ไมโครซอฟท์-เฟซบุ๊ค' วางเคเบิลข้ามแอตแลนติก

'ไมโครซอฟท์-เฟซบุ๊ค' วางเคเบิลข้ามแอตแลนติก
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559




          วอชิงตัน ดีซี - "เฟซบุ๊ค-ไมโครซอฟท์"  ร่วมทุน วางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเส้นใหม่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก หวังคุมเครือข่ายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเลเพิ่มขึ้น

          เฟซบุ๊ค อิงค์ และไมโครซอฟท์ คอร์ป ร่วมทุนวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเส้นใหม่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก ภายใต้โครงการชื่อ มาเรีย ซึ่งจะทอดยาวกว่า 6,400 กิโลเมตรระหว่างรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐ กับสเปน โดยมีแนวสายใยแก้วนำแสง 8 คู่ ที่จะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อที่มีศักยภาพสูงสุดข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ทั้งยังได้รับความร่วมมือจาก เทเลโฟนิกา เอสเอ บริษัทอินเทอร์เน็ตของสเปน ในการสร้างสายเคเบิลด้วย ซึ่งคาดว่า จะเริ่มให้บริการได้ในปีหน้า

          การวางสายเคเบิลนี้ เป็นการเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ที่ใช้งบประมาณสูงของบรรดาบริษัทด้านอินเทอร์เน็ต ที่ต้องการควบคุมข้อมูลของตัวเองมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์ และเฟซบุ๊ค ได้ลงทุนในโครงการวางสายเคเบิล ข้ามมหาสมุทรโครงการอื่นๆมาแล้ว เช่นเดียวกับ อัลฟาเบต อิงค์ บริษัทแม่ของกูเกิล และ อเมซอน ดอท คอม อิงค์

          แถลงการณ์ร่วมของ 2 บริษัท ระบุว่า โครงการเคเบิลใหม่นี้ จะทำให้ต้นทุนลดลง และเพิ่มอัตราการส่งถ่ายข้อมูล (แบนด์วิดท์) และช่วยเพิ่มความสะดวกให้การขยายข้อมูลที่ใช้งานทั่วโลก ทั้งการใช้งานเชิงพาณิชย์ อย่างเช่น ระบบคลาวด์คอมพิวติง และการใช้งานส่วนตัว อย่าง การแชร์รูปภาพในโซเชียลมีเดีย

          นายคริสเตียน เบลาดี ผู้จัดการทั่วไปด้านกลยุทธ์จากศูนย์ข้อมูลของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า บริษัทต้องการเสริมเครือข่ายของ ตัวเอง และลงทุนในพื้นที่ที่ยังไม่มีสายเคเบิล ซึ่งเคเบิลข้ามแอตแลนติกส่วนใหญ่จะวางจากพื้นที่แถบนครนิวยอร์กไปยังยุโรปเหนือ เนื่องจากอาจเกิดความเสี่ยงได้ เมื่อมีสายเคเบิลแค่สายเดียวหรือ 2 สาย ขณะที่ต้นทุนโดยรวมของการโอนถ่ายข้อมูลข้ามทวีปนั้นเพิ่มสูงขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทโทรคมนาคมรายเดิมหากำไรได้ลำบากขึ้น แต่ความลำบากนี้ ไม่ได้สร้างผลกระทบ มากพอกับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐรายใหญ่ ที่ต้องการส่งข้อมูลจำนวนหลายพันล้านบัญชี ผ่านศูนย์ข้อมูลหลายแห่งทั่วโลก เนื่องจากการลงทุนมีต้นทุนสูง แต่เป็นวิธีเดียวที่บริษัทอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ทำได้

          นายอลัน มอลดิน ผู้อำนวยการการวิจัยของบริษัทวิจัยตลาด เทเลจีโอกราฟี ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้บริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่หลายรายเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญของโครงการเคเบิลใต้ทะเลราคาสูงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนจากบริษัทภายนอก ทั้งยังตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดถึงสิ่งและสถานที่ที่จะสร้าง



          อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์และเฟซบุ๊ค ขอไม่เปิดเผยต้นทุนของโครงการใหม่นี้ แต่นายมอลดิน เผยว่า ปกติแล้ว การวางสายเคเบิล ข้ามแอตแลนติกจะต้องใช้เงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์ และบริษัทเหล่านี้ ยังต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาล เนื่องจากองค์กรด้านความมั่นคงในหลายประเทศมองว่า เคเบิลใต้ทะเลเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

          ปัจจุบัน บริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ เกือบทุกแห่ง เน้นลงทุนด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เชื่อมหลายเมืองในยุโรป อเมริกา และเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ เข้าด้วยกัน

          กูเกิล เป็นบริษัทที่มีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้รายแรกๆ โดยได้จับมือกับพันธมิตรเพื่อวางเคเบิลใต้ทะเลยาว 10,000 กิโลเมตร ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อ ปี 2553

          และขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของ การวางสายเคเบิลข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกอีกสาย และสายเคเบิลข้ามแอตแลนติกจากสหรัฐไปบราซิลอีก 1 สาย

          ส่วนมาเรีย เป็นการลงทุนเพื่อสาธารณะกับสายเคเบิลข้ามแอตแลนติกครั้งที่ 3 ของไมโครซอฟท์ ทั้งยังเคยเป็นผู้นำการลงทุนของสหรัฐในโครงการ "นิว ครอส แปซิฟิก เคเบิล" ไปยังจีนแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ อเมซอน ดอท คอม อิงค์ ก็ได้ร่วมลงทุนในโครงการเคเบิลฮาวายกิ จากรัฐออริกอนและรัฐฮาวายไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

          นอกจากนี้ เทลเซียส บริษัทโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของเทเลโฟนิกา จะเป็นผู้จัดการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเมื่อโครงการเคเบิลล่าสุดนี้เสร็จสิ้น แม้จะออกแบบระบบให้เฟซบุ๊คและไมโครซอฟท์เป็นผู้ควบคุมข้อมูลก็ตาม การจัดตั้งนี้จะช่วยให้บริษัทแต่ละแห่งส่งข้อมูลของตัวเองผ่านสายใยแก้วนำแสงและช่วยปรับปรุงอุปกรณ์ของกันและกันเมื่อมีอุปกรณ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด


แหล่งข่าว
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 3)
ภาพประกอบจากข่าวต่างประเทศ http://techcrunch.com/
http://techcrunch.com/2016/05/26/microsoft-and-facebook-are-building-the-fastest-trans-atlantic-cable-yet/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่