[CR] ลุงกับป้าแบ็คแพ็ครอบโลก ตะลุยหิมะญี่ปุ่น นั่งรถไฟ 15 วัน เหนือสุดถึงใต้สุด ตอนที่ 30 ร่องรอยระเบิดปรมณู Nangasaki, Japan

ลุงกับป้าแบ็คแพ็ครอบโลก ตะลุยหิมะญี่ปุ่น นั่งรถไฟ 15 วัน จากเหนือสุดถึงใต้สุด
ตอนที่ 30 ร่องรอยระเบิดปรมณู นางาซากิ
                                     
                                     
อังคาร 15 มีนาคม 2559 อากาศแจ่มใส เดินออกจากที่พักเบปปุ ออกด้านตรงข้ามกับที่เดินเข้า มองตรงไปข้างหน้า เห็นภูเขาไฟอยู่ด้านที่เป็นภูเขาและบ่อน้ำแร่ เดินไปทางด้านเดียวกับภูเขา เจอถนนใหญ่เลี้ยวขวา เดินอีกประมาณ 200 เมตร สถานีเบ๊ปปุอยู่ซ้ายมือ ขึ้นไปชานชาลาที่ 4 เพื่อรอรถขบวนแรกไปฮากาตะ ก่อนที่จะต่อไปยังนางาซากิ เมืองตะวันตกสุดของญี่ปุ่น เข้าไปนั่งรอหลบหนาวในห้องกระจก มองไปทางรางรถไฟเห็นภูเขาไฟตระหง่านอยู่ตรงหน้า โรงแรม Business Hotel อีกแห่งมีราคาสปาบอกให้ อยู่แค่ปลายจมูก แต่ดูหรูกว่าที่เรานอน ดูใหม่กว่าและมีหลายชั้นกว่า
                                     
                                     
รถที่เรานั่งเช้านี้เป็นรถด่วนจำกัดความเร็วไม่ต้องจองตั๋ว Sonic เป็นรถ Intercity จนท.ขายตั๋วไม่ได้ออกตั๋วให้เรา เรานั่งตู้ที่ 3 พอนายตรวจมา เขาบอกเราว่า ตั๋วฟรีต้องนั่งตู้ 4-7 ที่ไม่จอง แล้วชี้มือให้เราย้ายตู้ ท่าทางสุภาพ ไม่ได้มีอาการว่าจะปรับไม่เหมือนในยุโรป ทั้งๆ ที่จนท.ออกตั๋วให้เราผิด เราก็นั่งตามตั๋วแต่ก็โดนปรับจนได้ จนท.ในสวิสปรับเราด้วยท่าทีสุภาพ เขาก็รู้ว่าเรานั่งตามตั๋วแต่ก็ทำตามกฎ ไม่มีการอลุ่มอล่วย
ทางรถไฟจากเบ๊ปปุไปฮากาตะ ผ่านที่ราบที่ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เมื่อออกจากฮากาตะไปเกือบชั่วโมงก็เห็นทะเลสลับกับภูเขา รถไฟสายนี้เป็นสายเลียบทะเลอีกสายหนึ่ง นอกจากสายใต้และสายตะวันออก เมืองนี้ก็เต็มไปด้วยป่าสนและป่าไผ่ ผักที่ปลูกในแปลงงามมาก เราไม่เคยเห็นปศุสัตว์ในญี่ปุ่นเลย แต่ผักที่ปลูกในญี่ปุ่นปลอดสารพิษ เรารู้ว่าพวกเขาเป็นต้นตำรับอีเอ็ม ที่เอาไปเป็นหัวเชื้อปุ๋ยอินทรีย์ ไม่มีมูลสัตว์เลย พวกเขาน่าจะได้ส่วนผสมมาจากสัตว์ทะเลเพื่อทำหัวเชื้อ
                                     
เกษตรกรใช้เครื่องทุ่นแรงขนาดเล็กในการเกษตรกรรม มองเห็นรถไถคันเล็กๆ จอดอยู่หลายที่ ต้นข้าวญี่ปุ่นเตี้ย ไม่น่าจะเกี่ยวด้วยเคียวได้ แต่เรายังไม่เห็นข้าวที่ออกรวง จึงไม่รู้ว่าเมื่อโตเต็มที่จะขนาดไหน ตอนแรกเราคิดว่า ฮากาตะ กับ นางาซากิเป็นสถานีสุดท้ายปลายทาง แต่ดูเหมือนไม่ใช่เพราะเราไม่เห็นคนอื่นกระตือรือร้นที่จะลง แต่ก็ไม่แน่ใจเพราะไม่ได้หันกลับไปดู เนื่องจากเรารีบทำเวลากลัวตกเครื่องบิน จากเบ๊ปปุถึงฮากาตะ กว่า 2 ชม.เล็กน้อย จากฮากาตะถึงนางาซากิหย่อน 2 ชม.เล็กน้อย เราต้องไปเช็คอินเวลา 17.00 น.
                                     
