พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ตอนพิเศษ : “อิคคิว” ที่เราเห็น VS “อิคคิว” ที่ท่านเป็น (2)


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

สวัสดีครับพี่ๆ น้องๆ หายหน้าหายตาไปนานทีเดียว 55
ไม่ใช่โดนดูดหายไปในโลกสมัย "มุโรมาจิ” ของท่าน "อิคคิว” อย่างที่มีคนแซวหลังไมค์มา
แต่จริงๆ แล้ว...ผมโดนดูดกลับมาที่ “โลกปัจจุบัน” ต่างหากครับ T-T

แป๊ก

ที่ญี่ปุ่นนี่พอเข้าเดือนเมษายน นักท่องเที่ยวทั้งหลายก็ทั้งภายในและต่างประเทศ
ต่างหลั่งไหลเข้ามาเพื่อชมซากุระกัน
แล้วในปีนี้ ก็มีพอดีมีญาติผู้ใหญ่เดินทางมา ผมก็ไปทำหน้าที่เป็นไกด์ตามสถานที่ต่างๆ
ก็เลยหายหน้าหายตาไป (แต่ดีที่หัวยังอยู่...หัวไม่หาย ^^;)

ก็หวังว่าจะได้รับต้อนรับจากทุกท่านเหมือนเดิม
ประมาณว่า “รักสายัณน้อย...แต่รักนานๆ” (ถ้าทนไม่ไหวก็มีกระโถนวางอยู่ ใช้บริการได้ครับ)

เพี้ยนเพลีย

เอาล่ะครับ มาเข้าเรื่องของ “อิคคิว” กันดีกว่าครับ
Let’s Go !!

สำหรับความเดิมจากตอนที่แล้ว
ยุคสมัยที่ท่าน “อิคคิว” 一休 อยู่
"วัดอังโคะขุจิ” 安国寺 และ “ปราสาทคิงคะขุ” 金閣 ที่เป็นฉากหลังของเรื่อง
รวมถึง “ท่านโชกุน” 将軍様 ว่า...มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์หรือไม่ ? อย่างไร ?

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ในครั้งนี้ เรามาเริ่มต้นกันที่ ซามูไรผู้อยู่เคียงข้าง “อิคคิว” ตลอดมาคือ
“ชินเอมอนซัง” 新右エ門さん
ในการ์ตูน บทบาทเริ่มต้นของ “ชินเอมอน” คือ การจับตาดูความเคลื่อนไหวของ “อิคคิว”
ในฐานะของ “ผู้ตรวจการวัด"



ด้วยเหตุที่ว่า “เกิดความไม่ไว้วางใจในตัวอิคคิว และระแวงว่ามีวัตถุประสงค์แอบแฝงในการบวชหรือไม่"
เพราะเราอย่าลืมว่า “ท่านโชกุนที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์” ขณะนั้นเป็น “นักบวช”
แม้ตัวท่านเองก็ออกบวชเพราะมี “วัตถุประสงค์แอบแฝง” จึงระแวงว่าคนอื่นจะเป็นเหมือนกัน



(ความระแวงนี่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด...
...เดี๋ยวนี้จะอาบน้ำยังต้องระวัง ขืนไปคว้า “ขัน” ผิดใบล่ะงานเข้า ^^;)

แต่เมื่อได้รู้จัก “อิคคิว” และ “ซาโยจัง” さよちゃん มากเข้า จนในที่สุด...ก็มาเป็นเพื่อนสนิทของทั้งสองไป
บางครั้งก็ทำตัวติ๊งต๊องไปบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นซามุไรผู้มีเพลงดาบอันฉกาจฉกรรจ์เช่นเดียวกัน



มาถึงจุดที่ทุกท่านคงอยากรู้แล้วว่า...”ชินเอมอนซัง” มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ?
คำตอบ คือ “มีอยู่จริงครับ” แต่ “เป็นบุคคลในยุคอื่น”
เห...หหหหหหห !! へへへへへぇ (อุทานตามสไตล์ญี่ปุ่น หุหุ)

“ชินเอมอนซัง” มีชื่อเต็มๆ ว่า “นินะงาวะ ชินเอมอน จิกะมาสะ” 蜷川新右衛門親当
เกิดในปีใดไม่ระบุ แต่มีบันทึกว่าถึงแก่กรรรมในปี พ.ศ.1991 (ค.ศ.1448)

มาถึงเรื่องปีตรงนี้ คงมีหลายท่านนึกออกว่า “ท่านโชกุน” หรือ "อาชิคางะ โยชิมิทสึ" (足利義満)
เป็นโชกุนรุ่นที่ 3 ในสมัยมุโรมาจิ เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.1901-1951 (ค.ศ.1358-1408)
ที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว จะเห็นว่าในปีที่ถึงแก่กรรมห่างกันถึง 40 ปี
และเมื่อสืบค้นต่อไป ทำให้พบว่า “ชินเอมอนซัง...ที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์นี้” ไม่ได้อยู่ในสมัยของ
โชกุนรุ่นที่ 3 (โยชิมิทสึ 義満) แต่อยู่ในสมัยของโชกุนรุ่นที่ 6 "โยชิโนริ” 義教
ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.1937-1984 (ค.ศ.1394-1441)



