่งผู้แทนของเราไปพบกับผู้บัญชาการทหารจีน เพื่อปรับความเข้าใจและเพื่อผูกมิตรกันต่อไป

ท่านจึงกลับมาจัดการ ให้หาธงขาวเขียนภาพจับมือไขว้ ให้ ร้อยตำรวจโท ธานี สุนทรกิจ ซึ่งเป็นล่าม เขียนหนังสือเป็นภาษาจีน มีใจความตามที่กล่าวข้างต้น และจัดจ่านายสิบหนึ่งนาย กับพลทหารจีนที่เป็นเชลยสามนาย กับเสบียงอาหารพอกินได้สองวัน เดินทางไปยังเมืองมะ พร้อมด้วยนายทหารฝ่ายเสนาธิการ นายทหารคนสนิท และหน่วยคุ้มกัน เพื่อสมทบกับ พันโท ประยูร สุคนธทรัพย์ ผู้บังคับการกองพันทหารราบ ที่ยึดเมืองมะ และรักษาชายแดนแม่น้ำลำ ให้ร่วมเดินทางไปยังเมืองลา และส่งชุดเชลยศึกผู้ติดต่อ ให้ลุยข้ามน้ำไปยังฝั่งเขตแดนจีน และให้ผู้บังคับกองพันทหารราบ จัดหมู่รับข่าวไว้ที่ชายฝั่งแม่น้ำลำ แล้วคณะของท่านก็เดินทางกลับ

ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ ก็ได้รับข่าวตอบจากผู้บัญชาการกองพล ๙๓ ของจีนว่า ได้รับหนังสือและยินดีที่จะพบปะ กับผู้แทนทหารไทย ให้รีบส่งไปจะคอยรับที่เมือง เชียงล้อ ริมฝั่งแม่น้ำลำ ท่านจึงจัดเจ้าหน้าที่ทหารไทยส่งไปเป็นครั้งแรก คณะนี้ประกอบด้วย พันเอก หลวงไกรนารายณ์ เสนาธิการกองพลที่ ๓ เป็นหัวหน้าคณะกับฝ่ายเสนาธิการอีก ๒ คนคือ พันโท แสวง ทัพภะสุต พันตรี กระจ่าง ผลเพิ่ม และร้อยโท สมาน วีระไวทยะ นายทหารคนสนิท สุดท้ายคือร้อยตำรวจโท ธานี สาทรกิจ ล่ามภาษาจีน เดินทางไปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓

ต่อมาท่านได้รับรายงานจากหัวหน้าคณะว่า

ทางผู้บัญชาทหารจีนได้จัดการต้อนรับเป็นอย่างดี ก่อนข้ามแม่น้ำลำได้จัดการปลดอาวุธของเราเอง เมื่อขี่ม้าลุยน้ำเข้าไปยังฝั่งเขตแดนจีน ซึ่งฝ่ายทหารจีนได้เตรียมตั้งอาวุธ ปืนกลป้องกัน เมื่อข้ามฝั่งไปแล้วมีทหารจีนมาจูงม้าไปยังที่พักซึ่งได้เตรียมเอาไว้ พอหยุดพักหายเหนื่อยก็เริ่มทำการประชุม ฝ่ายเราได้เสนอตามหัวข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว ฝ่ายทางทหารจีนก็แสดงความพอใจหยุดรบ และเป็นมิตรกันต่อไป ทั้งสองฝ่ายตกลงจะส่งข่าวให้ทราบทุก ๑๕ วัน กับจะนัดพบกันเมื่อใดจะบอกล่วงหน้าให้ทราบภายใน ๗ วัน

เมื่อประชุมเสร็จก็พอดีรับประทานอาหารกลางวัน ทางฝ่ายจีนเป็นผู้จัด มีอาหารหลายอย่างเช่นเดียวกับภัตตาคารแถวเยาวราช แต่ไม่มีสุราและบุหรี่ เพราะขาดแคลน ระหว่าง รับประทานอาหารก็มีการสนทนา เกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในประเทศ เพื่อให้ทางฝ่ายจีนเห็นใจ พอรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ได้ขอปืนไรเฟิลสำหรับไว้ยิงสัตว์ ๑ กระบอก ผ้าลายสองสีกากีแกมเขียวสำหรับตัดเสื้อกางเกง ๑ พับ รองเท้าหุ้มข้อสีดำตามเบอร์ที่กำหนด ๕ คู่ และยาควินนินสำหรับแก้ไข้เป็นจำนวนพอสมควร และสุรากับบุหรี่ ในคณะที่ประชุมเป็นจำนวนพอสมควร เมื่อได้ร่ำลากันแล้ว ฝ่ายเราก็ได้ข้ามแม่น้ำกลับมายังที่พัก

