พาตะลอนดูงาน Startup Thailand 2016 เวิร์กหรือไม่เวิร์ก?


พาตะลอนดูงาน Startup Thailand 2016 เวิร์กหรือไม่เวิร์ก?
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

          ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา งานอีเวนท์ใหญ่ๆ แห่กันมาจัดแสดงพร้อมเพรียงกันจนตัดสินใจเลือกไปกันไม่ถูก แต่งานที่คนไปเยอะจริง แน่นสุดๆ ก็คงต้องมอบแชมป์ให้กับงานระดับพี่บิ๊กของประเทศอย่าง “Startup Thailand 2016”  ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและ 11 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นเจ้าภาพใหญ่

          นำทัพเหล่าสตาร์ทอัพกว่า 200 ราย มารวมแชร์ไอเดีย พบปะกับนักลงทุนและสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ พร้อมให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนทั่วไปได้รู้จักกับธุรกิจ “ Startup สตาร์ทอัพ” กันมากขึ้น  

          ว่ากันว่า ตลอดงานทั้ง 4 วัน มีผู้เข้าร่วมชมงานแสดงนิทรรศการ ฟังปาฐกถาพิเศษและเสวนากันกว่า 35,000 คนเลย จึงเป็นงานธุรกิจสตาร์อัพที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว

บรรยากาศงานและผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างนะ มาดูกัน...



          เริ่มต้นที่จุดผ่านเข้างานเพื่อลงทะเบียนในระบบ “ออนไลน์”  บางคนก็ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์มาจากที่บ้าน ส่วนที่เข้าคิวลงทะเบียนก็มีบ้าง และส่วนที่เดินเข้างานไปเลยก็มี จึงดูไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่าไหร่



          พอเดินเข้างานจะพบว่า โซนของสถานบันการเงินทั้งในและต่างประเทศต่างๆ จะกินพื้นที่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือบริษัทผู้ให้บริการมือถือเจ้าใหญ่ และตามด้วยบูธของสตาร์ทอัพของผู้สร้างแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์สายต่างๆ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

          (1)กลุ่มไลฟ์สไตล์ อาทิ Golfdigg แอพพลิเคชั่นจองสนามกอล์ฟผ่านสมาร์ทโฟนในราคาพิเศษ , FoodStory แอพฯจัดการร้านอาหารยุคดิจิทัล , PetPolar สังคมโซเซียลมีเดียของเหล่าสัตว์เลี้ยงน่ารัก , iTaam ไอ้แต้ม เว็บไวต์รวมเครือข่ายคลีนิคและโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงทั่วประเทศ ให้เจ้าของสัตว์ได้เข้ามาค้นหาการรักษาที่ต้องการและซื้อเชคอัพแพคเกจของโรงพยาบาลได้ , Skootar แอพฯแมสเซนเจอร์ส่งของออนไลน์ผ่านผู้ขับขี่จักรยานยนต์ เป็นต้น

          (2) กลุ่มเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและการแพทย์ เช่น Health at Home แอพฯดูแลผู้สูงอายุ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล โดยใช้เทคโนโลยีมาจับคู่ความต้องการที่ตรงกัน , EPIBONE ผู้ผลิตชิ้นกระดูกที่ปลูกสร้างจากเซลล์ผู้ป่วย และ MuEye ผู้ผลิตกล้องจุลทรรศน์ผ่านเลนส์สมาร์ทโฟนเพื่อนักเรียนนักศึกษา เป็นต้น



          (3) กลุ่มเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เช่น Jobnisit เว็บไซต์ช่วยนักศึกษาจบใหม่หางานและอำนวยความสะดวกให้บรัษัทที่กำลังหาคนทำงาน และ Disrupt University  มหาวิทยาลัยบ่มเพาะผู้ประกอบการเทคสตาร์ทอัพ ที่นำการเรียนรู้ทางด้านสร้างสรรค์นวัตกรรมจากซิลิคอน วัลเลย์มาเผยแพร่ให้คนไทย

          (4) กลุ่มเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร  เช่น Kasettrade เว็บไซต์สั่งซื้อสินค้าเกษตรจากมือเกษตรกรโดยตรงซึ่งมีเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ  , EverGrow เทคโนโลยีการปลูกผักในพื้นที่จำกัด Smart Home Gardener ขนาด 30×60 cm และแปลงปลูกผักในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 18 ล้อ ซึ่งสามารถปลูกผักได้เทียบเท่ากับพื้นที่จริง 1 ไร่ ไม่ต้องจ้างคนงานในจำนวนมากเพื่อดูแลผลผลิต เพราะสามารถดูแลควบคุมการเพาะปลูกผ่านแอพฯ ได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น

