พระเจ้า! บางคนเข้าใจผิดว่านมผงไม่ใช่นมโคแท้

กระทู้ข่าว
เรื่องที่สังคมสนใจ – นมผงมีการเติมสารอาหารเพิ่มเติม ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นนมโคแท้
ข้อเท็จจริง – นมผง คือน้ำนมโคผ่านกรรมวิธีทำให้นํ้าระเหยออกหมดเพื่อรักษาคุณค่า ง่ายต่อการขนส่งและการเก็บรักษา

บทความนี้คุณผู้อ่านจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ที่มาความเข้าใจผิด > นมโคพร้อมดื่มทำมาจากอะไร > เปรียบเทียบสารอาหารในน้ำนมโคกับนมผง

ทำไมบางคนจึงเข้าใจผิดว่านมผงไม่ใช่นมวัวแท้
ผมได้ติดตามอ่านโพสต์ในสื่อต่างๆ เช่น Pantip หรือ Facebook ทำให้พบการเชื่อมโยงบางประการซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดนี้ มาดูกันว่าตัวแปรนี้คืออะไร

กันยายน 2551 – ข่าวนมเมลามีนในประเทศจีน
ข่าวนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องให้ลูกดื่มนมผงสำหรับเด็ก และในประเทศไทยก็รู้กันอยู่ว่าในตลาดบ้านเรานั้นมีสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนมาวางขายกันเกลื่อนไปหมด จึงไม่แปลกที่จะทำให้เกิดการวิตกในประเด็นนี้

นมผง ก็คือน้ำนมโคที่ผ่านกรรมวิธีทำให้น้ำระเหยออกหมดจนเป็นผง และคำว่าผงนี่แหละที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับข่าวนี้ เพราะผู้บริโภคเข้าใจไปว่าอะไรที่อยู่ในรูปแบบผงนั้น ผู้ผลิตจะเติมสารประกอบอะไรลงไปก็ได้ เหมือนนมเมลามีนที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน
--------------------------
Bait advertising สร้างความสับสน หวังผลทางการค้า และ Discredit คู่แข่งขัน
มีการตลาดรูปแบบหนึ่งที่อยู่กับสังคมไทยมานานแล้ว ปัจจุบันก็ยังถูกนำมาใช้เรื่อยๆ อาจจะอยู่ในรูปสื่อแบบดั้งเดิม หรือสื่อโซเซียลมีเดีย ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคจะเลือกเชื่อก่อน หรือ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จากข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับการตลาดแบบนี้เขียนไว้ว่า “False advertising, in the most obvious of contexts, is illegal in most countries. However, advertisers continue to find ways to deceive consumers in ways that are legal or unenforceable.” ซึ่งการที่มีคนให้ข้อมูลว่านมวัวแท้มีแค่ 2 ยี่ห้อ หรือ นมวัวแท้ไม่ผสมนมผง นั้นมันสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคเพราะในตลาดนมบ้านเรา นมผงเป็นส่วนผสมทั้งในน้ำนม ขนม อาหารทั้งหวานและคาวสารพัดชนิด ความคิดเห็นส่วนตัวผมจึงรู้สึกกังวลกับวิธีการให้ความรู้สังคมในประเด็นที่ล่อแหลม ซึ่งสร้างความสับสนแบบนี้
ที่มา: en.wikipedia.org/wiki/False_advertising

นักการตลาดที่มีจริยธรรมก็มีมากในสังคม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาศัยวิธีการเลี่ยงวลีเพื่อหลบข้อกำหนดต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในข้อกฏหมายมาใช้สร้างความสับสน
----------------------------
Oxidized cholesterol การเปลี่ยนสภาพของโครงสร้างไขมันจากกรรมวิธีการผลิต
ผมไม่อยากให้คุณผู้อ่านกังวลมากไปว่าในนมผงมี Oxidized cholesterol แล้วส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ ผมแค่อยากจะบอกว่าเจ้าตัว Oxidized cholesterol นี้เกิดขึ้นจากความเสี่ยงอะไรบ้าง ในบทความเรื่อง “The Danger of Oxidized Cholesterol and Tips for Prevention” ซึ่งเขียนโดย Brian Wu, PhD สรุปให้เราเข้าใจง่ายๆ ดังนี้
1.    Eating Fried foods, such as fried chicken and French fries
2.    Eating excess polyunsaturated fatty acids, which are found in vegetable oils
3.    Cigarette smoking

กระบวนการที่ทำให้เกิด Oxidized cholesterol มีดังนี้
1.    margarines
2.    fast foods
3.    fried foods
4.    commercially baked goods

จากข้อมูลคุณผู้อ่านจะพบว่าถึงแม้นมผงจะมี Oxidized cholesterol ก็จริง แต่ปัจจุบันคุณก็มีทางเลือกเลือกดื่มนมประเภท Low fat หรือ Skim (nonfat) milk กันอยู่แล้ว เพราะในนมประเภทนี้มี Cholesterol น้อยจนเหลือ Oxidized cholesterol น้อยลงไปในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

Tip: หากวันนี้คุณยังบริโภคอาหารทอด หรืออาหารที่มีส่วนผสมจากไขมันสัตว์ หรือสูบบุหรี่ คุณก็มีโอกาสรับเจ้าตัว Oxidized cholesterol มากกว่าดื่มนมพร้อมดื่มที่ผสมนมผงหลายเท่า