ที่สำคัญ...อยู่ในฐานะอื่นที่ไม่ใช่ “ผู้ตรวจการวัด” ด้วย

อ้าว...อย่างนี้แสดงว่า ไม่ได้เจอกับ “อิคคิว” ล่ะสิ ?
เปล่าครับ...การพบกันของ “อิคคิว” กับ “ชินเอมอน” ในประวัติศาสตร์นั้น “เป็นเรื่องจริง” !!
แต่...ไม่ได้เป็นการพบกันตอนที่ท่าน “อิคคิว” เป็น “สามเณร” เหมือนในการ์ตูน
แต่เป็นการพบกันตอนที่ท่าน “อิคคิว” ใกล้จะมรณภาพแล้ว !!

Surprise again !!



มาต่อกันที่ท่านต่อมาเลย คือ “หลวงพ่อ” (ไกคัง โอะโช 外観和尚)
ผู้คอยสอนสั่ง “อิคคิว” ตลอดระยะเวลาที่อยู่ ณ "วัดอังโคะขุจิ”



แต่จริงๆ จะว่าไปแล้ว ก็มีหลายครั้งหลายหนที่ต้องจำนนด้วยปัญญาของ “อิคคิว”
บางครั้งแม้เป็นเรื่องน่าโกรธ แต่เมื่อพบกับเชาวน์ปัญญาของ "อิวคิว” ก็ถึงกับหัวเราะออกมา



"หลวงพ่อไกคัง” มีชื่อเต็มว่า “โซไกชูกัง” 像外集観
ว่ากันโดยตำแหน่งในการปกครองของ “นิกายเซน” แล้ว จะพบว่า...
หลายครั้งที่ "หลวงพ่อ” ท่านได้พา "อิคคิว” ไปพบ "ท่านขะโซ” かそう禅師 หรือ “ท่านเคนโอ” けんおう様
ที่ "วัดเอเฮจิ” 永平寺 ซึ่งเป็นวัดใหญ่ของนิกายเซน สายโซโต 曹洞禅 (จังหวัดฟุกุอิ 福井県)
“หลวงพ่อ” จะแสดงความเคารพต่อ “ท่านขะโซ” และ “ท่านเคนโอ” อย่างนอบน้อมเสมอ
จึงอนุมานได้ว่า มีตำแหน่งในการปกครองที่ไม่สูงนัก

สรุปว่า “หลวงพ่อไกคัง” นี้ เป็นผู้ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ !!
และอยู่ในฐานะเจ้าอาวาส “วัดอังโคะขุจิ” ผู้ดูแลอบรมสั่งสอน “อิวคิว” เสมอมา
จวบจนถึงวันที่ “อิวคิว” ออกจากวัดไป...

มาถึงอีกคนที่จะขาดไปเสียไม่ได้ เพราะเป็นผู้ที่นำเอาปัญหาที่น่าปวดหัวมาให้ท่าน “อิคคิว” ไม่น้อยทีเดียว
ผู้นั้นคือ เจ้าของร้านขายของอย่าง “คิเคียวยะริเฮ” 桔梗屋利兵エ



แน่นอนว่า “คิเคียวยะริเฮ” ผู้นี้ไม่น่าจะมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์
แต่ในการ์ตูนเป็นผู้ที่เป็น "ตัวแทน” ของพ่อค้าในยุคนั้น ซึ่งเป็นยุคที่ข้าวยากหมากแพง
เราจะเห็นถึงภาพของการเอารับเอาเปรียบ มือใครยาวสาวได้สาวเอา
และภาพของ “คิเคียวยะริเฮ” ที่ปรากฏในการ์ตูน ก็ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนในเรื่องราวเหล่านี้

แต่ถึงกระนั้น...ในบรรดาพ่อค้าทั้งหลาย ก็มีเพียงแต่ "คิเคียวยะริเฮ” เท่านั้น ที่นำของมาทำบุญที่ “วัดอังโคะขุจิ”
ก็นับว่าเป็นความดีที่มีอยู่ในตัวของพ่อค้าผู้นี้

มาถึงคนสุดท้ายที่จะกล่าวในครั้งนี้ คือ เด็กหญิง “ซาโยจัง” さよちゃん



"ซาโยจัง” เป็นเด็กหญิงกำพร้า มีอายุน้อยกว่า “อิคคิว” 2 ปี และมีความคุ้นเคยกับ “อิคคิว” เป็นพิเศษ
จนหลายท่านเกิดความคิดว่า “หรือว่า...ซาโยจังผู้นี้ จะเป็นหญิงสาวผู้ที่อยู่ร่วมกับท่านอิวคิวในภายหลัง ??”



