'หัวเว่ย' เลือกไทย เปิดสำนักงานใหญ่บุกภูมิภาค


'หัวเว่ย' เลือกไทย เปิดสำนักงานใหญ่บุกภูมิภาค
โดย MGR Online     21 พฤษภาคม 2559

          ปรากฎการณ์ หัวเว่ย ทุ่มเงิน 400 กว่าล้านบาท ในการเลือกประเทศไทย เป็นทำเลตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อดูแล 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ได้แก่ ไทย อินเดีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า ดูแลโอเปอเรเตอร์ กว่า 65 ราย ที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย สร้างความตื่นเต้นให้กับรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก หลังจากที่หัวเว่ย ได้รับการสนับสนุนมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศในประเทศไทย (International Headquarters : IHQ) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558
       
          มั่นใจไทยเป็นไอซีที ฮับ ในภูมิภาค
          หัวเว่ยทำธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานกว่า 19 ปี มีสำนักงานประจำประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2542 ทำให้หัวเว่ยวิเคราะห์ภาพรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และผู้คนในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยผลประกอบการในประเทศไทย5 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทถึงกว่า 20,000 ล้านบาท หรือ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
       
          เดวิด ซุน ประธานบริหารบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงเหตุผลในการเลือกประเทศไทยว่า เพราะประเทศไทยมีนโยบาย Digital Economy ที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นไอซีที ฮับ ได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในประเทศ การเมือง และเศรษฐกิจที่มั่นคง และหัวเว่ยเองจะมีการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเร็วๆนี้อย่างแน่นอน โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาร่วมกัน
       
          'เป็นการตัดสินใจที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย เราเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่การเป็นไอซีทีฮับของภูมิภาค และเราจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี ในขณะที่ศักยภาพในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และดิจิตอลยังมีอีกมาก หัวเว่ยจึงจะทำงานร่วมมือกับรัฐบาล ลูกค้าและพันธมิตรในอุตสาหกรรมไอซีที และทุกภาคส่วนของสังคมต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน'



          ชูศูนย์ CSIC โชว์นวัตกรรมหัวเว่ย
          สำหรับสำนักงานใหญ่แห่งนี้อยู่บนพื้นที่ 4,380 ตารางเมตร นอกจากเพื่อทำหน้าที่ทำงานรองรับโอเปอเรเตอร์ในภูมิภาคดังกล่าวแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC (Customer Solution Innovation and Integration Experience Center) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของไทย และผลักดันให้ไทยได้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของภูมิภาค
       
          ศูนย์ CSIC เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการ การเรียนรู้เชิงนวัตกรรมระดับโลกอันทันสมัยที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสประสบการณ์ รวมถึงออกแบบ พัฒนา และสร้างสรรค์โซลูชัน และแอปพลิเคชันด้านไอซีทีขึ้นเองได้ ซึ่งโซนจัดแสดงภายในศูนย์ CSIC ได้รวบรวมเอาตัวอย่างแอปพลิเคชัน และบริการอื่นๆ จากลูกค้า และห้องปฏิบัติการฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ของหัวเว่ย เอาไว้กว่า 120 รายการ เช่น 4K Video เทคโนโลยี IoT บรอดแบนด์แห่งชาติ เครือข่ายเคเบิลใต้น้ำ และโมบาย บรอดแบนด์
       
          ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมสามารถสัมผัสประสบการณ์ด้านนวัตกรรมโซลูชั่นเชิงธุรกิจสำหรับองค์กรของหัวเว่ยได้หลากหลาย อาทิ โซลูชั่น ' Safe City' รวมถึงสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สวมใส่สำหรับผู้บริโภคตัวใหม่ล่าสุดอย่าง Mate 8 หรือสมาร์ทโฟนรุ่น P9 และ P9 Plus และเป็นครั้งแรกที่ผู้ใช้ P9 หรือ P9 Plus ที่จะได้สัมผัสกับกล้องคุณภาพเยี่ยมจาก LEICA ที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับหัวเว่ยเพื่อกำหนดนิยามใหม่ของการถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟน
       