          (5)กลุ่มเทคโนโลยีการเงิน หรือ Fintech  ยกตัวอย่างเช่น  Piggipo แอพพลิเคชั่นการเงิน ตัวช่วยในการใช้บัตรเครดิตให้มีประสิทธิภาพ , StockRadar ระบบเสมือนเรดาร์ตรวจจับหุ้นเพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนหุ้น , Jitta แพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น และ Claim Di แอพลิเคชั่นช่วยในการเคลมประกันรถ เป็นต้น



          จากมุมมองในฐานะประชาชนทั่วไปที่เข้าไปชมนิทรรศการและหาข้อมูลทั่วงาน สังเกตเห็นได้ชัดว่ามีผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรายย่อย (ที่ไม่ใช่บริษัททุนสูง) จำนวนน้อยมากถึงมากที่สุด ด้วยส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างติดตลาดแล้วพอสมควรไปจนถึงระดับประสบความสำเร็จ พร้อมด้วยสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่  ทำให้สตาร์ทอัพเอกชนผู้เริ่มใหม่และสตาร์อัพสายอินดี้จึงแทบจะไม่ค่อยมีให้เห็นในงานครั้งนี้เท่าไหร่นัก




          ในด้านการจัดบูธนั้น จะอยู่ในพื้นที่จำกัดจึงทำให้ไม่ค่อยสะดวก บูธใหญ่มีคนเข้าน้อย ส่วนบูธเล็กๆ มีคนสนใจยืนมุงเต็มไปหมด แต่มีโต๊ะจัดแสดงบูธเพียงตัวเดียวต่อหนึ่งสตาร์ทอัพ ทำให้เบียดผู้คนเข้าไปซักถามหรือเข้าไปชมผลงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีการเว้นช่องทางเดินไว้แค่เมตรเดียว

          อีกทั้งการให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ บางส่วนนั้นเป็นข้อมูลภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจทำให้คนไทยเข้าถึงได้ยาก และหลายบูธเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการก็ยังให้ข้อมูลไม่กระจ่างชัดเพียงพอ  ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่ของผู้ร่วมชมงานอีกประการหนึ่ง จึงอยากเสนอให้มีการปรับปรุงในการจัดงานครั้งต่อไป



          ส่วนงานเสวนาและปาฐกฎาของสตาร์ทอัพผู้ประสบความสำเร็จต่างๆ ต้องบอกว่ามีระบบการจัดงานที่ดี มีตารางงานชัดเจน และน่าพอใจ โดยมีประชาชนเข้าร่วมฟังแน่นห้อง ด้วยหัวข้อมีความน่าสนใจทั้งตัวข้อมูลและวิทยากรผู้มาบรรยายที่ดึงดูดให้คนมาฟังไม่น้อยเลยทีเดียว  อย่างเช่น งานเสวนา หัวข้อ “Raised Fund แล้วไปไหน”  ที่มีผู้ร่วมเสวนา อย่าง วัชระ นิวาตพันธ์ CPO จาก Priceza  ,กิตตินันท์ อนุพันธ์ Founder and CEO จาก Claim di  , นัฏฐ์สกล เกียรติสุรนนท์, CEO and Co-founder, จาก Shopspot  และ ธีระ ศิริเจริญ, COO and Co-founder จาก Golfdigg   การบรรยายการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่อย่าง Drone design and Development โดยกลุ่ม Makerspace เชียงใหม่ เป็นต้น

          นอกจากนี้ ยังมีการร่วมสนทนาน่าสนใจที่มีทั้งสถาบันทางการเงินและผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็น “Key Player”  จาก 3 ผู้บริหารจากฝั่งโทรคมนาคม และ 3 ผู้บริหารจากฝั่งธนาคารใหญ่ ร่วมพูดคุยกันว่าทำไม Startup ถึงน่าลงทุน และจะสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมถึงจะเกิดฟองสบู่ขึ้นจริงหรือไม่ พร้อมแนวทางการรับมือของเหล่าสตาร์ทอัพ

          สุดท้ายแล้ว การประกาศเร่งเครื่องเดินหน้าสนับสนุนธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ของรัฐบาลยังคงเป็นที่จับตามอง  ด้วยหวังจะให้เป็นฟันเฟืองตัวใหม่ขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวทันเศรษฐกิจโลกยุคดิจิทัล นี่คือยุคเกิดใหม่ของธุรกิจสตาร์ทอัพไทยจริงหรือ และจะมีทิศทางต่อไปอย่างไร จึงต้องติดตามกันต่อไป...






แหล่งข่าว
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1462187584
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่