รีวิว The Killing Fields (1984) แด่ประวัติศาสตร์ที่มืดหม่น A- 8.2/10

หลังจากได้อ่านข้อเขียนบทแรกของหนังสือ "คนหลังฉากในประวัติศาสตร์รางเลือน"  โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ ที่บรรยายชะตากรรมอันยากลำบากของผู้คนในเหตุการณ์ช่วงเขมรแดง ประกอบกับเคยสัมผัสกับความรู้สึกหม่นหมองเศร้าสร้อยตอนไปเยี่ยมชม คุก S-21 ผมก็ตัดสินใจว่าต้องหาหนังเรื่องนี้ดูเสียที (หนังหาดูได้ยากมาก ไม่มีใน iTunes ไทย, iFlix, Netflix
ผมไปซื้อ Online ใน VUDU เสียเงินไปแล้วปรากฎว่าดูไม่ได้เพราะว่าติดปัญหาเรื่อง Zone ไปดูเว็บของแมงป่องและบูมเมอร์แรงก็ไม่มีแล้ว ในที่สุดไปได้ที่ XBOX Store ในเครื่อง XBOX One เสียเงินสองรอบ !)



ก่อนหน้านั้น เขมรปกครองโดยเจ้า นโรดม สีหนุ กษัตริย์องค์สุดท้ายของเขมร ซึ่งพยายามเป็นกลางในสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ ไม่ได้เข้าฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งชัดเจน สร้างความสัมพันธ์ทั้งกับอเมริกา และจีน แต่อเมริกาต้องการใช้กัมพูชาในการเป็นพื้นที่ในการลำเลียงอาวุธเพื่อสู้กับเวียดนาม

เนื่องจากกลัวเวียดนามจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์และเสียภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปตามทฤษฎีโดมิโน่ อเมริกาในการนำของปรธานาธิบดี Richard Nixon จึงสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามเจ้านโรดม ให้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ และสร้างรัฐบาลประชาธิปไตยที่เปิดทางให้อเมริกาใช้กัมพูชาเป็นพื้นที่ในการลำเลียงอาวุธเพื่อต่อสู้กับเวียดนาม

เจ้าสีหนุจึงทำการร่วมมือกับเขมรแดงซึ่งเป็นกลุ่มฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ เพื่อยึดอำนาจคืน ในช่วงแรก เขมรแดงไม่มีทางรบกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่สนับสนุนโดยอเมริกาได้ เนื่องมาจาก อเมริกาส่งทั้งอาวุธ ผู้เชี่ยวชาญการรบ ตลอดจน ทรัพยากรมาอย่างไม่ขาดสาย

จนกระทั่ง Nixon โดนจำกัดอำนาจจากสภาอเมริกัน ไม่สามารถสนับสนุนการรบของรัฐบาลประชาธิปไตยเขมรได้อีกต่อไป สหรัฐจึงค่อยๆ ถอนบทบาทตนเองออกจากกัมพูชา ฝั่งเขมรแดงจึงได้เปรียบ เข้าตีจากชนบทเข้ามาที่เมืองหลวงเรื่อยๆ และเมื่อพิจารณาแล้วว่า รัฐบาลประชาธิปไตยเขมร (ที่ตนเองสร้างขึ้น) แพ้สงครามแน่นอน (และอาจรวมไปถึงการมองเรื่องการถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามว่าเกิดขึ้นแน่ๆ ) สหรัฐก็ตัดสินใจอพยพชาวอเมริกันทั้งหมดกลับบ้าน ปล่อยให้กรุงพนมเปญแตก ทิ้งให้ชาวเขมร เผชิญกับการปกครองของเขมรแดง และนำมาสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 500,000 - 2,000,000 คน