เมื่อท่านได้รับรายงานละเอียดจากผู้แทนคณะนี้แล้ว ก็รีบส่งไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดทันที ต่อมาในขณะที่ท่านอยู่ที่กองบัญชาการ กองพลที่ ๓ ณ วัดปางฮุง พันโท ประยูร สุคนธทรัพย์ ก็ได้ส่งหนังสือที่ พันโทหม่อมหลวง ขาบ กุญชร ส่งผ่านทหารจีนข้ามแม่น้ำมา มีความว่า ได้เข้ามาในประเทศจีน และพยายามมาที่ชายแดนระหว่างประเทศจีนกับประเทศพม่า เพื่อต้องการพบกับทหารไทย ให้รีบจัดนายทหารไปทำการติดต่อ

ท่านจึงได้ส่งหนังสือฉบับนี้ ไปให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วนัดพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ และจัดชุดผู้แทนทหารไทย โดยมี พันเอก หลวงเดชปฎิยุทธ รองผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ เป็นหัวหน้าคณะไปกับนายทหารที่เคยไปชุดที่แล้ว ไปที่เมืองเชียงล้อ เมื่อปลายเดือน กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ พันเอกหลวงเดชปฎิยุทธ ได้กลับมารายงานว่า

ได้มอบสิ่งของที่ทางฝ่ายทหารจีนต้องการ กับส่งข่าวคราวในประเทศ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่น ให้กับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ เขาแสดงความดีใจและขอบคุณผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ส่วนเรื่อง พันโทหม่อมหลวง ขาบ ฯ นั้น ได้มาที่เมืองเชียงรุ้ง และเมืองเชียงล้อ แต่ทหารจีนไม่ยอมให้พบกับทหารไทย และได้กลับไปแล้ว

ซึ่งท่านก็ได้รายงานไปทางกองบัญชาการทหารสูงสุดเพื่อทราบ ต่อมาประมาณกลางเดือนมีนาคม ๒๔๘๗ ท่านได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้จัดคณะนายทหารซึ่งมีผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ คือตัวท่านเองเป็นผู้แทนของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และให้ พันเอก เนตร เขมะโยธิน เป็นเสนาธิการ ไปประชุมกับผู้แทนกองทัพจีน ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญเกี่ยวกับการวางแผน เพื่อขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทย และให้นัดหมายวันและตำบลที่จะนัดพบ ให้เป็นการแน่นอน ท่านจึงให้ล่ามเขียนหนังสือนัดพบ ไปยังผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ทันที และได้รับตอบมาว่าให้ไปพบกันที่เดิม ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๘๗

ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๘๗ พันเอก เนตร เขมะโยธินได้เดินทางมาถึง กองบัญชาการกองพลที่ ๓ และได้แจ้งคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้ทราบ แล้วก็เตรียมหัวข้อที่จะเจรจากับผู้แทนกองทัพจีนต่อไป

คณะผู้แทนทหารไทย ที่จะเดินทางไปปฏิบัติงานพิเศษและสำคัญอย่างยิ่งคราวนี้ ซึ่งนอกจากหัวหน้าคณะและเสนาธิการแล้ว ก็มีพันโทกระจ่าง ผลเพิ่ม พันโท แสวง ทัพภะสุต ร้อยโท สมาน วีระไวทยะ และ ร้อยตำรวจโท ธานี สาทรกิจ ได้ออกเดินทางจากกองบัญชาการ กองพลที่ ๓ เมื่อเช้าวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๗ จากวัดปางฮุง เมืองเชียงตุง ผ่านหนองกัง เมืองมะ ตรงไปยังเมืองลา พักค้างหนึ่งคืน เช้าวันที่ ๒ เมษายน จึงเดินทางต่อไปถึงชายป่าริมแม่น้ำลำ และข้ามลำน้ำไปถึงที่รับรองและประชุมของจีน ซึ่งสร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงแฝก ภายในกว้างประมาณ ๖ x ๘ เมตร สร้างเป็นโต๊ะและมีม้านั่งหันหน้าเข้าหากัน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมีความร่มเย็นสบาย

