=== ทางรอดของ "ธุรกิจกงสี" …โดย CEO แห่ง CP ALL ===



» ทางรอดของ`ธุรกิจกงสี´ …โดย CEO แห่ง CP ALL

สิ่งที่คนรุ่น “อาเสี่ย” ประหวั่นพรั่นพรึงที่สุดก็คือ กลัวว่าธุรกิจที่ตกทอดมาถึงมือตน จะคงทนถาวรต่อไปได้สักกี่น้ำ เพราะมีคำกล่าวมายาวนานว่าธุรกิจครอบครัว แค่ 3 ชั่วคนก็จะล่มสลาย ธุรกิจครอบครัวในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของคนจีน จึงมีคำเรียกเป็นภาษาจีนว่า “ธุรกิจกงสี” ผมขอวิเคราะห์โดยแบ่งธุรกิจกงสีออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ…

1. ธุรกิจกงสีแบบดั้งเดิม
2. ธุรกิจกงสีแบบใหม่

ธุรกิจกงสีแบบดั้งเดิม มักจะมีอากงเป็นเถ้าแก่ใหญ่ และสมาชิกในครอบครัวทุกคนมีส่วนร่วมในการผลิต หรือการซื้อขาย

รายได้จากผลประกอบการทั้งหมดจะรวมใส่ไว้ในกองกลาง ค่าใช้จ่ายจิปาถะทั้งส่วนรวมและส่วนตัวของแต่ละคน ก็จะหยิบออกจากเงินกองกลางนี้

ถ้าสมาชิกครอบครัวยังน้อย ปัญหาก็น้อยตาม แต่ถ้ามีสมาชิกมากขึ้น บางครอบครัวอาจนับได้เป็นร้อยคน ปัญหาก็จะสะสมพอกพูนเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่เกิดจาก “สมาชิกที่มาภายหลัง” ได้แก่ บรรดา “อาซ้อ” หรือ สะใภ้ทั้งหลายที่ไม่มีความผูกพันกับคนในตระกูลคนอื่น ๆ นอกจากสามีตัวเอง

จึงไม่ค่อยมีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน แถมยังคอยอิจฉาริษยาและยุยงสามีของตนว่า เป็นผู้ที่ถูกญาติพี่น้องเอาเปรียบ ทำงานเหนื่อยแทบตาย แต่ได้ผลตอบแทนไม่ยุติธรรม

เมื่อสิ้นบุญอากง รอยปริร้าวเหล่านี้ก็จะทวีความรุนแรงจนถึงขั้นปริแตกออกจากกัน พี่น้องแยกไปทำธุรกิจประเภทเดียวกัน กลายมาเป็นคู่แข่งคู่แค้น เข่นฆ่ากันเอง องค์กรจึงอ่อนแอรอวันล่มสลาย

::::::::::::::::::

ธุรกิจกงสีแบบใหม่ เล็งเห็นปัญหาของระบบกงสีแบบเก่า จึงจัดโครงสร้างอย่างเป็นระบบมากกว่า โดยจดทะเบียนเป็นบริษัท และแบ่งสัดส่วนของหุ้นให้กับสมาชิกในครอบครัวอย่างชัดเจน

บางตระกูลที่มีศักยภาพเพียงพอ ก็จะแตกธุรกิจออกเป็นหลายบริษัทโดยให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนถือหุ้นไขว้กันในทุกบริษัท

แต่จะมีคนใดคนหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถในธุรกิจนั้น เป็นผู้ถือหุ้นมากกว่าผู้อื่น เพื่อจะได้มีอำนาจตัดสินใจอย่างเต็มที่ และได้รับผลตอบแทนมากกว่า สมกับที่ทุ่มเทเวลาและสติปัญญาบริหารงาน

วิธีนี้ คนที่มีความสามารถก็จะได้เป็นใหญ่ในแต่ละบริษัท โดยที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนก็ยังคงมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในบริษัทที่ญาติพี่น้องคนอื่นดูแล ทำให้ไม่รู้สึกได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก ก่อให้เกิดความรักความสามัคคี ดีกว่าระบบกงสีแบบเก่า

ระบบกงสีแบบใหม่ยังเปิดให้เพื่อน ๆ ของพ่อบางคน ที่มีประสบการณ์สูงหรือมี “คอนเน็กชั่น” กว้างขวางมาร่วมหุ้นด้วย เพื่อช่วยให้กิจการเจริญเติบโตยิ่งขึ้น