นมผงมีการเติมสารประกอบอื่นๆ ลงไปจริงหรือไม่
ผู้บริโภคเข้าใจถูก ในนมผงสามารถเติมสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ลงไปได้ตามหลักโภชนาการที่กำหนดมาตรฐานไว้โดยกระทรวงสาธารณสุข นมช็อคโดแลต นมรสชาติต่างๆ โอวัลติล ไมโล หรือแม้แต่นมเติมสารอาหารบางอย่งเช่น นมโอเมก้า
สังเกตุว่า สารประกอบต่างๆ ที่ถูกเติมลงไปนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลจากกระทรวงสาธารณสุข ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ในบ้านเราล้วนมีชื่อเสียงระดับโลกและเค้าคงไม่กล้าจะเติมสารประกอบที่เป็นอันตราย หลอกลวงผู้บริโภคเพียงเพราะต้องการกำไรที่มากขึ้นแต่ต้องแลกกับการเอาชื่อเสียงบริษัทที่สร้างสมมานับสิบๆ ปีมาทิ้ง

นมพร้อมดื่มในบ้านเราทำมาจากอะไร
ในตอนหนึ่งของบทความ “มาเปลี่ยนความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับนมโคพร้อมดื่มกันเถอะ” ซึ่งเขียนโดย ดร.อุลิสาณ์ พาชีครีพาพล ได้ให้ความรู้ประเด็นนี้ไว้ว่า
“ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มยังสามารถแบ่งประเภทตามชนิดของนมที่นำมาผลิต ได้แก่ น้ำนมโคและนมคืนรูป

1.    น้ำนมโคได้จากการนำน้ำนมดิบอาจจะแยกไขมันออกหรือไม่ก็ได้ แล้วจึงนำไปผ่านกระบวนการให้ความร้อนแบบต่างๆ จึงบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ว่าจะผ่านการให้ความร้อนแบบใดจะเรียกว่าน้ำนมโคทั้งนั้น
2.    นมคืนรูปได้จากการนำนมผงไขมันเต็ม (whole milk powder) หรือนมผงปราศจากไขมัน (skim milk powder) ละลายน้ำให้ได้ปริมาณสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีนและไขมัน เทียบเท่ากับน้ำนมโค แล้วจึงนำไปผ่านกระบวนการให้ความร้อน ถ้าใช้นมผงไขมันเต็มผลิตภัณฑ์ที่ได้จะเรียกว่านมคืนรูปชนิดเต็มมันเนย ถ้าใช้นมผงปราศจากไขมันจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่านมคืนรูปชนิดขาดมันเนย และถ้าใช้นมผงปราศจากไขมันโดยมีมันเนย (milk fat) ในปริมาณที่น้อยกว่าไขมันที่พบในน้ำนมทั่วไปจะเรียกว่านมคืนรูปชนิดพร่องมันเนย”

นมผงมีประโยชน์น้อยกว่าน้ำนมโคหรือเปล่า
จากข้อมูลงานวิจัยของ AlKanhal ได้สรุปไว้ว่า สารอาหารของน้ำนมกับนมผงนั้นไม่ต่างกันมาก หากแต่มีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่สงผลต่อคุณภาพของสารอาหารในนมคือ ระยะเวลาการเก็บ ยิ่งเก็บไว้นาน สารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนจะลดลงเรื่อยๆ และเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจผมอยากให้ลองอ่านบทความ “Is Powdered Milk Bad For You?” เพิ่มเติม ซึ่งเขียนโดย Monica Reinagel, MS, LD/N, CNS, Nutrition Diva

คุณ Monica เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า การดื่มนมผงนั้นมีเพียงประเด็นเดียวที่ต้องคิดคือ “Oxidized cholesterol” เพราะมีผลต่อระบบเลือดในระยะยาว และผู้ผลิตนมพร้อมดื่มก็ทราบความกังวลนี้ของผู้บริโภคเช่นเดียวกัน จึงผลิตนมพร้อมดื่มประเภท Low Fat milk หรือ Skim milk ออกมาให้ผู้ที่รักสุขภาพเลือกดื่มกัน
ที่มา: quickanddirtytips.com/health-fitness/healthy-eating/is-powdered-milk-bad-for-you

สรุป - จากประเด็นเจ้าปัญหาเรื่องนมผงที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งทำให้สังคมเข้าใจผิดกันมานานนั้นควรจะได้รับการแก้ไขเพราะความเชื่อนี้มีผลกระทบกับผู้ที่ต้องดื่มนมไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก การทำความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับนมผงจึงช่วยให้ผู้บริโภคได้มีแนวทางเพื่อใช้วิจารณญาณในการคิดพิจารณาที่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงต่อไป

อ้างอิง:
1. มาเปลี่ยนความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับนมโคพร้อมดื่มกันเถอะ - prachachat.net/news_detail.php?newsid=1459234045
2. False advertising - en.wikipedia.org/wiki/False_advertising
3. Is Powdered Milk Bad For You?- quickanddirtytips.com/health-fitness/healthy-eating/is-powdered-milk-bad-for-you
4. Oxidized cholesterol – healthline.com/health/heart-disease/oxidized-cholesterol-what-you-should-know
5. Don't worry about oxidized cholesterol in skim milk - sandiegouniontribune.com/news/2009/mar/18/lz1f18focus183640-dont-worry-about-oxidized-choles/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่