The Killing Fields จับเหตุการณ์ช่วงกรุงพนมเปญแตกและการขึ้นปกครองโดยเขมรแดง ที่ให้ประชาชนทั้งหมด อพยพจากเมืองหลวง สู่หมู่บ้านชนบท
ด้วยข้ออ้างที่ว่า อเมริกาจะทำการทิ้งระเบิดกรุงพนมเปญ แต่แท้จริงแล้วเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง Commune ตามอุดมการณ์ของ คอมมิวนิสท์ ที่ไม่มีชนชั้น ทุกคนเท่ากัน ช่วยกันทำงาน แต่ด้วยความต้องการจะเซทศูนย์ เริ่มปีที่หนึ่งใหม่ แบบขวาจัด เขมรแดงจึงทำการฆ่าคนที่มีความรู้ของโลกเก่า พร้อมกับสร้างเขมรแดงรุ่นใหม่ที่ไม่มีความทรงจำของโลกเดิมเลย
(เด็กตัวเล็กๆ อายุไม่กี่ขวบ ที่ถือจารีตแบบขวาสุดขีด ความรุนแรงและโหดเหี้ยมเป็นวิถีที่อยู่ในชีวิตประจำวัน) ซึ่งเป็นที่ว่าของคำว่า "ทุ่งสังหาร"

ในเชิงการเล่าเรื่อง เรารับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านตัวละครที่เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง โดยเน้นไปที่ตัวละครหลักสองตัว เป็นชาวอเมริกันหนึ่งและชาวเขมรหนึ่ง ซึ่งมีความสมจริงมากๆ สำหรับผมมันน่าสนใจมาก เพราะเมื่อพิจารณาจากบทสนทนา การแสดงของนักแสดง งานภาพ ดนตรีประกอบ ทุกอย่างมันดู สมัครเล่น มันดูเชยไปหมด แต่พอมันมารวมกันแล้วมันกลับเหมือนเรากำลังดูสารคดีเรื่องหนึ่ง (อาจมีระดับความเสแสร้งนิดๆ แต่ไม่ถึงระดับที่รู้สึกว่ารำคาญจนทนดูต่อไปไม่ได้)

ผมคิดว่า อาจจะเพราะว่า หนังสมัยนั้น (1984 ออกฉาย ผมอายุ 3 ขวบ) ถ่ายของจริง ไม่มีการทำ CG เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นคือของจริง ไม่ว่าตัวประกอบจะวิ่งประดักประเดิกแค่ไหน แต่ด้วยจำนวนมากมาย อาจถึงระดับพันคนในหลายฉาก มันมีพลังชีวิตที่ CG อาจจะให้ไม่ได้ ประกอบกับการถ่ายทำของจริง มันมีข้อจำกัดบางอย่างทำให้ผู้กำกับไม่สามารถควบคุมภาพได้ดังใจ แต่ต้องถ่ายตามข้อจำกัดนั้นๆ  มันทำให้มีความสดบางอย่างเหมือนเราดู Footage จากสถานการณ์จริง ทั้งสองอันมันเลยสร้างความรู้สึกจริง เหมือนสารคดีให้เราได้ประมาณหนึ่ง

หนังเสมือนเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐบาลอเมริกันที่เข้าไปฉกฉวยผลประโยชน์ กับรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยที่ยอมให้หลอก (?) และถูกทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี เมื่อเกมไม่ได้เป็นไปตามที่วางแผน
ในขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศในช่วงสงครามเย็นของอเมริกา ที่รู้สึกผิดบาปและต้องการล้างบาปตนเอง ร้องขอความเห็นใจ ว่าฉันก็ทำดีที่สุดแแล้ว

ถ้าชอบดูสารคดี น่าจะชอบดูเรื่องนี้ได้ไม่ยาก แต่ผมเสนอว่าน่าจะหาอ่าน ประวัติศาสตร์สงครามเย็น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงประวัติศาสตร์เขมรแดงก่อนดูเพราะว่าหนังไม่ได้บอกอะไรเรามากนักถึงมูลเหตุการเกิดของสิ่งต่างๆ แต่เหมือนจะพาเราไปดูเหตุการณ์ต่างๆ ในฐานะคนๆ หนึ่งมากกว่า การได้ดูเรื่องนี้อาจจะเสริมความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของประเทศของเราในช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นตนมา ซึ่งในความทรงจำของผมมันช่างกระพ่องกระแพ่งเหลือเกิน

ป.ล. ผมไม่ได้แม่นยำในการเมือง รัฐศาสตร์ และ ประวัติศาสตร์มากนัก แชร์ความเห็นหรือแย้งได้เต็มที่เลยนะก้าบ

Page https://www.facebook.com/maewginoreview
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่