จีนผงาดไล่ช็อป "แบรนด์ดัง" ทั่วโลก

กระทู้คำถาม
updated: 10 เม.ย 2559 เวลา 11:30:00 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ดีลเทกโอเวอร์บริษัท "ชาร์ป คอร์ป" มูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ โดยฟอกซ์คอนน์ เทคโนโลยีจากไต้หวัน (หองไห่ พรีซีชั่นอินดัสทรี) เป็นเหมือนการปิดตำนานบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของญี่ปุ่น ที่ดำเนินมานาน 103 ปี และยังตอกย้ำกระแส "ซื้อแหลก" ของทุนจีนทั้งจากแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน

ในเวลาไล่เลี่ยกัน โตชิบาก็ตัดสินใจขายหุ้น 80% ในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน "โตชิบา ไลฟ์สไตล์ โปรดักต์ส แอนด์ เซอร์วิสเซส" ให้กับมิเดีย กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนในราคา 477 ล้านดอลลาร์ หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของดีลนี้คือ มิเดียได้สิทธิ์ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์โตชิบาเป็นเวลา 40 ปี และเข้าถึงสิทธิบัตรมากกว่า 5,000 ฉบับ ซึ่งจะช่วยให้มิเดียบุกตลาดนอกประเทศจีนได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ทั้ง 2 ดีลข้างต้นเป็นเรื่องที่หลายคนคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เมื่อพิจารณาถึงการสะสมเงินทุนของบริษัทจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและความกระหายที่จะออกไปช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก ในจังหวะเดียวกับที่บริษัทญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นผู้เล่นรายใหญ่อ่อนแรงลง

การตัดสินใจเทกโอเวอร์โตชิบา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมิเดียไม่ต้องการถูกคู่แข่งสำคัญอย่าง "ไฮเออร์" ทิ้งห่าง หลังไฮเออร์ลงนามในดีลประวัติศาสตร์ ซื้อธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าจากเจนเนอรัล อิเล็กทริก (GE) ด้วยมูลค่า 5,400 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในบรรดาดีลเทกโอเวอร์ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์นอกประเทศของจีน จากที่เมื่อปี 2555 ไฮเออร์ได้เทกโอเวอร์

"ฟิชเชอร์ แอนด์ เพย์เคล แอพพลายแอนซ์" ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาตินิวซีแลนด์มาก่อนแล้ว ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้นที่ตกเป็นเป้าหมายของทุนจีน ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "เคมไชน่า" รัฐวิสาหกิจจีนซื้อกิจการ "ซินเจนตา" บริษัทเมล็ดพันธุ์พืชและยาฆ่าแมลงจากสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยราคาสูงถึง 43,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้มอนซานโต้ ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจจากสหรัฐที่เคยพยายามเทกโอเวอร์ซินเจนตา ถึงกับร้อน ๆ หนาว ๆ

นอกจากนี้ "ต้าเหลี่ยน วันด้า กรุ๊ป" บริษัทอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนก็เพิ่งสอยบริษัทภาพยนตร์ "เลเจนดารี เอนเตอร์เทนเมนต์" ผู้ผลิตหนังดังอย่าง "จูลาสสิก เวิลด์" มาอยู่ในพอร์ตด้วยมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์

แม้บริษัทจากจีนจะออกไปกว้านซื้อแบรนด์ชั้นนำนอกประเทศมาหลายปีแล้ว แต่กระแสช็อปปิ้งสินทรัพย์นอกแผ่นดินแม่ครั้งล่าสุดเป็นคลื่นลูกใหญ่กว่าที่ผ่านมา จนคนวงในธุรกิจที่ปรึกษาการเงินถึงกับออกปากว่า คล้ายคลึงกับยุคทองของทุนญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1980 ที่ไปกว้านซื้อธุรกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ

โดยปีที่แล้ว บริษัทสัญชาติจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อกิจการมูลค่า 656,000 ล้านดอลลาร์ และปีนี้มีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อเนื่อง

นายเจมส์ เดล ฟาเวโร หัวหน้าฝ่ายควบรวมและซื้อกิจการข้ามประเทศของ "โกลด์แมน แซกส์" ระบุว่า บริษัทจีนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในการทำดีลทั่วโลก เพราะต้องการหาเครื่องจักรนอกประเทศมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

"ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังแผ่ว และสหรัฐฟื้นตัวขึ้น นักธุรกิจจีนเห็นว่าสินทรัพย์นอกประเทศน่าดึงดูดใจมากกว่าในบ้าน"

ข้อมูลจากรอยเตอร์สชี้ว่า ในช่วงไตรมาสแรกปี 2559 มีการควบรวมกิจการทั่วโลกมูลค่า 682,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเทกโอเวอร์โดยบริษัทจีนถึง 15%

นักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยที่ผลักดันให้บริษัทจีนออกไปช็อปปิ้งนอกบ้านมีหลายประการ หนึ่งในนั้นได้แก่ ความกังวลต่อเสถียรภาพของเงินหยวน จึงเร่งเปลี่ยนการถือครองเงินสดหรือสินทรัพย์ในประเทศไปสู่สินทรัพย์นอกบ้านที่มีความมั่นคงมากกว่า

นอกจากนี้ในภาวะที่รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย ทำให้ภาคธุรกิจจีนมีต้นทุนในการกู้ยืมต่ำลง ประกอบกับสถาบันการเงินแดนมังกรเต็มใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับการซื้อธุรกิจนอกประเทศที่มีแนวโน้มสดใสกว่าในประเทศ การเทกโอเวอร์ของบริษัทสัญชาติจีนจึงเฟื่องฟู

อีกประเด็นปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทจีนยังมีภาพลักษณ์ไม่ดีนักในสายตานักลงทุนและผู้บริโภคต่างชาติ การเทกโอเวอร์แบรนด์ระดับโลกช่วยยกระดับโปรไฟล์ของบริษัทจีน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าในด้านความมั่งคั่งและลูกค้าในแง่คุณภาพ

อย่างไรก็ตาม การออกไปช็อปปิ้งนอกบ้านของทุนจีนไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นทุกครั้ง โดยเฉพาะการซื้อธุรกิจในสหรัฐที่ยังคงมองจีนอย่างหวาดระแวง เช่น ปีที่แล้ว "ซิงหัว ยูนิกรุ๊ป" รัฐวิสาหกิจจากแดนมังกรแสดงความสนใจจะซื้อบริษัทผลิตชิป ไมครอนของสหรัฐ แต่ก็โดนเบรกด้วยกระแสต่อต้านจากฝ่ายการเมืองสหรัฐที่กลัวว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1460226883
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่