(Zeta Gundam) เหตุใดโมบิลอาร์เมอร์รูปร่างทรงกลมอย่าง asshimar จึงสามารถบินได้ราวกับเครื่องบิน?

สวัสดีเพื่อนๆสมาชิกทุกท่านนะครับผม

ยังจำกระทู้ที่ผมเคยมา"บ่น"เกี่ยวกับกันดั้มซีดเดสทินี่ได้รึเปล่าครับ?ในกระทู้นั้นมีคห.ย่อยนึง ที่พูดถึงเกี่ยวกับเจ้าโมบิลอาร์เมอร์ asshimar ตัวนี้และบอกว่า"ด้วยรูปทรงแบบนี้มันไม่น่าจะบินได้ราวกับอากาศยานในเรื่อง" ซึ่งในตอนแรกผมเองก็คิดแบบเดียวกันนี้ครับ แต่ช่วง 4-5 วันที่ผ่านมาผมได้ตัดสินใจไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักแอโร่ไดนามิคและวิศวกรรมการบิน และจากการนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ทำให้ได้ข้อสรุปใหม่มาครับว่า"asshimar สามารถบินได้โดยอาศัยหลักแอโร่ไดนามิคเหมือนกับเครื่องบินและถ้าว่าตามเทคโนโลยีในเรื่องเซต้ากันดั้มแล้วการที่มันจะมีความสามารถในการบินราวกับเครื่องบินนั้นเป็นไปได้ครับ"วันนี้ผมเลยจะนำข้อมูลเหล่านั้นและการวิเคราะห์ของผมมาให้ทุกท่านดูกันครับแต่ผมคงจะไม่ได้ลงลึกถึงการคำนวณหาแรงยกหรืออะไรขนาดนั้นนะครับ แต่จะพูดถึงแค่ดีไซน์ซะมากกว่า (บอกก่อนนะครับว่าผมเองไม่ได้เข้าใจเรื่องอากาศพลศาสตร์หรือวิศวกรรมการบินดีนักถ้าใครเห็นต่างหรือคิดว่าผมเข้าใจอะไรผิดบอกมาได้ที่คห.ด้านล่างเลยนะครับ)


แต่ก่อนอื่นต้องดูถึงสเปคของเจ้า asshimarกันก่อน(โดยผมจะนำมาแต่ข้อมูลที่คิดว่าเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ถ้าใครต้องการทราบข้อมูลตัวเต็มไปที่ลิงค์นี้เลยนะครับ
http://gundam.wikia.com/wiki/NRX-044_Asshimar)

ร่าง Mobile Suit (ต่อจากนี้ขอย่อว่า MS)

  

ร่าง Mobile Armor (ต่อจากนี้ขอย่อว่า MA)



ความยาวในร่าง MA : 18.4 เมตร
น้ำหนักทั้งหมด : 63.8 ตัน
กำลังเครื่อง : 2010 kw 2695.454 hp
ความเร่งสูงสุดในร่าง MA : 1.48 G (14.504 m/s^2)
จำนวนทรัสเตอร์(ไอพ่นขับดัน)ที่ติดตั้งรอบตัว : 10 ตัว
แรงขับดันของทรัสเตอร์ : 2×17300 kg 38139.96lb
                                    19.07 tons

                                    2×16800 kg 37037.65lb
                                    18.519 tons

                                    26090 kg 57320.172lb
                                    28.66 tons
                                    (ใช้งานในร่าง MA เท่านั้น)

ความเร็วสูงสุดที่วัดได้ในเรื่อง : มากกว่า 3 มัค

บอกก่อนนะครับว่าผมคงจะไม่ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณตามสมการของแบลูนี่นะครับ(เนื่องจากตัวผมไม่ถนัดในด้านนี้และยังมีความเข้าใจไม่พอ) แต่จะนำมาเพื่อให้ทุกๆท่านได้เห็นถึงข้อมูลและความสามารถของเจ้านี่เฉยๆ

ต่อมาเรื่องการออกแบบครับผม

หลายๆคนที่ไม่เคยดูกันดั้มจักรวาล U.C ซึ่งเป็นภาคแรกๆนั้นอาจจะไม่ทราบนะครับว่าจริงๆแล้วนั้นในกันดั้มภาคแรกๆหุ่นยนต์หรือ MS ในเรื่องจะไม่สามารถบินได้ด้วยตัวมันเองเนื่องจากรูปร่างที่ไม่เหมาะสมต่อการบินจึงต้องอาศัยยานขนส่งหรือการเปลี่ยนร่างเป็นรูปแบบเครื่องบิน เพื่อใช้ในการบินบนอากาศแทนครับทำให้การออกแบบหลายๆอย่างต้องอาศัยหลักแอโร่ไดนามิคหรืออากาพลศาสตร์เป็นอย่างมากถ้าเป็นแบบนี้คำถามก็คือ "ตกลงแล้วเจ้า asshimar เป็นโครงสร้างแบบแอโร่ไดนามิครึเปล่า?" คำตอบก็คือ เป็นครับ แต่ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันก่อนว่าโครงสร้างแบบแอโร่ไดนามิคเป็นอย่างไร?

