กลโกงปั่นหุ้น

กระทู้สนทนา
เก็บมาฝากจากในเน็ท       กลโกงปั่นหุ้น




        ในช่วงที่ผ่านมา หลายๆ ท่านคงได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับการ “ปั่นหุ้น” หรือ “ทุบหุ้น” กันมาพอสมควร ซึ่งข่าวคราวเกี่ยวกับการกระทำในลักษณะนี้ อาจบั่นทอนกำลังใจของ ผู้ลงทุนทั้งมือใหม่ มือเก่าในการลงทุนในตลาดหุ้น วันนี้ดิฉันจึงขอหยิบยกเรื่อง “ปั่นหุ้น” มาพูดคุยกัน พร้อมทั้งคำแนะนำที่อาจใช้เป็นแนวทางในการระมัดระวังตนเองไม่ให้ตกเป็น เหยื่อของพฤติกรรมปั่นหุ้นและสามารถปกป้องประโยชน์ของตนเองได้ค่ะ

ปั่นหุ้น...คืออะไร?
ในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นหรือลดต่ำลงอย่างมากและหวือหวา หลายๆ ท่านมักเกิดความรู้สึกว่าน่าจะมีการปั่นหุ้นหรือทุบหุ้นเกิดขึ้นแล้ว และทางการควรจะต้องเข้ามาดำเนินการสกัดกั้นพฤติกรรมดังกล่าว หรือหาตัว ผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าการปรับตัวขึ้นลงของราคาหุ้นมากๆ จะเป็นการปั่นเสมอไป อาจเป็นเพียงการซื้อขายหุ้นโดยปกติและราคาก็เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากราคาหุ้นมักจะมีความอ่อนไหวและผันผวนขึ้นลงตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ตัวอย่างกรณีที่ไม่ใช่ปั่นหุ้น เช่น ผู้ลงทุนวิเคราะห์แล้วเห็นว่าหุ้นตัวนั้นน่าสนใจ มีปัจจัยพื้นฐานดี แถมยังมีแนวโน้มจะมีผลประกอบการดีในอนาคตด้วย เนื่องจากมีการขยายกิจการหรือไปร่วมทุนกับบริษัทอื่น ประกอบกับในขณะนั้นมีข่าวดีเข้ามารองรับ เช่น รัฐบาลประกาศมาตรการสนับสนุนธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ก็อาจมีผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก ที่เล็งเห็นแนวโน้มที่เป็นบวกของหุ้นนั้นและเห็นว่าราคาตลาดของหุ้นใน ปัจจุบันยังเป็นราคาที่เหมาะสม จึงเข้ามาทำการซื้อหุ้นนั้น ส่งผลให้ราคาและปริมาณการซื้อขายพุ่งสูงขึ้นไป ซึ่งปัจจัย (พื้นฐานบริษัทและข่าวดี) ที่เข้ามากระทบราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่อธิบายได้ จึงเป็นไปตามสภาพปกติของตลาดที่ขึ้นอยู่กับกลไกตลาดในเรื่องอุปสงค์อุปทาน ส่วนการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของราคาหุ้นนั้นจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมในขณะนั้น

ผิดกับการปั่นหุ้นที่เป็นความ ตั้งใจที่จะทำให้สภาพการซื้อขายหุ้นทั้งราคาและปริมาณผิดไปจากสภาพปกติ ไม่เป็นไปตามกลไกของตลาด ด้วยวิธีเช่น ทำให้ราคาหุ้นเกิดความ ผิดปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมารองรับ เช่น ซื้อขายเพื่อผลักดันราคาหุ้นให้ดูเหมือนว่ามีความต้องการซื้อมากขึ้น (เรียกว่า “ปั่น”) บางกรณีก็ซื้อขายเพื่อทำให้ราคาตลาดไม่เปลี่ยนแปลง/อยู่กับที่ (เรียกว่า “พยุง”) หรือพยายามกดราคาหุ้นให้ต่ำลงไปเพื่อที่จะเข้าไปช้อนซื้อในภายหลัง (เรียกว่า “ทุบ”) หรืออีกวิธีเป็นการทำให้ปริมาณหุ้นเกิดความผิดปกติ เช่น เข้าไปซื้อๆ ขายๆ เพื่อให้ดูเหมือนว่าหุ้นตัวนั้นมีคนต้องการซื้อมาก ทำให้มีคนเข้าไปซื้อตาม (เพราะเห็นว่ามีความต้องการซื้อขายหุ้นนั้นมาก) นอกจากนี้ ยังมีวิธีการปั่นหุ้นด้วยการทำให้ข้อมูลของบริษัทผิดไปจากข้อเท็จจริง เช่น การปล่อยข่าวดีๆ ของบริษัทออกมาโดยที่ไม่ได้เป็นไปตามนั้นจริงๆ เช่น มีบริษัทต่างประเทศจะเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการ หรือการตกแต่งให้งบการเงินของบริษัทดูดีเกินจริง เป็นต้น

ปั่นหุ้นต่างจากเก็งกำไรอย่างไร?

