อามะ … อาชีพน่าเหลือเชื่อของผู้หญิงญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมากว่า 2 พันปี


เรื่องโดย : เกตุวดี www.marumura.com

ช่วงนี้ช่องไทยพีบีเอสใกล้จะนำซีรี่ส์ดังญี่ปุ่น “อามะจัง สาวน้อยแห่งท้องทะเล” มาฉายแล้ว ชวนนึกถึงรอยยิ้มน่ารักของสาวน้อยโนเน็น นางเอกในเรื่องเลยค่ะ สัปดาห์นี้เกตุวดีเลยขอเกาะกระแสซีรีส์นิดหนึ่งด้วยการนำเสนอเรื่องราวของ “อามะ” หรือ นักดำน้ำ เผื่อใครดูซีรี่ส์จะได้ยิ่งอินนะคะ

1. อามะ คืออะไร


ภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า 海女 แปลตามตัวคือ ผู้หญิงแห่งท้องทะเล หมายถึงผู้หญิงที่ทำอาชีพดำน้ำงมหอยค่ะ อาชีพนี้มีมาตั้งแต่ 2 พันปีก่อนหน้าแล้ว เหล่าผู้หญิงอามะก็จะว่ายน้ำลงทะเลลึกไปงมหอยขึ้นมาเก็บไปขาย หอยที่พวกเธองมส่วนใหญ่เป็นหอยแพง ๆ เช่น หอยเป๋าฮื้อ หอยเม่น อย่างหอยเม่นนี่ตกกิโลละ 3 พันบาทเลยค่ะ


วิธีงมมีสองแบบ คือแบบงมคนเดียว น้ำตื้นกว่า กับแบบมีคนช่วย โดยจะจับเชือกและใช้ตุ้มน้ำหนักถ่วงลงไป https://www.city.toba.mie.jp/suisan/bunka/ama.html
  
เนื่องจากอามะเป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง พวกเธอก็จะงมหอยกันทั้งวัน เฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง ดำผุดดำว่ายอยู่ในน้ำแบบนั้น เป็นอาชีพที่เรียกได้ว่าโหดเอาการอยู่เหมือนกัน

2. อามะดำน้ำได้ลึกไหม

ปีแรกที่ฝึกใหม่ ๆ อามะอาจดำน้ำได้ 4-5 เมตร แต่พอฝึกจนชิน พวกเธอก็สามารถดำดิ่งไปลึกได้ถึง 10 เมตร

3. อามะกลั้นลมหายใจได้นานไหม

ต้องบอกก่อนว่าแม้เทคโนโลยีอย่างถังอ๊อกซิเจนจะพัฒนาไปมาก แต่อามะทั้งหลายก็ยังใช้วิธีดั้งเดิม อย่างมากใส่แค่แว่นกันน้ำ แล้วก็โดดลงไปงมหอยแบบโบราณ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ว่ากันว่าพวกเธอดำน้ำได้นานประมาณ 1-2 นาที (อย่าลืมว่าเธอต้องดำผุดดำว่ายกันหลายรอบมากนะคะ ระยะเวลาเท่านี้ก็เก่งแล้ว)

4. อามะฝึกกลั้นลมหายใจกันยังไง

หากใครมีโอกาสได้ไปชมโชว์อามะ จะเห็นว่าตอนที่อามะลอยขึ้นมาบนผิวทะเล พวกเธอจะผิวปากดังวี้ด วี้ด จริง ๆ แล้ว อันนี้เป็นเทคนิคเฉพาะของอามะจัง โดยเป็นการฝึกขับลมออกจากปอด เพื่อให้หายใจเอาอ๊อกซิเจนเข้าไปให้ได้มากที่สุด ทำให้สามารถกลั้นหายใจได้นานขึ้นค่ะ

5. ทำไมอามะต้องเป็นผู้หญิง

อันนี้เป็นความจริงที่ปวดร้าวเล็กน้อย คือ ผิวผู้หญิงจะมีชั้นไขมันเยอะกว่าผู้ชาย ทำให้สามารถดำน้ำได้นานกว่า ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีชุดประดาน้ำกันความเย็น มีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าผู้ชายทนความหนาวเย็นไม่ได้ดีเท่าผู้หญิง อามะจึงเป็นผู้หญิงเสียส่วนมาก

ว่ากันว่าอามะที่เก่ง ๆ งมหอยได้เยอะ ๆ มักมีร่างกายอวบ (ล่ำ) ค่ะ เพราะทนความหนาวเย็นได้ดีดำน้ำได้นาน ทำให้งมหอยได้เยอะ

6. ถ้าอยากดูอามะ ไปดูได้ที่ไหนบ้าง

สามารถดูได้ที่จังหวัดมิเอะเสียเป็นส่วนใหญ่ค่ะ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ อาจมีเป็นงานเทศกาลบางครั้ง สถานที่ที่ไปง่ายหน่อย น่าจะเป็น Mikimoto Pearl Island ( http://www.mikimoto-pearl-museum.co.jp/eng/index.html ) จังหวัดมิเอะค่ะ ชมอามะเสร็จก็ช้อปไข่มุกไปด้วยได้เลย


ที่นี่มีบริการปิ้งหอยและกุ้งที่อามะเก็บมาให้ทานกันสด ๆ ด้วย http://www.toba.or.jp/amagoya/access.html

ดู ๆ แล้วก็น่าภูมิใจแทนคนญี่ปุ่นนะคะ ที่สามารถรักษาอาชีพดั้งเดิมที่มีมากว่า 2 พันปีไว้ได้นานขนาดนี้ แถมทางช่อง NHK ก็เก่งเหลือเกินที่เลือกหยิบอาชีพเล็ก ๆ อาชีพนี้มาทำเป็นละครแนวสดใส เรียกได้ว่าทำคนญี่ปุ่นหันกลับมาสนใจอาชีพนี้กันเป็นแถว ดิฉันจำได้ว่าฉากแรกของละคร เป็นฉากคุณยายนางเอกงมหอยโชว์หลานแล้วยื่นหอยให้นางชิม คุณหลานกินหอยเม่นอย่างเอร็ดอร่อยไปหลายตัว แล้วคุณยายก็ไปทวงเงินค่าหอยกับแม่นางเอก 555 น่ารักขำสุด ๆ เลยค่ะ

ท่านใดสนใจ ช่องไทยพีบีเอสจะนำมาฉาย เริ่มวันอาทิตย์นี้แล้ว ตั้งแต่เวลา 20.15 – 21.10 น. ค่ะ (ชมทางเน็ทก็ได้นะคะ www.thaipbs.or.th/Live ) ละครเรื่องนี้ดี เชียร์สุดใจค่ะ (จากแนะนำเกร็ดความรู้ กลายมาเป็นเชียร์ละคร …555)

ขอบคุณบทความโดย : เกตุวดี www.marumura.com
http://www.marumura.com/amachan-work/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่