โครงสร้างแบบแอโร่ไดนามิคคืออะไร

เดิมทีนั้นวิชาแอโร่ไดนามิคหรืออากาศพลศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนไหลของอากาศและก๊าซที่ส่งผลทำให้เกิดแรงที่ทำให้วัตถุเคลื่อนที่ไปในอากาศได้ครับ(ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย และเว็บไซต์ crewsociety นะครับ) โดยโครงสร้างแบบแอโร่ไดนามิคก็คือโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้วัตถุนั้นๆสามารถเคลื่อนตัวผ่านอากาศได้ดีขึ้น(และพอสามารถเคลื่อนตัวผ่านอากาศได้ดีขึ้นจะทำให้อากาศ"ไหล"ผ่านวัตถุได้ดีขึ้นเช่นกันครับ และการทำแบบนี้จะส่งผลต่อการสร้างแรงยกด้วยแต่ผมจะขอพูดถึงในหัวข้อถัดไปนะครับ) โดยเราจะเห็นโครงสร้างแบบนี้บ่อยๆใน รถยนต์ จักรยานยนต์ หรือ เครื่องบิน




ทีนี้เรามาลองดูดีไซน์ของเจ้า asshimar กันบ้าง



คุ้นๆดีไซน์แบบนี้กันบ้างรึเปล่าครับ? หลายคนคงจะไม่คุ้นเคยกันถ้านำมาเทียบกับอากาศยานต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้น แค่ทราบหรือไม่ครับว่าดีไซน์แบบนี้เองก็เป็นดีไซน์แบบแอโร่ไดนามิคเช่นกันและเป็นดีไซน์ที่ถูกนำมาใช้กับของเล่นที่หลายๆคนน่าจะรู้จักกันดีนั่นก็คือ....



จานร่อนครับ เป็นดีไซน์ที่ลู่ลมและสามารถทำให้วัตถุพุ่งฝ่าอากาศได้อย่างดีเช่นกันครับ แต่ที่ไม่ถูกนำมาใช้กับอากาศยานเลยนั้นเป็นเพราะว่าโครงสร้างแบบนี้จะทำให้ความคล่องตัวในการบินนั้นลดต่ำลงครับ ไม่ว่าจะเป็นการหักเลี้ยว การลดระดับเพดานบิน ซึ่งเหล่านี้นั้นโครงสร้างแบบเครื่องบินปกติที่ใช้ปีกนั้นเหนือกว่าในทุกแง่มุม(แต่ในเซต้ากันดั้มก็ให้เหตุผลสำหรับดีไซน์แบบนี้ใว้เช่นกันครับ โดยส่วนกลมด้านบนนั้นจะทำหน้าที่เป็นเกราะห์เพื่อป้องกันส่วนสำคัญต่างๆภายใน อาทิเช่น ห้องเครื่อง เชื้อเพลิง ข้อต่อและกลไกสำหรับใช้ในร่าง MS ฯลฯ และเนื่องจากในจักรวาล U.C นั้นมนุษย์สามารถสร้างเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่นและนำมาใส่ใน MS และ MA ได้แล้วจึงสามารถแก้ปัญหาเรื่องความคล่องตัวได้อย่างไม่ยากเย็นเลยครับนั่นคือ การติดทรัสเตอร์กำลังสูงใว้รอบทิศทางเลยนั่นเอง) เพราะฉะนั้นแล้วต่อให้รูปทรงแบบจานร่อนจะมีความคล่องตัวสู้ไม่ได้ถ้าวัดจากเทคโนโลยีในความเป็นจริง แต่ถ้าถามว่าดีไซน์แบบนี้นั้นเป็นแบบแอโร่ไดนามิคไหม? แล้วสามารถช่วยให้วัตถุฝ่าอากาศได้เร็วขึ้นรึเปล่า? ขอตอบว่า"ใช่ครับเจ้านี้เป็นดีไซน์แบบแอโร่ไดนามิคและช่วยในการฝ่าอากาศให้เร็วขึ้นแน่นอน"

ถ้าเรื่องรูปร่างเคลียร์ไปแล้วเราจะมาดูกันครับว่าโครงสร้างแบบนี้นั้นสามารถสร้างแรงยกได้อย่างไร

