วิพากษ์ เรื่อง “เน็ตไอดอล” คนดัง หรือ ขยะโซเชียล

ในยุคสมัยนี้หากเราใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ้ก ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม หรือยูทูป จะพบว่ามีผู้ใช้ที่มียอดไลก์ ยอดการรับชม และการแสดงความเห็นต่อผู้ใช้นั้นสูงเป็นอย่างมาก แล้วพวกเขาและเธอเหล่านั้นจะได้รับการเรียกขานว่าเป็นเน็ตไอดอล

                        เน็ตไอดอลคืออะไร ทำไมถึงเรียกเช่นนั้น เน็ตไอดอล คือ บุคคลในโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีผู้คนให้ความสนใจ แต่ทั้งนี้แล้วความสนใจก็ไม่ได้บ่งบอกว่า เน็ตไอดอลคนนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ที่ติดตามหรือไม่ หลายๆ คนคงสงสัยไม่น้อยว่า เราจะใช้คำว่าเน็ตไอดอลได้กับใคร ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ ๑๐ ปีที่แล้ว มีเน็ตไอดอลคนแรกๆ ของประเทศไทยนั่นคือ เต้ย จรินทร์พร ด้วยความที่เธอมีภาพของความน่ารัก ประพฤติตัวดีไม่เคยมีข่าวที่เสียหาย และเมื่อมีผลงานเธอก็เลือกรับงานที่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ติดตามเธอ หลังจากนั้นมาคำว่า เน็ตไอดอล จึงถือกำเนิดขึ้น และในปัจจุบันคำดังกล่าวนี้ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายกับบุคคลที่มีผู้ติดตามสูงในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่มีความเห็นจากหลายคนว่า เน็ตไอดอลในปัจจุบันนี้ไม่ได้ขายฝีมือ ความสามารถ และไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนทั่วไปที่ได้ติดตาม หากแต่เป็นการโปรโมทตนเอง โชว์เรือนร่างเพื่อให้ตนมีกระแส และได้รับความสนใจจากคนทั่วไป หลายคนเรียกบุคคลที่เป็นแบบนี้ว่า ขยะโซเชียล แต่การกระดังกล่าวนี้ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติของบุคคล เพราะตามทฤษฎีความต้องการพื้นฐานของมาสโลว์ ได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์มีความต้องการยอมรับนับถือจากผู้อื่น จึงทำให้เน็ตไอดอลในปัจจุบันนั้นแสดงออกทุกวิธีทางเพื่อให้ตนเองมีที่ยืนและได้รับการยอมรับจากคนในสังคม คนที่ติดตามเน็ตไอดอลนี้มองว่าการที่เน็ตไอดอลปัจจุบันโชว์หน้าตา เรือนร่างเป็นเรื่องปกติเพราะตนก็อยากมีใบหน้าและหุ่นที่ดูดีจึงถือว่าเป็นไอดอลของตน แล้วเน็ตไอดอลแบบไหนกันที่เราสามารถเรียก “เน็ตไอดอล” ได้อย่างเต็มปาก เพราะทั้งสมัยก่อนและปัจจุบันเราก็ต่างเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “เน็ตไอดอล” อย่างไรก็ตามการที่จะสร้างคุณค่าให้คำคำนี้สูงขึ้น เห็นจะเป็นความประพฤติของเน็ตไอดอลเอง ซึ่งการเป็นเน็ตไอดอลที่ดี ขออนุญาตเปรียบเทียบดังต่อไปนี้
                     ๑.    มีความรู้ความสามารถในตัวเอง เช่น การเรียน ดนตรี กีฬา การมีความรู้ความสามารถจะเป็นสิ่งแรกที่คนทั่วไปจะให้การยอมรับและนำไปเป็นแบบอย่างที่ดีในชีวิตประจำวัน เช่น ฟรัง ฮอร์โมน สามารถนำความรู้ของตนเองสอบติดแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ทำให้มีเสียงชื่นชมยินดีและเป็นแบบอย่างที่ดีได้ หรือถ้ามีความสามารถในตนเอง เช่น กวาง อริสา ที่ร้องเพลงลงยูทูปมีคนชื่นชอบมากมาย สามารถไปประกวดร้องเพลงในรายการ ไทยแลนด์ ก็อต ทาเล็นต์ และได้โอกาสที่ดีขึ้น และสุดท้าย คือ เต้ย จรินทร์พร มีผลงานการแสดงจนเป็นที่ยอมรับ มีรางวัลทางการแสดงมากมาย เช่น รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ทองคำ สิ่งดีๆเหล่านี้สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กได้ เด็กบางคนเมื่อได้แบบอย่างของตนเองแล้ว เขาจะพยายามทำตามแบบอย่างของเขา
