เชียงรายหน้าร้อน...เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย



Story: Anya.Wan
Photos: Jarareab


ในปีที่ว่ากันว่าอุณหภูมิของเมืองไทยทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 56 ปี ฉันเดินทางมาเชียงรายในหน้าร้อนเป็นครั้งแรก เมืองที่ใครหลายคนมักจะคิดถึงเฉพาะตอนหน้าหนาว แต่ฉันคิดว่าเมืองทุกเมืองในฤดูกาลที่แตกต่างก็ให้ประสบการณ์และความรู้สึกกับผู้มาเยี่ยมเยือนในแบบที่ต่างกันไป



ฉันเดินทางมาแบบไม่รู้เลยว่าเชียงรายหน้าร้อนจะมีอะไรให้พบเจอ นอกจากอากาศร้อนซึ่งเป็นผลพวงจากไฟป่าและภาวะโลกร้อน รู้แค่ว่าการมาเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่นทำให้ฉันไม่ต้องเจอความแออัดของผู้คน ทำให้ฉันได้ตั๋วเครื่องบินราคาถูก และบางทีอาจได้เจอความงามในมุมมองใหม่ที่คนอื่นไม่เห็น

DAY 1:

13.00 ไร่แม่ฟ้าหลวง

17.00 หาดเชียงราย


บอกตรงๆ ว่าหน้าร้อนนี้ ฉันเสพข่าวเรื่องไฟไหม้ป่าจนรู้สึกแย่ ภาคเหนือเคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร วิถีชีวิตของผู้คนผูกพันกับไม้มาตั้งแต่โบราณ บ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงงานศิลปะ ล้วนมีไม้เป็นส่วนประกอบ แต่วันนี้กลายเป็นว่าเราชินกับภาพภูเขาหัวโล้นและแม่น้ำแห้งขอดมากกว่า ปัญหาที่ว่ามากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันอยากรู้เรื่องของ ‘ไม้’ มากขึ้น

โชคดีที่ฉันมาถึงเชียงรายในช่วงที่หมอกควันไฟป่าเพิ่งจางไปเมื่ออาทิตย์ก่อน และอากาศก็เลยจุดร้อนจัดไปแล้ว ฉันจึงเลือกมาเยือนอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) เป็นที่แรก เพราะเป็นสถานที่ที่รวบรวมศิลปะงานไม้แบบล้านนาไว้ได้สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง




ระหว่างขับรถเข้ามาจอด เห็นหนองน้ำขนาดใหญ่ในไร่ที่เคยเต็มปริ่ม แต่ตอนนี้แห้งจนเหลือแต่ดินแตกระแหงจนคนลงไปเดินเล่นได้ ต้นไม้ก็ไม่แน่นครึ้มอย่างที่เคยเห็นตอนหน้าหนาว แต่สิ่งที่หน้าหนาวไม่มี คือดอกไม้หน้าร้อนที่แข่งกันบานสะพรั่ง ไม่ว่าจะเป็นพันจัม, อำพันทอง, ชบา, ยี่โถ, อโศกเหลือง,ประดู่ม่วง, บุนนาคสีชมพู, ฝนแสนห่า และลีลาวดี ฯลฯ ฉันเก็บเวราครูซ โรส (Vera Cruz Rose) ลีลาวดีพันธุ์หนึ่งที่กลิ่นเหมือนกุหลาบ ใส่กระเป๋ากางเกงมา 3 ดอกเพราะหอมดี ไม่ได้เด็ดจากต้นนะ มันร่วงอยู่ที่พื้น



บนเนื้อที่กว่า 150 ไร่ นอกจากพืชพรรณที่มีให้เดินดูไม่รู้จบ ก็ยังมีงานไม้แบบล้านนาให้ได้ศึกษา ‘หอคำ’ คือสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นที่สุดในไร่แม่ฟ้าหลวง สร้างจากไม้เก่าที่ได้จากบ้าน 32 หลังในภาคเหนือ หลังคาไม้สักเป็นแบบแป้นเกล็ดโบราณยึดติดกันไว้ด้วยลิ่มไม้โดยไม่มีการใช้ตะปู ฉันเข้าไปสักการะ ‘พระพร้าโต้’ ก่อนเป็นอันดับแรก พระพุทธรูปประจำหอคำอายุประมาณ 300 ปี แกะสลักจากไม้สักทองโดยใช้มีดพร้าเพียงเล่มเดียว แล้วก็เดินดูเครื่องไม้อันเป็นพุทธศิลป์ที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ จากวัดในหลายจังหวัดของภาคเหนือ อย่างเช่น เชิงเทียนไม้เก่าแก่ ตุงหรือธงที่ทำจากไม้ และขันดอก (ภาชนะใส่ดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ) แต่ละชิ้นอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี




ข้างในหอคำโปร่งโล่งและมีลมพัดผ่านเข้าออกตลอด เย็นสบายโดยไม่ต้องติดแอร์สักเครื่อง เจ้าหน้าที่บอกว่า ด้วยความที่ในไร่มีต้นไม้ใหญ่เยอะ อุณหภูมิจึงต่ำกว่านอกไร่ประมาณ 3-4 องศาแม้ในวันที่ร้อนที่สุด ตอนแรกไม่รู้สึกอย่างนั้นเพราะดันไปเดินดูดอกไม้หน้าร้อนท่ามกลางแดดเปรี้ยง แต่พอกลับเข้ามาในที่ร่ม โดยเฉพาะบริเวณหอคำ เหงื่อก็แห้งหมด เหลือแต่ความสงบเย็น





ใกล้ๆ กันมีหอคำน้อยเป็นที่เก็บจิตรกรรมสีฝุ่นผสมยางไม้ เขียนลงบนแผ่นไม้สักอายุร้อยกว่าปี ถือเป็นตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างล้านนาที่หาดูได้ยาก เสียดายที่ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แต่เรายังสามารถไปเดินดูงานไม้รอบๆ ได้อีกหลายส่วน ทั้งเสาแกะสลัก ชิงช้าไม้สัก ประติมากรรมไม้ที่ตั้งประดับอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ โครงหลังคาพระอุโบสถ นิทรรศการเกี่ยวกับไม้ที่หอแก้ว หรือจะเดินเล่นในสวนไม้สักที่ด้านหลังก็ได้



ออกจากประตูแก้วมาเลิงของไร่แม่ฟ้าหลวง ฉันเห็นป้ายบอกทางไปหาดเชียงราย (พัทยาน้อย) ตอนแรกไม่รู้ นึกว่าเชียงรายมีทะเล แต่จริงๆ แล้วคือแม่น้ำกกที่เวลาหน้าแล้ง น้ำลง เราจะเห็นทรายอยู่กลางน้ำ ลักษณะเหมือนหาด คนเชียงรายชอบมาเล่นน้ำคลายร้อนกัน ที่นี่…ฉันเห็นดอกหางนกยูงสีแสดเบ่งบานเต็มต้น เรียงรายเป็นทิวแถว




มาเชียงรายครั้งนี้ ฉันได้เจอพายุฤดูร้อนขนาดย่อมๆ ด้วย ตอนหัวค่ำ ลมพัดแรงจนกิ่งไม้หักหล่นรวมกับใบไม้ปลิวว่อนทั่วถนน แล้วฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ ขนาดที่ปัดน้ำฝนเบอร์แรงสุดก็เอาไม่อยู่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่