เทียบประเด็นต่อประเด็น: คปพ. VS กูรูพลังงาน ปิโตรเลียมไทยเอาไงดี??



    อยู่ดีดี ก็นึกสนใจเรื่องการให้สิทธิปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชขึ้นมาเป็นพิเศษซะงั้น  ตอนแรกก็คิดว่ามันคงเป็นเรื่องไกลตัว แต่อ่านข้อมูลไปมาทำให้รู้สึกว่ามันไม่ได้ไกลตัวจากเราเลยแฮะ อ่านไปก็จินตนาการไปถ้าไม่มีการขุดพลังงานเพิ่ม แล้วมันหมดจริงๆ ขึ้นมาจะทำยังไงกันนะ??

      ยิ่งอ่านข้อมูลก็ยิ่งมันส์ ยิ่งมีการตอบโต้กันไปมายิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ นายกฯ พูดถึง คปพ. ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ หลังจากนั้นทาง คปพ. ก็ออกแถลงชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ กลับแบบฉับไว อ่านแล้วก็มีความคล้อยตาม เออ ออ ห่อหมก ไปกับ คปพ.

     แต่!! ระหว่างที่กำลังเคลิบเคลิ้มอยู่นั้นก็ได้มีข้อมูลที่กระตุกสมองซีกตรรกะให้กลับมาทำงานเหมือนเดิม มันคือบทความจากเพจ ENERGY guru : รู้ให้จริงเรื่องพลังงาน ซึ่งเราขอเรียกว่า กูรูพลังงานแล้วกัน แหม่....เรื่องนี้มันสนุกดีแท้วุ้ย!!  เทียบกันแบบประเด็นต่อประเด็น ฟันประเด็นของ คปพ. จนน้ำหนักที่เราเคยให้ คปพ. ไว้หายฮวบ!! ไหนๆ ดีกรีความอินของเราแรงเอาเบอร์นี้ เราจึงขออนุญาตรวบรวมข้อมูลมาเทียบประเด็นต่อประเด็นมาให้อ่านแล้วกันนะคะ เผื่อใครจะอินกับเรื่องนี้ตาม

เก๊งๆ ๆ [เสียงเคาะระฆัง]
                  ....................................................................................................................................................
Round 1: อมยิ้ม11
ทาง คปพ.บอกว่า เมื่อหมดอายุสัมปทานตามกฎหมาย อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึง แท่นขุดเจาะและเครื่องจักร ตลอดจนปิโตรเลียมที่เหลืออยู่จะต้องตกเป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุนทรัพย์สินเหล่านี้อีก จึงสามารถดำเนินการขุดต่อได้เลย


กูรูชี้แจงว่าประเด็นนี้เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน  ถึงแม้ว่าทรัพย์สินต่างๆจะต้องถูกโอนกลับมาเป็นของรัฐ แต่การผลิตก๊าซจะต้องทำแบบต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับการผลิตไว้  จะต้องมีการลงทุนเจาะหลุมสำรวจและผลิตใหม่ ทุกๆปี มันใช้เงินลงทุนสูง และมีความเสี่ยง เพราะปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ อยู่ใต้ดินมันเป็นกระเปาะเล็กๆกระจัดกระจาย และลึกลงไปมากกว่าช่วงเริ่มต้นสัมปทาน โดยหากไม่มีการลงทุนต่อเนื่อง จะผลิตปิโตรเลียมได้อีกไม่กี่ปี ก็หมด

                  ....................................................................................................................................................

Round 2: อมยิ้ม11
คปพ. บอกว่า ให้นำแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ และบงกช มาเปิดประมูลในระบบจ้างผลิตโดยให้เอกชนแข่งขันด้วยค่าจ้างผลิตปิโตรเลียมที่ต่ำที่สุด โดยจ่ายค่าจ้างเป็นผลผลิตปิโตรเลียมที่ผลิต โดยหวังว่ารัฐจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม

กูรูชี้แจงว่า ระบบจ้างผลิตไม่ได้ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์มากกขึ้นกว่าเดิม  เพราะระบบรับจ้างผลิต มักใช้กับประเทศในตะวันออกกลาง ที่มีแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ความเสี่ยงต่ำ จูงใจให้เกิดการแข่งขัน แต่แหล่งเอราวัณและบงกช ที่เป็นแหล่งกระเปาะเล็กๆ ความเสี่ยงสูงกว่า หากใช้ระบบรับจ้างผลิต ก็จะมีเฉพาะรายเดิมที่เสนอตัวเข้ามา แต่รัฐต้องสร้างแรงจูงใจ ด้วยค่าจ้างที่สูงขึ้น (ต้องแลกด้วยปริมาณก๊าซจำนวนมาก และราคาสูง และให้เอกชนสามารถนำปริมาณสำรองมาบันทึกเป็นมูลค่าทางบัญชีหรือbook value ของบริษัทได้ด้วย )
                  ....................................................................................................................................................