ซึ่งแน่นอนว่า มีหลายๆ เหตุการณ์ ที่ส่อเค้าไปเช่นนั้น นอกเหนือจากความสนิทสนมคุ้นเคยที่กล่าวไปแล้ว
ยังมีเหตุการณ์ในตอนสุดท้ายของการ์ตูน... ที่ “อิคคิว” ได้มอบของที่ระลึกให้กับ “ซาโยจัง”
สิ่งนั้นคือ “ตราประจำราชวงศ์” ของผู้เป็นพระราชบิดา และ “ซาโยจัง” ได้มอบ “ตุ๊กตาไล่ฝน” ของตนเอง
ให้กับ “อิคคิว” เป็นเครื่องระลึกนึกถึง ซึ่ง “อิคคิว” ได้รับมา และนำไปพร้อมๆ กับตุ๊กตาไล่ฝนของตน
ก่อนที่จะออกเดินทางไปสู่โลกกว้าง เพื่อออกธุดงค์และฝึกฝนตนให้ยิ่งๆ ขึ้นไป...



นอกจากนี้ ที่ “วัดชูองอัน อิคคิวจิ” 酬恩庵一休寺 ซึ่งเป็นวัดที่ท่าน “อิคคิว” ได้พำนักอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต





http://www.ikkyuji.org/en/

ปัจจุบันมีภาพการ์ตูน “ซาโยจัง” ติดอยู่ และยังมีผ้าเช็ดหน้ารูป "ซาโยจัง” วางจำหน่ายอีกด้วย



ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า “ซาโยจัง น่าจะมีตัวตนอยู่จริง และเป็นหญิงสาวผู้ที่อยู่ร่วมกับท่านอิคคิว”
แต่... (แต่...ช้าแต่) น่าเสียดายที่...ไม่ใช่ !!
ที่ไม่ใช่ คือ “ซาโยจัง” นี้  "ไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์” เป็นเพียงจินตนาการของผู้สร้างการ์ตูนเท่านั้น
แต่เรื่องที่ท่าน “อิคคิว” อยู่ร่วมกับหญิงสาวในภายหลังนั้น “เป็นเริ่องจริง” !!



สยอง

จากเรื่องราวของ "อิคคิว...ที่เราเห็น" กับ "อิคคิว...ที่ท่านเป็น" ในวันนี้
มีเรื่องที่น่าสนใจและสะท้อนสังคมอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง "ชีวิตความเป็นอยู่" หรือ "การบ้านการเมือง"
ในเรื่องของ "ชีวิตความเป็นอยู่" จะเห็นได้ว่า...สังคมในยุคที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยไปสงคราม
ชาวบ้านต่างต้องลำบาก ตกอยู่ในสภาพ "ปากกันตีนถีบ" "มือใครยาว...สาวได้สาวเอา" "คนมั่งมี...เอารัดเอาเปรียบคนไม่มี"

แต่ในสภาพที่ชีวิตความเป็นอยู่เป็นเช่นนั้นก็ตาม "พระพุทธศาสนา" ได้หยิบยื่น "ความโอบอ้อมอารี" ให้กับผู้คน
แม้ตนจะมีไม่มาก แต่ก็พร้อมที่จะแบ่งปันให้กับผู้อื่น

อีกประการที่สำคัญ คือ เรื่อง "การบ้านการเมือง"
ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดก็ตาม "ชนชั้นผู้ปกครอง" มักมีความหวาดระแวง ไม่เว้นแม้กระทั่ง "นักบวช"
เหมือนกันที่ "ท่านโชกุน" ให้ "ชินเอมอนซัง" มาจับตาดู "อิคคิว"
กว่า "อิคคิว" จะทำให้ "ชินเอมอนซัง" คลายความเคลือบแคลง ก็ปาเข้าไปตั้ง 20 ตอน

แต่จะว่าไป ก็ไม่ใช่ความผิดของ "ท่านโชกุน" แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะ "พระและวัด" ในสมัยก่อนหน้านั้น
ได้ยื่นมือเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง ทำกิจที่นักบวชไม่ควรทำ แถมยังมีกองกำลังติดอาวุธอีกด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจที่ "ท่านโชกุน" จะมีความหวาดระแวงในตัว "อิคคิว" และ "วัดอังโคะขุจิ"

ดังนั้น...หาก "ฝ่ายปกครอง" จะลดความหวาดระแวงลงบ้าง และทาง "ฝ่ายนักบวช" ไม่ทำอะไรที่ส่อแววที่ทำให้เกิดความระแวง
"ความหวาดระแวงกันในบ้านในเมือง...คงลดลงไปได้มาก"
เหมือนอย่างที่ปรากฏในการ์ตูนและประวัติศาสตร์ "อิคคิว" นี้

และส่วนว่า...เรื่องราวของท่าน “อิคคิว” จะเป็นอย่างไร ?
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..."อิคคิว...ที่เราเห็น" กับ "อิคคิว...ที่ท่านเป็น" จะเป็นอย่างไร ?
โปรดติดตามตอนต่อไป ซึ่งจะว่าด้วยเรื่องของท่าน “อิคคิว” แบบจัดเต็ม

วันนี้ขอลาไปก่อนนะครับ

เพี้ยนฝันดี

“อิคคิว...อิคคิว..."
"จะรีบไปไหน...จะรีบไปไหน...พักเดี๋ยวนึงซิ นะคร้าบ"
「一休、一休」
「慌てない、慌てない、一休み、一休み」

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่