                     ๒.สามารถสร้างแรงบันดาลให้ผู้ที่ติดตามอยู่เสมอ ด้วยการโพสต์ถ้อยคำที่ดี รูปภาพที่ลงควรสร้างสรรค์ ไม่อนาจาร เช่น เมส สาวข้ามเพศที่ใส่ชุดไทยเป็นชีวิตประจำวัน จนทำให้ผู้คนหันมาใส่ชุดไทยตามอย่างมากมาย องค์กรต่างๆให้ความสำคัญถึงกับจัดแคมเปญใส่ชุดไทยรับประทานอาหารฟรี นอกจากจะเป็นการกระทำตามในสิ่งที่ดีแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์การแต่งกายของไทยอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันหากลงรูปที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม ไม่มีความสร้างสรรค์ก็จะตามมาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์จากการติดตามแล้ว ยังไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนด้วย
                     ๓.สร้างความสุข ความบันเทิงจากเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง เน็ตไอดอลไม่จำเป็นตั้งมีดีแค่หน้าตา บางคนมีเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่น สามารถดึงจุดเด่นตรงนั้นมาสร้างความสุขให้แก่คนทั่วไปที่ติดตามได้ เห็นได้จาก แม่บ้านมีหนวด ที่มีการสร้างสรรค์การถ่ายรูปจนมาคนติดตามถึงหลักแสน คนต่างชื่นชมว่าสามารถดึงจุดเด่นของตนเองมาสร้างความสุขให้คนที่ติดตามได้ได้ ไม่เพียงแค่นี้ยังมีมะเดี่ยวที่มีการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆรอบตัวจนเกิดความโดดเด่นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก และได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในรายการ เอเชีย เน็กส์ ท็อป โมเดล รวมถึงมะเฟืองเอง ที่นำเอาความตลกของตนเองมาเป็นเอกลักษณ์สามารถสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแก่ผู้ติดตามได้อย่างมากมาย หากเราหาเอกลักษณ์ของตนเองเจอ และทำให้เป็นจุดเด่น เราก็จะสามารถสร้างความสุขให้แก่ผู้ที่ติดตามได้
                    ๔.    ทำตนให้เป็นประโยชน์ เมื่อเรามีฐานคนติดตามมากแล้ว แน่นอนว่าเราจะทำอะไรมักจะมีคนจับตาและทำตามเรามากขึ้น เราควรใช้โอกาสนี้ด้วยการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ แนะนำให้คนที่ติดตามทำตามในเรื่องที่ดี สร้างสรรค์ ยกตัวอย่าง เช่น เต้ย จรินทร์พร มีผู้ติดตามในอินสตราแกรม 3 ล้าน 6 แสนคน ติดอันดับที่ 11 ไอจีที่มียอดติดตามสูงที่สุดในประเทศไทย เต้ยมักจะโพสรูปภาพเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ดูแลช้างให้คนทั่วไปได้เห็น และตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ และสัตว์ เมื่อฐานคนติดตามมากขึ้น หากเราโพสในสิ่งที่ดี สร้างสรรค์ จะสามารถเชื้อเชิญให้คนหันมาทำตามอย่างที่เต้ยทำ แต่ในขณะเดียวกัน คนๆหนึ่ง คนที่หลายคนเรียกว่าเน็ตไอดอล มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้าน 2 แสนกว่าคนในเฟซบุ้ก กลับโพสภาพที่ไม่สร้างสรรค์ แล้วเยาวชนที่ติดตามล่ะครับ เขาจะทำตามไหม การที่โพสแบบนี้ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เขาควรที่จะใช้ฐานผู้ติดตามนั้นทำประโยชน์ต่อสังคมในด้านที่ตนเองสนใจ เช่น ตัวเขาเองยอมรับว่าเป็นเกย์ เขาก็ควรทำในสิ่งที่สร้างคุณค่าต่อตนเอง และผู้อื่น โดยดึงจุดเด่นและความสามารถของตนเองออกมาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่ตนเองมี

                   การเป็นเน็ตไอดอล เปรียบเสมือนเป็นดาบสองคม หากประพฤติตัวและเป็นแบบอย่างที่ดี จะได้รับการยอมรับนับถือ และได้รับโอกาสทางสังคมมากมาย เหล่านี้เราจะสามารถเรียกเขาและเธอได้อย่างเต็มปากว่าเป็น “เน็ตไอดอล” แต่ถ้ามองดาบด้ามที่คมอีกด้าน จะพบว่าเน็ตไอดอลหากประพฤติตนไม่ดี สร้างความอนาจารแก่สังคม ก็จะมาพร้อมกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของคนสังคมที่พร้อมใจกันเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “ขยะโซเชียล” มากกว่าที่จะเรียก “เน็ตไอดอล”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่