Round 3: อมยิ้ม11
คปพ.บอกว่า ระบบรับจ้างผลิต รัฐสามารถดำเนินการให้เอกชนดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องเตรียมบุคลากรล่วงหน้า

กูรูชี้แจงว่า ไม่จริง เพราะ การใช้ระบบจ้างผลิต รัฐจะต้องแก้ไขร่างกฏหมายพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ต้องมีงบประมาณเพื่อตั้งองค์กร มารองรับ ต้องเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ จำนวนมาก ขึ้นมากำกับดูแล ที่ค่อนข้างจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน เพราะรัฐไม่มีประสบการณ์ในการทำงานด้วยระบบนี้มาก่อน ซึ่งความยุ่งยากล่าช้าดังกล่าวทำให้การผลิตก๊าซไม่มีความต่อเนื่องจากระบบสัมปทานเดิม
                  ....................................................................................................................................................

Round 4: อมยิ้ม11
คปพ. บอกว่า ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า  มีราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ได้จากในประเทศ ดังนั้นการที่รัฐบาลบอกว่าถ้านำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แล้วจะทำให้ประชาชนใช้ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น ทาง คปพ. จึงบอกว่า "ไม่เป็นความจริง" โดยทาง คปพ. ได้อ้างอิงราคาของสหรัฐอเมริกาที่มีราคาถูกกว่าของบ้านเรา

กูรูชี้แจงว่า นั่นเป็นความจริงเฉพาะบางส่วน เท่านั้น เพราะการอ้างอิงราคาLNG ที่คปพ.อ้างถึง4-5เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู นั้น เป็นราคาตลาดจร (Spot Market) ที่มีปริมาณจำกัดและเป็นราคาที่เกิดขึ้นเพียงบางช่วงบางตอนเท่านั้น ถ้าย้อนไปดูเมื่อ3-5ปีที่ผ่านมา LNG เคยขึ้นไปถึง15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งแพงกว่าก๊าซจากอ่าวไทยมาก ถามคปพ.ว่า ถ้าต้องนำเข้าLNG ประมาณปีละ7ล้านตัน เพื่อทดแทนก๊าซที่จะหายไปจากระบบ เราจะไปซื้อLNG ราคาต่ำได้ที่ไหน ใครจะขายให้เรา และขายให้นานแค่ไหน นอกจากนี้ก๊าซอ่าวไทย ยังเป็นก๊าซที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้รัฐมีรายได้จากค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ในขณะที่ LNG ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับรัฐในส่วนนี้
                  ....................................................................................................................................................

Round 5: อมยิ้ม11
นายกรัฐมนตรีเข้าใจว่า คนไทยไม่มีความพร้อม และไม่มีความรู้ในการผลิตปิโตรเลียมนั้น แต่ คปพ. บอกว่า ประเทศไทยก็มีบริษัทอย่างเช่น ปตท.สผ. ที่เคยโฆษณาองค์กรประกาศว่า ปตท.สผ. เป็นบริษัทของคนไทยที่มีความสามารถในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แต่ปตท.สผ. ไม่ใช่กิจการของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงขาดความชอบธรรมที่จะได้รับสิทธิผลิตปิโตรเลียมโดยไม่ต้องประมูล  แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า มีบริษัทของไทยที่มีศักยภาพที่จะเข้าร่วมประมูลได้  หากผู้รับสัมปทานรายเดิม มีอันต้องยุติบทบาทลง   รัฐก็ยังสามารถจ้างผลิตปิโตรเลียมต่อไป  โดยอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์จากคนไทยและนิติบุคคลไทย ข้อห่วงใยที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจว่าคนไทยไม่พร้อมนั้นไม่เป็นความจริงเพราะเป็นสิ่งที่สามารถบริหารจัดการได้อยู่

