คุณเห็นอย่างไรกับความที่ว่า "แท้จริงแล้วสังคมไม่เคยยอมรับตัวตนของเพศที่สามเลย"

ก่อนอื่นขอเกริ่นตัวตนของผู้เขียนก่อนละกัน ผมเป็น ชรช คนนึงที่ไม่เผยเบื้องหลังชีวิตตัวเองหรือแสดงสถานะรสนิยมทางเพศออกสู่สังคม โดยทั่วไปเป็นคนบุคลิกท่าทางดู เซอ ๆ กางเกงยืนเสื้อยืด ดูไม่ต่างจากชายแท้ทั่วไปเลยครับ

ทั้งนี้ในส่วนของเนื่อเรื่องนั้น จะเขียนจากประสบการณ์ความรู้ที่ผมมีและเหตุการณ์จริงที่ประสบมากับตัว และอิงเรื่องราวจากเว็บและหนังสือบางส่วน เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับทัศนะทางสังคมที่มีต่อเพศที่สามผ่านมุมมองใหม่ ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใดหรือมีอคติล่วงเกินขอบเขตความเป็นจริงก็ขออภัยในส่วนที่ผิดพลาดนั้นด้วยนะครับ บางทีประเด็นที่นำเสนออาจจะตั้งคำถามขวางโลกไปหน่อย แต่เพราะต้องการเสนอให้เห็นภาพใหม่ที่สังคมยังไม่พูดถึงหรือนำมาอ้างอิงศึกษา และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้เล่าออกมาจากใจที่แสนจะอัดอั้นมาให้ได้โต้เถียงปัญหากันครับ

เหตุที่ผมไม่ตัดสินใจเลือกที่จะเปิดเผยนั้นเนี่ย ผมว่าสังคมไทยยังทำความเข้าใจในเพศที่สามอย่างเรา ๆ ไม่ชัดเจนทุกความรับรู้นะ (ไม่ใช่ทุกคนหรือทุกครอบครัวที่จะยอมรับเพศสภาพอย่างนี้ได้) แต่ก็มีวงการสื่อบางสำนักหรือนักวิทยุสมัครเล่น ได้นำข่าวเรื่องเพศที่สามมาเขียนมาอ่านบางทีก็พาดหัวข่าวเกินเหตุจนนำไปสู่คำพูดล้อเลียนเป็นเรื่องดราม่าเหยียดเพศกันไปต่าง ๆ นานา เช่น สายเหลือง ตำนานรักขุดทอง สายงานวิปริตผิดเพศ แม้กระทั่งชื่อที่ใช้เรียกกันติดลิ้นติดปากอย่าง ตุ๊ด เกย์ กระเทย ทอม ดี้ คนบางกลุ่มยังมองว่าเป็นคำที่คิดขึ้นมาเพื่อใช้ดูถูกพฤติกรรมของเพศที่สาม ซึ่งเทียบได้กับกรณีที่คนภาคกลางดูถูกพฤติกรรมคนลาวอีสานว่ายากจนแร้นแค้น เกียจคร้าน สกปรก ไร้ระเบียบ หรือเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ล้านนาว่า "ผีตองเหลือง" เรียกชาวไทยใหญ่ว่า "กะเหรี่ยง" เรียกเผ่าซาไกว่า "เงาะป่า" หรือคนอีสานเรียกคนกุยว่า ส่วย ข่า หรือ ข้า (ขี้ข้า) หรือสว่นบุคคลก็มักเอาปมด้อยมาเรียกกันแทนชื่อเรียกจริง  ซึ่งแล้วแต่เป็นชื่อเรียกที่เจ้าตัวเองไม่ได้พึงพอใจกับสังคมที่ใช้คำเหล่านั้นสื่อความหมายเรียกพวกเขาเลย เนื่องจากเป็นสัญญะเสียงที่ใช้ดูถูกพฤติกรรมในกลุ่มที่มีอำนาจด้อยกว่าหรือสูงกว่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษร่วมยุคประวัติศาสตร์ ทำให้เข้าใจความกดดันของเพศที่สามที่มีต่อสังคมซึ่งสัมพันธ์กับกลุ่มตัวอย่างข้างต้น  แม้กระทั่งเหล่าบรรดาตัวพ่อตัวแม่ยังออกมาวาดภาพชวนติชมว่า "สังคมไทยเปิดรับเพศที่สามแล้วนะ ผม ดิฉัน อยากให้เหล่าบรรดาคุณ ๆ ๆ ออกมาเปิดเผยตัวเอง ออกมาเถอะนะ อย่าพยามปกปิดตัวเองไปอีกเลย" มันทำให้ผมเกิดคำถามว่า ในเมื่อสังคมยอมรับในตัวเพศที่สามจริงจังแล้วทำไมไม่ลงมติร่างกฎหมายให้เพศที่สามจดทะเบียนแต่งงานกันซะทีล่ะ? ปล่อยให้ยืดเยื้ออยู่ทำไมเล่า? ไม่แค่ความช้ำจากสังคม ด้านศาสนาก็ใช่ย่อย อย่างกรณีคำวิพากษ์จากปากนักมวยแชมป์โลกแมนนี่ ปาเกียว ที่อ้างว่าการถือครองรักร่วมเพศเดียวกันขัดกับความเชื่อตามหลักศาสนา ซึ่งน่ารังเกียวยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน ทั้งนี้ทั้งนั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความจริงที่จะมาแย้งเพศที่สามอย่างเราไม่ได้เลย

