กว่าจะมาเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ :)

‪#‎กว่าจะมาเป็นคุณแม่ฟูลไทม์‬
มีโอกาสได้อ่านบทความของนายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง "วิธีเลี้ยงลูกอย่างสั้นที่สุดและสามขวบปีแรก" แล้วช่วยตอกย้ำให้มั่นใจ ในสิ่งที่ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตตั้งแต่มีลูก ใครว่าเป็นแม่ฟูลไทม์ ง่าย - แสนสบาย - ชีวิตน่าอิจฉา แหม๊.. ขอให้ลอง!! จริงๆแล้วเราคิดว่า ไม่มีคำว่าง่าย หรือสบายตั้งแต่ตัดสินใจว่าเราจะเป็น "แม่" แล้วล่ะค่ะ แต่ถ้าพูดถึงความสุข บอกได้ว่าเต็มเปี่ยม สำหรับวันนี้ขออนุญาตเล่าในแง่มุมของ "คุณแม่ฟูลไทม์" คนนึงแล้วกันนะคะ เผื่อใครกำลังไม่มั่นใจและลังเลอยู่

•การตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆสำหรับผู้หญิงคนนึงที่เคยทำงาน แต่งตัวสวยงาม ได้เงินเดือนเยอะๆเป็นแสนๆต่อเดือน (ไม่ได้อยากโอ้อวดว่า "เคย" ได้เงินเดือนเยอะนะคะ แต่อยากให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลง ว่าเพื่อลูกเราต้องยอมแลก) แล้วต้องลาออกมา "เพื่อเลี้ยงลูก" สำหรับตัวหวานเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยาก ไม่มีใครบังคับ คิดเอง ออกมาจากใจล้วนๆ เพราะคิดว่าลูกคือสิ่งสำคัญที่สุด และไม่มีทางที่จะมีใครเลี้ยงลูกได้ดีเท่า "แม่" แน่นอน แต่การใช้ชีวิตต่อไปในสิ่งที่ตัดสินใจแล้วนี่สิ ยากกว่าเยอะ

•การปรับตัวปรับใจกับบทบาทใหม่
หลังจากตัดสินใจออกมาจากงานประจำ ก็แอบมีใจหายเบาๆ เพราะต้องต่อสู้กับอุปสรรคตัวสำคัญ นั่นก็คือ "ความคิด" มันก็มีบางแว๊บที่คิดว่าเราเอาเปรียบสามีไปไม๊ ให้เค้าทำงานอยู่คนเดียว เราไม่มีรายได้(เป็นของตัวเอง)แบบนี้มันจะดีเหรอ.. คนอื่นเค้าจะคิดยังไง แต่ซักพักเราก็เริ่มจัดระเบียบความคิดตัวเองก็ได้คำตอบว่า.. เราช่างโชคดีมี "โอกาส" ดูแลลูกด้วยเองแบบเต็ม 100% คำว่า "ครอบครัว" มันคือ "ทีมเวิร์ค" เราต้องทำงานกันเป็นทีม แบบดีที่สุดในจุดที่ยืน ป่าป๊า-ตั้งใจ "ทำงานนอกบ้าน" หาเงินเพื่อครอบครัว หม่าม๊า- ตั้งใจ "ทำงานในบ้าน" ดูแลลูกให้ดีที่สุด (คิดในใจว่าต้องจ้างพี่เลี้ยงด้วยเงินเดือนแค่ไหน ถึงจะเลี้ยงลูกได้ดีเท่าดิชั้น.. เต็มที่ขนาดนี้!! ค่าจ้างเท่าไหร่ก็ไม่พอนะคะ หาไม่ได้แล้วแบบนี้บอกเลย เพิ่มมูลค่าให้ตัวเองสุดๆ 5555555555)
นี่ร่ายมาซะยาว ขออนุญาตนำส่วนหนึ่งของบทความที่โดนใจคุณแม่อย่างแรงคิดว่ามีประโยชน์ต่อทุกครอบครัว ลองอ่านดูกันนะคะ