กูรูชี้แจงว่า มันเป็นความจริงเพียงบางส่วน เพราะในข้อเท็จจริง ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น ปตท.สผ. ก็ไม่สามารถที่จะรับความเสี่ยงโดยถือหุ้น100% ได้ทั้งแหล่งเอราวัณ บงกช เพราะ การสำรวจต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีความเสี่ยงสูง จึงต้องมีการกระจายความเสี่ยงให้พันธมิตรรายอื่นๆ โดยบทบาทของปตท.สผ. นั้นเป็นบทบาทของInvestor และ Operator ข้อเสนอคปพ.ที่ให้ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ขึ้นมาถือครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินในแหล่ง อาจจะทำได้ในฐานะเป็นตัวแทนกระทรวงการคลัง ที่จะเข้ามาถือหุ้น ในบทบาทของInvestor แต่ไม่ควรเป็นOperator ที่ปตท.สผ.เป็นอยู่แล้ว หรือเป็น Regulator ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทำหน้าที่อยู่ เพราะจะมีความซ้ำซ้อนกันโดยไม่จำเป็น
                  ....................................................................................................................................................

Round 6: อมยิ้ม11
คปพ.บอกว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ในกลไกที่ทำให้ราคาพลังงานของมาเลเซียมีราคาต่ำกว่าของประเทศไทย เพราะกรณีของประเทศมาเลเซียนั้น ไม่ได้ใช้เงินกองทุนอุดหนุน หรือ ภาษีมาอุดหนุนตรึงราคาพลังงาน Subsidized อย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้

กูรูชี้แจงว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าประเทศเพื่อนบ้านมีราคาพลังงานถูกกว่าประเทศไทยนั้น เพราะมีเงินอุดหนุนในการตรึงราคาให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว โดย คปพ.แถลง บอกว่า นายกรัฐมนตรีกำลังยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียซึ่งยังไม่ใช่ข้อมูลที่ครบถ้วน เพราะมาเลเซียมีรัฐวิสาหกิจบริษัทปิโตรนาสทำหน้าที่เป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติมาเลเซีย โดยรัฐบาลมาเลเซียถือหุ้นร้อยเปอร์เซนต์นั้น ก็ไม่ได้แย้ง ว่านายกรัฐมนตรีนั้นพูด ผิด เพราะไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แต่มาเลเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ดังนั้น การที่ไทยจะเอาเงินไปอุดหนุนราคาจะยิ่งทำให้เกิดการบิดเบือน และเป็นภาระให้ประชาชน ส่วนมาเลเซีย นั้นสามารถนำรายได้จากการส่งออก รัฐสามารถที่จะนำเงินรายได้จากการส่งออกมาอุดหนุนราคาน้ำมันให้กับคนในประเทศได้ใช้ถูกลงได้
                  ....................................................................................................................................................

และประเด็นจาก คปพ. อันที่ 7: อมยิ้ม11
นายกบอกว่าถ้าค่าไฟแพงเพราะเกิดจากความล่าช้าในการให้สิทธิ์ผลิตปิโตรเลียม คปพ.จะต้องรับผิดชอบ ทาง คปพ.บอกว่า ตราบใดที่นายกยังไม่ได้ทำตามข้อเสนอของ คปพ. ก็จะให้ คปพ. มารับผิดชอบกรณีดังกล่าวไม่ได้
vvv
vv
v
ประเด็นนี้กูรูไม่ได้ทำการชี้แจงเอาไว้ จึงขออนุญาตแสดงความเห็นส่วนตัว  
"จากการอ่านข้อมูลทั้งหมด 2 ฝั่งในครั้งนี้ มันทำให้เราเห็นว่าข้อเสนอของ คปพ.นั้นมีความไม่แน่นอนอยู่สูงมาก มองอนาคตไปไกลๆ ก็นึกว่าทำไมเราจะต้องเสี่ยงอะไรขนาดนั้นว้าาาาา เสี่ยงต่อการนำเข้าทั้งหมด เสี่ยงต่อการใช้ก๊าซราคาแพง ถึงแม้ว่าปัจจุบันราคานำเข้าอาจถูกกว่า แต่เราคงไม่ได้ใช้ราคาถูกตลอดกาลจริงมั้ย  ไหนแนวทางที่จะให้เปลี่ยนระบบการให้สิทธิปิโตรเลียมแบบจ้างผลิต (ซึ่งตอนแรกบอกว่าให้ใช้แบ่งปันผลผลิต ไปๆ มาๆ ทำไมกลายเป็นจ้างผลิตก็ไม่รู้) ซึ่งมีความเสี่ยงจะเจ๊งสูงมาก  เพราะฉะนั้นเราว่ามันถึงรัฐบาลควรเดินหน้าต่อไปในเส้นทางที่ประเทศมีความเสี่ยงน้อยที่สุด และมีความมั่นคงทางพลังงานมากที่สุด เพื่อความสุขของคนทั้งประเทศ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่