ทั้ง ๆ ที่โลกปัจจุบันยืนอยู่บนองค์ความรู้วิทยาการสมัยใหม่ สามารถพิสูจน์ความจริงแท้มนุษย์ได้ด้วยหลักฐานบนหลักการวิเคราะห์ด้วยเหตุผล แล้วเหตุใดสังคมส่วนใหญ่จึงยังใช้องค์ความรู้แบบจักรวาลวิทยามาตัดสินเพศที่สามอยู่?

เมื่อสังคมโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง มาตรการฟื้นฟูก็ยุติขึ้น หน่วยงานใหญ่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงร่วมมือกันลงความเห็นและได้ร่างกฎลายลักษณ์อักษรขึ้นเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดสันติภาพความเจริญก้าวหน้าอย่างเท่าเทียมกัน และในไทยก้ได้มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อปี 2540 ถ้ามองภาพนโยบายสังคมปัจจุบันในไทยเองและทั่วโลกจะเห็นภาครัฐและเอกชนรวมไปถึงกลุ่มองค์กรจากภายนอกร่วมมือกัน สังคมโลกทั้งใบจึงกลายเป็นโลกเสรีแห่งการติดต่อสื่อสาร การค้าขาย การลงทุน และการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างกลุ่มเชื่อชาติ  ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนพึ่งพากันได้ตามการพัฒนาที่เป็นพลวัตสังคมโลกปัจจุบัน ไม่มีขอบเขตหรือเกณฑ์ใด ๆ มาเป็นตัวกำหนด ถึงจะมี ก็มีเพียงกฎเกณฑ์บางโครงสร้างที่ใช้บังคับป้องกันการถูกจู่โจมทำลายจากศัตรูในบางโอกาสเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นสังคมที่ยืนอยู่ได้ แต่ไม่ยืนอยู่ได้เพราะเคารพความมั่นในอัตตาเพียงอย่างเดียวหรอก เพราะคนในแต่ละกลุ่มแต่ละสังคมต่างก็มีความสามารถสร้างผลิตผลเป็นเอกลักษณ์ของตนที่แตกต่างกันไป แล้วผลการกระทำที่เกิดจากความสามารถก็ถ่ายทอดเป็นวงจรหมุนเวียนเติมแต่งให้สังคมเท่า ๆ กันอยู่ดี ภายใต้กรอบพันธกิจของกฎสิทธิมนุษยชน

ผมไม่รู้ว่าสังคมกำลังทำอะไรอยู่ทำไมไม่แก้กฎหมาย ทั้ง ๆ ที่มันขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนเพศทางเลือก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกแทบยุโรป อเมริกา ก็ให้ความสำคัญไปบ้างแล้ว เมื่อไหร่จะเป็นสังคมนี้ ไม่รู้จะขีดเส้นแบ่งเขตชาติที่จะเป็นชาติพัฒนาแล้วให้ห่างไปทำไมอีก อยากจะรู้คำตอบว่า เหตุใดสังคมจึงยึดอยู่กับกฎเกณฑ์มาตรฐานของสังคมเดิม ๆ ไม่ให้เพศที่สามได้รับความชอบธรรมตามสิทธิเสรีภาพวิถีทางเพศโดยกฎหมายด้วย?