          โดย ศูนย์ CSIC แบ่งเป็นโซนต่างๆ เริ่มจากPersonal Zone จัดแสดงเทคโนโลยีและโซลูชั่นล่าสุด เพื่อประสบการณ์การเชื่อมโยงสื่อสารระหว่างผู้คน ทั้งการโฮสติ้ง ทราฟิก และบิ๊กดาต้า ส่วนHome Zone เพื่อสาธิตการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน เพื่อทำบ้านให้เป็น 'Smart Home' อาทิ e-Health, Video Everywhere และ 4K TV หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'Ultra HD'
       
          ในขณะที่ Digital Transformation Zone เป็นการนำโซลูชั่นด้านดิจิตอลต่าง ๆ อาทิ Cloud Computing, Software-Defined Networking (SDN) และ Network Functions Virtualization - NFV รวมไปถึง Business Enablement Suite (BES) มาแสดง และ Network Transformation Zone เป็นโซนเพื่อการเปรียบเทียบคุณภาพของเน็ตเวิร์กแบบใหม่ๆ และการวิเคราะห์ Gap สำหรับการสร้างเครือข่ายคุณภาพสูง ผลิตบุคลากรป้อนตลาด
       
          นอกจากนี้ สำนักงานเปิดใหม่ ยังมีศูนย์อบรมเพื่อรองรับลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริโภคชาวไทย ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่างๆ ประกอบด้วย ห้องฝึกอบรม 5 ห้อง รองรับได้กว่า 100 คน โดยภายในห้องมีระบบเสียงพร้อมรองรับการถ่ายทอดภาพสดสำหรับกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การประชุม การประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมไปถึงห้องปฏิบัติการระบบพื้นฐาน ระบบไร้สาย
       
          เดวิด กล่าวว่า ศูนย์ฝึกอบรมแห่งแรกของหัวเว่ยในกรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ได้จัดการอบรมไปแล้ว 130,000 คน ช่วยสร้างงานให้กับบุคลากรกว่า 5,000 คนหรือกว่า 400 แห่ง ของบริษัทพันธมิตรในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและดิจิตอล คิดเป็นเงินลงทุนสูงถึง 520 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหัวเว่ยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก นอกเหนือจากการลงทุนด้านสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยี เพราะหัวเว่ยเชื่อว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเร่งการสื่อสารระหว่างคนและการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้คนและองค์กรสามารถมองเห็นความก้าวหน้าและเติบโตมากขึ้น
       
          นอกจากนี้ ที่ผ่านมา หัวเว่ย ยังมีโครงการ Seeds for the Future ด้วยการจับมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแบ่งปันความรู้ ความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่องให้กับนักศึกษาและอาจารย์ที่สนใจ นอกจากนี้ล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ได้ลงนามความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการมอบระบบ ไอพี เน็ตเวิร์ก ให้นิสิตได้เรียนรู้และทำวิจัย พร้อมมอบทุนการศึกษาให้นิสิตระดับปริญญาตรีและโทอีก 5 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี รวมมูลค่า 10 ล้านบาท ซึ่งปัจุจบันหัวเว่ยได้ฝึกอบรมพนักงานด้านเทคนิคไปแล้วกว่า 10,000 คน และก่อให้เกิดการจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 5,000 อัตรา
       
          ผู้บริหาร หัวเว่ย กล่าวว่า การเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคและศูนย์ฝึกอบรม ถือเป็นการทำฝันของหัวเว่ยให้กลายเป็นจริง นั่นคือทำให้หัวเว่ยได้มีสถานที่จัดแสดงที่ครบครัน และสามารถต้อนรับและรองรับลูกค้าของหัวเว่ยทั้งผู้บริโภคทั่วไป ไปจนถึงบุคลากร นิสิตนักศึกษา และคณาจารย์ด้านไอที จากผู้ใช้ไปจนถึงผู้ประกอบการหรือรัฐวิสาหกิจระดับโลกได้
       
          นับเป็นความลงตัวที่สอดรับกับความต้องการของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้หัวเว่ยเข้ามาขยายบทบาททางธุรกิจในประเทศไทย เห็นได้ชัดจากการกล่าวแสงความยินดีอย่างมาก ของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมาตรี ในวันเปิดศูนย์ CSIC พร้อมมั่นใจว่าจะเกิดความร่วมมือกันอีกหลายๆด้านกับหัวเว่ยในอนาคตโดยเฉพาะภาคการศึกษา และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางในการโปรโมทประเทศ ทำให้หัวเว่ยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในครั้งนี้







แหล่งข่าว
Manager Online
http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000050603
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่