"สายสัมพันธ์(attachment)เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเด็กๆ เด็กๆจะทำอะไรดีหรือไม่ดีก็จะคิดถึงพ่อแม่เสมอ จะหลงทางไปหาอบายมุขหรือสิ่งชั่วร้ายใดๆก็รู้จักคิดถึงพ่อแม่ เหมือนตอนที่เป็นวัยเตาะแตะเดินจากไปสามก้าวแล้วรู้จักหันกลับมาดูแม่ว่ายังอยู่มั้ย จะเป็นเด็กดีเชื่อฟังคำสั่งสอนพร่ำเตือนของพ่อแม่ก็ด้วยสายสัมพันธ์นี้ด้วยเช่นกัน บ้านที่สร้างสายสัมพันธ์นี้แน่นแฟ้นแข็งแรงเวลาพูดอะไร สอนอะไร ห้ามอะไร เด็กก็เชื่อ บ้านที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยตนเองพูดอะไรก็ไม่เชื่อ สอนอะไรก็ไม่ฟัง เด็กโตขึ้นใช้ชีวิตเสี่ยง"
"เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะไว้วางใจสิ่งแวดล้อม พัฒนาต่อไป เรียนรู้ว่าโลกนี้มีคุณแม่จริงๆ คุณแม่ไม่สูญหาย เด็กสร้างความผูกพันหรือสายสัมพันธ์กับคุณแม่ที่มีอยู่จริงๆนั้น ความผูกพันแข็งแรง สายสัมพันธ์แน่นหนา ทอดยืดยาวออกมากขึ้นทุกวัน เด็กจะพัฒนาตัวตนของตนเองขึ้นมา ตัวตนของตนเองคือ self ถึงตอนนี้เด็กอายุประมาณสามขวบแล้ว มีตัวตนคือมี self ถึงตอนนี้ไม่ใช่เพียงคุณแม่มีจริง ตัวเองก็มีจริงๆแล้วเมื่อปลายขวบปีที่สามนี้เอง ก็ถึงเวลาแยกตัวตนของตนออกจากตัวตนของแม่"
"จะเห็นว่า Trust,Attachment,Self เรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์สามประการถูกสร้างขึ้นเรียบร้อยในสามขวบปีแรกเท่านั้นเอง จึงว่ากว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว"
"ที่ว่าสายเสียแล้วเพราะสามขวบปีแรกเป็นเวลาวิกฤต(critical period) เวลาวิกฤตหมายความว่าหากไม่ทำก็ผ่านแล้วผ่านเลย ไม่สามารถแก้ตัวได้อีก กล่าวคือในสามขวบปีแรกหากคุณแม่ไม่อุ้ม ไม่กอด ไม่ให้นม ก็จะได้เด็กที่ไม่มี trust ไม่มี attachment และไม่มี self หลังจากสามขวบปีแรกหากคุณแม่อยากจะกลับตัวกลับใจมาเลี้ยงลูกด้วยตนเองก็หมดสิทธิ์ ไม่สามารถทำได้อีก นาทีทองผ่านไปแล้ว"
"เวลาที่มีให้แก่ลูกเป็นเรื่องสำคัญ ปริมาณสำคัญกว่าคุณภาพ เวลาที่มีให้แก่ลูกต้องมาก มีเวลาให้วันละนิดเดียวไม่พอ จะมาอ้างว่าให้เวลาวันละนิดแต่มีคุณภาพก็พอแล้วไม่จริง เพราะปริมาณของเวลาสำคัญกว่าคุณภาพ"
"อะไรๆที่ต้องทำล้วนต้องทำในสามขวบปีแรกทั้งนั้น ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ถูกวางรากฐานตั้งแต่สามขวบปีแรกแล้ว"

เข้าใจว่าชีวิตของแต่ละคนบริบทต่างกัน จะเป็นแม่แบบไหนก็ไม่มีผิดไม่มีถูก เราอาจจะไม่ได้ดีที่สุดระดับโลก แต่ก็แค่ทำให้ดีที่สุดในจุดที่ยืน สำหรับหวานส่วนตัวมีความคิดว่า เราเป็นโลกของเค้าไม่ได้ตลอดไป เราเป็นโลกทั้งใบของเค้าได้แค่ไม่นาน (ตามบทความก็แค่ 3 ปี) แล้วถ้ามันเป็น 3 ปีที่มีความสำคัญต่อ "ทั้งชีวิต" ของลูกมากขนาดนี้ ให้หม่าม๊าต้องแลกด้วยอะไร หรือเสียสละมากแค่ไหน หม่าม๊าก็ยอม  
สำหรับคุณแม่ท่านไหนต้องการคู่คิดเรื่องการเลี้ยงลูก การดูแลลูก หรือสูตรอาหารต่างๆ ตามมาเม้ามอยกันได้ที่
https://www.facebook.com/happymommyandbabypeta/
หรือเว็ปไซท์ http://www.happymommyandbabypeta.com/
#ด้วยรัก #จากใจเภสัชกรแม่ลูกอ่อน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่