เราเองอยู่ในสังคมที่มองโลกในทางตรงหรือดูเหรียญด้านเดียว ยึดสถานภาพชีวิตตัวเองหรือยกภาพใหญ่สังคมหญิงชายเป็นตัวตั้ง แล้วก็มักจะใช้อคติ+อารมณ์ตัดสินปัญหา ใช้วาจาข่มขู่ให้เกิดความกลัวหรืออยู่ภายใต้บังคับบัญชาผู้อาวุธโส เช่น รับไม่ได้ที่มีลูกเกิดมาเป็น เกย์ กระเทย ทอม ดี้ เลสเบี้ยน ฯลฯ ผิดเพศผิดธรรมชาติ เลว ชั่ว แล้วกลุ่มคนที่เกิดมาทุพพลภาพตั้งแต่กำเนิดเดินไม่ได้ หูหนวก ตาบอด ดาวน์ซินโดรม ปากแหว่งเพดานโหว่ ไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติคัดสรรมาหรือ? แต่ทำไมยังสามารถทำความเข้าใจถึงสาเหตุความผิดปกติเหล่านั้นได้ นั้นเป็นเรื่องรูปกาย แต่สภาพจิตนี่เป็นอะไรที่มองไม่เห็นแล้วมีความซับซ้อนทั้งห้วงอารมณ์และความรู้สึก และความรู้สึกอารมณ์เหล่านั้นจะเห็นต่อเมื่อถ่ายทอดผ่านทางรสนิยม และการกระทำ เช่น เป็นชายเลียนแบบหญิง เป็นหญิงเลียนแบบชาย ซึ่งเป็นภาพที่สังคมยุคใหม่ไม่เข้าใจและพึงเคยเห็น และบางสังคมก็พึ่งให้การยอมรับ เนื่องจากในอดีตไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีความเสมอภาค ภราดรภาพ แทบทุกสังคมตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองเบ็จเสร็จโดยผู้นำคนเดียว คือเชื่อผู้นำทำตามผู้นำเท่านั้น และยึดคติความคิดความเชื่อตามแบบศาสนาหรือที่เรียกว่า "จักรวาลวิทยา" มาเป็นตัวกำหนดกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกาต่าง ๆ ในสังคมที่เคร่งครัดมาก ดังนั้นเพศที่สามจึงไม่ค่อยปรากฏตามหลักฐาน สำหรับในประเทศไทยปรากฎในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์รักร่วมเพศของคนในมหาดเล็กวังหลวง แต่ก็ยังไม่สามารถเป็นที่รับรู้ของสังคมภายนอก และในปัจจุบันสังคมก็ยังยึดคติความเชื่อเรื่องเพศแบบเดิมนั้นสืบทอดมาจนขัดแย้งกับภาพความจริงแท้ขององค์ความรู้สมัยใหม่ และแทบจะไม่มีทางต่อสู้กับอคติของสังคมนั้นได้เลย แล้วอย่างนี้จะให้เปิดเผยแบบแจ้งเกิดเลยนี่มันชั่งกะไรนะ มันไม่ใช่ทุกครอบครัวทุกตระกูลจริง ๆ ที่จะเปิดอกเปิดใจกว้าง ขวาง ยอมทำความเข้าใจเพศสภาพในมุมมองที่สะท้อนจากรสนิยมแบบเรา ๆ  ซึ่งก็รู้ทั้งรู้ว่าไม่มีอะไรมาขัดขวางได้ ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ธรรมชาติได้เลือกคัดสรรและสร้างขึ้นมาให้ปรับตัวอยู่ร่วมกันพึ่งพากันและกันได้ แน่นอนว่าแต่ละคนก็ถูกสังคมตีกรอบชีวิตให้คนละแบบ กล่อมเกลากันคนละทาง สมมติว่า สังคม ก ยอมรับการเปลี่ยนแปลง นาย A จึงเลือกที่จะเปิดเผยรสนิยมตัวเอง กลับกันสังคม ข กลับกลัวการเปลี่ยนแปลง นาย B คนนั้นจึงไม่เลือกที่จะเปิดเผยรสนิยมตัวเอง บางคนระแวงต่อสังคมคิดไปในทางลบจนกลายเป็นซึมเศร้าก็มี