เมื่อคณะของเราได้พบปะผู้แทนทหารจีน ซึ่งมี พลตรี ลิววิเอ็ง ผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ เป็นหัวหน้าในฐานะผู้แทน จอมพล เจียงไคเช็ค กับเสนาธิการคือ พันตรี ลีเต้ฉ่าย กับ พันตรี โฮ้วซองเซา ฝ่ายเสนาธิการ และนายบุญศรี รัตนตัน ลูกจีนที่เคยอยู่ในเมืองไทย ทำหน้าที่ล่ามภาษาไทยของฝ่ายจีน ได้ทำการเคารพกันเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเราก็ได้มอบของฝากให้แก่ผู้แทนฝ่ายจีน ซึ่งเขาดีใจและขอบคุณผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเราเป็นอย่างดี

การประชุมได้กระทำกันเป็นสองตอน คือตอนเช้าพอเที่ยงวันก็หยุดรับประทานอาหาร เสร็จแล้วเริ่มประชุมต่อไปจนเกือบพลบค่ำในวันนั้น ฝ่ายจีนได้จัดอาหารเช่นที่กล่าวแล้ว ในการประชุมครั้งแรก ส่วนฝ่ายเราได้จัดสุราและบุหรี่ มาทำการเลี้ยงดูตามที่ได้ตกลงกันไว้ นับว่าเป็นการต้อนรับและเลี้ยงดู คณะของเราอย่างดียิ่ง

ผลของการประชุมเมื่อสรุปแล้วคงได้ความว่า ทั้งสองฝ่ายได้ปรับความเข้าใจกันในเรื่องต่าง ๆ และตกลงในหลักการที่จะไม่เป็นศัตรูต่อกัน พลตรี ลิววิเอ็งได้ให้คำมั่นแก่เราว่า จะนำข้อความทั้งหมดที่เราเจรจากันนี้ รายงานตรงไปยังจอมพลเจียงไคเช็ค เพื่อดำเนินงานทางด้านการเมือง และแผนการณ์ทางทหารร่วมมือกันต่อไป โดยขอกำลังทางอากาศช่วยกำลังทางพื้นดิน ส่วนทางพื้นดินนั้นมีกำลังเพียงพอแล้ว กับขอร้องให้ทางฝ่ายจีนนำเรื่องนี้ ติดต่อกับฝ่ายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษให้ทราบด้วย

เมื่อการประชุมและการเลี้ยงเสร็จสิ้นลงแล้ว คณะของเราก็อำลากลับ โดยพลตรีลิววิเอ็งกับคณะได้มาส่งจนถึงริมฝั่งแม่น้ำลำ ในคืนวันนั้นเอง

หลังจากนั้นประมาณปลายเดือน เมษายน ๒๔๘๗ ท่านก็ได้รับหนังสือจากผู้แทนทหารจีน ขอให้ฝ่ายไทยเตรียมจัดคณะผู้แทน ทางฝ่ายการเมืองและการทหาร เพื่อเดินทางไปประชุมวางแผนการณ์กับจอมพลเจียงไคเช็ค ที่นครจุงกิง โดยทางฝ่ายจีนจะจัดเครื่องบินมารับ ที่สนามบินเชียงรุ้งในมณฑลยูนนาน ส่วนการเดินทางบกจากเมืองเชียงล้อ ไปเมืองเชียงรุ้งนั้น ทางฝ่ายจีนจะจัดขบวนม้ามาคอยรับไป โดยให้ทั้งหมดปลอมเป็นทหารจีน เพื่อมิให้ทหารของเขาเกิดสงสัย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กำหนดตัวผู้แทนไว้ดังนี้

พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส เป็นหัวหน้าคณะ
พลโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้แทนฝ่ายการเมือง
พลตรีหลวงหาญสงคราม กับ พันเอก เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้แทนฝ่ายทหาร
และ พันโท เอกศักดิ์ ประพันธโยธิน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสป๊อยต์ เป็นนายทหารติดต่อกับกองทัพจีนที่นครจุงกิง

ทั้งนี้ให้เตรียมตัวไว้ให้พร้อม เมื่อทางกองทัพจีนกำหนดวันไปเมื่อใด ให้สามารถปฏิบัติการได้ทันที ในระหว่างรอคอยนั้น การปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพจีน ได้สงบเงียบไป แต่มีบางครั้งเมื่อทหารญี่ปุ่นได้ส่งหน่วยทหารไปตรวจแนวหน้า ทางด้านเมืองยาง และเมืองเชียงล้อ ก็ต้องเล่นละครตบตาญี่ปุ่นว่า ฝ่ายเรากับฝ่ายจีนยังมีการสู้รบกันอยู่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่