แรงยก

แรงยก(หรือ lifting force)เป็นแรงที่ทำให้วัตถุลอยตัวเหนือจากพื้นครับผมโดยเจ้าแรงยกนี้จะเกิดจากการที่แรงดันอากาศที่กระทำกับด้านบนของวัตถุน้อยกว่าแรงดันอากาศที่มากระทำด้านล่างและทำให้สุดท้ายแล้วเหลือแรงลัพธ์เพียงแรงเดียวที่กระทำกับวัตถุนั่นก็คือแรงยกที่มีทิศทางเดียวกับแรงต้านอากาศด้านล่างนั่นเองครับ พวกเครื่องบินเอย เฮลิคอปเตอร์เอยต่างก็อาศัยแรงนี้ในการทำให้พวกมันสามารถเดินทางในอากาศได้เช่นกัน โดยในอากาศยานแต่ละแบบจะมีวิธีการที่จะทำให้เกิดความต่างของแรงทั้งสองนี้แตกต่างๆกันไปแต่ในครั้งนี้ผมจะขอพูดถึงแค่วิธีการของจานร่อนและเครื่องบินนะครับ(เนื่องจากผมคิดว่าน่าจะเหมือนกับหลักการของเจ้า asshimar มากที่สุด)

การสร้างแรงยกของเครื่องบินกับจานร่อน

เครื่องบินจะอาศัยการออกแบบของปีกที่มีส่วนโค้งนูนขึ้นในด้านหน้าและลู่ลงในด้านหลังที่ส่วนบนของปีก ในขณะที่ส่วนล่างของปีกนั้นจะเรียบสนิทครับ จากนั้นก็อาศัยแรงขับเคลื่อนจากไอพ่นของเครื่องบินทำให้เครื่องบินพุ่งไปด้านหน้าและทำให้อากาศไหลผ่านปีกครับ แต่เนื่องจากการดีไซน์ของปีกจะส่งผลให้ความเร็วของอากาศที่ไหลผ่านส่วนบนของปีกนั้นมากกว่า ความเร็วของอากาศที่ไหลผ่านในส่วนล่าง ด้วยความเร็วในการไหลที่แตกต่างกันทำให้แรงดันอากาศที่กระทำที่ส่วนบนของปีกมีค่า"น้อยกว่า"แรงดันอากาศที่ส่วนล่างของปีกนั่นเอง และนั่นแปลว่าอะไรรู้ไหมครับ? เกิดแรงยกนั่นเอง



ส่วนจานร่อนนั้นจะใช้หลักการเดียวกันกับเครื่องบินครับผม นั่นก็คือ"การใช้โครงสร้างและความเร็วของวัตถุทำให้ความเร็วในการไหลของอากาศในส่วนบนมากกว่าความเร็วในการไหลของอากาศด้านล่าง ทำให้แรงดันด้านบนจะน้อยกว่าด้านล่างไปด้วยและส่งผลให้เกิดแรงยก"นั่นเองครับแต่จานร่อนนั้นไม่มีปีกมันจึงมีโครงสร้างชองตัวมันเองที่โค้งนูนขึ้นดังรูปครับ




(แต่ก็มีจานร่อนในบางแบบเช่นกันนะครับที่จะมีการออกแบบให้เรียบเสมอกันทั้งสองด้าน แต่การออกแบบแบบนี้ก็จะทำให้การทรงตัวของจานร่อนในอากาศนั้นไม่ค่อยดีนัก)

ผมได้อธิบายเรื่องการสร้างแรงยกไปหมดแล้วครับทีนี้ทุกท่านๆก็มาดูกันครับว่าโครงสร้างของเจ้า asshimar เป็นอย่างไร
(แต่ในอนิเมบางฉากกับกันพลาเองบางทีก็ลืมใส่รายละเอียดตรงส่วนที่โค้งนูนขึ้นมาซะงั้นFacepalm)




คงจะเห็นแล้วใช่มั้ยล่ะครับว่าการออกแบบและรูปทรงของเจ้า asshimar นั้นแทบจะคล้ายคลึงกับจานร่อนแบบแป๊ะๆ ดังนั้นด้วยดีไซน์นี้บวกกับข้อมูลแรงขับมหาศาลที่ผมใส่ใว้ด้านบนก็คงจะตอบคำถามที่สำคัญที่สุดได้แล้วล่ะครับว่า"เจ้า asshimar มีสมรรถภาพในการบินไม่ต่างจากเครื่องบินรบหรือคอร์ไฟต์เตอร์ในเรื่องแน่นอน"

ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับการวิเคราะห์ของผมขอขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะครับ

ปล.เช่นเคยนะครับเห็นต่างหรืออยากแย้งอะไรใส่ใวในคห.ด้านล่างได้เลย

เพิ่มเติมเล็กน้อย : คลิปของเจ้า asshimar จากเซต้ากันดั้มภาคมูฟวี่ครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่