และเมื่อถึงเวลาอันสมควร บริษัทเหล่านี้ก็มีสิทธิ์ที่จะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน สมัครเข้าเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์กระจายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป ทำให้บริษัทมีฐานเงินทุนที่เข้มแข็งสามารถแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติอื่น ๆได้

::::::::::::::::::

ไม่ว่าจะเป็นระบบกงสีแบบเก่าหรือใหม่ ปัจจัยชี้ขาดอนาคตก็คือ “คน”

ต้องดูว่าคนที่บริหารกิจการได้ผ่านร้อนผ่านหนาว บ่มเพาะประสบการณ์ทำงาน และประสบการณ์ชีวิตไว้มากน้อยเพียงใด

โดยปกติ สมาชิกรุ่นแรกที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจนเป็นปึกแผ่น จะมีความมานะบากบั่น พากเพียรพยายามอย่างเต็มเปี่ยม

สมาชิกรุ่นที่สอง ก็ยังมีโอกาสเห็นพ่อทำงานหนัก และอาจต้องลงมือร่วมกันทำงานช่วยสร้างกิจการ จึงยังคงมีจิตวิญญาณนักสู้อยู่กับตัว

ในขณะที่…สมาชิกรุ่นสาม มักจะเกิดและเติบโตมาในสภาพที่คาบช้อนเงินช้อนทองออกมา ไม่มีโอกาสเห็นความทุกข์ยากลำบากของรุ่นอากงหรือรุ่นเตี่ย

แม้จะได้ฝึกหัดทำงานบ้าง ก็ไม่เคยลิ้มรสชาติของการถูกกดขี่ข่มเหง เพราะมีคนเกรงใจมากมาย ทำให้ไม่รู้จักชีวิตที่แท้จริง รู้จักแต่ชีวิตในโรงเรียน เพราะเรียนต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนจบปริญญาโทหรือปริญญาเอก

เมื่อจบมาทางตระกูลอาจจะให้สมาชิกรุ่นสามเริ่มทำงานในตำแหน่งต่ำสุด แต่ก็เลื่อนตำแหน่งเร็วเหมือนติดจรวด ไม่ได้ผ่านการประเมินผลแบบเข้มงวดจริงจังเหมือนพนักงานทั่วไป

สมาชิกรุ่นนี้จึงไม่มีความแข็งแกร่งเท่ารุ่นปู่ รุ่นพ่อ รักความสนุก สะดวกสบาย ไม่ค่อยเอาการเอางาน ทำให้ไม่รู้งานจริง มักถูกหลอกจากคนใกล้ชิดที่ประจบสอพลอ ธุรกิจของตระกูลจึงเริ่มต้นเข้าสู่บทอวสาน

::::::::::::::::::

ตรงกันข้ามกับทางยุโรป ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีกลุ่มธุรกิจใหญ่ของตระกูล ซึ่งสืบทอดกันมาถึงรุ่นที่ 9 แล้ว

หนำซ้ำยังเคยติดอันดับบริษัทยักษ์ใหญ่ลำดับที่ 23 ของโลก ในต้นทศวรรษ 90

และผมโชคดีมีโอกาสไปจิบกาแฟกับทายาทรุ่นล่าสุดของเขาขณะที่มาเที่ยวอยู่ในประเทศจีน ผมอยากสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเลี้ยงกาแฟเศรษฐีใหญ่ของโลกสักหน่อย เสียดายที่ถูกเพื่อนฝูงตัดหน้าชิงจ่ายเงินไปก่อน

จากการสนทนา ทำให้ได้ความรู้ว่า ในตระกูลของเขาจะคัดเลือกผู้ที่มีอำนาจสูงสุด ในการดูแลธุรกิจเพียงคนเดียวในแต่ละรุ่น และให้มีสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ที่เก่งกาจเข้าร่วมบริหารให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารงาน

ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ ก็จะดำรงสถานะเป็นผู้ถือหุ้นคอยรับเงินปันผล แต่จะไปประกอบอาชีพอื่นตามที่ตนเองถนัด เช่น บางคนไปเป็นหมอ บางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย บางคนเป็นศิลปิน ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายหุ้นกันเองในหมู่ญาติพี่น้อง ตามราคาที่สมัครใจด้วยกันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย หุ้นใหญ่ก็มักอยู่ในมือของผู้มีอำนาจในการบริหารบริษัท

สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำก็คือ เขามอบหมายภาระรับผิดชอบให้แก่ผู้ที่มีศักยภาพ และความสามารถสูงสุด ไม่ได้มอบหมายให้เฉพาะลูกชายคนโต ตามธรรมเนียมจีนโบราณ

:::::::::::::::::::

สำหรับในประเทศไทย ผมมีข้อเสนอว่า ควรจะประยุกต์วิธีการบางอย่างของเขามาใช้ และควรให้สมาชิกรุ่นที่สาม ได้มีโอกาสทำงานในบริษัทอื่น เหมือนพนักงานทั่ว ๆ ไปไม่น้อยกว่า 5 ปี แล้วจึงให้กลับมาช่วยพ่อแม่

และควรแยกกิจการให้แต่ละคนรับผิดชอบไปอย่างเต็มที่ ถ้าใครบริหารไม่ดีก็ต้องยอมยุบบริษัทนั้นทิ้ง ไม่ใช่เก็บไว้คอยถ่วงทั้งหมดให้ทรุดลง

การที่จะรู้ว่าใครบริหารดีหรือไม่อย่างไร ก็ต้องจัดระบบบริหาร และบัญชีการเงินให้โปร่งใส ผู้ถือหุ้นทุกคนสามารถตรวจสอบได้ว่าหมกเม็ดหรือเปล่า ทำให้เรามีบริษัทที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง ไม่ใช่ข้างนอกสุกใสข้างในหนอนเจาะจนพรุนไปหมด

เราควรจะใจกว้าง แยกให้ออกระหว่าง “ตระกูล” กับ “กิจการ” ความผูกพันในสายเลือดเป็นเรื่องหนึ่ง แต่กิจการหรือบริษัทเป็นอีก “นิติบุคคล” หนึ่ง ซึ่งแยกออกไปจากตระกูล

คนในตระกูลต้องมีฝีมือที่ดีพอ จึงจะรับผิดชอบดูแลได้ แต่ถ้าฝีมือไม่ถึงก็ต้องยอมรับสภาพเป็นเพียงผู้ถือหุ้นให้โอกาสคนดีมีฝีมือบริหารอย่างเต็มที่ จึงจะเกิดผลดีกับทุกฝ่าย

บางครั้งก็ต้องชั่งใจให้ดี ว่าจะเลือกเป็นอะไร…ระหว่างการเป็นผู้ถือหุ้นที่ราคาหุ้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยิ้มรับเงินปันผลก้อนงาม ๆ อย่างสม่ำเสมอ

กับ…

การได้ชื่อว่าเป็น…เจ้าของกิจการหรือเป็นผู้บริหารที่บริษัทกำลังสาละวันเตี้ยลง !!

::::::::::::::::::

Credit : ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ – CP ALL Blog

======================================================================
ติดตามเรื่องราวดีๆ แนวคิดในการทำงาน, มุมมองธุรกิจ, และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/thinkvestment
======================================================================


อ่านบทความอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่
7 ความเชื่อผิดๆ “ในวัยทำงาน” ที่ควรเปลี่ยนแปลงก่อนอายุ 30  http://ppantip.com/topic/34666999
11 สิ่ง “ในวัยทำงาน” ที่ควรต้องเรียนรู้ ก่อนอายุ 30     http://ppantip.com/topic/34508026
ทำไมคนเราจึงกลัวความล้มเหลวทั้งที่ยัง “ไม่ได้ทำ”???    http://ppantip.com/topic/34535389
ตกผลึก 14 การเรียนรู้ที่ได้จาก “ประสบการณ์ชีวิต”    http://ppantip.com/topic/34012323
คอนโด "SOLD OUT" เรื่องจริงหรือแค่การตลาด        http://ppantip.com/topic/34007603
เศรษฐกิจแบบนี้ จะมัวบ่นและโทษกันอยู่ทำไม รีบปรับตัวกันสิครับ    http://ppantip.com/topic/33986650
ถาม-ตอบ : ตอนนี้อสังหา “ฟองสบู่” แล้วหรือยัง?        http://ppantip.com/topic/33763358
เรื่องที่ควรต้องรู้ก่อนเข้าสู่วงการ “อสังหา”                http://ppantip.com/topic/33793977
การออมเงิน...ทำให้รวยได้จริงหรือ ? (ตอนที่ 2)        http://ppantip.com/profile/1993468
การออมเงิน...ทำให้รวยได้จริงหรือ? (ตอนที่ 1)        http://ppantip.com/topic/33078207
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่