ถึงเวลาแล้วที่สังคมจะต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองให้มากขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงบทบาทของเพศที่สามที่มีต่อสังคม ซึ่งมีความสามารถเทียบเท่ากับชายหญิงทั่วไป หรืออาจจะเชี่ยวชาญกว่าเรื่องของเรื่องด้วยซ้ำไป ซึ่งได้นำมาด้วยการเผยความสัมพันธ์ทางความต้องการทางเพศ ที่สังคมต้องยอมรับและให้ความสำคัญเท่ากับชายหญิง และบุคคลร่างกายทุพพลภาพ และคนวิกลจริตทั่วไป ในเมื่อสังคมเข้าใจหนทางแก้ปัญหาความจริงแท้เรื่องอื่นได้ด้วยการตัดสินแบบเหตุผล แล้วทำไมสังคมไม่ทำความเข้าใจห่วงโซ่ปัญหาของเพศที่สามบ้าง?

แต่ถ้าจะบอกว่า ไม่ว่าสังคมใดหรือชนชาติใดก็ตาม ทุกที่ต่างก็มีทั้งยอมรับและไม่ยอมรับกันทั้งนั้น ผมว่ามันเป็นเพียงข้ออ้างของสังคมที่ทุกคนต่างก็รับรู้กันอยู่แล้ว จริงด้วยว่าที่ไหนมันก็มี แต่สิ่งที่สังคมวาดภาพให้การยอมรับก็มีเพียงแค่บางส่วนบางมุมเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ภาพใหญ่ของสังคมกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพให้เพศที่สามจดทะเบียนถือครองรักได้เหมือนชายหญิง และให้สามารถทำนิติกรรมชีวิตคู่ได้ตามกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการยอมรับจากบางครอบครัว จึงดูเหมือนภาพหลวงตาไม่ก็กลลวงคอยสร้างภาพให้เพศที่สามหลงดีอกดีใจและปล่อยให้เดินข้ามสะพานใกล้ขาดในเงามืดแบบไม่กลัวอันตราย และก็ติดอยู่ตรงนั้นไปไหนไม่ได้ ได้แต่คอยความช่วยเหลือจากสังคม รอแล้วรอเล่าแต่ก็ไม่เห็นสังคมจะช่วยอะไรเลย ฉะนั้น ประเด็นจึงมุ่งไปที่สังคมว่า เพราะเหตุใดสังคมจึงยังไม่ให้เสรีภาพกับเพศที่สาม ทั้ง ๆ ที่สังคมเองก็พูดจากปากเองว่าให้การยอมรับในเพศที่สาม แต่สังคมไม่อธิบาย มันจึงย้อนแย้งกับสิ่งที่พูด

ความไม่ชัดเจนจากสังคมต่อจากนี้จะเล่นละครเรื่องอะไรกันต่อ คงต้องต้องติดตามกันต่อไป หรือละครจะสร้างฝันร้ายให้เพศที่สามให้ตกอยู่ในยุคมืดภายใต้ช่องว่างสิทธิเสรีภาพทางสังคมต่อไปไม่รู้อีกกี่ปีถัดจากนี้

ปล. ใครที่คิดว่าไม่ถูกไม่ควรหรือไม่มีความเป็นกลาง แย้งได้นะครับ

ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/23038-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E2%80%9C%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A8%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87-%E2%80%98%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E2%80%99-%E2%80%9D.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่