เล่าเรื่อง "รามานุจัน" จาก The Man Who Knew Infinity

12 พฤษภาคมนี้ จะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์คนหนึ่งที่มีชื่อว่า "รามานุจัน" ในฐานะนักอ่าน และมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ในรอบสื่อจากตั๋วที่แถมให้ในวันที่ซื้อหนังสือ จึงมาเล่าให้ฟังกันคร่าวๆ ว่านักคณิตศาสตร์คนนี้น่าทึ่งอย่างไร

“ศรีนิวาสะ รามานุจัน” ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะสายคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ ผู้ชายคนนี้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2430-2463 โดยที่ทั้งชีวิตอุทิศให้กับ “คณิตศาสตร์” ศาสตร์ที่คนธรรมดามองว่ายาก และคนส่วนใหญ่ไม่ถูกกับมัน แต่ผู้ชายคนนี้ต่างออกไป

เมื่อครั้งยังเด็ก ในช่วงที่เขายังมีโอกาสได้เรียนหนังสือ เขาสามารถท่องค่าของพายที่มีทศนิยมถึง 50 หลักได้อย่างแม่นยำ เข้าใจ Logarithm, จำนวนเฉพาะ, พีชคณิต, ตรีโกณมิติ และสารพัดคณิตศาสตร์ เพียงแค่การอ่านหนังสือ โดยที่ยังไม่เคยเรียนมาก่อน ที่สำคัญเขาสามารถพิสูจน์สูตรคณิตศาสตร์ต่างๆได้อีกนับพัน

ที่จริงแล้วรามานุจันเป็นเด็กเรียนเก่ง แต่ความหมกมุ่นกับคณิตศาสตร์ทำให้เขาสูญเสียคะแนนในวิชาอื่นๆ จนในที่สุดก็สูญเสียทุนการศึกษาที่ควรจะได้รับไป ทำให้ชีวิตของเขาไม่มีปริญญาอะไรเลยแม้แต่ใบเดียว ซึ่งชีวิตของคนไม่มีปริญญาการันตีความสามารถสำหรับในอินเดียแล้ว ไม่ใช่ชีวิตที่ดี ถึงแม้ว่าเขาจะเก่งคณิตศาสตร์แค่ไหน แต่งานของรามานูจัน ไม่ใช่งานที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ไม่มีใครรู้ว่าสูตรคณิตศาสตร์เหล่านั้นมีค่าอะไร หากมันไม่สามารถเลี้ยงปากท้องได้

แต่ในที่สุด “คณิตศาสตร์” นำทางรามานูจันมาพบกับศาสตราจารย์ฮาร์ดี้ แห่งทรินิตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้ที่สามารถมองเห็นศักยภาพในตัวของรามานุจัน เชิญรามานุจันมาร่วมงาน ให้การสนับสนุนและดึงศักยภาพของรามานุจันออกมาให้ได้อย่างเต็มที่

ตลอดเวลา 5 ปีในอังกฤษที่เขาร่วมงานกับฮาร์ดี้ สมการคณิตศาสตร์ใหม่ถูกสร้าง สมการที่เคยมีได้รับการพิสูจน์ และหักล้าง จนรามานุจันเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิจัย หลายคนบอกว่าเขาเปรียบได้กับนิวตัน จากผู้ชายคนหนึ่งที่ไม่มีแม้แต่ใบปริญญากลับได้รับการเสนอชื่อเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเป็นคนอินเดียคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็น Fellowship of the Royal Society อันทรงเกียรติ

รามานุจันรู้ดีว่าเขาเกิดมาเพื่อคณิตศาสตร์ และทุกอย่างที่เขารู้จะต้องไม่ตายไปพร้อมกับเขา นอกจากผลงานวิจัยร่วมกับฮาร์ดี้แล้ว ยังมีสูตรคณิตศาสตร์นับพันถูกบันทึกในสมุดบันทึกของเขา สมุดบันทึกบางส่วนสูญหาย แต่แน่นอนว่าบางส่วนได้รับการรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งทรินิตี้ คอลเลจ

คณิตศาสตร์ของรามานุจันให้อะไร?
การคำนวณเรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนสถานะของสสารในวิชาเคมี ใช้สูตรของรามานุจัน
ทฤษฎีสตริง สำหรับฟิสิกส์ 10 มิติ ใช้สูตรของรามานุจัน
การคำนวณเกี่ยวกับหลุมดำในอวกาศ ใช้สูตรของรามานุจันด้วย
และยังมีอีกหลายสิ่งที่อาศัยสูตรของรามานุจันในการคำนวณและแก้ปัญหา ที่เหล่านักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ต่างทราบกันดี

เขาเสียชีวิตลงด้วยโรควัณโรค ด้วยอายุเพียง 32 ปี อาจเพราะหน้าที่ของเขาสิ้นสุดแล้ว และทุกสูตรที่เขารู้ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ได้รับการถ่ายทอด และเป็นอมตะ

นี่ไม่ใช่เรื่องของอัจฉริยะที่น่าทึ่งเท่านั้น แต่ชีวิตของรามานุจัน ให้มุมมองที่น่าสนใจอีกด้วย กล่าวคือ
เขาไม่ได้ร่ำรวย แต่เขาใฝ่รู้
เขาชอบคณิตศาสตร์ และศึกษามันตลอดเวลา ด้วยหนังสือที่ได้รับจากเพื่อน และความมุ่งมั่นฝึกฝนด้วยตนเองอย่างไม่ย่อท้อ ถึงแม้ไม่มีกระดาษดีๆสำหรับเขียน แต่ตามพื้น ตามกำแพง กระดาษห่อของ ล้วนกลายเป็นพื้นที่สำหรับบันทึกงานของเขาได้ทั้งสิ้น

เขาไม่เคยยอมแพ้ แม้จะไม่มีใครมองเห็นความเป็นอัจฉริยะของตน
    ในอินเดีย ไม่มีใครเห็นความสามารถของเขา แต่เขาก็ยังคงไม่เคยย่อท้อ และเชื่อมั่นในคณิตศาสตร์ของตน จนมันนำพาชีวิตเขาไปสู่อังกฤษ ที่ซึ่งเขาต้องพิสูจน์ตนเองอีกหลายครั้งจนกระทั่งได้รับการยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิ

เขายึดมั่นในระเบียบปฏิบัติและศาสนาของตนเป็นอย่างดี
    ด้วยการถือวรรณะพราหมณ์ จึงเป็นพื้นฐานของเขาที่เคารพต่อทุกสิ่ง ให้เกียรติต่อทุกสิ่งและความรู้ของตน เขาไม่เคยทะนงตนในด้านสติปัญญา เขาทราบว่าเขารู้คณิตศาสตร์ แก้สมการได้เป็นอย่างดี แต่เขาบอกกับผู้อื่นตลอดว่าปัญญาเหล่านั้น พระเจ้าของเขาคือผู้ที่ป้อนให้กับเขา และไม่มีสมการใดที่จะมีประโยชน์ หากมันไม่ได้ตอบถึงวัตถุประสงค์ของพระเจ้า

ชีวิตเขาเรียบง่าย
    เขาทานมังสวิรัติ ต้องการเพียงหนังสือ ปากกา และกระดาษ มีความปรารถนาเพียง 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งเพื่อคณิตศาสตร์ และอีกด้านหนึ่งคือครอบครัว

    สำหรับพวกเราคณิตศาสตร์คือสิ่งที่ยากจะเข้าใจ แต่สำหรับรามานุจัน มันคือ “ศิลปะ”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่