เราจะแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้ยังไง หากไม่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ

หัวข้อกระทู้อาจจะน่าตกใจ

ถึงแม้เราจะประหยัดน้ำ ไม่พยายามใช้น้ำ เอาน้ำล้างจานไปรดต้นไม้ แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดนัก

ถ้าคุณอยู่ในเมือง หรืออยู่พื้นที่ราบ คุณอาจจะไม่เคยสังเกตว่า แหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายหลัก ๆ ในภาคเหนือ ถูกทำลายจนเกือบหมดสิ้น

ผืนป่าขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำสาขา ของแม่น้ำสายสำคัญ กลายเป็นพื้นที่ไร่ พื้นที่สวน ซึ่งสร้างผลกำไรให้กับผู้บุกรุกเท่านั้น แต่ผลกำไรนั้น ไม่เคยตกสู่ผู้ที่อยู่ปลายน้ำ ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบกัน โดยไม่ได้ตั้งใจ

ยกตัวอย่าง ในจังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภูเขาบริเวณนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสาขาของแม่น้ำน่าน โดยเฉพาะแม่น้ำเข็ก และแม่น้ำแควน้อย ซึ่งจะไหลลงแม่น้ำน่าน หนึ่งในสาขาใหญ่ของลำน้ำเจ้าพระยา

โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ ในสองจังหวัดนี้ จะกระจุกตัวอยู่ที่อุทยานแห่งชาติ และป่าสงวนที่มีพื้นที่อยู่น้อยนิดเท่านั้น

แต่พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ กลับโดนเผา โดนทำลาย จากชาวบ้าน และนายทุน จนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น

ป่ายางพารา ป่าผลไม้ ป่าสับปะรด ป่าพริกไทย ป่ามันสำปะหลัง และป่าอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มาแทนที่ป่าเต็งป่ารัง ที่เป็นป่าธรรมชาติ

ไม่เว้นแม้แต่ภูทับเบิก ซึ่งเป็นเทือกเขาเดียวกับภูหินร่องกล้า แต่พอออกมาจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า สภาพป่าก็หายไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นป่ากระหล่ำปลี และป่ารีสอร์ทสีสันสดใสน่านอนยิ่งนัก

บางคนมีพื้นที่ทำกินบนภูเขา นับกว่า 100 ไร่ เมื่อเทียบกับแหล่งต้นน้ำ นับว่ามหาศาล บางคนปลูกพืชอย่างพริกไทย สับปะรด ขายได้ปีละไม่ต้ำกว่า 4 ถึง 5 ล้านบาท แต่เงินที่เขาได้นั้น เป็นเงินที่ได้มาจากการเบียดเบียนธรรมชาติ และเบียดเบียนเพื่อนร่วมชาติ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมชาติที่ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำสายหลัก

พื้นที่ราบลุมแม่น้ำอันกว้างใหญ่ อย่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้นไม่เพียงพอต่อการทำกินอย่างนั้นหรือ? หรือเพราะเรามีเทคโนโลยีที่ต่ำ ผลผลิตที่ได้จึงน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณที่ดิน

เมื่อผลผลิตต่ำ ก็ต้องหาที่ทางทำกินใหม่ ๆ การเผาป่าส่วนร่วม จึงอาจเป็นทางออกของหลาย ๆ คน

ทั้ง ๆ ดินภูเขา ที่ส่วนใหญ่เป็นหิน เป็นกรวด ไม่อุดมสมบูรณ์ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมหลายคนต้องไปบุกรุกพื้นที่ป่า จากที่เคยสอบถาม บางคนก็เพิ่งขึ้นมาอยู่บนภูเขาได้เพียง 20 ถึง 30 ปีเท่านั้น

จะขอยกตัวอย่าง ภูเขาบริเวณอำเภอนครไทย วังทอง พิษณุโลก หล่มสัก และหล่มเก่า เพชรบูรณ์ รวมถึงบริเวณจังหวัดเลย



บริเวณที่อยู่ในกรอบสีแดง เป็นแนวภูเขา และเนิน ที่มีความสูงตั้งแต่ 300 ถึง 1,000 เมตร ควรที่จะเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่ยั่งยืน ของแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำเข็ก และป่าสัก

ถ้าเป็นภูเขาบริเวณอำเภอนครไทย จะเป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยเล็กห้วยน้อย ที่จะไปไหลลงแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นแควสาขาขนาดใหญ่ของแม่น้ำน่าน

ถ้าเป็นภูเขาแถบหล่มสัก หล่มเก่า และเขาค้อ บริเวณนั้นคือแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเข็ก

แต่ภูเขาบริเวณนี้ ส่วนใหญ่แล้วโล้นเกือบหมด ไม่โล้นก็เป็นไร่ ไม่ใช่ไร่ก็เป็นสวน รวมถึงมีการบุกรุกอย่างต่อเนื่องจากนายทุน โดยเฉพาะนายทุนยางพารา

แล้วจะมีแหล่งต้นน้ำที่ยั่งยืนสำหรับแม่น้ำสำคัญ ที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี่ยงผู้คนปลายน้ำอยู่อีกหรือไม่

จากที่เคยสอบถามและพูดคุยกับชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่า

พวกเขาเหล่านั้นไม่มีความรู้สึกที่หวงแหนป่า ถ้าสามารถขยายพื้นที่ทำกินของตนได้ ก็จะลุยในทันที

ดังนั้นการให้ความรู้ และค่อย ๆ ปรับแนวคิด ให้พวกเขาตระหนักถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงน่าจะเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่าการปลูกป่า

จขกท. ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา ไม่ต้องการกล่าวโทษใครใด ๆ ทั้งสิ้น แต่อย่ากให้รู้ว่าการแก้ไขที่ต้นเหตุ คือการอนุรักษ์ป่า การคืนพื้นที่ป่า เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และจะทำให้คนไทย มีน้ำใช้กันอย่างอุดมสมบูรณ์

แถมภาพ บริเวณบนภูเขานกกระยาง ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย พิษณุโลก ซึ่งเป็นภูเขาสูงกว่า 700 เมตร จากระดับน้ำทะเล ทั้งภูเขาเต็มไปด้วยไร่สับปะรด พริกไทย และอื่น ๆ อีกมากมาย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่