ที่นางาซากิ เราขึ้นสะพานลอยไปสถานีรถรางนั่งรถรางสาย 1 ไปทางขวามือเริ่มจากสถานี Yachiyo-Machi ที่อยู่หน้าสถานี Nagasaki ไปที่สถานี Matsuyama-Machi ค่ารถคนละ 120 เยน ลงแล้วข้ามรางเดินตรงไปข้ามถนนตรงทางแยก Matsuyama-Machi โดยมีสตรีรุ่นเดียวกับป้า ที่เกิดและโตที่นางาซากิ แต่มีบ้านอยู่ที่ออสเตรเลียอธิบายเส้นทาง และบอกจุดลงรถให้
                                     
                                     
ลงรถแล้วเดินข้ามถนนไปยังร้านสะดวกซื้อตรงมุมถนน แล้วข้ามถนนอีกครั้ง Peace Park อนุสรณ์สถาน การทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเป็นเมืองที่ 2 ต่อจากฮิโรชิม่า ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสูญเสียมวลมนุษยชาติ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2488 หรือ 1945
Peace Park ตั้งอยู่บนเนิน บันไดทางขึ้นมีไม้ดอกตรงกลาง อีกด้านหนึ่งเป็นบันไดเลื่อน 3 ทอด ที่พักระหว่างทอดเป็นทางเลื่อนราบ ข้างบนเป็นลานน้ำพุ ต่อด้วยลานกว้าง ล้อมรอบด้วยแนวไม้ประดับและไม้ใหญ่ มองตรงไปสุดลานอีกด้านหนึ่งเป็นอนุสาวรีย์แห่งสันติภาพ ขนาบด้วยนกนางนวลสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ตัวเล็กอยู่บนแท่นข้างละตัว ด้านล่างรายรอบด้วย มหาวิหาร พิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณู และอาคารที่รำลึกเหยื่อระเบิดปรมาณู ศูนย์ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู
                                     
                                     
วันนี้ครูพานักเรียนม.ต้นมาหลายกลุ่ม บนลานมีม้านั่งให้นั่งถ่ายรูป วางไล่ระดับเหมือนอัฒจันทร์ 4 ตัว ตัวหลังสุดมี 2 ระดับ สูงให้นั่ง ต่ำให้ยืนแถวหลังสุด เขาช่างออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานจริงๆ ขากลับเดินกลับ ข้ามถนนไปซื้ออาหารที่ Family Mart สำรวจราคาอาหารจำเป็น ไข่ไก่สีขาว ฟองปานกลาง 6 ฟอง 191 เยน ลดเหลือ 177 เยน ข้าวห่อสาหร่าย 5 ก้อน 276 เยน ข้าวถาดกระดาษกลมหรือเหลี่ยม 540 เยน ข้าวปั้นก้อนเล็กรูปสามเหลี่ยม189 เยน ดูแล้วเมืองนี้ค่าครองชีพไม่สูงมาก
                                                                                                               
                                     
นักท่องเที่ยวเกือบ 100 % ไม่เดินเหมือนเรา ตอนแวะถามทางเพื่อความมั่นใจ สาวที่กำลังเช็ดกระจกหน้าร้านขายยา ทำท่าทางให้เดินตามเข้าไปในร้าน ส่งต่อให้เราถามเภสัชกรที่เคาน์เตอร์ เภสัชกรพูดไม่ได้ เดินเข้าไปบอกหัวหน้าเภสัชกร หัวหน้าเภสัชกรบอกทางอย่างละเอียด ป้าเข้าใจแล้วเธอยังย้ำแล้วย้ำอีกกลัวเราไปไม่ถูก จึงเดินออกมาชี้ทางและอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีก จนป้าต้องรีบบอกลา
                                     
                                     
                                     
เมื่อถึงสถานี Urakami Eki-Mae มีแต่รูปสถานีหลังถูกถล่มด้วยระเบิด ไม่มีสิ่งใดบ่งบอกว่าเป็นซากจากการระเบิด เดินไป ถึง Coco Walk ผ่านดวงตาแห่งเมืองสีแดงขนาดซุปเปอร์ยักษ์ ไปจนถึง Yachicho-Machi ที่มี Site of Matyrdom of the 26 Saints of Japan ที่อยู่บนเนินสูง แล้วย้อนกลับลงมาข้ามสะพานคนข้าม
                                     
                                     
                                     
                                     
                                     
                                     
                                     
                                     
ถึงสถานีนางาซากิ ขอที่นั่งครั้งสุดท้ายในการใช้ตั๋วเจอาร์ นั่งรถด่วนน้องชิงกันเซ็นกลับสถานีฮากาตะ กินข้าวห่อสาหร่ายที่ตรงกลางเป็นสลัดกุ้ง ปลา รสชาตินุ่มนวล อร่อยทีเดียว ลุงบอกว่าตั้งแต่มาญี่ปุ่นยังไม่เคยเจอของที่ไม่อร่อยเลย ทั้งๆ ที่เราแทบจะไม่ได้กินอาหารญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นทำอะไรต้องดีที่สุดไว้ก่อน
                                     