การที่จะบอกว่าพฤติกรรมใดเป็นการ ปั่นหุ้นได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบทางกฎหมายที่ชัดเจน คือต้องมีทั้งเจตนาที่จะเข้าไปปั่นหุ้นและพฤติกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง และต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนที่บอกได้ว่าใครหรือกลุ่มใดเป็นคนทำค่ะ ซึ่งในกรณีที่ผู้ลงทุนต่างคนต่างเข้าไปซื้อหุ้นตามกลไกตลาด เช่น ซื้อหุ้นในราคาที่ตนเองคิดว่าถูกแล้วไปขายตอนที่ราคาสูงขึ้นเพื่อทำกำไร ก็จะถือเป็นการซื้อขายหุ้นเพื่อการลงทุนตามปกติที่ต้องมีการเก็งว่าจะได้ กำไร แต่หากเป็นการปั่นหุ้น กลุ่มหรือพวกพ้องที่ต้องการปั่นหุ้นจะมีเจตนา ปั่นหุ้น เพื่อทำให้ตนเองได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นนั้น โดยมักจะมีพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น ส่งคำสั่งซื้อขายภายในกลุ่มเดียวกันเอง แต่ไม่มีการซื้อขายจริงเป็นแค่การโยนคำสั่งซื้อขายหุ้นระหว่างกันไปมา หรือจับคู่ซื้อขายกัน (เพื่อ ลดต้นทุนเพราะมีเม็ดเงินน้อย) ในราคาที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นการอำพราง โดยบางครั้งอาจแพร่ข่าวหนุนไปด้วยว่าหุ้นดังกล่าวกำลังจะมีข่าวดี เมื่อผู้ลงทุนทั่วไปเห็นว่าหุ้นตัวนี้มีคนซื้อมาก และคาดหวังว่าราคาจะสูงขึ้นต่อไปอีก ก็มักจะแห่ตามกันไปซื้อ จนเมื่อราคาหุ้นขึ้นไปถึงจุดหนึ่ง พวกที่ต้องการปั่นหุ้นก็จะขายทำกำไรออกมา ในที่สุดแล้ว ราคาหุ้นก็จะร่วงลงมา เนื่องจากราคาหุ้นที่ขึ้นไปนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ซึ่งจะส่งผลให้ ผู้ลงทุนที่รู้ไม่เท่าทันหรือตามเกมไม่ทัน อยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ติดยอดดอย” (ติดหุ้นในราคาสูงเพราะขายออกไปไม่ทัน)

ลักษณะของหุ้นที่นิยมปั่น

1) มีมูลค่าทางตลาด ( MARKET CAPITALISATION ) ต่ำ จะได้ไม่ต้องใช้จำนวนเงินมากในการไล่ราคา

2) ปัจจัยพื้นฐานยังไม่ดี เพื่อที่นักลงทุนสถาบันจะไม่เข้ามาซื้อขายด้วย ซึ่งจะทำให้ยากต่อการควบคุมปริมาณ และราคาหุ้น

3) มีราคาต่อหุ้น ( MARKET PRICE ) ต่ำ ถ้าราคาต่ำกว่า 10 บาทยิ่งดี ด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่งเป็นผลทางจิตวิทยา เช่น หุ้นถูกไล่ราคา จาก 3 บาท เป็น 6 บาท ถึงแม้ราคาจะปรับขึ้นมา 100% แล้ว แต่คนยังรู้สึกว่าไม่แพง เพราะยังถูกกว่าราคาพาร์ ( PAR ) สองผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นนักลงทุนสถาบัน มักมีต้นทุนที่ราคาพาร์ หรือสูงกว่า แม้หุ้นจะขึ้นมามาก แต่ถ้าเขาเชื่อว่าแนวโน้มของธุรกิจดี เขามักจะไม่ขาย ( ถ้าแนวโน้มธุรกิจไม่ดี เขาก็ขายทิ้งไปนานแล้ว ) ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่านักลงทุนสถาบันจะเข้ามาแทรกแซงในการซื้อขาย

4) มีจำนวนหุ้นหมุนเวียนน้อย เพื่อความมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมปริมาณหุ้นได้ตามที่ต้องการ

5) ผู้ถือหุ้นใหญ่รู้เห็นเป็นใจ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว จึงไม่สนใจเมื่อราคาหุ้นขึ้น หรือลงหวือหวามีข่าวดีมารองรับ ระยะหลังเริ่มมีการใช้ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นมาเป็นตัวล่อใจนักลงทุนรายย่อย เพื่อให้ตายใจว่าราคาหุ้นถูกไล่ขึ้นมาสมเหตุสมผล เช่น ข่าวการปรับโครงสร้างหนี้ ,ข่าวการร่วมกิจการ , กำไรรายไตรมาสที่พุ่งขึ้นสูงเป็นต้น

วิธีสังเกตเมื่อมีการปั่นหุ้น

1) มีข่าวดีมา แต่ราคาหุ้นไม่ไปทั้งๆ ที่มีปริมาณการซื้อขายมากขึ้น เหมือนมีคนกด ราคาอยู่ (เพื่อเก็บของ)
2) หลังจากนั้น มีการไล่ราคาอย่างรวดเร็วรุนแรง ปริมาณการซื้อขายพุ่งขึ้นอย่างเห็น ได้ชัด
3) จำนวนหุ้นที่ตั้งซื้อ (BID) มีการเติมเข้าถอนออกอยู่ตลอดเวลา
4) การเคาะซื้อไล่ราคาจะมีการเคาะนำครั้งละ 100 หุ้น 2-3 ครั้ง จากนั้นจะเป็น การไล่เคาะซื้อยกแถว
5) หลังจากหุ้นขึ้นมานานแล้ว พอมีข่าวดีมา จะเห็นการเคาะซื้อครั้งละมากๆ แต่การตั้งซื้อ (BID) ไม่หนาแน่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่