[CR] มรัคอู ....ชั้นรักเธอ 9 วัน 8 คืนเบาๆ (ย่างกุ้ง-ตองก๊ก-มรัคอู-ชิตตุ่ย-ย่างกุ้ง) ตอนที่4: พระมหามัยมุนี ยะไข่


พระมหามัยมุนี (อังกฤษ: Mahamuni Buddha) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพม่า เปรียบได้กับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย และเป็นหนึ่งในห้าศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ของพม่า

คำว่า มหามัยมุนี แปลว่า "ผู้รู้อันประเสริฐ" (The Great Sage) ชาวพม่าจะเรียกว่า มหาเมียะมุนี (พม่า: မဟာမြတ်မုနိ ရုပ်ရှင်တော်မြတ်ကြီး) เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ อดีตราชธานีของพม่าในยุคราชวงศ์คองบอง เดิมทีเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่ มีตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยกษัตริย์แห่งเมืองยะไข่ องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์ สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว หนัก 6.5 ตัน ก่อนสร้าง กษัตริย์ผู้สร้างทรงพระสุบินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานพรให้พระพุทธปฏิมาองค์นี้ เป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อเป็นเครื่องสืบพระศาสนาไปในภายหน้า โดยในอดีต แม้เมืองยะไข่จะถูกโจมตีโดยกษัตริย์เมืองอื่นที่ทรงแสนยานุภาพอย่างไร ก็ไม่อาจที่จะเคลื่อนย้ายองค์พระมหามัยมุนีนี้ออกจากเมืองได้ ต้องมีเหตุให้ขัดข้องทุกครั้งไป

จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าปดุง แห่งราชวงศ์คองบองสามารถตียะไข่ได้ และได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีออกจากยะไข่ได้ ในปี พ.ศ. 2327 (ภายหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และการปราบดาภิเษกขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 2 ปี) โดยล่องมาตามแม่น้ำอิระวดีมายังเมืองมัณฑะเลย์ พระมหามัยมุนีจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองมัณฑเลย์เป็นการถาวรนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ประเพณีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี

และด้วยความเชื่อว่า พระพุทธมหามัยมุนี นี้เป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต เพราะด้วยเหตุที่ได้รับประทานพร (บางตำนานก็เล่าว่าได้รับประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้า) จึงมีประเพณีล้างพระพักตร์ถวาย โดยทุกเช้า เวลาประมาณ 04.00 น. พระมหาเถระและสาธุชนทั่วไปที่ศรัทธาจะมาทำพิธีล้างพระพักตร์ด้วยน้ำอบน้ำหอมผสมทานาคาอย่างดีพร้อมกับใช้แปรงทองแปรงที่พระโอษฐ์เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า ก่อนใช้ผ้าจากศรัทธาสาธุชนถวายมาเช็ดจนแห้งสนิท พร้อมใช้พัดทองโบกถวายเป็นอันดีเสมือนหนึ่งได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนมชีพอยู่จริง ๆ

อนึ่ง องค์พระมหามัยมุนีมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นรอยย่นตะปุ่มตะป่ำไปทั้งพระองค์ ซึ่งหากเอานิ้วกดลงไป ก็จะรู้สึกได้ถึงความอ่อนนิ่มของทองคำเปลวที่ปิดทับซ้อนกันนับเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ชั้น ตลอดระยะเวลาเนิ่นนานกว่าศตวรรษ ทำให้พระมหามัยมุนีมีอีกพระนามหนึ่งว่า "พระเนื้อนิ่ม" แต่น่าแปลกที่ว่า แม้จะมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนองค์พระใหญ่ขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่พระพักตร์ขององค์พระมหามัยมุนีก็ยังแลดูใหญ่ตามองค์พระอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งที่ไม่ได้มีการปิดทองที่องค์พระพักตร์เลยแม้แต่น้อย
ชื่อสินค้า:   พระมหามัยมุนี (ยะไข่) ประเทศพม่า
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่