คราวนี้ใช้เส้นทางเดิม แต่ไม่ได้นั่งด้านทะเล นั่งที่นั่งแรกของตู้กรีน มีที่ชาร์จแบ็ตเตอรี่ 1 ที่ ชาร์จได้เครื่องเดียวเพราะเต้าเสียบแบบ 3 ที่ ที่เราใช้ในวันแรกๆ หายไปที่มัทสึเอะ ผ่านความสดชื่น สบายตาของท้องทุ่ง ฟ่อนฟาง ต้นไม้ที่ไม่มีใบ ต้นไม้ที่มีแต่ดอกสีขาวนวล ชมพูอ่อน บานเย็น ขาวด่างๆ ป่าเขา ที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แม้น้ำจะตื้น แต่ก็ไม่ได้ขาดแคลน
                                     
ฝั่งทะเลสวยงามน้ำใส เพราะทั้งริมฝั่งและในทะเลล้วนเป็นหิน หมู่บ้านชาวนา ชาวประมงที่มีหลังคามุงกระเบื้อง มีหลายบ้านติดแผงโซล่าเซลบนหลังคาทั้งแถบ มีปลายสันหลังคาเป็นตัวคุ้มภัย ดูเป็นบ้านผู้มีอันจะกิน ลานจอดรถที่มีแต่รถคันเล็กๆ หน้าตัดหลังตัด โรงงาน สะพาน ถ้ำ ที่หายากในเมืองไทย
ที่สถานี Kuroyaki ได้เห็นรถบรรทุกซุงต้นสนใหญ่เป็นครั้งแรก เสียงประกาศว่า ให้ผู้โดยสารทุกคนช่วยกันหมุนเก้าอี้กลับหลังหัน เพราะรถจะวิ่งเปลี่ยนทิศ ทุกคนก็ลุกขึ้นช่วยกันหมุนเก้าอี้ รถไฟทั้งในยุโรปและญี่ปุ่นเหมือนกันตรงที่ไม่ต้องตัดตู้ไปต่อหัว เพราะมีหัวทั้งหัวและท้าย เวลาเปลี่ยนทิศทางวิ่งคนขับก็แค่เดินสลับจากหัวไปท้าย แต่ส่วนใหญ่รถไฟญี่ปุ่นมีคนขับ 2 คน ขาไปคนท้ายทำหน้าที่ประกาศ ขากลับ คนขับก่อนก็สลับหน้าที่กัน ส่วนเก้าอี้ก็หมุนกลับด้าน มีกลุ่มหนุ่มที่นั่งเบาะหลังเรา ขึ้นมาทีหลัง 4 คน มาเจอกันแล้วคุยกันถูกคอ ขออนุญาตจากเรา ขอหมุนเก้าอี้คืนเพื่อจะได้หันหน้าคุยกับเพื่อน
เก้าอี้รถสายนี้น่ารัก ข้างหลังมีช่องเล็กๆ ไว้ให้ผู้โดยที่อยู่ด้านหลังที่ต้องการหลับ เอาตั๋วสอดไว้ให้คนตนรวจตั๋วดู จะได้ไม่เสียเวลาหลับ 2 มุมซ้าย ขวามีแท่งกลมๆ โผล่ขึ้นมาประมาณครึ่งฟุต ดูเหมือนหูกวาง ไม่แน่ใจว่าไว้ให้ คนเดินจับกันล้ม หรือให้แขวนสิ่งของ ได้เห็นรถไฟที่มีพื้นเป็นไม้สายนี้ 5 ขบวนนอกนั้นปูพรม
                                     
บนรถทุกขบวนสะอาด ไม่มีใครทิ้งขยะ บางขบวนมีคนเดินเอาถุงมาขอเก็บขยะ บางขบวนมีที่ทิ้งขยะให้ตรงรอยต่อตู้ หลังเบาะที่อยู่ข้างหน้าคนที่นั่งด้านหลัง มีผังขบวนรถว่าตู้ไหนมีอะไร ห้องน้ำอยู่ช่วงรอยต่อตรงไหน ถังขยะอยู่ตรงไหน ใครมีขยะก็เดินไปทิ้งกันเอง คนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ เมื่ิอเจอปัญหา พวกเขาต้องเอาชนะอุปสรรคให้ได้ พวกเขาจึงคิดอะไรได้มากมายเพื่อเอาชนะความหนาว ความห่างไกล แผ่นดินไหว น้ำท่วม ลมแรง ฯลฯ
                                     
ทางรถไฟญี่ปุ่น ไม่เคยหลบภูเขา พวกเขาเจาะภูเขาทุกลูกที่ขวางทางรถไฟ ทำให้ทุกเส้นทางมีอุโมงค์มากมาย เราจะแวะเที่ยวฮากาตะ เก็บภาพญี่ปุ่นเป็นเมืองสุดท้าย ก่อนนั่งรถใต้ดินไปสนามบินฟุกุโอกะ เพื่อบินไปปูซาน แล้วต่อไปเจจู เกาหลีใต้ เมื่อใกล้ถึงปลายทางมีเครื่องบินบินลดระดับ แสดงว่าเราอยู่ไม่ไกลจากสนามบิน
                                     
ชื่อสินค้า:   ร่องรอยระเบิดปรมณู Nangasaki, Japan
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่